ประวัติความเป็นมาและการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ตามประวัติวัดต้นแก้วแจ้งว่าวัดนี้สร้างประมาณ พ.ศ.2349 สันนิษฐานว่าย้ายมาจากวัดดอนแก้ว ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.1825 เป็นวัดที่สร้างในสมัยพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครลำพูน เริ่มสร้างเมืองลำพูน เหตุที่ย้ายมาเนื่องจากวัดดอนแก้วเป็นวัดใหญ่ขาดการดูแลรักษาจึงผุพังไปตามกาลเวลา จึงได้ย้ายมาสร้างวัดต้นแก้วขึ้นใหม่โดยมีแม่เฟย พร้อมผู้มีศรัทธาช่วยกันก่อสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.1830
บริเวณวัดต้นแก้วในบ้านเมืองยอง มีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง ก่อตั้งโดยพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วเมื่อปี พ.ศ.2530 พระครูไพศาลธีรคุณ เริ่มต้นเก็บสะสมของโบราณมาเมื่อราว 20 กว่าปีที่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการได้เห็นวิถีชีวิตของชาวยองในอดีตในการทำไร่ ทำนา จึงได้เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ คุตีข้าว ล้อเกวียน เมื่อมีสิ่งของมากขึ้นก็จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ เล็ก ๆ ภายในวัด พอญาติโยมเดินทางมาทำบุญที่วัดเห็นเข้าบางคนก็นำสิ่งของเก่า ๆ มาบริจาคมากขึ้นเรื่อย ๆ
พอมีของมากขึ้นก็ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดต้นแก้วขึ้น โดยเอาอาคารกุฏิเก่าทำเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมของเก่าโบราณหายาก ทั้งภาพโบราณเมืองลำพูน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
พระเครื่อง พัดยศ รวมไปถึงผ้าทอโบราณ ปี พ.ศ.2545 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ พื้นบ้านชาวยองขึ้นในบริเวณวัดต้นแก้ว เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้ย้ายข้าวของเครื่องใช้มาไว้ในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง วัดต้นแก้ว จึงถือเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชนชาวไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งหากเทียบเคียงก็คงคล้ายๆ กับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนวัดเกต จ.เชียงใหม่ ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของอดีตกาลแห่งชาติพันธุ์ไตลื้อที่นับว่ามีคุณค่าที่สุด
การจัดแสดง พิพิธภัณฑ์วัดต้นแก้ว หรือพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง ประกอบด้วยอาคารที่ใช้จัดแสดง 2 หลัง ๆ แรกเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ใช้เก็บของที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปเนื้อดินเผา หีบพระธรรม เครื่องเขิน ขันโตก เครื่องจักสาน กล้องยาสูบ ภาพถ่ายเก่า ๆ มีดดาบ และวัตถุสิ่งของที่ใช้ในการทอผ้า ซึ่งเป็นข้าวของเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวยองในชุมชนแห่งนี้มาแต่ครั้งอดีต
|