ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
“เราไม่ได้ค้านการเจรจา FTA แต่เราต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างรอบคอบและสะท้อนข้อห่วงใย ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามี FTA จำนวนมากที่ไม่เคยคิดถึงมุมที่เรากังวล ส่วนใหญ่คนที่ได้ คือคนที่ได้อยู่แล้ว ผลประโยชน์ก็กระจุกตัว แต่ผลกระทบกระจาย บางเรื่องเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
ข้อความข้างต้นคือ คำอธิบายถึงเหตุผลของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่ต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่า อย่าเพิ่งด่วนรำคาญใจกับการชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนทุกวันนี้
เป็นการยืนยันอีกคำรบว่า เหตุผลที่ต้องสู้จนหยดสุดท้าย เพราะผลประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนครั้งนี้จะกระทบกับความเป็นความตายของคนไทยไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
หลายครั้งที่ผ่านมา เสียงตะโกนทักท้วงของภาคประชาสังคมอาจดังไม่ถึงหูผู้มีอำนาจตัดสินใจ จึงจำเป็นต้องอาศัย ‘เวทีข้างถนน’ เพื่อที่จะยับยั้งและเตือนสติทีมเจรจาฝ่ายไทยไม่ให้หลงคารมชาติมหาอำนาจยุโรป
18-19 กันยา ตบเท้าชุมนุมโดยสงบ
ขณะที่เมฆฝนกำลังปกคลุมทั่วฟ้าเมืองไทย แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่เวลานี้กลับร้อนระอุจนแทบทะลุจุดเดือด โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งโต๊ะเจรจา FTA ไทย-ยุโรป รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน เชียงใหม่ เป็นเหตุให้เครือข่าย FTA Watch ต้องออกมาชุมนุมแสดงพลังกันอีกครั้ง
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุว่า ในนามของกลุ่ม FTA Watch ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของหลายภาคส่วน ทั้งเครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภค และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จะมีการนัดชุมนุมเพื่อแสดงพลังเรียกร้องให้ทีมเจรจาของรัฐบาลไทยตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ขอให้เจรจาอย่างรอบคอบ และต้องไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ อันจะมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
“การชุมนุมครั้งนี้จะมีภาคประชาสังคมไทยมาร่วมกว่า 2,000 คน เป็นการชุมนุมอย่างสงบ โดยจะมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ในเรื่องการค้าเสรีและผลกระทบต่อประชาชน เพราะถ้าหากเรายอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยาจะกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คนเชียงใหม่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ทำความเข้าใจไปด้วยกัน ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนนี้ ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ”
ทางด้านสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า หากประเทศไทยยอมให้มีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ (TRIPs-plus) จะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน ทำให้ราคายาแพงขึ้น ประเทศชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ รวมทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบรรษัทยาข้ามชาติเท่านั้น
“ถ้ายอมรับข้อตกลงทริปส์พลัสด้านยา หรือยอมให้มีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี และหากยอมปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือ Data Exclusivity จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยเพิ่มขึ้น 81,356 ล้านบาทต่อปี”
ข้อกังวลของภาคประชาสังคม นอกจากประเด็นการผูกขาดสิทธิบัตรยาของบริษัทต่างชาติแล้ว ยังรวมถึงการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชที่อาจนำมาซึ่งวิกฤติอาหารและความล่มสลายของวิถีเกษตรกรรมทั้งประเทศ
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่อไทยมี 3 เรื่องหลักคือ ต้องเป็นภาคี UPOV 1991 ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ สนธิสัญญา UPOV 1991 จะทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชเพิ่มอีก 8 ปี จากเดิมที่คุ้มครองอยู่ 12 ปี รวมทั้งหมดจะมีการคุ้มครองพันธุ์พืชนานถึง 20 ปี โดยสนธิสัญญาดังกล่าวจะบังคับให้ไทยต้องปรับปรุงจนถึงขั้นยกเลิกกฎหมายพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทำให้เกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์จะต้องจ่ายแพงขึ้น และหากเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชเพื่อนำไปปลูกต่อจะถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ มีความผิดถึงขั้นจำคุกและต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท ขณะเดียวกัน วิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชที่พัฒนาขึ้นใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอาหารของประเทศอย่างกว้างขวาง ถือเป็นการทำลายอธิปไตยทางอาหารของประเทศ
ก่อนหน้านี้ กลุ่ม FTA Watch ได้ยื่นหนังสือแสดงท่าทีต่อนายโอฬาร ไชยประวัติ ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายไทย โดยนายโอฬารยืนยันว่าจะไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก พร้อมรับปากว่าจะยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายจะยังคงเฝ้าติดตามว่า ทีมเจรจาฝ่ายไทยจะมีความจริงใจในการรักษาจุดยืนเดิมตามที่กล่าวอ้างไว้จริงหรือไม่ รวมทั้งเกาะติดความคืบหน้าในการเจรจารอบ 3 ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ก่อนที่จะได้ข้อสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 2557
FTA ไทย-สหรัฐ บทเรียนที่ถูกลืม
ความไม่โปร่งใสของเนื้อหาและรายละเอียดในการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป นับเป็นปมเหตุสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่า สุดท้ายแล้วไทยจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบแทบทุกด้านภายใต้กรอบกติกาที่ยุโรปเป็นผู้วางหมาก โดยมีกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่รายที่จะได้ผลประโยชน์จากการเจรจาเขตการค้าเสรีครั้งนี้
แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเองและภาคประชาสังคมว่ากระบวนการเจรจาไม่โปร่งใส ไม่รอบคอบ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ดูเหมือนว่าแผนการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป จะถูกมือที่มองไม่เห็นเร่งรัดให้สำเร็จโดยเร็วยิ่งขึ้น
ประเด็นที่ฝ่ายทักท้วงไม่อาจยอมรับได้เลยก็คือ ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับยา ซึ่งสหภาพยุโรปพยายามสอดแทรกเงื่อนไขให้ไทยเพิ่มมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินกว่าที่องค์การการค้าโลกกำหนดไว้ใน ‘ความตกลงทริปส์’ (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPs Agreement) หรือที่เรียกว่า ‘ทริปส์พลัส’ (TRIPs-plus)
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่สหภาพยุโรปต้องการคือ ขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ผูกขาดข้อมูลทางยาหรือการขึ้นทะเบียนตำรับยา เพิ่มกรอบความคุ้มครองสิทธิบัตร แทรกแซงการจัดซื้อและจัดหายาของประเทศ เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการผ่านแดนอย่างเข้มงวด และจำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์
กล่าวคือ กรณีที่ประเทศไทยประสบภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่น เกิดโรคระบาดและยาที่ใช้รักษาขาดแคลน หรือยาที่จำเป็นมีราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนจะจ่ายได้ จะไม่สามารถผลิตยาเอง หรือนำเข้ายาจากที่อื่นซึ่งมีราคาถูกกว่า เพราะทำให้บรรษัทยาข้ามชาติเสียประโยชน์
หากไทยยอมรับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ จะทำให้ไทยมีรายจ่ายด้านยาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย ต่อเนื่องไปจนถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยเพื่อที่จะลดการนำเข้า ‘ยานอกราคาแพง’
ด้วยเหตุนี้ นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 จึงระบุไว้ชัดเจนว่า “การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ต้องไม่ผูกพันประเทศเกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า”
นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 ยังเคยเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2539 เรื่อง FTA ไทย-สหรัฐ ที่มีข้อเสนอไม่ต่างจาก FTA ไทย-ยุโรป ว่า รัฐบาลไม่ควรนำประเด็นทรัพย์สินทางปัญญามาเจรจาภายใต้ระบบทวิภาคีไทยกับสหรัฐ เนื่องจากผลประโยชน์จากการส่งออกสินค้าที่สหรัฐนำมาเป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนนั้น เทียบไม่ได้เลยกับผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนไทย เกษตรกร ผู้บริโภคทั้งหมด และผู้ป่วย รวมถึงการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านยา และอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย จึงขอให้รัฐบาลยุติการเจรจาไว้ก่อน
จากความเห็นของหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ต่างมีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า FTA ไทย-สหรัฐ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ ส่งผลให้มีการหยุดการเจรจาไว้ชั่วคราว ซึ่งบทเรียนครั้งนั้นสามารถนำมาเทียบเคียงกับ FTA ไทย-ยุโรป ได้ในทุกประเด็น
ถามหาประชาพิจารณ์
ความพิลึกพิลั่นของกระบวนการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ไม่เพียงแต่จะมีการเร่งรัดอย่างผิดสังเกต แม้กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ยังมีท่าทีกลับลำ โดยหันไปสนับสนุนให้ไทยรับข้อตกลงทริปส์พลัสของยุโรป
สำคัญที่สุดคือ ณ วันนี้ยังไม่มีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 แต่อย่างใด
การไม่ทำประชาพิจารณ์ร่างกรอบการเจรจา ทำให้เกิดข้อสงสัยเคลือบแคลงในเจตนาของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เพราะนอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการขัดมาตรา 190 แล้ว ยังเป็นการปิดหูปิดตาไม่ให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นรายละเอียดของเนื้อหาในการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ครั้งนี้
ยิ่งปิดลับ ยิ่งเกิดคำถาม ยิ่งสกัดกั้น ประชาชนยิ่งลุกฮือ และสุดท้ายหากผลการเจรจามีข้อสรุปออกมาว่า ตัวแทนฝ่ายไทยยอมศิโรราบต่อเงื่อนไขของยุโรป ประเทศไทยอาจต้องสูญเสียอธิปไตยในระบบสาธารณสุขอย่างไม่อาจเรียกร้องกลับคืนมาได้
เนื้อหาจาก http://waymagazine.org/report/fta-eu/
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|