• ตำนานเสือเย็น(เสือสมิง) คืออะไร ใครเป็นได้บ้าง ??? มารู้กัน .. คลิ๊ก >> |
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 24 ก.ย. 56 เวลา 09:57:35 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เสือ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ FELIDAE ปกติกินเนื้อเป็นอาหาร มีความว่องไวปราดเปรียว เป็นสัตว์นักล่าที่สัตว์อื่นเกรงกลัวและได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งสัตว์ป่า
ในด้านความเชื่อ ชาวล้านนามีความเชื่อในเรื่องของเสือในฐานะเป็นสัตว์นักษัตรประจำปีเกิด วันตามความเชื่อ เสือเย็น (เสือสมิง) เขี้ยวเสือ หนังเสือไฟ คาถาและยันต์เสือ ดังมีรายละเอียดที่จะกล่าวถึงเป็นลำดับไป
คำทำนายสำหรับคนเกิดปีเสือ
คนเกิดปียี (ขาล) หรือปีเสือนั้น ชาติก่อนเป็นผีอารักษ์ในเมืองลังกา จากนั้นเกิดเป็นโจร เกิดเป็นหัวหน้าคน เป็นเสือเย็น(เสือสมิง) เกิดในนรกภูมิ ๓ ชาติ เกิดเป็นควายป่า เมื่อจุติจากควายป่าวิญญาณลงมาพักอยู่ ณ พระธาตุช่อแฮ แล้วเข้าสู่ต้นผีเสื้อซึ่งมีงูและผีอารักษ์อยู่เฝ้ารักษา จากนั้นเข้าสถิตอยู่ที่กระหม่อมของบิดาเจ็ดวัน จึงปฏิสนธิในครรภ์มารดา คนเกิดปีนี้ จุติจากบ่าขวาของพระพรหม อังคารเป็นปาก มักพูดจาโผงผางไม่เกรงใจใคร แต่เป็นที่ถูกใจคนฟังส่วนมาก การพูดจามักคุยเรื่องกามารมณ์ หากเป็นหญิงมักมีเสน่ห์ พฤหัสเป็นใจ มีจิตใจเมตตาชอบทำบุญกุศล อาทิตย์เป็นที่นั่ง มักมีใฝหรือปานในที่ลับ เป็นที่พึงใจต่อเพศตรงข้าม พุธและศุกร์เป็นมือ จึงมีฝีมือเชิงศิลปะ มีสติปัญญาดี เสาร์กับจันทร์เป็นเท้ามักได้เดินทางเป็นนิจ การให้ทาน ควรถวายผ้ากั้นเพดาน สร้างศาลาหรือถวายข้าวพันก้อน จึงจะเจริญ หากไม่ทำบุญตามนี้ จะยากจนถึง ๑๓ ชาติ จากนั้นเกิดเป็นช้าง จึงจะได้เกิดเป็นคนอีก หากให้ทานตามที่ได้กล่าวมา จะได้เกิดเป็นโอรสของกษัตริย์เมืองมัทราช เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเกิดในเมืองจัมปา ในที่สุดจะประสบกับความสงบสุขด้วยความเกื้อหนุนของพระอรหันต์ ๘ รูป สุดท้ายได้เข้าถึงพระนิพพานในสำนักพระศรีอริยเมตไตย คนเกิดปีนี้ให้ระวังภัยจากคมหอกคมดาบ ไม่ควรเดินทางในยามค่ำคืน อายุได้ ๒๐ ปี จะประสบเคราะห์กรรมถึง ๓ ครั้ง อายุ ๓๓ ปี จะมีลาภ อายุ ๔๔ ปี จะมีคนใส่ร้าย อายุ ๖๐ ปี จะได้ลาภสักการะ และจะสิ้นอายุขัยเมื่ออายุ ๗๐ ปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือ (เดือน ๑๑ ของภาคกลาง) เวลาเที่ยงวัน ผู้ที่เกิดปีนี้ลงด้วยเสือ ธาตุไม้ ค่อนข้างขัดสนเงินทอง ทำคุณคนไม่ขึ้น คู่ครองควรเป็นคนที่เกิดในปีมะเมีย และปีจอ คนที่เป็นศัตรูได้แก่คนที่เกิดปีมะแม และปีระกา ถึงปีกุนให้นำน้ำจากแม่น้ำ ๗ แห่ง ไปรดต้นศรีมหาโพธิ และในชีวิตควรหาโอกาสไปไหว้พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิด จะเจริญสุขสวัสดี รัตนชาติประจำตัวคือ มรกต ถุงบรรจุทรัพย์สินควรเป็นถุงสามชั้น ชั้นนอกสีแดง ชั้นกลางขาวและชั้นในสีเขียว ชุดออกศึกสีเขียว สัตว์เลี้ยงประจำตัวคือม้า หรือวัวตัวเมียสีน้ำตาลเข้มจึงจะดี
วันตามความเชื่อ
วันตามความเชื่อที่เสือมีบทบาทเช่นวันเสือฅ้าย และวันเสือหลับตา เป็นต้น โดยเฉพาะวันเสือหลับตา ถือเป็นวันที่เสือไม่คอยจ้องมองหรือหาช่องทางที่จะจับวัวควายเป็นอาหาร จึงเหมาะสำหรับเป็นวันสร้างคอกวัวควาย โดยเชื่อว่า เสือจะไม่เข้าไปขโมยวัวควายในคอกที่สร้างในวันดังกล่าว ซึ่งได้แก่ วันในระบบ "วันไท" ดังนี้
เดือนเกี๋ยง วันเหม้า
เดือน ยี่ วันเป้า
เดือน ๓ วันเร้า
เดือน ๔ วันสี
เดือน ๕ วันเป้า
เดือน ๖ วันเร้า
เดือน ๗ วันสี
เดือน ๘ วันเม็ด
เดือน ๙ วันสัน
เดือน ๑๐ วันเหม้า
เดือน ๑๑ วันเป้า
เดือน ๑๒ วันเร้า
เสือเย็น
เสือเย็น คือ เสือสมิง ซึ่งเป็นเสือที่เชื่อกันว่าแต่เดิมเป็นคนที่มีวิชาอาคมแก่กล้า โดยเฉพาะอาคมเกี่ยวกับเสือ เมื่อถึงวัยชราหรือควบคุมอาคมไม่อยู่ จะกลายร่างเป็นเสือในยามค่ำคืน ขณะที่บางท่านกล่าวว่าเป็นเสือที่กินคนมาก ๆ เข้าจนวิญญาณคนเข้าสิงร่าง จึงสามารถจำแลงร่างเป็นคนได้ในบางโอกาส
เรื่องของเสือเย็น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาหลายสำนวน เช่น สำนวนหนึ่งเล่าว่า ชายคนหนึ่งมีลูกสาวสวย ในคืนที่เขาออกไปทำธุระนอกบ้านมักมีชายหนุ่มมานั่งคุยกับลูกสาว คืนหนึ่งขณะที่เขากลับเข้าบ้านก็เหลือบเห็นงูก่านปล้อง (งูสามเหลี่ยม) เลื้อยอยู่บนชานเรือนจึงเอามีดฟันทันที พลันได้ยินเสียงคนร้อง "โอ๊ย!" และคนที่ร้องนั้นคือชายหนุ่มที่มานั่งคุยกับลูกสาว ซึ่งเป็นเสือเย็นแปลงกาย งูนั้นคือหางของเสือเย็น ทันทีที่ถูกฟัน มันตกใจกระโดดหนีลงเรือนไป
สำนวนต่อมาเล่าว่า พรานป่าคนหนึ่งมีเมียท้องแก่ คืนหนึ่งไปนั่งห้างดักยิงสัตว์ พอดึกสงัด พระธุดงค์แบกจ้อง (กลด) มาเรียกให้ลงจากห้าง บอกว่าเมียจะคลอดลูก เหตุการณ์ที่มีคนมาเรียกเขาเคยได้ยินมาบ้าง และเคยทราบมาว่า เสือเย็นมักถอดจิตไว้นอกกาย ยิงไม่ตายง่ายๆ ในขณะที่พรานลังเลอยู่บังเอิญมีนกตัวหนึ่งส่งเสียงร้องว่า "จิกจ้องๆๆ" หมายถึง "ยอดกลด" เขาเฉลียวใจจึงใช้ปืนยิงไปที่ยอดกลด ปรากฏว่า พระธุดงค์รูปนั้นล้มลงกลายเป็นเสือลายพาดกลอนนอนตายอยู่ ด้วยจิตของเสือเย็นถูกถอดไว้อยู่ที่ยอดกลดนั่นเอง
นอกจากนี้ อีกสำนวนเล่าว่ามีวัดแห่งหนึ่ง สมภารร่ำเรียนคาถาอาคมจนแก่กล้าเกินขนาด ควบคุมตนเองไม่ได้ ในที่สุดก็กลายเป็นเสือเย็น (เสือสมิง) โดยที่กลางวันมีร่างเป็นคน ตกกลางคืนมีร่างเป็นเสือกัดกินพระเณรและเด็กวัดจนหมด ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าต่างแดนคนหนึ่งรอนแรมมาจวนค่ำ ณ วัดนั้น จึงคิดจะขอพักค้างคืน ชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงพากันห้ามปราม พร้อมชี้แจงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น แต่พ่อค้าก็ไม่ยอมฟังเสียงทัดทาน ได้เข้าไปขอพักกับสมภาร โดยอาศัยนอนในวิหาร พอถึงกลางคืน พ่อค้าก็เริ่มสานวัวธนูพร้อมตั้งสมาธิจิตบริกรรมคาถาไปเรื่อยๆ ส่วนสมภารก็แวะเวียนมาถามตรงประตูว่า "หลับหรือยัง" พ่อค้าก็ตอบ "ยังไม่หลับ" ยิ่งดึกสมภารก็ยิ่งเดินมาถามบ่อยขึ้น พ่อค้าก็ตอบดังเดิม สุดท้าย พ่อค้าสานวัวธนูเสร็จพอดี เมื่อสมภารมาถาม พ่อค้าจึงเงียบ ทันใดนั้น ประตูวิหารก็เปิดออกพร้อมปรากฏร่างของเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่กระโจนเข้าสู่วิหาร ขณะเดียวกันพ่อค้าก็ปล่อยวัวธนูพุ่งทะยานออกไป เสียงแห่งการต่อสู้ดังอึกทึกตลอดคืน รุ่งเช้าชาวบ้านมาดูก็พบว่า สมภารมีรอยถูกขวิดตามตัวจนมรณภาพจมกองเลือดอยู่ ที่แปลกก็คือสมภารมีร่างเป็นคน แต่ที่ก้นมีหางยาวงอกออก หางนั้นคือหางเสือเย็น
เขี้ยวเสือ
คนทั่วไปเชื่อว่า เขี้ยวเสือ โดยเฉพาะเขี้ยวของเสือเจ้าป่า เสือที่คงกระพันและตายเองโดยธรรมชาติ สามารถป้องกันศาสตราวุธ ผีป่าและสัตว์ร้ายทั้งปวง จึงนิยมนำมาถักด้วยเส้นลวดปลุกเสกพกพาติดตัวหรือห้อยคอ บางคนอาจแกะเป็นพระเครื่องหรือทำเป็นด้ามมีดหมอ ก็มีปรากฏให้เห็นเสมอ
หนังเสือไฟ
หนังหรือแม้กระทั่งขนของเสือไฟ ชาวล้านนาเชื่อว่าสามารถป้องกันภูตผีปีศาจและโรคร้ายในสัตว์ จึงนิยมนำมาเป็นเครื่องรางแขวนคอให้เด็กเล็ก และนำมาตอกติดคอกสัตว์ และเล้าเป็ด เล้าไก่ เป็นต้น
คาถาเสือโคร่ง
คาถาเสือโคร่งเป็นคาถาที่โบราณท่านผูกไว้สำหรับท่องบ่นขณะเดินทางไกลหรืออยู่ในสภาวะคับขัน ตลอดจนเข้าศึกสงคราม เชื่อว่าจะสามารถป้องกันภัยอันตรายได้ บทคาถามีอยู่ว่า
"โอมเสือโคร่งตัวหลวง โอมเสือเหลืองสอดเสี้ยวแสนตา
เสียงกูแรงดั่งช้าง กูนี้มีแรงดั่งช้างพลายโขลง
กูออกบ้านกูกินแสนเยื่อง กูออกเมืองกูกินแสนโขลง
เสียงกูดังคระครื้นพื้นธรณี เสียงกูมีอำนาจ
ข้าเสิกขาดใจตาย โอม สวาหะ เถ็กฯ"
ยันต์เสือ
ยันต์ของชาวไทยวนส่วนหนึ่งนิยมลงยันต์เสือโคร่งลงบนแผ่นผ้าหรือแผ่นโลหะพกติดตัวเมื่อออกศึกสงคราม แต่ก็พบว่าชาวไทใหญ่นิยมสักลายบนผิวหนังด้วยยันต์ประเภทคงกระพันต่างๆ อาทิ ยันต์เสือ ๓ ป็อด เสือ ๗ ป็อด เสือสองหาง เสือหัวอาง และเสือเย็น.
สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.thainews70.com/news/news-culture-sanon/view.php?topic=293
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 632 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย โน้ต cmprice
IP: Hide ip
, วันที่ 24 ก.ย. 56
เวลา 09:57:35
|