กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สลากย้อมคืออะไร ประวัติสลากย้อมเมืองลำพูน
บทความโดย อ.ลาภิณี
สลากย้อม เป็นพิธีทานสลากพิเศษของชาวไทยอง สลากย้อมนี้จะประดิษฐ์จากต้นไม้หรือ กิ่งไม้สูงประมาณ 4-5 วา มีร่มกางที่ปลายยอด ลำต้นของสลากจะมีฟางมัดเป็นกำ ๆ สำหรับปักไม้ไผ่ที่ผูกแขวนเครื่องปัจจัยไทยทาน ซึ่งเครื่องไทยทานนั้นจะเป็นเครื่องประดับ ของมีค่า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อที่ว่า ผู้ที่ถวายทานสลากย้อมนี้มีเครื่องใช้ในการครองเรือนและมีคุณสมบัติครบถ้วนแก่การครองเรือนแล้วนั่นเอง ทั้งนี้สลากย้อมดังกล่าว เมื่อทำพิธีถวายแก่พระสงฆ์แล้ว เจ้าตัวก็จะรีบบูชากลับคืนไป และจากการสังเกตจากสำนวนคำร่ำสลากย้อมแล้ว พบว่ามีการเรียกสลากชนิดนี้ว่า "กัปปรุกขา" หรือต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ในนิยายที่อาจบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามความประสงค์ของผู้ขอได้
การทานสลากย้อม เป็นการทานสลากภัตชนิดหนึ่ง ซึ่งต้นสลากมีขนาดใหญ่กว่าสลากชนิดอื่น ซึ่งจัดกันมาตั้งแต่โบราณกาลของวัดในหมู่บ้านชาวยองแถบตำบลริมปิง ตำบลประตูป่า ตำบลเหมืองง่า และตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน การทานสลากย้อมมักจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะการทำต้นสลากที่มีขนาดใหญ่และสูงประมาณ 5 - 6 วา และประกอบด้วยเครื่องตกแต่งและเครื่องประดับมากมาย ปัจจุบันถ้าหากจะทำต้นสลากย้อมดังกล่าว คงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ครอบครัวที่จะทานสลากย้อมได้จึงเป็นครอบครัวที่ พอจะมีฐานะและมีลูกสาวอายุ 20 ปีขึ้นไป มีความพร้อมที่จะแต่งงานมีครอบครัว ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทาน โดยเฉพาะ ฉะนั้นเมื่อหญิงสาวคนใดมีความสามารถพอที่จะทำงานได้ พ่อแม่ ก็จะแนะนำให้ลูกทราบถึงหน้าที่ที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรก คือการเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อจัดทำต้นสลากย้อม เพราะโบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ทานสลากย้อมหญิงนั้นไม่สมควรจะแต่งงาน ถ้าหญิงใดทานสลากย้อมแล้วถือว่าพร้อมที่จะแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้ การทำสลากย้อมจึงเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนต่าง ๆ เช่น การเย็บปักถักร้อย และงานอื่น ๆ ในหน้าที่แม่บ้าน แม่เรือนอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้หญิงชาวยองในชนบทเรียนจบการศึกษาเพียงภาคบังคับ คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่นิยมเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และครอบครัวมีอาชีพหลักในการทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำสวน เป็นต้น สาวชาวยองเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง จึงทำนาน ทำสวน เก็บหอมรอมริบด้วยน้ำพักน้ำแรงเป็นเวลาหลายปี การทานสลากย้อมจึงมิได้มีทุกครอบครัว ครอบครัวที่ยังไม่พร้อมก็ถวายทานสลากภัตชนิดก๋วยสลาก หรือสลากโชค ส่วนหญิงสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็จะทานสลากต้นที่มีขนาดเล็กกว่าสลากย้อม แต่มีเครื่องประดับตกแต่งเหมือนสลากย้อมต้นใหญ่ทุกประการและ มีชื่อเรียกว่า “สำรับ”
หากวัดใดจะมีการทานสลากภัตในปีใด ก็จะป่าวประกาศให้ศรัทธาของตนทราบล่วงหน้าเป็นปี เพื่อให้เวลาในการตระเตรียมสำหรับผู้ที่จะทานสลากย้อม เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการตระเตรียมข้าวของเป็นเวลานาน การทานสลากจะเริ่มต้นตั่งแต่วันเพ็ญเดือนสิบ (เดือน 12 เหนือขึ้น 15 ค่ำ) ตามธรรมเนียมจะให้วัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัด หรือวัดหลวง จัดงานทานสลากภัตก่อน ในจังหวัดลำพูนคือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จากนั้นวัดอื่น ๆ ก็จัดงานทานสลากภัตเรื่อยไป จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือเดือนเกี๋ยงดับ)
เมื่อทราบว่าทางวัดจะจัดให้มีการทานสลาก หญิงสาวที่มีความพร้อม มีกำลังทรัพย์พอที่จะทานสลากย้อม อาจจะมีพียง 4-5 ราย หรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ ต่างก็จะเริ่มจัดทำและซื้อของตระเตรียมไว้ทีละเล็กละน้อย เช่น สร้อยคอทองคำ เข็มขัดเงิน และเครื่องเรือนต่าง ๆ ซึ่งถ้าหญิงสาวคนใดมีพี่น้องที่อายุน้อยกว่า 20 ปี จะร่วมทานสลากย้อมกับพี่สาวด้วยก็ได้
การเตรียมต้นสลากย้อม
การจัดเตรียมจัดทำเครื่องตกแต่งต้นสลากย้อม นอกจากหญิงสาวจะจัดซื้อหาและจัดทำไว้บ้างแล้ว ยังมีงานที่จะต้องทำและประดิดประดอยอีกมากมายหลายอย่าง แต่ละครอบครัวที่จะทานสลากย้อม หญิงสาวจะขอให้ญาติพี่น้องและเพื่อนมาช่วยกันในการจัดทำเครื่องตกแต่งต้นสลากย้อมซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างในตอนเย็นและตอนกลางคืน บ้างก็จะมานอนค้างคืน ส่วนตอนกลางวันก็จะกลับบ้านไปทำงานบ้านตามปกติ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนวันทานสลาก และเป็นช่วงเข้าพรรษาหลังจากฤดูทำนา จึงทำให้มีเวลาว่าง มีการ “จ่าตอง” คือการรีดยอดตองด้วยเตารีดถ่าน เพื่อไว้ใช้สำหรับมวนบุหรี่ (ทำบุหรี่) ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมาก แล้วนำบุหรี่ดังกล่าวมาถักเป็นแพ เรียกว่า “มูลีแป” (บุหรี่ที่ถักเรียงกันลงมามีความยาว 3-4 เมตร) เพื่อใช้แขวนประดับกับต้นสลากย้อม และมีการประดับจ้อง (ร่ม) ด้วยดอกไม้แห้ง มีดอกจำปา สร้อยคอ เข็มขัดตลับเงิน เพื่อประดับไว้ส่วนยอดของต้นสลาก รอบ ๆ ขอบชายร่มก็จะนำสตางค์แดงหรือเงินแถบ (เงินรูปี) ถักด้วยข้าวเปลือกเรียงรอบขอบเหรียญด้วยฝีมือประณีตสวยงาม เรียกว่าการถัก “ขะจา” มาร้อยแขวนโดยรอบขอบร่ม และมีการเตรียมมีดและไม้ไผ่สีสุกสำหรับเหลาเฮียวไว้
ในยามค่ำคืนของการเตรียมงานเช่นนี้ ก็จะมีหนุ่ม ๆ ทั้งจากบ้านใกล้และไกลเดินทางมาเที่ยว “แอ๋วสาว”หลอกล้อพูดคุย และช่วยทำงาน เช่น งานเหลาไม้เฮียว เป็นต้น ทำให้บรรยากาศครึกครื้น บ้างก็นำสิ่งของเครื่องใช้ที่ประดิษฐ์อย่างประณีตด้วยตนเองมามอบให้หญิงสาวร่วมนำเข้าของสลาก เพื่อร่วมถวายทาน ส่วนหนุ่มที่หมายปองหญิงสาวเจ้าของสลากย้อมก็จะช่วยทำเครื่องประกอบต้นสลากย้อมอย่างประณีตเป็นพิเศษ เช่น ตะกร้า (อ่านว่า ซ้า) กระบวยที่ประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น
การทำต้นสลากย้อม ก็จะเป็นการช่วยกันทำในตอนกลางวัน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมของผู้ชายที่มีความรู้ทางช่าง (ซึ่งรายละเอียดในการทำต้นสลากย้อมจะกล่าวถึงในตอนต้นต่อไป) โดยใช้บริเวณลานบ้านของเจ้าของต้นสลากนั่นเอง
ในระหว่างที่มีการเตรียมต้นสลากก็จะมีการตัดกระดาษสีต่าง ๆ เป็นลวดลายประดับต้นสลาก มีการย้อมเฮียวด้วยสีสันต่าง ๆ ซึ่งในการประดับต้นสลากด้วยเฮียวสีต่าง ๆ จึงทำให้เป็นที่มาของคำว่า “สลากย้อม” ละเมื่อทำต้นสลากเรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะนำต้นสลากไปประดับตกแต่งด้วยของใช้ต่าง ๆ ที่เตรียมไว้
เมื่อถึงเช้าตรู่ของวันทานสลากย้อม ก็จะดำเนินการเอาวัสดุอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับต่าง ๆ และเฮียวที่เตรียมไว้เป็นเวลาอันยาวนาน นำไปปักประดับสลากย้อม เนื่องด้วยต้นสลากย้อมมีขนาดใหญ่และสูงประมาณ 5-6 วา จึงต้องใช้คนหามโครงต้นสลากย้อมถึง 12 คน โดยต้องหามไปเทียบกับต้นไม้ที่สูงใหญ่ที่อยู่ริมถนนใกล้บ้านหรือบริเวณใกล้วัด เพื่อสะดวกแก่การประดับตกแต่งต้นสลากย้อม (เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเช่น คนเครนหรือรถกระเช้าในปัจจุบัน) จึงต้องให้คนขึ้นไปยังต้นไม้ใหญ่เพื่อประดับต้นสลากย้อมที่มีความสูง
ต้นสลากย้อมแต่ละต้น จะมีป้ายชื่อและนามสกุลของเจ้าของสลากย้อมติดไว้ หรือบางคนจะมีการนำรูปภาพเจ้าของต้นสลากย้อม หรือวาดภาพทิวทัศน์มาตกแต่งประกอบอย่างสวยงาม เมื่อทำการตกแต่งต้นสลากย้อมด้วยเครื่องตกแต่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีการเคลื่อนย้ายต้นสลากย้อมไปยังวัดที่จัดงานสลากภัต ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงงานคนในการเคลื่อนย้ายต้นสลากย้อมที่มีขนาดใหญ่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีน้ำหนักมากและมีความสูง โดยต้องใช้คนในการหามต้นสลาก และใช้เชือกผูกโยงกลางลำต้นถึง 4 ด้าน ให้คนช่วยดึงประคองไปไม่ให้ล้มหรือหักลงมาได้ (ที่สามารถหามไปได้สะดวก เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีสายไฟฟ้าเป็นเครื่องกีดขวาง)
ณ จุดที่ตั้งต้นสลากย้อม จะมีร้านสำหรับวางก๋วยสลากสำหรับญาติ ๆ และเพื่อนสาวที่นำมาร่วมทานสลากภัตด้วย การถวายสลากย้อมก็เหมือนกับการทานสลากภัตโดยทั่วไป เมื่อสลากย้อมตกแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดแล้ว ก่อนประเคนรับพรพระหรือสามเณรรูปนั้นจะต้องหารือจ้างคนที่สามารถอ่านกำฮ่ำได้อย่างไพเราะมาอ่าน กำฮ่ำหรือค่าวฮ่ำ หรือกะโลงให้จบเสียก่อนจึงจะประเคนเพื่อรับพรพระจึงเป็นอันเสร็จพิธี
เมื่ออดีตประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว การทานสลากย้อมเป็นที่นิยมกันมาก เพราะถือว่าเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เชื่อว่าการทานสลากย้อมเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก ดังเอกสารที่กล่าวถึงอานิสงส์ของการถวายทานสลากภัต มีปรากฏอยู่อย่างมากมายตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ แต่ในปัจจุบัน ความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นตัวแปรในการพัฒนา ปรับเปลี่ยน ส่งผลประเพณีวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั่งเดิมสูญหาย ลดน้องลงหรือแม้กระทั่งแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การทำมาหากินก็เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผู้หญิงมีการศึกษาที่สูงขึ้น หรือบางส่วนที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็นิยมแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย ซึ่งทำให้ผู้คนไม่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนแต่เดิม
ดังนั้น การจัดทำต้นสลากย้อมที่ร่วมในประเพณีการทานสลากภัต ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร นั้น จึงเป็นเพียงการทำบุญและนำต้นสลากย้อมมาร่วมตามประเพณีเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากวิถีชีวิตและสถาบันครอบครัวครบถ้วนตามกระบวนการที่กล่าวข้างต้นต่อไป เป็นวัฒนธรรมที่ถูกนำมาแสดง โดยเน้นการประกวดและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเท่านั้น ซึ่งทำให้วัตถุประสงค์ของการจัดทำต้นสลากย้อมในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ต้นสลากย้อม แต่ละต้นที่นำมาร่วมประเพณีทานสลากภัตประจำปีของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จึงถูกทำขึ้นในนามของวัดและศรัทธาวัด มีกระบวนการในการจัดทำต้นสลากย้อมโดยวัดและคณะศรัทธา ไม่มีหญิงสาวที่อายุ 20 ปี เป็นเจ้าของสลากย้อมเหมือนในอดีต หรือแม้กระทั่งกำฮ่ำ หรือค่าวฮ่ำ ซึ่งพรรณนาถึงความตั้งใจและปรารถนาของเจ้าของต้นสลากย้อมให้ผู้คนได้รับรู้และชื่นชม ปัจจุบันจะมีก็แต่การนำค่าวฮ่ำที่มีแต่ในอดีตมาอ่านประกวดกัน เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการทานสลากย้อมเพียงส่วนหนึ่ง ดังนั้นประเพณีการทานสลากย้อมตามแบบอย่างโบราณกาลคงจะเป็นเพียงตำนานเล่าขานกันสืบไป
บทความเพิ่มเติม โดย อ.บารเมศ วรรณณาศัย(ห้ามตัดแต่ง)
เพระความขลังมันหายไปจากพื้นที่และความเข้าใจ มันจึงเหลือเพียงซากสลากและความทรงจำ. พอมันฟื้นกลับมาวิถีก็เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมยุคใหม่ทำไมเราไม่ช่วยให้ มันกลับมาโดยจิตวิญญาณของคนในพื้นที่แต่ก็ต้องปรับให้เข้ากับวิถีของสังคม. โดนเน้นจุดมุ่งหมายของการถวายเป็นที่ตั้งซึ่งมันคือการส่งเสริมพระพุทธ ศาสนา. คำถวายสลากย้อมโบราณตอนสุดท้ายจะอธิษฐานมุ่งสู่พระนิพพาน ไม่ต่างความเชื่อผู้ชายที่ทำได้โดยการได้บวช หาใช่เป็นภรรยาที่ดีของผู้ชายได้ไม่มีคำอธิษฐานนี้ในสลากย้อม แต่ความมุมานะของคนทำต่างหากทำให้คนที่ทำจะประสบผลสำเร็จในชีวิตใครได้เป็น ภรรยาจะสยาย วันนี้ถ้า อบจ ไม่สนับสนุน วัดพระธาตุเลิกทำ สลากย้อมที่ทุกคนภูมิใจก็คงกลับไปเป็นตำนานแค่นั้นเอง ถ้าตราบใดเราไม่อธิบายถึงเป้าประสงค์ที่แท้จริงของมันหาวิญญาณใส่ไห้มัน ซึ่งตอนนี้สมาคมชาวลำพูน วัดพระธาตุ. อบจ กำลังพยายามทำ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวน่าจะเป็นผลพลอยได้มากว่า มาทีหลังมากๆ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|