ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สิงห์ขี้ยาที่นิยมการพ่นควันในผับในบาร์ เตรียมกระอักเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกกฎเหล็กในพื้นที่ทั้ง 2 แห่งเป็นเขตปลอดบุหรี่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนาวิชาการและรับฟังความคิดเห็นเรื่องผับ บาร์ ปลอดบุหรี่ ว่า การเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ ถึงผลกระทบและโทษ พิษภัยของควันบุหรี่มือ 2 กับผู้ใช้และผู้ที่ประกอบกิจการงานในสถานบริการ และยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเสวนา ต่อการกำหนดให้สถานบริการบันเทิงเป็นเขตปลอดบุหรี่ต่อไปในอนาคต
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานบริการบันเทิงเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ อุตสาหกรรมบุหรี่ มักใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ในการหลอกล่อและให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่โดยง่าย ส่งผลให้ประเทศไทยมีนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนไทยปีละประมาณ 200,000 คน การผลักดันเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ในผับ บาร์ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อป้องกันคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่เป็นหลักโดยเฉพาะเยาวชน และในขณะนี้มีประเทศต่างๆ ที่ได้กำหนดให้สถานบริการผับบาร์ เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% มากกว่า 10 ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ แอฟริกาใต้ สเปน ภูฏาน อิตาลี ฝรั่งเศส อุรุกวัย ฮ่องกง บางรัฐของสหรัฐอเมริกา เขตปกครองพิเศษของประเทศแคนาดา และยังมีประเทศอังกฤษ กับอีกหลายประเทศ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
ทั้งนี้กระทรวงจะดำเนินการสำรวจความคิดของประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในเรื่องนี้ โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาประกอบร่วมกัน ก่อนที่จะดำเนินการกำหนดเป็นกฎหมายต่อไปในอนาคต ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล หัวหน้ากลุ่มควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า การดำเนินการกำหนดให้สถานบริการผับ บาร์ เป็นเขตปลอดบุหรี่นั้น กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการออกเป็นกฎหมายได้ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 โดยผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืน ไม่จัดเขตปลอดบุหรี่ จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่ เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชนหลายเรื่อง เช่น
การห้ามจำหน่ายบุหรี่ ที่มีกลิ่นและรสผลไม้ ช็อกโกแลต หรือรสชาติต่างๆ การกำหนดให้ ทัณฑสถาน ร้านอาหาร ที่ไม่เป็นระบบปรับอากาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ นอกจากนี้จะดำเนินการบังคับใช้ ตรวจสอบสถานที่ราชการต่าง ๆ ให้เป็นเขตปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง คือสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข สถานศึกษา ฯลฯ ส่วนในระยะยาว กรมควบคุมโรคจะดำเนินการสนับสนุนให้เกิดการฟ้องร้องค่าเสียหายจากบริษัทบุหรี่ด้วย
ข้อมูลจาก ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ข่าวจาก ไทยรัฐ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|