การยุติบทบาทของ คมช. ยังเป็นเวลาเดิมใช่หรือไม่
เราทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นภาระที่เราคงเลิกไม่ได้ แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ หน้าที่ คมช.จะจบตามกำหนดเวลา
กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตร ระบุว่ามีคนใน คมช.ไปเจรจารับเงิน 500 ล้านบาท จากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อล้มคดีที่ร้านอาหารมัดหมี่ จ.ลพบุรี
อยากให้ไปถามคุณสุริยะว่าท่านให้ใคร ผมรู้จักกับท่านตั้งแต่สมัยเป็นผู้บัญชาการกองพล ท่านเป็นคนที่มีใจเอื้ออารี และมอบทุนการศึกษาให้ผู้บัญชาการกองพลสมัยนั้น ผมไปลพบุรีเพียง 2-3 ครั้งตั้งแต่ย้ายมาที่นี่ ส่วนร้านมัดหมี่ไปครั้งเดียวกับคณะและผู้สื่อข่าว
ยืนยันว่าถ้าผมไปรับเงิน 500 ล้านบาท อยากถามว่าจะเอาอะไรไปใส่เงิน 500 ล้านบาท ต้องเอารถบรรทุกไปใส่ และอยู่ดีๆ คุณสุริยะจะเอาเงินมาให้ผมทำไม ผมจะช่วยอะไรเขา วิจารณญาณของคน คงพิจารณาออก คตส.พูดได้ที่ไหน ทุกท่านเป็นตัวของตัวเอง ผมมั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นนัยยะทางการเมืองหรือเปล่า ผู้ฟังต้องพิจารณาไตร่ตรองว่า ผมจะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร
ถ้าให้เงินจริงคนใน คมช. 5-6 คน ไม่พอหรอก คุณสุริยะมาเกี่ยวอะไร บุคลิกอย่างนี้จะไปรีดนาทาเร้นหรือ ไม่ใช่บุคลิกของ พล.อ.สนธิ เพราะจะไปขอเงินใครยังไม่รู้จะไปพูดอย่างไรเลย แต่เวลานี้มีนักธุรกิจรู้ดีว่าใครไปไถเงินพวกนี้ เพราะเขามาเล่าให้ฟัง
บ้านเมืองกว่าที่ผมจะเอาชีวิตไปแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งวันนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่าคิดกันอยู่แค่ 3 คนเท่านั้น คือ ผมกับผู้ช่วยที่เป็นนายทหารยศพันเอก 2 คนเท่านั้น ไม่มีคนอื่นที่เป็นวีรบุรุษที่ไหนมา ทุกคนทำงานภายใต้กรอบ ทำตามแผนที่กำหนดขึ้นมาเท่านั้น
มีคนมองว่า พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. 2 แคนดิเดตที่จะเป็น ผบ.ทบ. ถือเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในวันที่ทำรัฐประหาร
ผมใช้คนที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานในหน้าที่ ตามกรอบนโยบาย ผู้ปฏิบัติกับผู้วางแผนคนละคนกัน เรื่องนี้ไม่มีใครเป็นวีรบุรุษ ผมไม่เคยอ้างอย่างนั้น ทำงานเพื่อชาติก็จบแล้ว ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น
ในช่วงเช้าวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการวางแผนอย่างไร
แผนผมจบแล้ว แผนผมทำเพียงเวลาสั้นๆ 2-3 วันก็เสร็จ โดยทำภายใต้กรอบของแผนอีกแผนหนึ่งที่มีอยู่แล้ว วันที่ 19 กันยายน 2549 คือ วันที่ผมกำลังร่างคำประกาศเพียงคนเดียว
รูปแบบใหม่ในการแถลงข่าวของ คมช.จะเป็นอย่างไร
ผมขออนุญาตให้เป็นความเซอร์ไพรส์แล้วกัน
1 ปี คมช.ให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่
ต้องให้คนอื่นให้คะแนน บางทีส่งข้อสอบไปแล้ว ข้อสอบหาย หรืออาจารย์ลืมตรวจก็มี ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าการปฏิวัติ 1 ปี ของ คมช.ไร้ประโยชน์นั้น เรื่องคำตอบทางการเมืองอาจจะใช่ แต่มองที่ผลสัมฤทธิ์ดีกว่า
ผมถามว่าถ้าไม่มีวันนั้น วันนี้บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร กลุ่มอำนาจเก่าทำอะไรบ้าง ทุกคนรู้ ทุกองค์กรก็รู้ คิดว่าบ้านเมืองบอบช้ำหลายเท่า และต้องยอมรับว่านี่คือประชาธิปไตย ผมคืนอำนาจภายใน 12 วัน ไม่ใช่เผด็จการแน่นอน
หากย้อนเวลากลับไปได้จะคืนอำนาจหรือไม่
ไม่พูดดีกว่าเดี๋ยวถูกโจมตีอีก แต่สาเหตุที่ คมช.ยังอยู่ เพราะเป็นภาระเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่สืบทอด
ภารกิจ 4 ข้อในการยึดอำนาจคืบหน้าอย่างไร
เรื่องแรกที่เกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มอบหมายให้ตำรวจดำเนินการ อยู่เกินอำนาจเรา และไม่ต้องการให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
ส่วนข้อหาคอร์รัปชั่นครั้งแรกมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ ถือว่ามีความกล้าหาญและก็มีผลงานได้พอสมควร
ส่วนเรื่ององค์กรอิสระอื่นๆ มีการแต่งตั้งใหม่ทั้ง กกต. ป.ป.ช. สนช. และ ส.ส.ร. ก็สัมฤทธิผล และเรื่องสุดท้าย คือ ความสามัคคีของคนในชาติกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
หลังจาก คมช.หมดภารกิจในปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าอำนาจเก่ากลับมา ผมเป็นคนแรกที่จะโดน แล้วอาจจะเป็น คตส. หรือคนอื่นตามมา แต่อย่าไปกลัว เราอย่าเป็นไก่ตรุษจีน ตีกันเองในเข่งในกระชัง เพราะในที่สุดก็ต้องเข้าโรงเชือด หรือเหมือนนิทานอีสป เรื่องนกแขกเต้ากับนายพรานที่ชี้ให้เห็นว่า คนนั้นทำคนนี้ไม่ทำ เอาเท้าราน้ำ
เสียงวิจารณ์ว่า คมช.ใช้สื่อในการชี้แจงข้อเท็จจริงหรือความเลวร้ายของระบอบเก่าไม่เต็มที่
ต้องยอมรับว่าเวลานี้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่มีการควบคุมสื่อ ที่ผ่านมาเราได้ทำไปถึงรากแก้ว มีทั้งวีซีดี ข้อมูลทุกด้าน ขณะเดียวกันสังคมประชาธิปไตยอยู่ที่ดุลพินิจของสื่อว่าจะลงหรือไม่
ช่วงการลงประชามติในภาคอีสานโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญมาก
คนในภาคอีสานเคยหนุนระบอบเก่า 6 ล้านคน แต่ตอนนี้เหลือแค่ 4 ล้านคน ทั้งที่ในช่วงการลงประชามติไม่ได้มีการรณรงค์อะไร
มีเสียงวิจารณ์ว่าปฏิวัติไม่สะเด็ดน้ำ เมื่อเกิดวิกฤตอีกจะแก้ปัญหาไม่ได้
เป็นการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย ถ้าโอกาสหน้าประชาชนไม่เห็นด้วย การยึดอำนาจก็เป็นไปไม่ได้ และหากสังคมเข้มแข็งก็ไม่ต้องปฏิวัติ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันร่วมกันสร้างพลังอำนาจในชาติ มีอุดมการณ์รักชาติให้มากกว่านี้ อย่างประเทศเวียดนามที่คนมีความรักชาติ มีวินัย โดยเฉพาะมีผู้นำที่มีความรักชาติ
ในอนาคตจะมีปฏิวัติอีกหรือไม่
หากผู้นำมีผลประโยชน์หรือฉ้อฉล แต่ถ้ามีก็จะเป็นในลักษณะของการปฏิวัติโดยพลังประชาชน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้
คมช.จะสู้อำนาจเงินไหวหรือไม่
ต้องสร้างโดยใช้ศีลธรรม หลายอย่างมาสู้กัน หากเอาเงินมาให้ 500 ล้าน เงินจำนวนนี้ยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไร มันจะทับตาย
ทหารจะกลับเข้ากรมกองหรือไม่
ทหารไม่อยากออกมาอยู่แล้ว แต่เรามีภารกิจทางด้านความมั่นคง ผมทำงานด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหตุการณ์ครั้งนั้นผมได้เอาชีวิตเข้าแลก และขอยืนยันตั้งแต่วันนั้น ผมยืนข้างประชาชน จะทำให้ประชาชนสบายใจ
ขอให้ประชาชนช่วยกันสู้กับอำนาจเก่า รวมกันเป็นพลังในการต่อสู้ ไม่ให้กลับมาได้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ดิ เอเชี่ยน วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2550 ในโอกาส 1 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน เรื่องการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
ในวันเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ผมอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และเตรียมการที่จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
ผมมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่สำคัญนี้ เพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของผม
หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ผมได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวไทยในการเลือกตั้ง ทำให้ผมสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากขึ้นใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน โดยในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเกือบ 100 ปีของไทย ผมเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งนอกจากจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนครบวาระ ผมยังได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ของประเทศให้รับตำแหน่งหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ต่ออีกวาระหนึ่ง
ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลของผม เราสามารถลดความยากจนของประชาชนของประเทศได้เกือบครึ่ง ให้โอกาสประชาชนเข้าถึงระบบของสวัสดิการรักษาพยาบาลในราคาต่ำเป็นครั้งแรกของประเทศไทย รัฐบาลของผมสามารถบริหารแผ่นดินด้วยงบประมาณที่สมดุลและยังสามารถชำระหนี้สินของประเทศชาติคืนให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้จนครบถ้วน
ในการเตรียมการที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ ผมตั้งใจที่จะตอกย้ำถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยของไทย
ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ผมไม่สามารถมีโอกาสที่จะได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติตามที่กำหนดไว้ เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของผม ถูกโค่นล้มโดยการกระทำรัฐประหารโดยกองทัพ
การกระทำรัฐประหารต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นสิ่งที่ผมและพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคนี้ ผมเชื่อมั่นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นได้ฝังรากลึกในสังคมไทย เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และมีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
พี่น้องประชาชนชาวไทยมีความเชื่อมั่นและคาดหวังในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับพี่น้องประชาชนในนานาอารยประเทศ และผมมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนชาวไทยจะยืนหยัดต่อต้านอำนาจเผด็จการจนกว่าพี่น้องประชาชนจะได้อำนาจในการปกครองประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคืนมา
เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่คณะรัฐประหารเสียเวลา 1 ปีที่ผ่านมาไปกับการคิดกันผมหรือใครก็ตามที่มีความเห็นทางการเมืองร่วมกับผม มิให้สามารถกลับคืนสู่เวทีการเมืองได้
แทนที่จะใช้เวลา 1 ปีที่ผ่านมาไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือคืนสิทธิพื้นฐานโดยชอบธรรมให้แก่พี่น้องประชาชน
เมื่อคำนึงถึงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ผมต้องตกใจและเสียใจกับความเสียหายอันใหญ่หลวงที่พี่น้องชาวไทยและประเทศชาติได้รับจากการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของคณะรัฐประหาร
ผมได้ชี้แจงหลายครั้งแล้ว และขอยืนยัน ณ ที่นี้ว่า ผมไม่มีความปรารถนาจะกลับเข้าไปสู่เวทีการเมืองอีกต่อไป ผมยังมีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ยิ่งชีวิต ผมรักประเทศไทยที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน และความปรารถนาเพียงประการเดียวของผม คือการได้กลับคืนสู่ประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาและครอบครัวของผมโดยสงบ
คณะรัฐประหารได้อ้างเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารว่า รัฐบาลภายใต้การนำของผมนั้นกระทำการทุจริตคิดไม่ชอบ ภายหลังการรัฐประหาร พวกเขาก็ได้ตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาโดยมีภารกิจหลักเพียงประการเดียวคือการพยายามคิดค้นหลักฐานและข้อกล่าวหาต่างๆ เพื่อกล่าวหาว่า ผมและครอบครัวมีการดำเนินการทางการเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับข้อกล่าวอ้างของการทำรัฐประหาร
แต่จนเวลาผ่านไป 1 ปี หน่วยงานเฉพาะกิจของคณะรัฐประหารกลับไม่สามารถหาหลักฐานใดๆ มาพิสูจน์ข้อกล่าวหาที่มีตั้งแต่ต้นว่าผมทุจริตได้ จนต้องมีการปรุงแต่งเรื่องราวใหม่ๆ มาใส่ความผมและครอบครัวเพิ่มเติม และพวกเขายังต้องดำเนินการให้มีการประดิษฐ์การตีความกฎหมายแบบใหม่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและภาษีอากรเพื่อใช้ดำเนินคดีกับผมและครอบครัวเป็นการเฉพาะ
การใช้บังคับและตีความกฎหมายเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะกับผมและครอบครัว เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะการกระทำเช่นนั้นจะกระทบถึงชื่อเสียงของประเทศไทยที่เคยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในหลักนิติธรรมและมีความเที่ยงธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ผลที่ตามมาของการกระทำของคณะรัฐประหารก็คือ การชะลอตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
คณะรัฐประหารยังพยายามหยุดยั้งมิให้ผมหรือใครก็ตามที่มีความเลื่อมใสในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับผมได้รับการเลือกตั้งจากพี่น้องประชาชน โดยดำเนินการให้มีการยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองภายใต้การนำของผม และยังได้ดำเนินการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของผู้นำทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยกว่า 100 คน
นอกจากนี้ คณะรัฐประหารยังได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินของผมในประเทศไทยอีกด้วย
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน และยังห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย
คณะรัฐประหารได้ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศโดยมีภารกิจหลักเพื่อลดบทบาททางการเมืองของประชาชนและผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญระดับประเทศ รัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารจัดทำขึ้นมาได้ลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 500 คน เหลือ 480 คน ลดจำนวนวุฒิสมาชิกจาก 200 คน เหลือ 160 คน และยังกำหนดให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อทำลายฐานเสียงของพี่น้องประชาชนใน 35 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันวันออกเฉียงเหนือที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างรุนแรงอีกด้วย
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยคณะรัฐประหารยังตัดสิทธิประชาชนชาวไทยในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก โดยวุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งจะมาจากการแต่งตั้งโดยกลุ่มบุคคลที่มิได้เป็นผู้แทนของประชาชน และยังมีการเพิ่มบทบาทที่ขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยให้แก่วุฒิสมาชิกและสถาบันตุลาการในการคัดเลือกองค์กรอิสระ และให้สิทธิในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ในการลงประชามติ เพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนที่แล้ว ปรากฏว่า มีพี่น้องชาวไทยจำนวนมากที่ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลและคณะรัฐประหารจะใช้มาตรการที่รุนแรงมากมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ซึ่งคณะรัฐประหารต้องการให้สังคมโลกยอมรับว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่กลับไม่ยอมยกเลิกกฎอัยการศึกใน 35 จังหวัดในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน
คณะรัฐประหารยังบังคับใช้กฎอัยการศึกและห้ามการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยคน 10 คนขึ้นไป แต่คณะรัฐประหารกลับไม่บังคับใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวกับกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ยอมสยบต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร และเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมผลการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ คณะรัฐประหารก็ต่อต้านความพยายามของสหภาพยุโรปและนานาอารยประเทศในการที่จะเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้
ดูเหมือนประชาคมโลกจะยอมรับพฤติกรรมต่างๆ ของคณะรัฐประหารแม้จะเบี่ยงเบนจากหลักการประชาธิปไตยด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องลำบากใจที่จะยอมรับเหตุผลดังกล่าวของประชาคมโลกก็คือ ประชาคมโลกรังเกียจการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของคณะรัฐประหาร จนต้องการให้คนกลุ่มนี้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ดังนั้น แทนที่ประชาคมโลกจะโต้แย้งพฤติกรรมอันไม่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พวกเขาก็พร้อมที่จะเบือนหน้าหนีเพื่อที่คณะรัฐประหารจะได้ไม่สามารถสรรหาเหตุผลต่างๆ มาเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดที่จุดอ่อนที่สุดของคณะรัฐประหาร อันได้แก่ ความไร้สมรรถภาพและไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนกลับช่วยชีวิตให้คณะรัฐประหารให้อยู่รอดได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้
ประชาคมโลกกำลังคาดการณ์ผิดถ้าคิดว่าความสงบและความมั่นคงจะกลับคืนสู่ประเทศไทยได้ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้ว่าประชาชนชาวไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กำลังถูกคุกคามและจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยคณะรัฐประหารนั้นอาจจะยากจนข้นแค้น แต่พวกเขาจะไม่ยอมให้มีการปฏิเสธสิทธิเสรีภาพของพวกเขาเช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยอีกนับล้านคนที่กำลังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยคณะรัฐประหาร พวกเขาก็จะไม่ยอมรับการกดขี่เช่นนี้ตลอดไป
เราจะไม่มีวันได้เห็นความมั่นคง ประชาธิปไตยและการพัฒนาของประเทศไทยตราบเท่าที่เรายังไม่มีแผนการเพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
ผมคงไม่จำเป็นต้องย้ำว่ากระบอกปืนหรือการเลือกตั้งที่สกปรกจะไม่มีวันนำประเทศไทยกลับคืนไปสู่ความสมานสามัคคีของคนในชาติได้ วิถีทางเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติกลับคืนสู่ความสงบและความมั่นคงได้ ก็เมื่อบรรดานายทหารและนักการเมืองให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือผลประโยชน์เฉพาะหน้าของพวกเขา
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
ข่าวจาก กระปุกดอทคอม
หมายเหตุ - พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุไอเอ็นเอ็นและรายการ "สภาท่าพระอาทิตย์" สถานีเอเอสทีวี เนื่องในโอกาสครบ 1 ปีการรัฐประหาร เมื่อเวลาเช้าวันที่ 19 กันยายน