• "ที่ตั้ง"ประเทศไทย - ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และอาจจะในโลกเอาเสียด้วยซ้ำ |
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 06 ก.ย. 59 เวลา 09:15:58 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
บทความโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ Anek Laothamatas
ประการแรก เราเป็นประเทศรวยทะเล-รวยมหาสมุทร ประเทศที่เล็กกว่าจีนยี่สิบเท่าแต่มีสองทะเล-สองมหาสมุทร คือ แปซิฟิก (อ่าวไทย) และ อินเดีย (อันดามัน) ฝั่งทะเลของเรายาวกว่าของพม่าเสียอีก ยาวแพ้เวียดนามไม่มาก มีจังหวัดที่อยู่ติดทะเลถึง 23 จังหวัด พูดง่าย ๆ ว่า ทุกๆ 4 จังหวัดของไทย ติดทะเลหนึ่งจังหวัด น่าทึ่ง
ประเทศไทย ขอขยายความ ความจริงเป็นประเทศกึ่งบก-กึ่งทะเลเลย ไม่ใช่เป็นประเทศทางบกที่มีเพียงชายหาดสวยงามเท่านั้น ต้องคิดใหม่ว่าเรามีศักยภาพเป็นชาติอำนาจทางทะเลได้ด้วย หลายประเทศนั้นไม่มีทะเล ต้องรบเพื่อเปิดทางออกทะเล จีนนั้นแม้จะมีมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ยังพยายามสุดความสามารถที่จะมุ่งลงใต้ไปลงทะเลที่มหาสมุทรอินเดียให้ได้
ใกล้กับภาคใต้ของเราคือ "ช่องแคบมะลักกา" ที่ปัจจุบันนี้ เป็นช่องทางเดินเรือทะเลสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยปริมาณสินค้า น้ำมัน และแก๊ซ ที่ลำเลียงผ่านช่องแคบนี้มีเป็นสามเท่าของที่ผ่านทางคลองสุเอซและคลองปานามา โลกทุกวันนี้มีช่องแคบมะลักกาเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดแล้ว หากดูแผนที่ให้ดีจะเห็นว่ามีจังหวัดหนึ่งของไทยที่ถือเป็น "ปากทางเข้า" ช่องแคบนี้ทีเดียว จังหวัดสตูล ไงครับ ช่องแคบมะลักกานั้นส่วนใหญ่อยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายูและเกาะสุมาตรา แต่สตูลนั้นถือเป็นส่วนบนสุดทางขวามือของช่องแคบได้ เราเป็น "เจ้าของ" ช่องแคบมะลักกานิดหน่อย
ช่องแคบมะลักกานั้นมีความสำคัญต่อจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อาเซียน อินเดีย อ่าวเปอร์เซีย อาหรับ และยุโรปเป็นล้นพ้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีทางเลี่ยงหรือทางเบี่ยงที่จะลดความเสี่ยงจากความล่าช้าหรือติดขัดหรือปิดตัวลงของทางเดินเรือในช่องแคบด้วยสาเหตุนานาประการ
คาบสมุทรภาคใต้ของไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นทางเบี่ยงหรือทางเลี่ยงนั้น ไม่ว่าจะทำในรูปของคลองกระ (เชื่อมจังหวัดระนอง-ชุมพร) หรือคลองไทย (เชื่อมตรัง-นครศรีธรรมราช) หรือทำเป็น "แลนด์บริดจ์" (เชื่อมสองฝั่งสองมหาสมุทรด้วยรถไฟและทางหลวงขนาดใหญ่)
คู่ขนานกันไป จะมีโครงการตัดทางหลวงหรือทำรถไฟความเร็วปานกลาง-สูง ที่จะเชื่อมอินเดีย จีน และอาเซียนภาคพื้นทวีปเข้ากับมาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา ชวา ซึ่งโดยทำเลของไทยเป็นเหตุ เส้นทางเหล่านั้นจะต้องผ่านหลายภาคของไทย ผ่านกรุงเทพฯ และผ่านภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นชาติอำนาจทางลอจิสติกส์ จะเป็นศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมร้อยตลาดจีน อินเดีย และตลาดอาเซียนเข้าด้วยกัน
จะชอบหรือไม่ จะเต็มใจหรือไม่ ไทยมี"ทำเลทอง" ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน เป็น "สะพานทอง" เชื่อมยึดจีนและอินเดีย สองยักษ์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลก เข้ากับเออีซี
ทำเลที่ดีของเราจะไม่เอื้อประโยชน์เฉพาะแต่กรุงเทพฯและภาคใต้เท่านั้นครับ ภาคเหนือของไทยจะเชื่อมโยงกับนครและเมืองใหญ่ของจีนตอนใต้ (เชียงรุ้ง คุนหมิง ฉงชิ่ง เฉิงตู) ลาว (หลวงพระบาง เวียงจันทน์) และที่ขอย้ำเป็นพิเศษเพราะเรามักจะคิดไม่ถึง คือ พม่า (กรุงเนปิดอว์ พุกาม มัณฑะเลย์ ตองอู อังวะ)
โปรดทราบนะครับว่า "พม่าแท้ๆ" นั้นใกล้แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่มาก เนปิดอว์นั้นอยู่ใกล้เกือบชิดแม่ฮ่องสอน ข้ามรัฐฉานจากแม่ฮ่องสอนไปนิดเดียวก็จะเจอกรุงเนปิดอว์เลย แม้แต่ย่างกุ้งเมืองใหญ่ที่สุดของพม่าก็ใกล้แม่ฮ่องสอน ตาก และ เชียงใหม่มาก
ลาวและเวียดนามก็ใกล้เชียงรายและน่านมาก จากเชียงรายบินไปหลวงพระบาง เวียงจันทน์ ใกล้มาก ใช้เวลาเท่าๆ กับบินไปเชียงรุ้งและคุนหมิง และน่านนั้นยังพิเศษสุดที่อยู่ค่อนข้างใกล้ฮานอยด้วย เวลาบินน่าจะไม่ถึงชั่วโมง
นานมากแล้วที่เราคิดว่าแม่ฮ่องสอน ตาก และน่านเป็น "หลังเขา" เพราะเราเอากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง แต่ในยุคบูรพาภิวัตน์นั้นในขณะนี้ลาวพม่าล้วนโตเร็วกว่าไทยมาก ลาวโต มากกว่า 7 เปอร์เซนต์ต่อปีมาเป็นทศวรรษแล้ว พม่าเติบโตปีละ 12.5 เปอร์เซนต์มาในช่วงเวลาเดียวกัน ภาคเหนือของไทยมีศักยภาพและพร้อมที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากตามเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะหากได้เชื่อมโยงทางคมนาคมเข้ากับจีนตอนใต้ พม่าทางตอนเหนือที่เป็นพม่าแท้ๆ ลาว และเวียดนามทางตอนเหนือ
อีสานของไทยก็จะได้ประโยชน์จากบูรพาภิวัตน์แน่นอน คนไทยมักไม่ทราบว่าภาคที่ใกล้กับประเทศจีนที่สุดโดยการบินนั้นคืออีสานนะครับ ไม่ใช่ภาคเหนืออย่างที่เรามักคิด เนื่องจากนครใหญ่ของจีนนั้นอยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศเกือบทั้งหมด จากจีนบินมาไทยจำต้องผ่านอีสานก่อนทั้งสิ้น จะเห็นว่าเกาะไหหลำนั้นใกล้อีสานมาก ถ้าบินจากฮ่องกง มาเก๊า กว่างเจา เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หากลงไทยที่หนองคาย บึงกาฬ หรือ อุดร แทนที่จะลงกรุงเทพฯ จะลดเวลาบินลงถึงหนึ่งชั่วโมงได้
ในยุคบูรพาภิวัตน์ ด้วยที่ตั้งประเทศที่เป็นเยี่ยมอย่างนี้ ภาคอีสานและภาคเหนือจะต้องสร้างหรือขยายสนามบินนานาชาติให้ยิ่งใหญ่ไปเลย อย่ามัวทำอะไรเล่น ๆ สร้างการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพที่อีสานด้วยเพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากเวียดนามและจีนมาให้มากขึ้น
อีสานตอนใต้จะได้ประโยชน์มากจากกัมพูชาซึ่งเติบโตปีละ 8.5 เปอร์เซนต์ติดต่อกันมาสิบปีแล้ว เสียมเรียบที่อยู่ใกล้กันคือเมืองท่องเที่ยวระดับโลก พนมเปญคือเมืองใหญ่ที่สุดบนฝั่งแม่น้ำโขงทั้งหมด คนเจ็ดแปดล้านคน เติบโตสูงกว่า 8.5 เปอร์เซนต์ต่อปีแน่ๆ น่าจะโตไม่น้อยกว่าปีละ 15-20 เปอร์เซนต์ เท่าที่ประเมินเองอย่างคร่าว ๆ อีสานเป็นภาคที่ยึดโยงกับทั้งลาวและกัมพูชา "โคราช" ของเราคือมหานครที่เชื่อมยึดและโยงใยกับสองประเทศนั้นไปพร้อมๆ กันได้เลย
ภาคตะวันตกจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมพม่าส่วนที่เป็นดินแดนมอญและกะเหรี่ยงเป็นหลักเข้ากับไทย และจะเลยไปถึงอินเดียและบังกลาเทศในอนาคตไม่ไกล ส่วนภาคตะวันออกจะเชื่อมชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราดเข้ากับกัมพูชาส่วนที่อยู่ใกล้ทะเลหรืออ่าวไทย
คงเริ่มสงสัยกันบ้างแล้วว่าทำไมประเทศไทยเราช่างต่อเชื่อมกับเพื่อนบ้านได้มากมายจัง ก็ขอบอกว่าเรามีจังหวัดที่ติดชายแดนถึง 33 จังหวัด พูดง่ายๆ ทุกๆ 2-3 จังหวัดจะมีชายแดนติดต่างประเทศ 1 จังหวัด อลังการมากครับ อำนาจหรือศักยภาพในการเชื่อมโยงของเรา connectivity ที่ชอบพูดถึงกันไงครับ
ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งทางบกและทางทะเล ขอย้ำอีกที เอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีภาคไหนไกลทะเลเลย น่าอัศจรรย์ ถ้าทะเลนั้นเราไม่หมายถึงแต่อ่าวไทย เช่นตากนั้น แม่ฮ่องสอนนั้น ไม่ไกลทะเลอันดามันเลย เพียงมีดินแดนพม่าแคบๆ มาคั่นเอาไว้ เท่านั้น ฝนที่ตกที่สองจังหวัดนี้มาจากความชุ่มชื้นที่มาจากทะเล ที่ให้ทั้งภาคใต้ที่ติดอันดามันและให้ทั้งภาคเหนือด้านตะวันตกที่อยู่ไม่ห่างอันดามัน
ภาคเหนือด้านตะวันออกก็ไม่ห่างจากน้ำทะเล หากหมายถึงทะเลจีนใต้หรืออ่าวตังเกี๋ยของเวียดนามเหนือ ภาคอีสานเล่าก็ไม่ไกลจากเกาะไหหลำและจากทะเลเวียดนามและทะเลจีนเท่าไร
ในอนาคตสนามบินที่ดีและทางหลวงและทางรถไฟที่ดีจะเชื่อมภาคเหนือและภาคอีสานเข้ากับทะเลของเพื่อนบ้านได้ใกล้ชิดและสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ด้วยทำเลที่ดียิ่งของเรา การคมนาคมทางบก ทะเล และอากาศ จะเชื่อมทุกส่วนของไทยไปสู่เพื่อนบ้าน ไปโยงเชื่อมกับจีน อินเดีย อาเซียน ไปรับประโยชน์จากบูรพาภิวัตน์ได้มากยิ่งขึ้น
ขออย่างเดียวต้องทำให้เป็น ทำให้รอบด้าน ตั้งใจทำ และจะต้องทำจากความคิดและยุทธศาสตร์ที่รอบคอบและแหลมคม
https://www.facebook.com/AnekLaothamatas/posts/966113673534298
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 18104 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย โน้ต cmprice
IP: Hide ip
, วันที่ 06 ก.ย. 59
เวลา 09:15:58
|