• ''คำแสดงความอาลัย'' แด่พระสงฆ์ สาธุ สู่นิพพาน ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง!! |
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 11 ก.พ. 61 เวลา 12:06:24 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
คำแสดงความอาลัย
-------------------
เมื่อหลวงพ่อคุณมรณภาพ มีญาติมิตรถามกันมาหลายท่านว่า ควรใช้ถ้อยคำแสดงความอาลัยอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ผมยังไม่ได้ศึกษาว่ามีสำนักไหนหรือผู้รู้ท่านไหนกำหนดคำแสดงความอาลัยเมื่อพระสงฆ์มรณภาพไว้อย่างไรบ้างหรือไม่
ท่านผู้ใดทราบ ขอความรู้ด้วยครับ
--------------
ที่จะว่าต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นเฉพาะหน้า แต่ก็ได้ตรึกตรองแล้วพอสมควร
ควรไม่ควรประการใด โปรดใช้วิจารณญาณในการรับฟัง
--------------
๑ คำว่า “สาธุ” ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง
คำแปลโดดเด่นของ “สาธุ” คือ “ดีละ” มีความหมายว่า
ถูกต้องแล้ว
เหมาะสมแล้ว
เห็นชอบด้วย
ใช้ในกรณีที่เห็นใครทำดีทำถูกก็แสดงความชื่นชมยินดี-โดยเฉพาะเมื่อใช้กับพระภิกษุสามเณร มีความหมายเท่ากับที่เราปรบมือแสดงความยินดีกับบุคคลทั่วไปนั่นเอง
๒ คำว่า
“ขอร่วมส่งดวงวิญญาณของหลวงพ่อสู่นิพพาน”
“ขอให้ดวงวิญญาณของหลวงพ่อจงไปสู่นิพพาน”
หรือถ้อยคำอย่างอื่นที่มีคำว่า “สู่นิพพาน” รวมอยู่ด้วย
เป็นคำที่ไม่ควรใช้อย่างยิ่งเพราะผิดหลักความจริง
นิพพานไม่ใช่ภพภูมิหรือโลกหน้าอีกชนิดหนึ่งที่บรรพชิตในพระพุทธศาสนาจะพึงเข้าถึงหรือไปเกิดไปอยู่เมื่อสิ้นชีพแล้ว
นิพพานไม่ใช่สถานที่อันใครจะไปตั้งความปรารถนาดีให้ใครไปถึงได้
แต่นิพพานเป็นสภาพจิตหรือคุณภาพของจิตเมื่อปฏิบัติขัดเกลาอบรมตามหลักที่ถูกต้องจนได้ที่หรือถึงที่ ท่านผู้ใดจะบรรลุถึงนิพพานก็ต้องปฏิบัติขัดเกลาด้วยตัวเอง ไม่ใช่บรรลุได้ด้วยการแสดงความปรารถนาของผู้อื่น
กรณีนี้ต่างจากคำที่เรานิยมพูดกันว่า “ขอให้ดวงวิญญาณ..จงเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพ” เพราะการเข้าถึงสุคติอาจเป็นไปได้ด้วยการอุทิศส่วนบุญให้ผู้ล่วงลับและผู้ล่วงลับอนุโมทนาส่วนบุญนั้น
๓ มีผู้เสนอให้ใช้คำว่า
“ขอน้อมถวายความอาลัยพระเดชพระคุณหลวงพ่ออย่างสุดซึ้ง”
คำนี้พอฟังได้ แต่มีข้อแย้งตรงที่ “ความอาลัย” เป็นนามธรรม ผู้รู้ท่านว่านามธรรมอาจแสดงให้ผู้อื่นรับรู้ได้ แต่จะหยิบยื่นให้กันเหมือนวัตถุไม่ได้
“ความอาลัย” สามารถแสดงออกให้ผู้อยู่หลังเช่นญาติมิตรของผู้ตายได้รับรู้ได้ แต่จะมอบให้แก่ผู้ตายไม่ได้
เมื่อพูดว่า “ถวายความอาลัย” จึงมีปัญหาว่าเราจะส่งความอาลัยไปถวายหลวงพ่อคูณได้อย่างไร
๔ ผมขอเสนอให้ใช้คำว่า
“ขอร่วมแสดงธรรมสังเวชในการจากไปของ...(หลวงพ่อ)...”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธรรมสังเวช” ไว้ว่า -
“ความสังเวชโดยธรรม เมื่อเห็นความแตกดับของสังขาร (เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์).”
จริงอยู่ แม้ท่านจะบอกว่าธรรมสังเวช “เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์” หมายความว่าปุถุชนหรืออริยบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ไม่สามารถจะมีความรู้สึกถึงขั้นที่เรียกว่า “ธรรมสังเวช” ได้
แต่คำว่า “ร่วมแสดง” ก็พอจะอธิบายแบบเลี่ยงๆ ไปได้ว่า เราไม่ได้แสดงโดยตรง (เพราะเราไม่ใช่พระอรหันต์) เราเพียงแต่ขอ “ร่วม...” เท่านั้น
คำอธิบายแบบนี้แม้จะฟังไม่ขึ้น แต่ก็น่าจะยอมให้ใช้ได้โดยอนุโลม
ยิ่งถ้าดูที่ความหมายเดิมแท้ของคำว่า “สังเวช” ด้วยแล้วจะเห็นว่ามีความหมายที่สมควรแก่เหตุการณ์เป็นอยางยิ่ง
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “สังเวช” ไว้ดังนี้ -
--------
สังเวช : ความสลดใจให้ได้คิด, ความรู้สึกเตือนสำนึกหรือทำให้ฉุกคิด, ความรู้สึกกระตุ้นใจให้คิดได้ ให้คิดถึงธรรม ให้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต และเร้าเตือนให้ไม่ประมาท; ตามความหมายที่แท้ของศัพท์ สังเวช คือ “สังเวค” แปลว่าแรงเร่ง แรงกระตุ้น หรือพลังที่ปลุกเร้า หมายถึง แรงกระตุ้นเร้าเตือนใจ ให้ได้คิดหรือสำนึกขึ้นมาได้ ให้คิดถึงธรรม หรือตระหนักถึงความจริงความดีงาม อันทำให้ตื่นหรือถอนตัวขึ้นมาจากความเพลิดเพลิน ความหลงระเริงปล่อยตัวมัวเมา หรือความประมาท แล้วหักหันไปเร่งเพียรทำการที่ตระหนักรู้ว่าจะพึงทำด้วยความไม่ประมาทต่อไป
แต่ในภาษาไทย สังเวช มีความหมายหดแคบลงและเพี้ยนไป กลายเป็นความรู้สึกสลดใจ หรือเศร้าสลด แล้วหงอยหรือหดหู่เสีย ซึ่งกลายเป็นตรงข้ามกับความสังเวชที่แท้.
--------
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สังเวช”ในภาษาไทยไว้ว่า
สังเวช : รู้สึกเศร้าสลดหดหู่ต่อผู้ที่ได้รับทุกขเวทนา หรือต้องตายไป หรือต่อผู้ที่ตนเคารพนับถือซึ่งประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นต้น เช่น เห็นผู้คนประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกแล้วสังเวช พอรู้ข่าวว่าญาติผู้ใหญ่ของตนพัวพันคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สังเวช
---------------
เมื่อพระสงฆ์มรณภาพ ผมขอเสนอให้เรามาช่วยกันใช้คำว่า
“ขอร่วมแสดงธรรมสังเวชในการจากไปของ...(หลวงพ่อ)...”
เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำผิดๆ และช่วยกันดึงความหมายที่ถูกต้องของคำว่า “(ธรรม) สังเวช” นี้คืนมา
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 17824 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย โน้ต cmprice
IP: Hide ip
, วันที่ 11 ก.พ. 61
เวลา 12:06:24
|