ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
บทความจาก Pensupa Sukkata
--------------------------------------------------
วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 13.00 เป็นต้นไป ขอเรียนเชิญชุมชนชาวบ้านธิที่เป็นจิตอาสาด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม มาร่วมช่วยกันถากถางวัชพืชขึ้นปกคลุมโบราณสถานสำคัญยิ่งของเมืองลำพูน (กู่เฮือง) ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน เนื่องในสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย
งานนี้จะเป็นการทำงานแบบสี่ประสานคือ
1. จุดประกายโครงการโดยกลุ่มนักศึกษาสาขา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. ปี 3 จำนวน 12 คน ที่ประสงค์จะบำเพ็ญประโยชน์ ดิฉันในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเลือกสถานที่ให้
2. สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ให้ความร่วมมือด้านการส่ง จนท. และวัสดุอุปกรณ์ (พวกกรรไกรตัดหญ้า บันได มีด ถุงดำ รถเข็น ฯลฯ) มาให้คำแนะนำการถากถางวัชพืช ในฐานะที่กู่เฮือง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ ปี 2544 แล้ว (ปีนั้นดิฉันขึ้นทะเบียนให้พร้อม กู่ป่าลาน (บ้านธิ) กอม่วงร้าง (ต.สันกำแพง อ.ป่าซาง) และที่เจดีย์มอญธาตุกุด (ปากบ่อง ป่าซาง)
3. สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านธิ ด้วยการประสานงานของ รองปลัดวิชัต Wichat Prathanrad คนขยัน ได้อนุเคราะห์คูลเลอร์พร้อมน้ำดื่ม และอุปกรณ์เครื่องตัดหญ้า มีดพร้า บันได ฯลฯ ประสานชุมชนจิตอาสาให้มาช่วยลงพื้นที่ถากถางปากทางเข้าโบราณสถานล่วงหน้าตั้งแต่เช้าๆ สายๆ ก่อนคณะนักศึกษาจะมาถึงช่วงบ่าย (เพราะติดเรียนภาคเช้า)
4. พ่อครูรัตน์ ปาละพงศ์ รัตน์ ปาละพงศ์ แห่งผึ้งน้อยเบเกอรี่ อนุเคราะห์เบรค อาหารว่างร่วมสมทบ 50 ชุด สำหรับคณะจิตอาสา
ภาพที่เห็นนี้ ดิฉันถ่ายไว้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว (2544) ตอนไปขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ส่วนสภาพล่าสุดที่เห็นตอนไปสัมมนาเรื่องไทยองบ้านธิเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนนั้น ไม่สามารถถ่ายภาพได้ เพราะมีวัชพืชหนามไหน่ปกคลุมทางเข้า เสียจนมิดชิด มองไม่เห็นตัวโบราณสถานอีกเลย แม้แต่ป้ายทางเข้าค่ะ แค่เดินไปชะเง้อชะแง้ ก็โดนหนามตำเลือดออกซิกๆ
มาพูดถึงตัวโบราณสถานบ้าง ชาวล้านนาเรียก กู่ หรือ โขงพระเจ้า แต่นักโบราณคดีไม่เรียก กู่ (เพราะมองว่า กู่ต้องบรรจุอัฐิ) แต่เรียก มณฑป หรือมณฑปโขง หรือคันธกุฎี เพราะภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งมณฑปโขงนี้ ตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งตอนในสุดของพระวิหารหรืออุโบสถ ที่พังไปแล้ว
ยังเหลือลวดลายในซุ้มที่ชัดๆ เพียงสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นนกยูงในแผ่นกลม กับอีกด้านเป็นธรรมจักร ส่วนอีก 2 ด้านลบเลือน รูปทรงของมณฑปโขงพระเจ้า เป็นย่อมุมไม้ 20 ค่อนข้างซอยถี่ยิบแล้ว จัดเป็นศิลปะยุคล้านนาปลาย (รับอิทธิพลจากอยุธยาแล้ว)
สิ่งที่น่าสนใจ และควรเปิดประเด็นกันต่อไปคือ มีนักวิชาการท้องถิ่นบางท่านเชื่อว่า บริเวณกู่เฮืองและกู่ป่าลาน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำกวง เป็นไปได้ไหมว่า บริเวณนี้ คืออดีตของ "เวียงแจ้เจียงกุ๋ม" (เวียงชะแว่) ที่สาบสูญ ซึ่งพระญามังราย หลังจากยกนครหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าแล้ว ก็ย้ายมาสร้าง "เวียงชั่วคราวอยู่แห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูน" ก่อนจะย้ายไปสร้างเวียงกุมกาม
คำถามนั้นน่าสนใจ แม้ว่าลวดลายศิลปกรรม จะไม่เก่าถึงล้านนาต้นก็ตาม (เพราะว่าอาจมีการบูรณะในยุคล้านนาตอนปลายก็ได้)
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|