• ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจไทย ต่ำสุดภูมิภาค เตือนปีหน้ารั้งบ๊วยอีก! |
โพสต์โดย ตนข่าว เชียงใหม่ , วันที่ 16 พ.ย. 50 เวลา 14:13:19 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจไทย ต่ำสุดภูมิภาค เตือนปีหน้ารั้งบ๊วยอีก!
ธนาคารโลกประเมินตัวเลข ศก.ปีนี้ไทยโตแค่ 4.3% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2545 รั้งตำแหน่งบ๊วยในภูมิภาค เนื่องจากการเมืองไม่มั่นคง เชื่อหลังเลือกตั้งอาจฟื้น เผยดัชนีเศรษฐกิจรูด 8 อันดับไปอยู่ที่ 56 ขณะที่เวียดนามพุ่ง 12 และมาเลย์ขึ้น 13 ลำดับ
นายอัลเบิร์ต ซูแฟ็ค เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารโลก แถลงรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ว่า ธนาคารโลกยังคงประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2550 ไว้ที่ 4.3% เท่ากับที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่ระดับ 4.3% ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2545 และยังต่ำสุดในภูมิภาคนี้
ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายในประเทศโดยเฉพาะการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอต่ำมากจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคง โดยมีการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ขณะที่ในปี 2551 ธนาคารโลกคงประมาณการขยายตัวไว้ที่ 4.6% เท่าเดิม โดยมองในแง่บวกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวจะกลับมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง
"การเมืองหลังจากมีการเปลี่ยนผ่านนโยบายน่าจะลื่นไหล ความเสี่ยงลดลงและราบรื่นขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มไม่ดีข้างหน้า เราหวังว่าหลังเลือกตั้งรัฐบาลใหม่จะดึงความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง" นายอัลเบิร์ตกล่าว
นายอัลเบิร์ตกล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายและจำเป็นที่สุดสำหรับเศรษฐกิจในปีหน้าที่รัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าคือ การเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพอย่างเร่งด่วน ทางการจะต้องสร้างบรรยากาศให้ทิศทางเป็นบวกมากขึ้น ทั้งความเชื่อมั่น โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างโครงข่ายภาคอุตสาหกรรมไปยังนอกเขต กทม.
นอกจากนี้ควรทำความชัดเจนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการปรับปรุงมาตรการกันสำรอง 30% ขณะที่ต้องดูแลไม่ให้ผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า สร้างปัญหาให้กับแรงงานราคาถูกในบางอุตสาหกรรมจนกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา
ขณะที่ น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ในปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ยังคงต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เพราะเป็นเรื่องยากที่จะสามารถไล่ตามประเทศอื่นที่ได้ลงทุนพัฒนาประเทศไทยไปก่อนหน้าแล้ว และจากการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก พบว่า
ในปีนี้ดัชนีดังกล่าวของประเทศไทยลดลงไปอยู่ลำดับที่ 56 ลดลงไป 8 อันดับจากปี 2538 ที่เคยอยู่ลำดับ 48 ขณะที่ประเทศเวียดนามลำดับขยับขึ้นถึง 12 ลำดับ มาอยู่ลำดับที่ 97 ประเทศจีนขยับขึ้น 29 ลำดับ มาอยู่ลำดับที่ 75 มาเลเซียขยับขึ้น 13 ลำดับ มาอยู่ลำดับที่ 40 แม้บางประเทศจะตามหลังไทย แต่น่ากังวลว่าในไม่ช้าจะไล่ตามประเทศไทยได้ทันหรืออาจแซงหน้าก็เป็นได้
น.ส.กิริฎากล่าวว่า ธนาคารโลกเชื่อว่าในปี 2551 การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงน่าจะขยายตัวได้ถึง 10% จากปีนี้ที่หดตัว 0.2% และการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 4% ดีขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัว 1.4%
เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อนและมีปัจจัยบวก เช่น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ระดับต่ำ ราคาเครื่องจักรในต่างประเทศถูกลง และที่สำคัญคือการเลือกตั้งที่จะทำให้ประเทศไทยมีรัฐบาลประชาธิปไตยช่วยให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น
โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ และหากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนจะยิ่งช่วยดึงนักลงทุนกลับมา แต่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 10% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 14.5% ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวถึง 15% เร่งตัวจากปีนี้ที่ขยายตัว 8%
"การส่งออกที่ชะลอลงเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวเพราะซับไพรม์ ประกอบกับมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าเกษตรก็จะลดลงด้วย เพราะฉะนั้นการชะลอตัวเกิดทั้งด้านปริมาณและราคาลดลง และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีกจะส่งผลชัดเจนในปีหน้า ปีนี้ที่เราส่งออกได้ดีก็เพราะคำสั่งซื้อเก่าที่มีตั้งแต่ช่วงที่เงินบาทยังอ่อนค่าช่วงก่อนหน้านี้" น.ส.กิริฎากล่าว
น.ส.กิริฎากล่าวถึงมาตรการกันสำรอง 30% ด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะทยอยผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว โดยพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะลดระยะเวลาของการป้องกันความเสี่ยงหรือลดสัดส่วนการกันสำรอง ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นข่าวดีที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
อีกทั้งข้อมูลเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 สะท้อนให้เห็นว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ลดลงจากปีก่อนถึง 40% การผ่อนคลายดังกล่าวน่าจะช่วยให้เอฟดีไอเร่งตัวขึ้นและช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวตามที่คาดหวัง
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงพลังงานจะอนุมัติให้ปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นอีก 1.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ในเดือนธันวาคมนี้ว่า ผลการศึกษาผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอีก 1-2 บาทต่อ กก.จะส่งผลกระทบโดยตรงกับกลุ่มผู้ใช้ตามครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ก๊าซหุงต้มถึง 55% รองลงมาคือ กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ 30% ที่เหลือภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม
โดยในส่วนของครัวเรือนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 15 บาท สำหรับการบริโภคก๊าซหุงต้มขนาด 15 กก. มีผลกระทบต่อต้นทุนอาหารสำเร็จรูป อาทิ ก๋วยเตี๋ยว ชามละ 25 บาท เพิ่มขึ้น 3-4 สตางค์/ชาม รถแท็กซี่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นวันละ 40 บาท สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นส่วนผสม เช่น สเปรย์ ยากำจัดแมลง ได้รับผลกระทบ 8-10 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น
"แม้กระทรวงพาณิย์จะไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาก๊าซหุงต้ม แต่อยากให้ข้อมูลว่า ในภาวะน้ำมันแพง ซึ่งประชาชนแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมต่อการปรับขึ้นราคาก๊าซอีก" นายยรรยงกล่าว
นายยรรยงกล่าวว่า กรมจะเชิญผู้ประกอบการก๊าซหุงต้ม เพื่อขอความร่วมมือและกำชับไม่ให้มีการขึ้นราคาก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ และต้องหารือถึงต้นทุนและความจำเป็นที่มีผลต่อการต้องขึ้นราคาจริงหรือไม่ หากพบว่าขายเกินราคา ปฏิเสธการขายอ้างสินค้าหมด หรือไม่ปิดป้ายแสดงสินค้าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนรายใดได้รับความเดือดร้อนให้แจ้งสายด่วน 1569
ทางด้านสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกได้ขยับลดลงมาเล็กน้อยหลังจากถีบตัวสูงขึ้นไปถึง 3 ดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบไลท์สวีทซื้อขายในตลาดเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์ กำหนดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลงมา 23 เซ็นต์ อยู่ที่ 93.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากการที่นายอับดุลลา ซาเลม อัลบาดรี เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปค กล่าวว่า โอเปคไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสู่ตลาด ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ซื้อขายในตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลงไป 54 เซ็นต์ อยู่ที่ 90.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายโมฮัมหมัด อัลโอลาอิม รักษาการรัฐมนตรีน้ำมันคูเวต เปิดเผยว่า โอเปคอาจจะพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมกลุ่มประเทศโอเปคที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ หากตลาดมีความต้องการน้ำมันดิบมากขึ้น
ส่วนเอเอฟพีรายงาน โอเปคออกรายงานประเมินความต้องการการใช้น้ำมันของตลาดโลก โดยระบุว่า ความต้องการปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.42% หรือมีความต้องการวันละ 1.2 ล้านบาร์เรล ลดลงจากการประเมินครั้งก่อนหน้า 1 แสนบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นทำให้ความต้องการบริโภคในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ลดลง รวมทั้งการหน้าหนาวของภูมิภาคอเมริกาเหนือมาถึงช้า
ด้านนายโกแลม ฮอสเซน โนซาริ รัฐมนตรีน้ำมันของอิหร่าน หนึ่งในสมาชิกโอเปค กล่าวว่า โอเปคจะไม่ผลิตน้ำมันเพิ่ม เนื่องจากในขณะนี้ตลาดมีปริมาณน้ำมันเพียงพอ การพุ่งขึ้นของราคาไม่ได้มีสาเหตุมาจากโอเปค แต่เป็นเพราะเงินดอลลาร์อ่อนและการเก็งกำไร ขณะที่นายโมฮัมหมัด อัล-โอเลม รักษาการรัฐมนตรีน้ำมันของคูเวตมีท่าทียืดหยุ่นกว่า โดยกล่าวว่า โอเปคยินดีจะหารือเกี่ยวกับการเพิ่มการผลิต โดยจะดูจากข้อมูลและผลการวิเคราะห์เป็นหลัก
ส่วนราคาน้ำมันดิบซื้อขายในตลาดเอเชียวันที่ 15 พฤศจิกายน น้ำมันดิบไลต์สวีท เพิ่มขึ้น 2 เซ็นต์ ปิดที่ 94.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่การซื้อขายก่อนหน้าในตลาดนิวยอร์ก ราคาดีดตัวกว่า 2 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 94.09 ดอลลาร์ หลังจากตกลงไป กว่า 3 ดอลลาร์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน
ที่มาจากหนังสือพิมพ์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1301 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว เชียงใหม่
IP: Hide ip
, วันที่ 16 พ.ย. 50
เวลา 14:13:19
|