ความเชื่อของคนล้านนา มีอยู่อย่างหนึ่ง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน คือการทำบุญใหญ่ เช่นปอยหลวง ปอยลูกแก้ว ต้องมีการแห่ เพื่อบอกบุญ บ่อต่อในการกระทำแห่งความดี ที่สำคัญบอกเทวดาฟ้าดิน หื้อรับรู้
การทำครัวทาน หรือการทำต้นสลาก สลากย้อมก็จะเน้นความสูง เพื่อเทวดาจะได้เห็นชัดเจน ว่าตัวผู้ที่จะถวายกำลังจะถวายทานสิ่งเหล่านี้ ยิ่งสูงเท่าใดยิ่งเห็นชัด หวังเพื่อส่งตนเองถึงนิพานมุ่งมั่น ตามความเชื่อของชนล้านนา
คำร่ำสลากย้อม ของอาจารย์สิงฆะเขียนถึงขบวนแห่สลากย้อมของเจ้าของที่ชื่อชุมพร (ป้าบัวชุม)เมื่อปี ๒๕๐๕ ไว้ว่า
"กันว่าครัวทาน กะดางพร้อมพรัก ก็แห่แหนก้องเภรี ซึงคู่สะล้อ อีดอ้อดีดสี เป่าขลุ่ยเสียงดี ไหลหลิดหรีดหล้อง โป้งๆกลองตัด เสียงดังกึกก้อง เป็นที่ม่วนนันโอดเอ้า ครัวทานชุมพร ยกหามก๊างเก้า ค่อยไหลเลื่อนเข้าเตียวไป
เฮียวก้อมสะวัด ปั๊ดแกว่งไกวไหว อ่อนก้อมละมัย เหมือนสาวสะอื้น สลิดอ่อนไหว ตั้งแต่ตี๋นขึ้น แผวครัวบนกะล้อง เสียงคนโห่กั๋น เดือดนันทั่วถ้อง สบปะเขตห้องอาราม ครัวทานนุชนั้น งามล้ำคนประหมาน ของไผบ่งาม เท่าของม่อนข้า
แหงนผ่อตังบน สูปล๋อมเมฆฟ้า ปิติโลมาเยือกย้าว เหมือนดังพระอินทร์ เทวินทร์ท่านเท้า มาแหนแห่ด้วยทางบน ปิติตื่นลุก ไปทั่วเส้นขน กันบ่ออายคน ชุมพรน้องเหน้า จักฟ้อนถวายครัวทานข้าเจ้า เกือบดาจะเอาหลายครั้ง"
วันที่อาทิตย์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๑ ภาพเหล่านี้จะมาปรากฎอีกครั้งหนึ่ง ที่บนถนนอิทยงยศ มีต้นสลากย้อมสูง ๘ เมตร จำนวน ๕ ตัน ต้นสูง ๔ เมตรขึ้นไป ของเจ้าภาพทั่วประเทศ จำนวนกว่า ๖๐ ต้น ท้ังหมดจะแห่บอกเทวดาฟ้าดินบนถนน เส้นนี้จนถึงวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งแต่เวลา ๑๗.๓๐ น.เป็นต้นไป
พิธีปล่อยขบวนโดย ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อย่าลืมมาร่วมทำบุญ ชมขบวนแห่ตั้งแต่หน้าศาลากลาง ไปจนถึงวัดพระธาตุหริภุญชัย ปีนี้ขอบอก พลาดไม่ได้