• ด่วน! โรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบครั้งแรก และระบาดในลำพูน! 6วัน ติดแล้ว2ราย เสี่ยงอีก 123ราย |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 24 มิ.ย. 62 เวลา 14:28:06 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
พบข้อมูลมีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาที่จังหวัดลำพูนเป็นครั้งแรก มีผู้ป่วยที่ยืนยันแล้ว 2 ราย ผู้ป่วยสงสัย 123 ราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมามีการยืนยันพบการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยาที่จังหวัดลำพูน จำนวน 2 ราย เบื้องต้นทราบข้อมูลว่า เป็นผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 52 ปี และ 68 ปี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเขตพื้นที่ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเรื่องได้จัดทีมแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วย พบว่า ภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 – 25 มิถุนายน 2562 ในเขตพื้นที่ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน มีผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มติดเชื้อโรคชิคุนกุนยา อีกจำนวน 123 ราย รวมกับที่ได้รับการตรวจเลือดยืนยันว่าติดเชื้อจริง อีก 2 ราย เป็น 125 ราย นับเป็นการพบการแพร่ระบาดของโรคและผู้ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยาที่จังหวัดลำพูนเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ได้รับการยืนยันว่ามีการแพร่ระบาดจริง รายละเอียดอยู่ระหว่างรวบรวมเพื่อทำเอกสารข่าวเผยแพร่แจ้งเตือนประชาชนอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าระหว่างปี พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2525 มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาทั่วประเทศแถบแอฟริกาและเอเซีย หลังจากนั้นโรคก็หายไปช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 ได้มีการกลับมาระบาดซ้ำ (re-emerging) ในประเทศอินเดีย และได้มีการกระจายของโรคไปทั่วทวีปเอเซีย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2501 ก็มีรายงานจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียดนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย อย่างไรก็ตามมีรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา ในเขตพื้นที่ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ป่วยผลตรวจยืนยันชิคุนกุนยา จำนวน 5 ราย ผู้ป่วยสงสัยจำนวน 32 ราย ถือเป็นการระบาดของโรคชินคุนกุนยาครั้งแรกในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่นกัน
สำหรับโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งถูกแพร่กระจายโดยยุงลายสวน (Aedes albopictus) และยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศ ทุกวัย มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ติดต่อกันได้โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้ อาการของโรคชิคุนกุนยา คล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากกว่า โรคชิคุนกุนยามักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี ทำให้ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้เช่นกัน โรคชิคุนกุนยากับโรคไข้เลือดออกไม่ใช่โรคเดียวกัน มีอาการแตกต่างกัน คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออก และระยะเวลาของไข้สั้นกว่าประมาณ 2 วัน ในขณะที่ไข้เลือดออก ไข้จะลดลงในเวลาประมาณ 4 วัน และไวรัสชิคุนกุนยาไม่ทำให้พลาสม่ารั่วออกนอกเส้นเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่เกิดอาการช็อค นอกจากนี้ผู้ป่วยสามารถมีผื่นแดงเป็นปื้นและตาแดงได้บ่อยกว่าไข้เลือดออก รวมถึงพบอาการปวดตามตัว ตามข้อได้มากกว่า โรคนี้มักจะหายเองและยังไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษา รวมถึงไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ และถึงแม้โรคชิคุนกุนยามักจะไม่ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต แต่สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรง ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำพูน ควรเก็บบ้านให้สะอาด ป้องกันไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุงระวังไม่ให้มีน้ำท่วมขัง เก็บเศษขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ควรให้เด็กเล็กนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุง ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อป้องกันยุงกัด ใช้ยากันยุง นอนในมุ้ง เป็นต้น
ข่าวโดย : นันทพร ฝั้นเครือ 053525565
บรรณาธิการ : มัณฑนา อาษากิจ 05352565
หน่วยงาน : สวท.ลำพูน
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 4459 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 24 มิ.ย. 62
เวลา 14:28:06
|