• ลัดวงจร-ไหม้-ดูด!!! 'ไฟฟ้าฤดูฝน' 'อันตราย' อยู่ใกล้ตัว |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 27 พ.ค. 63 เวลา 09:28:40 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เตรดิต สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน ( ประเทศไทย ) ในพระราชูปถัมภ์
ปกติเรา ๆ ท่าน ๆ มักจะได้ยินการเตือนให้ระวังภัย ’ไฟไหม้“ ในช่วงฤดูร้อน-ฤดูหนาว ที่อากาศร้อนจัด-อากาศแห้ง แต่กับฤดูฝนนี่ก็ใช่ว่าภัยไฟไหม้จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งฤดูฝนในไทยปีนี้ก็มีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นบ่อยมาก และการสันนิษฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ที่ได้ยินกันเป็นประจำเลยก็คือ ’ไฟฟ้าลัดวงจร“
’กระแสไฟฟ้า“ ในช่วงฤดูฝนนี่ยิ่งต้องระวังให้ดี
ทั้งกรณีทำให้ไฟไหม้ และกรณี ’ไฟฟ้าดูดตาย“
“อุบัติภัยจากไฟฟ้าดูด และไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เป็นภัยใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะหากไม่รู้วิธีป้องกัน วิธีใช้งานที่ถูกต้อง”...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งกับการที่จะปลอดภัยจาก “อุบัติภัยกระแสไฟฟ้า” ก็ต้องเริ่มที่ “ไม่ประมาท”
เมื่อไม่ประมาทแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย โดยกรณี “ป้องกันไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร” คำแนะนำโดยสังเขปคือ...ต้องตรวจสอบสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยอยู่เสมอ เลือกใช้สายไฟฟ้าให้เหมาะกับปริมาณการใช้ไฟฟ้า ไม่เดินสายไฟฟ้าใกล้แหล่งความร้อน หรือใกล้บริเวณที่มีของหนักวางทับ เพราะจะทำให้ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้าชำรุด ส่งผลให้ไฟฟ้ารั่วไหล และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้
นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกบ้าน ภายนอกอาคาร ใต้ฝ้าเพดาน หรือฝาผนัง ซึ่งเป็นจุดที่สามารถชำรุดได้ง่าย และหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นก็จะยากต่อการสังเกตเห็น
และอาคาร หรือบ้านเรือนหลังใด หากฟิวส์ขาดบ่อยครั้ง หรือพบว่าสายไฟเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ มีความร้อนผิดปกติ หรือมีเสียงดัง ขณะใช้ไฟ ต้องรีบให้ช่างผู้ชำนาญมาตรวจซ่อม เพื่อป้องกันไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร
กับ การใช้เครื่องไฟฟ้าต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องระมัดระวังการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนไฟไหม้ ซึ่งคำแนะนำก็เช่น...ไม่เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าติดต่อกันเป็นเวลานานมากเกินไป โดยเฉพาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบของมอเตอร์ เช่น พัดลม เป็นต้น และต้องระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทที่ให้ความร้อน เช่น เตารีด เตาไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน เพราะอาจเกิดความร้อนสะสมจนทำให้เกิดไฟไหม้ได้
ปลั๊กไฟ ก็ไม่ควรเสียบค้างไว้เป็นเวลานาน ไม่ควรเสียบปลั๊กไว้หลายอันในเต้าเสียบเดียวกัน เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนทำให้เกิดไฟไหม้ ต้องถอดปลั๊กไฟ รวมถึงปิดสวิตช์ไฟหลังใช้งาน
’ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง“ คือหัวใจสำคัญ
และจะให้ดีก็ ’ควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้“ ด้วย
ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ ที่สำคัญคือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติที่แผงสวิตช์ควบคุมไฟ ขณะที่การมีถังดับเพลิงเคมีไว้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวกหากเกิดไฟไหม้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยกรณีไฟไหม้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าและถังดับเพลิงนี่ก็ต้องหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
ทั้งนี้ จากกรณีป้องกันไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร ต่อด้วยกรณี “ป้องกันไฟฟ้าดูด” ซึ่งมีคำแนะนำโดยสังเขปคือ...เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ชัดเจนเรื่องคุณภาพซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการใช้งานได้ และอย่านำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในสภาพชำรุดมาใช้งานอย่างเด็ดขาด เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกบ้านหรือติดตั้งบริเวณที่เปียกชื้นก็ควรมีฝาครอบปิดอย่างมิดชิดปลอดภัย เพื่อช่วยป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจนทำให้ไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
น้ำ น้ำฝน เป็นสื่อนำไฟฟ้า หากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด ห้ามใช้และสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ตัวเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระบบการทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เหล่านี้ต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ ควรศึกษาการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าจากคู่มือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ห้ามซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดจนทำให้ไฟฟ้าดูดได้ อีกทั้งควรใช้ฝาครอบปลั๊กไฟ หรือใช้ปลั๊กที่มีช่องเสียบแบบหมุน เพื่อป้องกันเด็กนำนิ้วไปแหย่จนทำให้ถูกไฟฟ้าดูด
’ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระวัง“ จะไม่เสี่ยงถูกไฟดูด
และ ’ควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด“ เป็นอีกตัวช่วย
เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ นี่ก็เป็นตัวช่วยในการป้องกันไฟดูดเช่นเดียวกับกรณีไฟไหม้ ซึ่งเครื่องที่มีสภาพพร้อมใช้งานจะตัดไฟฟ้ากรณีมีไฟรั่วหรือไฟช็อต นอกจากนี้ ควร ต้องติดตั้งสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงหรือเปลือกหุ้มเป็นโลหะ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ไมโครเวฟ ซึ่งจะช่วยป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด’ไฟฟ้าลัดวงจรจนไฟไหม้-ไฟฟ้าดูด“...อันตราย
ในช่วง ’ฤดูฝน...อันตรายนี้อาจยิ่งอยู่ใกล้ตัว“
10 ข้อควรรู้เพื่อป้องกันเพลิงไหม้
1. หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย หากชำรุดให้รีบซ่อมแซม
2. เลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3. ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังเลิกใช้งานแล้วทุกครั้ง
4. หมั่นตรวจสอบเตาและถังก๊าซหุงต้ม ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ปิดวาล์วที่หัวถังทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
5. หน้าต่างที่ติดเหล็กดัด ต้องมีช่องทางออกฉุกเฉินที่เปิดได้อย่างน้อย 1 บาน ทุกห้อง
6. ควรติดตั้งถังดับเพลิงภายในบ้านในจุดที่เห็นเด่นชัด ปราศจากสิ่งกีดขวาง และคนในบ้านต้องใช้ถังดับเพลิงเป็นทุกคน
7. ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟ เพื่อช่วยป้องกันไฟฟ้ารั่วและอัคคีภัย
8. วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงไวไฟทุกชนิด ต้องเก็บให้ห่างจากความร้อนและเปลวไฟ
9. เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ เช่น ดับธูปเทียนให้สนิท
10. ควรติดเบอร์โทร 199 และเบอร์โทรศัพท์สถานีดับเพลิงในพื้นที่ไว้ในที่มองเห็นเด่นชัด
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในบ้าน
1. เมื่อเกิดเพลิงไหม้ อย่าเปิดประตู-หน้าต่างออก เพราะออกซิเจนจะทำให้ไฟลุกไหม้มากขึ้น หากเส้นทางหนีไฟมีควันไฟปกคลุม ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกหรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์มาครอบศีรษะเพื่อป้องกันการสำลักควัน และให้มอบคลานต่ำไปตามเส้นทางอพยพที่ปลอดภัย
2. ไม่ควรเข้าไปหลบหนีไฟบริเวณที่ที่เป็นจุดอับ เช่น ห้องน้ำ เพราะเป็นที่ที่มีหน้าต่างน้อย อาจสำลักควันไฟหรือถูกไฟคลอกเสียชีวิต
การใช้ปลั๊กพ่วงอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงไหม้
1. ควรใช้ปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
2. ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงแบบม้วนสายในตลับกลม ควรใช้แบบรางที่มีสวิตซ์เปิด-ปิด และฟิวส์ช่วยป้องกันการใช้ไฟเกิน
3. ห้ามนำปลั๊กพ่วงที่ชำรุดมาใช้งาน
4. ห้ามใช้ปลั๊กพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก เช่น ตู้เย็น ปั๊มน้ำ ควรเสียบกับเต้ารับโดยตรง
5. ห้ามนำรางปลั๊กพ่วงไปติดตั้งแบบถาวร หรือเดินสายไฟปลั๊กพ่วงติดกับผนังห้องฝ้าเพดาน ใต้พื้น และใต้พรม เพราะปลั๊กไฟถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานชั่วคราว
6. ปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาเสียบกับปลั๊กพ่วงต้องแน่น ไม่หลวม
7. ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงต่อพ่วงกันหลายเส้น เพื่อให้สายยาวขึ้น
8. ควรถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ และควรถอดปลั๊กพ่วง ออกจากเต้าเสียบหลักที่ผนัง อย่าเสียบทิ้งไว้
9. ควรปิดสวิตซ์ก่อนเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้ากับปลั๊กพ่วง เพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟ
10. ถ้ามีสิ่งผิดปกติขณะใช้งาน เช่น สายไฟร้อน มีเสียงดัง เกิดประกายไฟ ให้หยุดใช้งานทันที แล้วปิดสวิตซ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และถอดปลั๊กพ่วงที่ติดกับผนังออกเพื่อความปลอดภัย
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1375 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 27 พ.ค. 63
เวลา 09:28:40
|