กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สธ.ชี้หลังเข้มมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด คาด 2-3 สัปดาห์อาจเริ่มเห็นแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง
กระทรวงสาธารณสุขเผยโควิดระลอกเดือนเมษายนติดเชื้อครบทุกจังหวัด คาดหลังเข้มมาตรการป้องกันควบคุมโรค ผู้ติดเชื้อจะลดลงใน 2-3 สัปดาห์ เตือนประชาชนทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้อทั้งจากคนใกล้ตัวและพื้นที่ที่เดินทางไป ให้เข้มข้นป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ส่วนผู้ติดเชื้อที่พักรักษาในโรงพยาบาลสนาม หลีกเลี่ยงรวมกลุ่มทำกิจกรรมใกล้ชิด เสี่ยงมีการฟุ้งกระจายของเชื้อเพิ่มขึ้น
วันนี้ (16 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,582 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 921 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 656 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 97 ราย ไม่มีเสียชีวิต ทำให้การการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน มีผู้ติดเชื้อสะสม 10,172 ราย หายป่วยแล้ว 1,054 ราย และเสียชีวิตสะสม 3 ราย ทั้งนี้ สถานการณ์ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นมีผู้ติดเชื้อเกิน 1 พันรายติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่กระจายเชื้อในช่วง 5-7 วันก่อนหน้านี้ตามระยะเวลาการฟักตัวของโรค แต่หลังจากมีมาตรการปิดสถานบันเทิงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน และการทำงานที่บ้านหลังสงกรานต์ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์ อาจจะเห็นแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อคงตัวและลดลง
สำหรับจ.ระนองและจ.สตูลที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อระลอกเมษายน 2564 ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว ทำให้ประเทศไทยมีการติดเชื้อครบทั้ง 77 จังหวัด โดยจ.ระนองพบ 2 ราย เป็นพ่อลูกไป กทม.รับเชื้อแล้วเดินทางกลับมา ส่วนจ.สตูลพบ 1 ราย เป็นหญิงชาวญี่ปุ่นมาท่องเที่ยวในไทย และตรวจพบติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 100 รายหรือพื้นที่สีแดงเข้มมี 13 จังหวัด ส่วนที่มีการติดเชื้อเฉพาะในครอบครัวมี 20 จังหวัด
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ภาพรวมของการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในช่วงเดือนเมษายนพบจำนวน 10 คลัสเตอร์ใน 7 จังหวัดได้แก่ 1.จ.เชียงใหม่เป็นคลัสเตอร์ค่ายอาสานักศึกษาติดเชื้อ 34 ราย กระจายไป 13 จังหวัด 2.จ.นครสวรรค์เป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิงติดเชื้อ 39 ราย กระจายไป 2 จังหวัด 3.จ.กาญจนบุรีเป็นคลัสเตอร์กิจกรรมโรงเรียนติดเชื้อ 28 ราย 4.จ.สงขลาเป็นคลัสเตอร์ผับที่หาดใหญ่ติดเชื้อ 16 รายและคลัสเตอร์งานเลี้ยงรุ่นติดเชื้อ 8 ราย 5.จ.นครราชสีมาเป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารติดเชื้อ 14 ราย และคลัสเตอร์กลุ่มสังสรรค์คาราโอเกะติดเชื้อ 5 ราย 6.จ.นนทบุรีเป็นคลัสเตอร์งานสัมมนาบริษัทติดเชื้อ 19 ราย กระจายไป 8 จังหวัด และ 7.จ.นครศรีธรรมราชเป็นคลัสเตอร์งานกิจกรรมรวมกลุ่มคนติดเชื้อ 20 ราย กระจายไป 3 จังหวัด และคลัสเตอร์งานบวชติดเชื้อ 10 ราย
“ตอนนี้เป็นช่วงที่โรคมีความชุกของการติดเชื้อสูง เราจึงไม่อาจไว้ใจได้เลยว่าคนที่อยู่ใกล้ตัวหรือพื้นที่ที่เราไปมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น การป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด และแนะนำให้ดูแลคนในครอบครัวให้ดีที่สุดเป็นทางเลือกที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิ ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด”นายแพทย์เฉวตสรรกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่อยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม แม้จะเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมการรวมกลุ่มระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และสวมหน้ากากเสมอ แม้จะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่ม เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว หากคลุกคลีกันมากเกินไป อาจมีการฟุ้งกระจายของเชื้อเพิ่มขึ้น และธรรมชาติของโรคนี้ต้องติดตามอาการทุกวัน เนื่องจากอาการอาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น เริ่มไอ มีความเสี่ยง ฟุ้งกระจายเชื้อ จะประเมินและอาจให้กลับไปอยู่ในโรงพยาบาลหลัก ยืนยันว่าโรงพยาบาลสนามมีมาตรฐานในการดูแล ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งและกักตัวครบ 14 วันแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำ แต่ขอให้เฝ้าสังเกตอาการถ้าวันท้ายๆ มีอาการผิดปกติ มีอาการทางเดินหายใจ ขอให้รายงานต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อพิจารณาการตรวจเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 15 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 586,032 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 510,456 ราย และเข็มที่สองรวม 75,576 ราย ส่วนประชาชนทั่วไปจะได้รับการฉีดวัคซีนในในช่วงที่มีวัคซีนล็อตใหญ่ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่จะมีวัคซีนเข้ามา 6 ล้านโดส และหลังจากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปที่จะมีเข้ามาอีกเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนที่ได้มาไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วจะได้ทันที แต่เป็นการเตรียมการสั่งซื้อตั้งแต่วัคซีนยังวิจัยไม่สำเร็จ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|