กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ผืนป่าแม่กาและแม่นาเรือ เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของชุมชนในพื้นที่ ต.แม่นาเรือ อ.เมือง จ.พะเยา ให้ได้อาศัยพึ่งพา ใช้ประโยชน์หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร เพื่อการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกยูงไทยที่เข้ามาอาศัยผืนป่าแห่งนี้ในการแพร่ขยายพันธุ์บริเวณห้วยถ้ำ ที่ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา คณะสงฆ์ โดยได้รับเมตตาพระเดชพระคุณจาก พระเมธีวชิโรดม ว.วชิรเมธี และ คณะธรรมยาตราฯ ในการทำกิจกรรมบวชป่า ทำฝายชะลอน้ำ เพื่ออนุรักษ์นกยูงมาจนถึงปัจจุบัน
แต่เดิมผืนป่าแม่กาและแม่นาเรือ เคยได้รับการสัมปทานตัดไม้จากการทำถนนเส้นทางเชียงใหม่ - พะเยา ซึ่งการตัดถนนในครั้งนั้นได้ทำลายสภาพหน้าดิน เกิดปัญหาดินโคลนถล่มทับถมลำน้ำตื้นเขิน ต้นไม้ที่สมบูรณ์ถูกตัดฟันไม้ออกจากพื้นที่และมีบางส่วนของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มที่จะขยายแนวเขตที่ดินทำกินเข้าไปในพื้นที่ป่า จากผืนป่าขนาดใหญ่เริ่มลดน้อยลง นั่นจึงเป็นเหตุผลและที่มาของการเกิดเวทีพูดคุยกันในกลุ่มผู้นำในตำบลแม่นาเรือว่า ป่าที่เหลือแม้จะไม่มากนักนั้น จะต้องได้รับการดูแล ฟื้นฟู กลับคืนมาอีกครั้ง
ปัจจุบันตำบลแม่นาเรือ มีพื้นที่ป่าสำคัญๆ ได้แก่ เขตป่าบ้านโซ้ ป่าสันป่าสัก ป่าร่องคำป่าสันขี้เหล็กประมาณ ๓ / ๔ ของพื้นที่ทั้งหมด ปัจจุบันพื้นที่ป่าที่เหลือและป่าไม้สมบูรณ์ ประมาณ ๖๙,๐๖๙ ไร่ที่ชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาทั้งตำบล
กลไกการทำงานเริ่มเคลื่อนในระดับพื้นที่โดยมีผู้นำที่เป็นทางการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องถิ่น ออกมาดำเนินกิจกรรมร่วมกันทุกหมู่บ้าน 18 หมู่บ้าน 3,672 ครัวเรือน โดยมีชุมชนหมู่บ้านร่องคำดง ซึ่งมีพื้นที่ป่าที่จัดการมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆและขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ ตามพ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562 รวมพื้นที่กว่า 2,933 ไร่ จากพื้นที่ป่ารวมทั้งสิ้น 34,009 ไร่ จึงเป็นหมู่บ้านหลักที่ขับเคลื่อนกิจกรรมและดำเนินการไปพร้อมกับพื้นที่ป่าที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและหมู่บ้านที่ไม่มีพื้นที่ป่าแต่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชนใกล้เคียงเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน
การทำกิจกรรมของชุมชนได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดเด่นของที่นี่เริ่มต้นจากการทำ “ฝายชะลอน้ำ” ที่จะสร้างความร่วมมือ สร้างความสมดุลของระบบนิเวศน์ แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำสำคัญของชุมชนในเขตพื้นที่ตำบลแม่เรือและตำบลตุ่นไหลลงสู่กว้านพะเยา มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 22,813 ไร่ 3,654 ครัวเรือน เฉพาะตำบลแม่นาเรือ รวม 11,322 ไร่ 437 ครัวเรือน
น.ส.เดือนนภา ปัญญาวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่นาเรือ “การจัดทำฝายชะลอน้ำเราได้ดำเนินการมาเป็นประจำทุกปี เริ่มแรกไม่รู้ว่าจะดึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้านมาช่วยกันอย่างไร น้ำ คือสิ่งสำคัญของชุมชนที่จะต้องอาศัยและใช้ประโยชน์ จึงดำเนินการจัดทำฝายชะลอน้ำขึ้นมา ณ ตอนนั้นยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาสนับสนุน จนกระทั่งการทำฝายลูกแรกเริ่มเห็นผล น้ำเริ่มกลับคืนมา ชาวบ้านเริ่มเห็นคุณค่าในการทำฝาย จึงร่วมด้วยช่วยกันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพะเยา (ทสม.) ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินการปีละ 10,000 บาท พร้อมกับจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหมู่บ้าน (ทสม.) ขึ้นมาในการที่จะเป็นกลไกสำคัญเชื่อมประสานการทำงานรัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ ในขณะที่ท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นาเรือ ก็ได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมทำฝาย มีเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมวางแผน จับพิกัดว่าจะดำเนินการสร้างฝายตรงไหน อย่างไร
ในปีนี้เช่นกัน ทางท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนงบดำเนินการจำนวน 250,000 บาทที่จะเข้าไปทำฝายชะลอน้ำในลักษณะฝายกึ่งถาวรเพื่อให้คงทนไม่ชำรุดในช่วงฤดูน้ำหลาก จำนวน 400 กว่าลูกร่วมกับทสจ.จังหวัดพะเยาและขับเคลื่อนร่วมกันทั้งตำบล”
ในขณะที่ท่านประกาย ใจบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศ์บางโพธิ์ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์นกยูงไทยและผืนป่าแม่กา แม่นาเรือแห่งนี้ ไว้ให้อุดมสมบูรณ์ ในอนาคตซึ่งจะมีโครงการต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีอาคารศูนย์การเรียนรู้นกยูงไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์และเรียนรู้นกยูงไทยอย่างครบวงจร มหาวิทยาลัยจึงอยากจะสร้างสภาพแวดล้อมต้นแบบของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนกับนกยูงอย่างครบวงจร นกยูงไทย ป่า และคนจะต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การอนุรักษ์และการพัฒนาจะดำเนินไปควบคู่กันอย่างสมดุล นี่เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยตั้งใจที่จะทำโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน"
นอกจากฝายชะลอน้ำ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดเครือข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่นาเรือและเครือข่ายทสม.ตำบลแม่นาเรือแล้วในช่วงฤดูแล้งของการเกิดปัญหาไฟป่า ชุมชนยังคงเฝ้าระวังพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องโดยตั้งทีมอาสาในการจัดการไฟ จัดเวรยามเฝ้าระวังโดยแบ่งออกเป็น 4 เส้นทางที่มีการเข้า – ออกจากป่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน
“ ใครที่จะเข้าป่าในช่วงที่ทางคณะกรรมการและอาสาจัดการไฟของแต่ละหมู่บ้าน จัดตั้งเวรยามและมีด่านตรวจนั้นจะถูกค้นตัวไม่ให้นำไฟเช็คเข้าไปในพื้นที่ป่า แต่สามารถเข้าไปหาเห็ด หน่อไม้ และพืชผักอื่นๆในพื้นที่ป่าได้ตามระเบียบและข้อตกลงร่วมของชุมชน และผลของการจัดทำฝายชะลอน้ำนั้น ยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นของผืนป่า เป็นป่าเปียกที่สามารถป้องกันไฟได้อีกทางหนึ่ง” ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่นาเรือ กล่าว
ดังนั้นการจัดการและเฝ้าระวังไฟอย่างต่อเนื่องของชุมชนที่ผ่านมา ทำให้ความรุนแรงของการเกิดไฟในพื้นที่มีน้อยเนื่องจากสภาพป่าเป็นป่าผสม ส่วนใหญ่ไฟมักจะลุกลามมาจากพื้นที่อื่นโดยเฉพาะบริเวณรอยต่อกับจังหวัดลำปาง เส้นทางอำเภอวังเหนือ ด้านหลังของมหาวิทยาลัยพะเยา การจัดการของชุมชนเป็นเพียงการเฝ้าระวัง ลาดตะเวน ป้องกันไฟจากพื้นที่อื่น และปีนี้ 2564 ฝนมาก่อนฤดูกาลทำให้การลุกลามของไฟที่เข้ามาจากพื้นที่อื่นน้อยลง
อย่างไรก็ตามผืนป่าแม่กาและแม่นาเรือ ชุมชนและเครือข่ายยังคงต้องดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง วางแผนที่จะทำให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและชุมชนในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งระบบนิเวศน์ในพื้นที่ป่า ยกยูงไทยที่เริ่มขยายเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชุมชนมากขึ้น เป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์นกยูงไทยครบวงจร โดยมีนักวิชาการ นักศึกษาเข้ามาสนับสนุนงานทางวิชาการ และสมุนไพรที่มีหลากหลายชนิด ที่จะสื่อสาร ส่งต่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้เรียนรู้อย่างยั่งยืนต่อไป
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|