• แนวคิดป่าชุมชนซับพุทรา พลังขับเคลื่อนสู้ภัยวิกฤตไฟป่าฝุ่นควัน สู่รางวัลลูกโลกสีเขียว |
โพสต์โดย ตนข่าว , วันที่ 14 พ.ค. 64 เวลา 01:17:24 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
แนวคิดป่าชุมชนซับพุทรา พลังขับเคลื่อนสู้ภัยวิกฤตไฟป่าฝุ่นควัน สู่รางวัลลูกโลกสีเขียว
เมื่อเอ่ยถึงพื้นที่ป่าสีเขียวและแหล่งท่องเที่ยวของ จ.เพชรบูรณ์ หลายคนนึกถึงเขาค้อหรือไม่ก็ภูทับเบิก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีชื่อ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กับ จ.เพชรบูรณ์ มาตลอด หรือถ้าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นป่าไม้ขนาดใหญ่ก็จะนึกถึงอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงซึ่งเป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวสำคัญที่จะไปสัมผัสธรรมชาติของนักท่องเที่ยวส่วนมาก แต่ใครจะคิดว่าพื้นตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งใน จ.เพชรบูรณ์ จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับป่าของคนในตำบลได้มากคือ ตำบลซับพุทรา อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งถ้ามองลึกลงไปในระดับตำบลแล้ว มีอีกหลายพื้นที่ที่สามารถสร้างป่าและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆ ให้กับคนเพชรบูรณ์ ตำบลซับพุทราก็เช่นกัน ซึ่งเป็นตำบลเล็กๆ อยู่ใน อ.ชนแดน ซึ่งใครหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักมากนัก แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้สำคัญมากเท่ากับเรื่องของการสร้างป่าให้กับตำบลตัวเองจำนวนหลายพันไร่สวนทางกับสภาพทั่วไปที่ป่ากำลังถูกทำลายหรือบุกรุก โดย ต.ซับพุทรา มีเพียง 9 หมู่บ้านเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากคือ 8 หมู่บ้านใน ต.ซับพุทรา มี “เครือข่ายป่าชุมชน” ที่ชนะเลิศรางวัลลูกโลกสีเขียว เรื่องของป่าชุมชนในปี 2555 ซึ่งเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่มีการอนุรักษ์และการรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์มานับ 10 ปี แล้วกว่าจะมาเป็นรางวัลนี้ได้
ทั้งนี้ประมาณปี 2490 รัฐบาลไทยได้เปิดการสัมปทานป่าให้กับเอกชน หลายคนคงคิดว่า มีแต่ป่าทางภาคเหนือเท่านั้นที่ถูกสัมปทานป่าตัดเอาต้นไม้ออกไปขายและใช้ประโยชน์ทำให้ป่าในพื้นที่ก็หมดไป ความอุดมสมบูรณ์ลดลงไปมากหลังจากปิดสัมปทานป่าในบ้านเราอย่างถาวรในปี 2531 เรื่องการเข้าไปตัดไม้ในพื้นที่ป่าของ ต.ซับพุทรา ก็ยังไม่หมด ยังมีทั้งชาวบ้านในและต่างพื้นที่เข้าไปตัดไม้ออกมาใช้จนกลายเป็นเขาหัวโล้น ส่งผลต่อปัญหาคุณภาพของดิน น้ำและป่า ที่เคยอุดมสมบูรณ์หายไป ชาวบ้านในพื้นที่ก็เดือดร้อนได้รับผลกระทบต่างๆตามมา
นายอภิศักดิ์ สรียากุล ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านในการที่จะฟื้นฟูป่าในตอนนั้น เล่าให้ฟังว่า ประมาณปี 2548 ได้เริ่มรวมตัวกันจากคนในชุมชนไม่กี่คนทำเรื่องการฟื้นฟูป่าชุมชนในพื้นที่ของบ้านตัวเองแล้วค่อยๆ ขยายแนวคิดออกไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ จนองค์กรของภาครัฐเห็นว่า ชุมชนฟื้นฟูป่าแบบจริงจังเลยเข้ามาสนับสนุนให้กลุ่มของชาวบ้านไปดูงานในพื้นที่ของ บ้านมูเซอ อ.แม่สอด จ.ตาก การเข้าไปดูงานครั้งนั้นทำให้ได้เปิดโลกใบใหม่ของการฟื้นฟูรวมไปถึงการอนุรักษ์ป่าชุมชนของตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง ได้เห็นป่าที่ชุ่มชื้นสมบูรณ์มีตะไคร่น้ำสีเขียว เวลาฝนตกลงมาก็นานเป็นชั่วโมง น้ำก็ใสไม่เป็นสีแดงเหมือนบ้านเราเอง หลังจากการดูงานที่ บ้านมูเซอ ก็นำแนวคิดที่ได้มาปรับใช้ เริ่มจากการสร้างความเข้าใจเรื่องความสำคัญของป่าชุมชนกับคนในชุมชน เมื่อคนในชุมชนเข้าใจร่วมกันก็ตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นแกนหลักในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนของตัวเอง กิจกรรมที่ทำมากันโดยตลอดในการฟื้นฟูคือการปลูกป่า บวชป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ไม่ง่ายอย่างนั้นเพราะว่า ทุกหน้าแล้งของทุกๆปีจะมีปัญหาเรื้อรังที่เข้ามาตลอดคือ “ไฟป่า” ที่ลามเข้ามายังพื้นที่ป่าชุมชนของชาวบ้านที่ดูแลอยู่ ไฟป่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มเข้าไปบางส่วนตายทำให้ป่าชุมชนฟื้นตัวได้ช้า
เมื่อเกิดปัญหาไฟป่าขึ้นทุกปีในพื้นที่ป่าชุมชนจึงเกิดแนวคิดวิธีการป้องกันไฟป่าที่เกิดขึ้นคือ การทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลามป่าชุมชนเข้ามา การทำแนวกันไฟก็เป็นวิธีการป้องกันได้ในระดับหนึ่งแต่สิ่งที่จะป้องกันไฟป่าได้มากกว่าการทำแนวกันไฟและเข้าดับไฟคือ การทำให้คนในชุมชนของตัวเองรวมทั้งชุมชนหรือตำบลข้างเคียงตระหนักเรื่องของการเผาป่าและร่วมกันป้องกันมากกว่า ซึ่งหน่วยงานที่มีพื้นที่ติดอยู่ปับป่าชุมชนทำการจัดการเรื่องเชื้อเพลิงในป่าทุกปีแต่ไม่ได้ทำแนวกันไฟกั้นจึงทำให้ไฟลามเข้ามายังป่าชุมชนของชาวบ้านในทุกๆ ปี เมื่อปีที่ผ่านมาได้ทำการพูดคุยทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว ทำให้ปีนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้หมอกควันที่เกิดจากไฟป่า เป็นปัญหารุนแรงขึ้นทุกปีและงานในการจัดการไฟป่าของชาวบ้านในพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลที่ ต.ซับพุทรา ก็มีภาระที่หนักขึ้นทุกปีเช่นกัน ในช่วง 4-5 ปีหลังที่ปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่าวิกฤติหนัก ชาวบ้าน ต.ซับพุทรา ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด มีการจัดชุดลาดตระเวนไฟป่าและชุดเคลื่อนที่เร็วในการเข้าระงับเหตุตลอดมา
นายอภิศักดิ์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ก็เป็นงานอาสาสมัครที่คนในชุมชนและกรรมการป่าชุมชนทำร่วมกันซึ่งไม่ได้มีค่าตอบแทนใดๆ ทุกคนก็เต็มใจที่จะทำเพราะว่าเราฟื้นฟูป่าชุมชนมาเป็นสิบๆ ปีมันอยู่ในจิตสำนึกของคนในชุมชนที่ต้องช่วยกัน แต่ช่วงหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐเห็นถึงปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นก็สนับสนุนทั้งงบประมาณและอุปกรณ์ผ่านลงมาทางองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งก็มีรถบรรทุกน้ำที่พร้อมออกไปดับไฟทันที งานของชาวบ้านจึงเบาลงส่วนหนึ่ง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าทุกคนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของทุกคนก็ไม่ต้องใช้กฎเกณฑ์ใดๆ ที่ต้องมาบังคับให้ใครต้องทำ แต่จะเกิดการตกผลึกทางความคิดเรื่องการจัดการปัญหาร่วมกันและช่วยกันแก้ไขปัญหานั้นๆ ภารกิจที่ชุมชน ต.ซับพุทรา ทำได้ขยายแนวคิดมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่คนในชุมชนรวมถึง ต.ซับพุทรา ทำกันอยู่ ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่ในพื้นที่เล็กๆ ใน จ.เพชรบูรณ์อย่างเดียว ในระดับประเทศก็เห็นถึงสิ่งที่คน ต.ซับพุทรา ทำจนได้รับรางวัล “เครือข่ายป่าชุมชนดีเด่น ในการประกาศรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2555” ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลสำหรับคนทำงานและเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับ ต.ซับพุทรา ในการทำงานรักษา ฟื้นฟู ป้องกันป่าชุมชนของพวกเขาต่อไปและจะเป็นต้นแบบศึกษาให้พื้นที่อื่นๆเอาไปปรับใช้ได้ด้วย.
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 314 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 14 พ.ค. 64
เวลา 01:17:24
|