กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
“หาของป่า ควบคู่การจัดการไฟป่าฝุ่นควัน บ้านร่องเคาะ”
ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
“การหาของในป่า เห็ด หอย ปู อึ่งอ่าง กบ แมลงต่างๆ ผักป่าเป็นวิถีชีวิต เราไม่หวง ไม่ห้าม แต่ต้องไม่ทำลาย เราดึงเอาคนเก็บหาของป่ามาเป็นเครือข่ายคอยสอดส่องดูแลไม่ใช่แค่เรื่องไฟป่าอย่างเดียวแต่รวมถึงการลักลอบตัดไม้ การถางป่าเพื่อขยายครอบครองพื้นที่ด้วย” อดิเรก สวยสด ผู้ใหญ่บ้านร่องเคาะ หมู่ 9 ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เล่าถึงแนวทางการจัดการไฟป่าหมอกควันของชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ สวนกระแสกับทัศนคติของหน่วยงานและคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มักมองว่าปัญหาไฟป่าหมอกควันเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เข้าไปเก็บหาของป่า “ตอนนี้เรามีเครือข่ายที่ไปอยู่ที่จุดเฝ้าระวังไฟทุกวัน วันละสองสามคนแม้จะหมดภารกิจเรื่องลาดตระเวนแล้วก็ตาม โดยไม่มีค่าแรงหรือการสนับสนุนอะไร เป็นการอยู่ด้วยใจ โดยมากคนที่อยู่ตรงนั้นก็มักจะเข้าไปหาของป่า ซึ่งกลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยดูแลป่าของชุมชน โดยมีทั้งหมดประมาณ 12-13 คนที่เข้าป่ากันเป็นประจำ”
ป่ากับคน คนกับป่าถ้าช่วยกันดูแลนอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของระบบนิเวศน์วิทยาต้นน้ำแล้ว ยังได้ประโยชน์ทางตรงทั้งเรื่องอาหารจากป่า และไม้ใช้สอยสำหรับกิจกรรมส่วนรวมของชุมชน และยังรวมไปถึงการจัดสรรจัดการไม้ใช้สอยบางส่วนนำไปซ่อมแซมบ้านให้คนจนคนชายขอบในหมู่บ้าน เป็นการดูแลกันของคนในชุมชนโดยใช้ทรัพยากรที่เกิดจากการดูแลรักษาร่วมกัน โดยในทุกหน้าฝนจะมีการปลูกไม้ใหม่ทดแทนเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์เอื้อประโยชน์ให้กับชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไป
การได้ประโยชน์จากทรัพยากรดังที่กล่าวมานี้นับเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการดูแลป้องกันไฟป่าเป็นอย่างดี ที่ร่องเคาะนอกจากจะใช้แนวทางการสร้าง “เครือข่ายคนหาของป่า”เพื่อช่วยดูแลป้องกันแล้ว ยังมีแนวทางมาตรการอีกหลายตัวที่น่าสนใจ เช่น การสร้างข้อตกลงร่วมกันระดับหมู่บ้านและนำข้อตกลงนั้นไปทำเป็นMOUร่วมกันกับอีก 80 หมู่บ้านของอำเภอวังเหนือเป็นภาพรวมระดับอำเภอเพื่อให้ข้อตกลงมีความขลังได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น และแม้ในข้อตกลงจะมีการตั้งกติกาการปรับไหมในกรณีคนดื้อไม่ยอมให้ความร่วมมือ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีการปรับไหมสมาชิกแม้แต่รายเดียว ซึ่งผู้ใหญ่ให้เหตุผลว่า บางคนมีเงินก็ยินดีจ่ายไม่เดือดร้อน แต่หากใช้มาตรการทางสังคม เช่น การเล่าขวัญ(นินทา)ว่าบ้านนั้นบ้านนี้ไม่ให้ความร่วมมือ พอเรื่องถึงหูเจ้าตัวก็จะเกิดความละอายใจไปเอง นอกจากนี้ยังใช้มาตรการไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในเรื่องการทำเอกสารการประสานความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งถือเป็นมาตรการทางสังคมที่ได้ผลมากกว่าการบังคับปรับไหมกัน
ในช่วงฤดูไฟประมาณเดือนมีนาคมและเมษายนของทุกปีนับตั้งแต่ปี2559เป็นต้นมา บ้านร่องเคาะได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการดูแลปกป้องไฟป่าอย่างแข็งขัน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายประการ คือสถานการณ์ไฟป่าที่ค่อนข้างหนักในปี2559เนื่องจากภาวะเอญนิญโญ่ในปีนั้นบวกกับทิศทางของหน่วยงานเองที่ทำบทบาท “หนุนเสริมชุมชนขึ้นมาแทนการเข้าไปจัดการด้วยตนเอง”เช่นในอดีต แต่การเริ่มต้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในระยะแรกมีเพียงแกนนำชุมชนกลุ่มเล็กๆประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประธานเครือข่ายป่าชุมชน ช่วยกันเดินลาดตระเวนวันละ 2-3 คน เมื่อผู้นำได้เข้าร่วมประชุมระดับจังหวัดและพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.) ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่เกิดจากการสนับสนุนจัดตั้งของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นโอกาสในการขยายคนเข้าร่วมและขยายเครือข่ายทั้งแนวราบระดับชุมชนและแนวดิ่งจากหมู่บ้านเชื่อมโยงไประดับอำเภอและระดับจังหวัด โดยผู้ใหญ่อดิเรก ผู้ใหญ่บ้านร่องเคาะนั้นได้ถูกรับเลือกให้เป็นประธานเครือข่ายอาสาสมัครทสม.ของอำเภอวังเหนือ
“พอมีปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประธานป่าชุมชน จำนวน 9 คนได้เข้าร่วมเวทีในระดับจังหวัด และกลับมาถ่ายทอดให้กลุ่มเครือข่ายในชุมชน ระยะแรกมีคนเข้าร่วมไม่มากนัก จนกระทั่งปี 2560 ได้มีการขยายสมาชิกทสม.ขึ้นมาจำนวน 127 คนในหมู่บ้าน ขณะที่ระดับตำบลมีอาสาสมัครรวมทั้งหมดประมาณ 700-800 คน เวลาประชุมร่วมกันระดับอำเภอก็จะเน้นเรื่องการดูแลไฟป่าหมอกควัน ทำให้การทำงานร่วมกันค่อนข้างคึกคัก ต่อเนื่อง ได้รับการสนับสนุนหลายด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นๆในจังหวัด ข้ามจังหวัด การหนุนปฏิบัติการของชุมชน การให้คุณค่ากับสิ่งที่ชุมชนทำ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ทำให้ปี 2560 เราได้รับรางวัลเครือข่ายทสม.ดีเด่น”
ปัจจุบันการดูแลป้องกันไฟป่าของชุมชนถือเป็นภารกิจร่วมของทุกคน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาชิกชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆในพื้นที่ ในส่วนของชาวบ้านนั้นได้มีการจัดกลไกเวนยามออกเป็น 12 ชุด ชุดละ 10 คน รวม120 คน ทำหน้าที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังและพร้อมเข้าดับไฟตลอด 60 วันในช่วงประกาศห้ามเผาของจังหวัด ชุดลาดตระเวนระดับหมู่บ้านนี้มีการประสานการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกับองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะที่พร้อมสนับสนุนทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ “หากเกินกำลังของชุดลาดตระเวน องค์การบริหารส่วนตำบลมีบทบาทประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์อำนวยการระดับอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ซึ่งทิศตะวันตกของตำบลติดเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติผางาม และอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ขณะที่ทิศตะวันออกติดเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนวังแปลง 1 และแปลง2” ถือเป็นมิติที่น่าสนใจของการจัดการทรัพยากรในระยะหลังมานี้ที่เกิดการจัดการร่วมกันแทนการขัดแย้งเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
การลาดตระเวนฯมีการแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นทิศต่างๆ เพื่อให้คลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยให้อิสระในการจับกลุ่มกันทิศละสองถึงสามคน ที่นี่ไม่มีเรื่องการจ้าง แต่จะเป็นการช่วยค่าอาหาร น้ำมัน ชุดละ 300 บ./วัน เงินจำนวนนี้ได้มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานคือ โครงการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทสม.ในการจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันปี 2564 จากกองทุนสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ทุกวันชุดลาดตระเวนแต่ละชุดจะมีกิจกรรมโดยที่ทีมออกแบบเอง อย่างน้อยต้องมี1กิจกรรมในแต่ละวัน เช่น การพัฒนาสวนหย่อมให้ดูสวยงาม การสานไม้ไผ่ทำถังขยะใบไม้ การปลูกพืชผักที่กินได้ในพื้นที่ป่ารวมถึงผลไม้ดอกไม้ที่สามารถหาได้ในชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มอาหารให้คนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า เช่น ขนุน แก้วมังกร น้อยหน่า การนำเอาเถาวัลย์มาสานเป็นรูปคิงคองที่เป็นเจ้าป่าเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน”
เมื่อกลายเป็นภารกิจร่วมของทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ การระดมความช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่างๆจึงเป็นไปได้โดยไม่ยาก ในระดับหมู่บ้าน มีการสมทบบริจาคจากสมาชิกชุมชนจำนวน 6,100 บ. นอกจากนี้กลุ่มกองทุนต่างๆได้มีการจัดสรรเงินกองทุนของกลุ่มมาช่วยเหลือชุดลาดตระเวณ คือ กองทุนหมู่บ้านระดับตำบลจำนวน 2,000 บาท กองทุนของหมุ่บ้าน 3,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ก็สนับสนุนน้ำดื่ม เครื่องดื่ม น้ำแข็ง ตลอด 60 วัน รวมถึงสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง(ทสจ.) ร่วมสนับสนุนน้ำดื่มอีกจำนวน 1,000 ขวด ถือเป็นต้นแบบในเรื่องของการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนต่างๆในพื้นที่อีกชุมชนหนึ่ง
หลังฤดูไฟบ้านร่องเคาะให้คุณค่ากับกลุ่มคนที่เข้าป่าในฐานะที่เป็นเครือข่ายหลักที่คอยช่วยเหลือสอดส่องดูแลเรื่องการลักลอบตัดไม้ การขยายพื้นที่เกษตรรุกล้ำพื้นที่ป่าของชุมชน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เกิดความภูมิใจไม่ถูกตีตราว่าเป็นตัวปัญหา เพราะการใช้ประโยชน์จากป่าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นวิถีของคนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ป่า หากการใช้ประโยชน์มีระบบการจัดการที่ดี ป่าก็สามารถสร้างการทดแทนได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหลัดการของพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนชุมชนทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์ การพัฒนา การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืน แม้ปัจจุบันจะมีข้อถกเถียงอยู่บ้างในเรื่องที่สามารถทำได้เฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในขณะที่มีชุมชนอีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์จากการถูกประกาศเขตซ้อนทับในภายหลัง
ผู้ใหญ่อดิเรกเล่าให้ฟังว่า บ้านร่องเคาะเริ่มดูแลจัดการป่ชุมชนมาตั้งแต่ปีปี 2547 และขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนกับกรมป่าไม้เมื่อปี 2559 จำนวน 871 ไร่ จากพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลทั้งหมดจำนวน1,671ไร่ ปัจจุบันมีคณะกรรมการป่าชุมชนเป็นกลไกในการดูแลจัดการ โดยได้มีการทำแผน 5 ด้านตามเงื่อนไขของกฎหมายเสนอไปที่สำนักบริหารจัดการป่าไม้ที่3จังหวัดลำปาง และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในปีที่เริ่มดำเนินการจำนวน 120,000 บาท ในปี 2564นี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการปลูกป่าเสริมอีกจำนวน 500 ไร่ และการพัฒนาเครือข่ายอีกจำนวน 50,000 บาท โดยคณะกรรมการป่าชุมชนส่วนหนึ่งเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านด้วย ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านเองก็เป็นประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.)ของอำเภอวังเหนือ ทำให้การขับเคลื่อนงานมีความคล่องตัวและได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆพอสมควร “พอเราทำทั้งเรื่องป่าชุมชน และร่วมอยู่ในขบวน ทสม. ซึ่งมีแนวทางการทำงานโดยยึดหลักการประสานงานอยู่แล้ว ทำให้เกิดการประสานการทำงานร่วมกับภายนอกหลายส่วนในนามของ ทสม. ทั้งสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันระดับชุมชนก็ได้มีการผนวกการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่าของตำบลร่องเคาะที่มีการอบรมจัดตั้งขึ้นในปี 2556 โดยกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช” จากที่รับฟังผ่านการบอกเล่าของผู้ใหญ่อดิเรกแล้ว บ้านร่องเคาะถือเป็นชุมชนที่สามารถเป็นต้นแบบได้ในอนาคต ทั้งในเรื่องของการจัดการไฟป่า การจัดการป่าชุมชน และการเชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่างๆเพื่อให้สนับสนุนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สัมภาษณ์นายอดิเรก สวยสด ผู้ใหญ่บ้านร่องเคาะ หมู่ 9 ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง
ประธานเครือข่าย ทสม.อำเภอวังเหนือ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|