กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
หน้าที่ดูแลไฟป่าเป็นเรื่องของทุกคน:บ้านหนองหลัก ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน
บ้านหนองหลักเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการใช้ที่ดินและเศรษฐกิจของชุมชน แต่ก็ยังคงมีจุดแข็งที่เป็นแก่นแกนอุดมการณ์ในเรื่องคนกับป่า วิถีชีวิตกับทรัพยากรธรรมชาติรอบข้าง ที่นี่เป็นหมู่บ้านเล็กๆแต่ดูแลรักษาผืนป่ากว้างถึง 10,036 ไร่ ในจำนวนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนประมาณ 200 กว่าไร่ อย่างไรก็ตามแม้พื้นที่จะถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งหน้าที่การดูแลป่าตามกฎหมายเป็นของรัฐ แต่ชาวบ้านก็ยังคงช่วยกันดูแลและดับไฟในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน
เดิมพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านเคยเป็นแปลงป่าสัมปทานและคนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้ก็เป็นคนงานทำไม้ซึ่งเป็นคนจากท้องถิ่นใกล้เคียง หลังการจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ชุมชนมีการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และน้ำตามรูปแบบความเชื่อดั้งเดิม จนป่าฟื้นกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็นรูปแบบป่าชุมชน มีคณะกรรมการจำนวน 36 คน เป็นกลไกหลักในการดูแลจัดการ หมู่บ้านตกอยู่ในเขตป่า 2 สถานะ คือ ฝั่งตะวันตกของหู่บ้านเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนแม่ลี้และฝั่งตะวันออกของหมู่บ้านที่ติดแม่น้ำลี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ซึ่งประกาศในภายหลังและมีปัญหาบางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลจัดการ
การจัดการไฟป่าของที่นี่มีการสร้างแนวทางร่วมกันระดับตำบล โดยท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดทำแนวกันไฟ โดยสนับสนับสนุนงบประมาณหมู่บ้านละ 3,000 บาท นอกจากการสนับสนุนจากท้องถิ่นแล้วในปีนี้ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางเขตห้ามล่าฯซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการในหมู่บ้านป่าแป๋และแม่ป๊อกใน งบประมาณในส่วนที่ได้รับนี้คณะกรรมการระดับชุมชนนำมาจัดสรรจัดการเป็นค่าอาหารทั้งในช่วงการำแนวกันไฟและการเขาดับไฟ แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ก็สะท้อนถึงความตระหนักในหน้าที่ที่จะหนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งสามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเองตนเองร่วมกับภาคส่วนต่างๆ แนวทางการจัดการของชุมชนเน้นเรื่องการป้องกันดับไฟและการอนุรักษ์ฟื้นฟูเป็นหลัก โดยมีการจัดทำแนวกันไฟในบริเวณที่เป็นเขตป่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และ จัดการเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผาบริเวณรอบชุมชนความกว้างประมาณ 500 เมตร ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปีเพื่อป้องกันไฟป่าไหม้ลามเข้าหมู่บ้าน
ที่บ้านหนองหลักแม้จะมีสองกลไกคือกรรมการหมู่บ้านและกรรมการป่าชุมชนรับผิดชอบโดยตรงและเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว แต่สิ่งที่โดดเด่นน่าสนใจคือความร่วมไม้ร่วมมือของสมาชิกในชุมชนที่พร้อมเข้าไปร่วมกับทุกกิจกรรม ในรูปแบบที่เรียกว่า “จิตอาสา” ทุกคนมีหน้าที่สอดส่องและดับไฟ โดยที่ไม่ต้องมีข้อตกลงร่วม ไม่ต้องมีเรื่องการปรับไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำแนวกันไฟหรือการเข้าไปดับไฟป่า ขอเพียงมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงของชุมชนขอความร่วมมือ โดยเฉพาะการดับไฟป่าชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านก็จะรีบเข้าไปยังที่เกิดเหตุเพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อควบคุมไฟไม่ให้ลามออกไปในวงกว้าง เมื่อมาถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่าเพราะอะไร ผู้คนถึงไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย ไม่กลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานป่าไม้ซึ่งมีถึงสองหน่วยงานในพื้นที่ ขณะที่การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิและแนวเขตเองก็ยังไม่มีความชัดเจนแม้ชุมชนจะพยายามเข้าร่วมกับเครือข่ายต่างๆในภาคเหนือผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้มากมากกว่า 20 ปี
“ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านเรามีลักษณะเป็นลักษณะแอ่ง ทำให้สามารถมองเห็นควันไฟที่เกิดขึ้นได้รอบิศโดยไม่จำเป็นต้องมีชุดลาดตระเวน ใครที่เห็นควันไฟก็จะแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็จะประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านไปช่วยกันในบริเวณที่เกิดเหตุ แจ้งจุดนัดพบกัน ”
จากการมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนายสุลักษณ์ ปุ๊ดแค ตัวแทนเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ตอนบนเล่าให้ฟังว่า คนกับป่า ป่ากับคนของที่นี่ถูกปลูกฝังอุดมการณ์ณ์แนวคิดผ่านการใช้ชีวิตและประเพณีพิธีกรรมของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง พิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ประเพณีแห่ช้างเผือก” เพื่อขอฝนและเลี้ยงผีขุนน้ำซึ่งมีการจัด 3 ระดับคือ ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับอำเภอ(เครือข่ายลุ่มน้ำ)ซึ่งขบวนแห่ช้างเผือกเริ่มตั้งขบวนกันที่ตำบลบ้านปวง และมาจบที่บ้านหนองหลักซึ่งเป็นขุนน้ำลี้ พิธีนี้จัดขึ้นทุกปีต่อเนื่องโดยจัดในช่วงเดือนมิถุนายน
ในพิธีมีกิจกรรมหลักคือการสืบชะตาแม่น้ำ การเลี้ยงผีขุนน้ำ ด้วยพิธีทั้งทางสงฆ์และทางความเชื่อดั้งเดิมของชุมชน มีการอนุรักษณ์พันธุ์สัตว์น้ำ ปลูกต้นไม้เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของป่า ทั้งไม้ผลและไม้มีค่า เช่น มะขามป้อม ไม้พยุง มะค่าโมง เสี้ยวป่า มะกอก มะขาม ฯลฯ ทั้งในพื้นที่ส่วนรวมของชุมชน เช่น พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่สวน ที่นาของคนในชุมชน การจัดพิธีนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่วต่ออุดมการณ์คนกับป่าให้กับคนในชุมชน ลูกหลาน รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานได้เข้าร่วมเพื่อจะได้เข้าใจวิถีของชาวบ้านมากขึ้น แต่ช่วงสองปีที่ผ่านมาสามารถจัดกิจกรรมได้แค่ระดับชุมชนเป็นการเลี้ยงผีขุนน้ำของแต่ละบ้าน ส่วนระดับอำเภอ/ลุ่มน้ำไม่สามารถจัดได้เนื่องจากเจอกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้รับผลกระทบกันอย่างทั่วถึงทั้งพื้นที่ในเมืองและรอบนอก
“ที่มาที่ไปว่าทำไมต้องเป็นช้างเผือกนั้นเนื่องมาจากในพื้นที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพุทธประวัติว่าช้างเผือกของพระอานนท์นั้นถ้าทรงช้างไปถึงไหนก็จะมีฝนตกลงมาให้พี่น้องชาวบ้านได้ทำการเกษตร ฝนฟ้าจะไม่แล้ง จึงถือเอาประเพณีแห่ช้างเผือกเป็นประเพณีของตำบลและของอำเภอทุ่งหัวช้างสืบเนื่องมาหลายสิบปี ในระดับหมู่บ้านไม่ใช่การแห่ช้างเผือกโดยตรงแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการป่า คือ การเลี้ยงผีขุนน้ำ ขอฝน ขอน้ำจากเจ้าป่าเจ้าเขา นอกจากทำพิธีแล้ว ยังมีกิจกรรมการฟื้นฟูป่าในบริเวณที่เสื่อมโทรมของตำบล เช่น ปีที่ผ่านมาได้ร่วมฟื้กันนฟูป่าบริเวณที่ถูกขุดให้เป็นอ่างเก็บน้ำห้วยป่ากล้วย และ ห้วยป่าตึงงาม ซึ่งแต่ละปีจะมีการเลือกพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูเป็นจุดๆไป”
ในส่วนของการเข้าร่วมกับขบวนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.)นั้น เกิดจากการที่แกนนำชุมชนได้รับการประสานงานจากสำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม(ทสจ.)จังหวัดลำพูนเพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องการพัฒนาเครือข่าย
“ การเป็นสมาชิกอาสาสมัครทสม.เกิดขึ้นหลังการจัดการป่าชุมชนของหมู่บ้าน คือปี 2559 โดยทสจ.ประสานการประชุมเพื่อพัฒนาให้เป็นเครือข่ายทสม.ระดับอำเภอ ภายหลังการเป็นเครือข่าย ทำให้รู้จักน่วยงานเพิ่มมากขึ้น นายอำเภอเริ่มให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งทำให้มีโอกาสในการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนเครือข่ายอื่นๆในจังหวัดและระดับภาค ในเรื่องเป้าหมาย แนวทางการจัดการไฟป่าและทรัพยากรร่วมกัน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนให้เห็นช่องทางการเข้าถึงบประมาณอีกด้วย” ถือเป็นพลังบวกที่จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคตเพื่อให้การจัดการของชุมชนมีประสิทธิภาพและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายสุลักษณ์ ปุ๊ดแค
เครือข่ายลุ่มน้ำลี้ตอนบน บ้านหนองหลัก ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|