• "ทะเบียนบ้าน" ระบบดิจิทัล ใช้งานผ่านแอปฯอำนวยความสะดวกติดต่องานราชการง่ายขึ้น เตรียมใช้จริงสิ้น กพ 65 |
โพสต์โดย คนข่าว , วันที่ 15 ก.พ. 65 เวลา 11:26:48 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เตรียมเริ่มบังคับใช้ช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
ประชาชนจะสามารถใช้งานบริการทะเบียนราษฎรได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน แอป Digital ID ผ่านทั้ง App Store บน iOS และ Play Store บน Android ซึ่งในระยะแรกจะสามารถใช้บริการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลผ่านฐานข้อมูลกลาง การจองคิวบริการงานทะเบียน และการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง
11 กุมภาพันธ์ 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการ "ทะเบียนบ้าน" ด้วยระบบดิจิทัล ปี 2565 เริ่มเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลและแอปพลิเคชันบนมือถือแบบสมาร์ทโฟนสำหรับจัดเก็บข้อมูล และเรียกใช้งาน "ทะเบียนบ้าน" Digital ID ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และลงทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ หรือสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เพื่อยืนยันตัวตนผ่านระบบตรวจสอบลายนิ้วมือและภาพใบหน้า พร้อมรับรหัสผ่านเข้าใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง "ทะเบียนบ้าน" ผ่านมือถือ มี ดังนี้
- กำหนดให้สำนักงานทะเบียนกลาง จัดให้มีการบริการงานทะเบียนด้วยระบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้ว สามารถขอรับบริการผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วยตนเอง
- วิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม และการรับรองรายการทะเบียนที่เกิดจากการบริการด้วยระบบดิจิทัล ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด โดยระยะเริ่มแรก จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางอัตโนมัติ เป็นเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเปิดให้บริการ "ทะเบียนบ้าน" ผ่านมือถือ เกี่ยวกับ
- การตรวจข้อมูลส่วนบุคคลผ่านระบบฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ (Linkage Center)
- การจองคิวรับบริการงานทะเบียนล่วงหน้า
- การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง โดยในลำต่อไป จะขยายบริการงานทะเบียนราษฎรประเภทอื่นๆ (งานทะเบียนราษฎร เช่น การตรวจคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร การแจ้งย้ายเข้า/ย้ายออก/ย้ายปลายทางการแจ้งเกิด การแจ้งตาย เป็นต้น)
- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรให้มีระบบการปฏิบัติงานและการให้บริการการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านการทะเบียนราษฎร และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน แต่เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานและการให้บริการการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ กรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ซึ่งเป็น 1 ใน 12 งานบริการ e-Service สำคัญ ปัจจุบันกรมการปกครองได้จัดทำระบบต้นแบบ คู่มือการใช้งานระบบ DOPA-Digital ID โดยเปิดให้บริการนำร่อง จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และงานจองคิวออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานระบบ จำนวน 4,020 คน ทั้งนี้ มีปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานในเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณที่ไม่ได้รับการสนับสนุน รวมทั้ง ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล และค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... และประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการแจ้งย้ายที่อยู่ การแก้ไขสถานะเจ้าบ้าน และการมอบหมายเพื่อขอเลขประจำบ้านผ่านระบบดิจิทัล
สำหรับ Roadmap การดำเนินงาน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ ดังนี้
- พัฒนาแอพพลิเคชั่น D.DOPA-Digital ID บนมือถือ
- พัฒนาระบบให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ จำนวน 100,000 ราย
- ผลักดันให้การปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลฯ และประกาศสำนักทะเบียนกลางฯ ให้สามารถประกาศใช้
- ให้บริการเพิ่มเติมในงานแจ้งย้ายปลายทางอัตโนมัติ การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสถานะเจ้าบ้าน และการมอบหมายเพื่อขอเลขประจำบ้านผ่านระบบดิจิทัล
- หน่วยงานภายนอกนำระบบ D.DOPA-Digital ID ไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการประชาชน จำนวน 10 หน่วยงาน
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะพัฒนาระบบให้ผู้รับบริการสามารถลงทะเบียนได้เองผ่าน Face Verification Service ระบบที่รองรับผู้ใช้บริการได้ทั่วประเทศ และเพิ่มงานบริการ เช่น การขอเลขที่บ้าน การตรวจ คัด และรับรองเอกสารการทะเบียนราษฎรและภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะพัฒนาเกี่ยวกับ e-Signature e-Certificate e-Payment e-Receipt รวมทั้งเพิ่มงานบริการ เช่น การขอออกใบแทนใบย้าย การแจ้งรื้อถอนบ้านหรือบ้านถูกทำลาย การรับแจ้งเอกสารทะเบียนราษฎรที่สูญหายหรือถูกทำลาย การขอเลขที่บ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมการปกครองจะจัดทำแผน Roadmap และแผนปฏิบัติการ พัฒนางานบริการ เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้ชัดเจนขึ้น โดยจะจัดส่งมายังสำนักงาน ก.พ.ร. ภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป.
ที่มา: กระทรวงมหาดไทย
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1029 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย คนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 15 ก.พ. 65
เวลา 11:26:48
|