กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เมื่อ (16 เมษายน 2567) ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณะสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ว่า ตั้งแต่วันที่ 11 - 15 เมษายน เกิดอุบัติเหตุสะสม 1,564 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บสะสม 14,621 ราย ลดลงจากปี 2566 ร้อย 1.37 ในจำนวนนี้ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,593 ราย ลดลงร้อยละ 8.28 ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 206 ราย ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.37 โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเชียงราย 13 ราย ร้อยเอ็ด 12 ราย นครราชสีมา 10 ราย ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นขับรถเร็ว ร้อยละ 41.18 การดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ร้อยละ 23.66 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 17.52 โดยมักเกิดเหตุในถนนสายรองหรือในหมู่บ้าน ด่านชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลคัดกรองผู้มีอาการมึนเมาสุรา ซึ่งในช่วง 5 วันนี้ สามารถสกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกมาขับขี่บนท้องถนนได้ถึง 9,144 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์/รถจักรยานยนต์มากกว่าร้อยละ 80 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย/ไม่สวมหมวกนิรภัยด้วย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น
“ที่น่าเป็นห่วงคือ พบเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับถึง 324ราย โดยมีอายุน้อยที่สุดเพียง 10 ปี กระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการตรวจตราร้านค้า สถานที่และเวลาห้ามจำหน่าย และการห้ามจำหน่ายให้กับเยาวชนอายุต่ากว่า 20 ปี รวมทั้งมีการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกรายด้วย โดยหากเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีการสืบเอาผิดไปถึงยังร้านค้าที่จำหน่ายให้ด้วย ทั้งนี้ช่วงวันที่ 16 - 17 เมษายน นี้ ประชาชนเริ่มเดินทางกลับมาทำงานตามปกติ การจราจรจึงมีความหนาแน่นมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อ่อนเพลียระหว่างขับรถได้ง่าย และมีโอกาสเกิดอาการหลับในสูง ดังนั้น ก่อนเดินทางจึงควรตรวจเช็คสภาพรถและเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง ระหว่างขับรถหากรู้สึกอ่อนล้าหรือง่วง ขอให้จอดพักผ่อนที่จุดบริการประชาชนแล้วค่อยไปต่อ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด สวมหมวกนิรภัย/คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล
และวันนี้ (17 เม.ย. 67) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุ 242 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 237 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 – 16 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด ซึ่ง ศปถ.ได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก และเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับ รวมถึงสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 242 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 237 คน ผู้เสียชีวิต 32 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.97 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 21.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.90 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.47 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.32 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.23 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 11.16 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.07 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,331 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ แพร่ (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (18 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่นและสุรินทร์ (จังหวัดละ 3 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 – 16 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,811 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,837 คน ผู้เสียชีวิต รวม 243 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (71 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (68 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย)
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางจุดหมายแล้ว แต่ยังมีบางส่วนอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ศปถ. จึงได้กำชับจังหวัดดูแลความปลอดภัยและบริหารจัดการจราจรในเส้นทางสายหลัก เส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลักที่มุ่งสู่กรุงเทพฯ และถนนทางตรงที่มีระยะทางยาว เน้นคุมเข้มการขับรถเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน และการใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงหกวันที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 84.90 เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการใช้ยานพาหนะดังกล่าว ขอให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ขอให้จังหวัด หน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายร่วมสร้างการรับรู้ผ่านการประชาสัมพันธ์เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับการตัดหน้ากระชั้นชิด การใช้อุปกรณ์นิรภัย และวิธีการขับขี่ยานพาหนะที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด
นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า การขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ท่าเทียบเรือ และสถานีรถไฟทุกแห่ง เพื่อให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนมีอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดใช้มาตรการทางสังคมในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการดูแลและป้องปรามจากครอบครัว รวมถึงเตรียมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ผ่านกลไกสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนต่อไป ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|