กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เชิญสื่อมวลชน เจ้าของโรงสี ผู้ส่งออก ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้การจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล ตามโครงการรับจำนำ ที่ บจก.พูนผล เทรดดิ้ง หลัง 4 ต.เฉลียง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ โดยให้ร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นผู้สังเกตการณ์การขึ้นทะเบียนเอาข้าวใส่ถุง ให้ผู้สื่อข่าวส่งตัวแทนขึ้นรถตำรวจไปอีกโรงสีหนึ่งเพื่อหุงรับประทานนั้น
รัฐบาลต้องการให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนจากข้อสงสัยว่าข้าวที่เก็บไว้ 10 ปี ยังกินได้หรือไม่ และวันนี้ได้ข้อพิสูจน์แล้วว่า คุณภาพข้าวในสต๊อกยังดี ซึ่งเป็นเพราะการเก็บรักษาที่ดี และจากนี้ไป รัฐบาลจะเปิดประมูลตามขั้นตอนเอาเงินเข้ารัฐจ่ายคืนเจ้าของโกดังตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ที่คลังกิตติชัย หลัง 2 อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ที่นี่มีข้าวจำนวน 112,711 กระสอบ และที่พูนผลเทรดดิ้ง 32,879 กระสอบ รวมประมาณ 150,000 กระสอบ
“รัฐบาลพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ข้าวในโครงการฯ ที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดียังมีคุณภาพ และจะดำเนินการตามกระบวนการ คืนเงิน ให้แก่เจ้าของโกดัง เพื่อที่จะสะสางแก้ไขปัญหา เร่งขายข้าวเพื่อเป็นประโยชน์แก่รัฐ” นายชัย กล่าว
ด้านนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนราษฎรคนสุรินทร์ สนับสนุนเป็นอย่างยิ่งให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวคุณภาพดี ที่มีการจัดเก็บไว้ที่โกดังข้าวใน จ.สุรินทร์ ทั้ง 2 แห่ง ตั้งแต่รอบการผลิตปี 2556/2557 รวมประมาณ 150,000 กระสอบ และมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ ช่วยคลี่คลายปัญหาให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. เจ้าของคลังสินค้า ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บข้าวแทนรัฐ ถูกแช่แข็งเสียโอกาสมานานจากการนำโกดังไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น และมีค่าใช้จ่ายมาต่อเนื่อง จะได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาและกลับไปขับเคลื่อนธุรกิจต่อ
2. รัฐบาล จะได้รายได้จากการประมูลขาย และสามารถนำส่วนต่างจากการหักค่าใช้จ่ายมาเป็นรายได้เพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนนโยบายอื่นๆของรัฐบาลต่อไป
3. ความคลางแคลงใจในสังคม ที่ตั้งคำถามถึงข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ก็จะได้รับการคลี่คลาย และเกิดความชัดเจน ว่าข้าวที่มีการจัดเก็บไว้นี้ มีคุณภาพจริงหรือไม่ และสามารถจำหน่ายได้ในราคาเท่าไร
นายชนินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนโยบายที่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ระลึกถึงมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐเข้ามาช่วยรักษาระดับราคาตลาด ด้วยการรับมาช่วยเก็บไว้ แล้วจึงปล่อยระบายออกในช่วงนอกฤดู ซึ่งจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้มีราคาสูง เป็นกลไกการตลาดที่รัฐาลในขณะนั้นดำเนินการ เพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ไม่มีสายป่านยาว หรือไม่มีสถานที่จัดเก็บไว้รอช่วงที่ข้าวราคาสูง สามารถนำข้าวมาจำนำกับรัฐและได้เงินในราคารับจำนำที่สูง ไปใช้เพื่อลงทุนต่อหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตในครอบครัวได้ทันที โดยในอดีตนั้น รอบการผลิตปี 2556/2557 มีเกษตรกรใน จ.สุรินทร์ ได้ประโยชน์จากเข้าร่วมโครงการถึง 100,185 ราย มีปริมาณข้าว 536,471 ตัน มีเม็ดเงินจากโครงการหมุนเวียนในเศรษฐกิจของจังหวัดราว 9,000 ล้านบาท ทำให้คนใน จ.สุรินทร์ ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิเป็นจังหวัดต้นๆ สามารถลืมตาอ้าปากได้
“เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการถกเถียงในสังคมว่า ข้าวดีถูกตีเป็นข้าวเน่า แต่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ผ่านไป ข้าวยังกินได้ แน่นอนว่าข้าวจะไม่สมบูรณ์ 100% เหมือนวันแรก แต่วันนี้ข้าวเหล่านี้ยังสามารถสร้างมูลค่า หาเงินเข้าประเทศได้ หากข้าวถูกขายไปในตอนนั้น ราคาก็คงจะดีกว่านี้ สร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่านี้” นายชนินทร์กล่าว
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|