• ป.ป.ส. จับมือ สธ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคี ลงนาม MOU ร่วมพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า |
โพสต์โดย คนข่าว , วันที่ 09 ม.ค. 68 เวลา 19:34:05 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม 2568 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกเพื่อความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินโครงการวิจัยประสิทธิภาพของยาที่ใช้ใน การบำบัดรักษายาบ้า โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการใน 2 ระดับ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ โดยในระดับนโยบายเป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีพลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ สำนักงาน ป.ป.ส. และ นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม โดยมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และแพทย์หญิงธญรช ทิพยวงษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ร่วมเป็นพยาน เป็นการสร้างความร่วมมือและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า (Medication Assisted Treatment) และลดอันตรายจากการเสพยาบ้า ในระดับปฏิบัติเป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โดยมีนางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายแพทย์อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ และ นายแพทย์ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น เป็นผู้ลงนาม ซึ่งจะร่วมกันสนับสนุนทรัพยากร และพื้นที่สำหรับการดำเนินงานวิจัย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าปัญหายาบ้าเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมเป็นอย่างมาก เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล สร้างภาระค่าใช้จ่าย ทั้งงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้เสพ ผู้ติด ผู้กระทำผิด ผู้มีอาการทางจิต และสูญเสียแรงงานคุณภาพในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การบำบัดรักษา ผู้ติดยาบ้า ในปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่ใช้ได้ผล ผมจึงมอบหมายให้ สำนักงาน ป.ป.ส. หารือผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยาบ้า (Medication Assisted Treatment) และลดอันตรายจากการเสพยาบ้า
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยประสิทธิผลของยาโพรพิออน (Bupropion) ยาเมอร์เทซาปีน (Mitazapine) และยาลองแอคติง เมทิลเฟนิเดต (Long-acting methylphenidate) เปรียบเทียบกับการรักษาแบบปกติ ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดยาบ้าเป็นอย่างไร รวมระยะเวลาศึกษาวิจัย 3 ปี ตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2567 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2571 โดยหากใช้ได้ผลดี จะมี การนำมาขึ้นทะเบียนยาเพื่อใช้รักษาผู้ติดยาบ้า และจัดทำเงื่อนไขในการเบิกจ่ายสำหรับผู้ป่วยต่อไป โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหายาบ้าของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาประสิทธิผลของยาที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าในประเทศไทย ถือเป็นการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล รวมถึงลดสูญเสียกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ลดการเกิดปัญหาอาชญากรรม และลดผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้เสพ ผู้ติดยาบ้า ครอบครัว และชุมชน ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มียาชนิดใดที่ให้ผลการรักษาผู้เสพผู้ติดยาบ้าได้ โครงการนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศ และเป็นการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติด ยาบ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 133 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย คนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 09 ม.ค. 68
เวลา 19:34:05
|