• อากาศทั่วเหนือมีหมอกพิษ |
โพสต์โดย ตนข่าว เชียงใหม่ , วันที่ 09 มี.ค. 51 เวลา 14:11:30 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สภาพอากาศทั่วภาคเหนือเริ่มแย่แล้ว พบมีหมอกพิษปกคลุมต่อเนื่อง ล่าสุด ที่เชียงใหม่พบผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น กว่า 2,000 คน ขณะที่ พ่อเมืองฯ ย้ำยังไม่วิกฤติ เตือนอย่าวิตก ยันผลตรวจวัดไม่พบอากาศพิษเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เตรียมพร้อมทำฝนเทียม ขณะที่ทุกจังหวัดวอนชาวบ้านงดการเผาทุกชนิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาวะอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้หากมองด้วยสายตาจะพบว่าคล้ายกับมีหมอกปกคลุมอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะการมองในระยะไกล ๆ จะพบเห็นกลุ่มควันสีขาวปกคลุมได้ชัดเจนซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมือนกับเหตุการณ์หมอกควันพิษปกคลุมเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนและกระทบกับการท่องเที่ยวของเมืองเชียงใหม่เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามสาเหตุการเกิดหมอกควันพิษปกคลุมเมืองสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาเศษวัสดุ ของชาวบ้าน เช่นการเผาขยะ เผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว และเกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่อำเภอรอบนอก จากข้อมูลล่าสุดพบว่าในพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ยังคงครองแชมป์การเกิดไฟป่ามากที่สุด จากการสำรวจล่าสุดยังพบว่าพื้นที่ อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่มยังคงเกิดไฟป่าไหม้อยู่ทุกวัน จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในช่วงกลางคืน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการเผาเศษวัสดุและการเกิดไฟป่าซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อากาศในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ดีที่ผ่านมาได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานช่วยกันแจ้งเตือนห้ามมีการเผาทุกชนิดอีกทั้งให้ แจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันตัวเองและงดการเผาทุกชนิดอีกด้วย จากการประกาศแจ้งเตือนดังกล่าวยังคงได้รับความร่วมมือด้วยดี ซึ่งไม่อยากจะให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคนตื่นตระหนกจนเกินไป เนื่องจากจากการตรวจวัดอากาศยังคงปกติไม่เลวร้าย และยังพบอีกว่าในหลายพื้นที่ยังคงมีอากาศดี แต่จะต้องมีการช่วยกันสอดส่องไม่ให้เกิดปัญหานี้โดยเฉพาะเรื่องของการเผาทุกชนิดจะต้องไม่ให้เกิด ซึ่งยอมรับว่ายังมีการเผากันเป็นจำนวนมากอยู่ จะต้องขอความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนหมอกควันที่ปกคลุมบางส่วนมีการพัดพามากับลมมาจากจังหวัดอื่นประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเข้ามายังเชียงใหม่ก็ไม่สามารถที่จะสลายไปได้ง่าย ๆ เพราะเมืองเชียงใหม่เป็นลักษณะที่เป็นแอ่ง จึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาก้ได้เตรียมการทำฝนเทียมไว้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2551 ได้เกิดฝนตกลงมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่บริเวณอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่บริเวณสวนหลวงล้านนา ร.9 ถนนสายเชียงใหม่ - แม่ริม และตัวเมืองเชียงใหม่ฝนตกลงมาค่อนข้างหนักส่งผลให้อากาศเย็นสบาย ซึ่งคาดว่าจะสามารถผ่อนคลายปัญหาของหมอกควันปกคลุมเมืองไปได้มาก
ด้านนายแพทย์วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนรวมกว่า 2,000 คน ซึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์คุณภาพอากาศที่แย่ลง ทั้งคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์คุณภาพอากาศยังแย่ต่อเนื่องไปอีก น่าจะส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในเชียงใหม่ล่าสุดพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 วัดที่ สถานีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ตรวจวัดได้ 118 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อากาศยังคงปกติ ซึ่งอากาศจะวิกฤติก็ต่อเมื่อตรวจพบปริมาณฝุ่นละอองเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทางด้านศูนย์อุตุนิมวิทยาภาคเหนือ รายงานว่า สภาวะอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคเหนืออุณหภูมิสูงขึ้นกับมีฝนเล็กน้อยบางแห่งไม่มีรายงานแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามภาคเหนือตอนบน ยังคงมีอากาศเย็นถึงค่อนข้างหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้าและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันโดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศา
นายชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าปกคลุมในหลายพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีปริมาณฝนตกน้อย และหลาย ๆ จังหวัดอาจเกิดความแห้งแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทาน ซึ่งอาจทำให้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคไม่เพียงพอ จากลักษณะอากาศดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยและไฟป่าขึ้นได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดปัญหามลพิทางอากาศ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่จะทำการเตรียมพื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิดอัคคีภัย ไฟป่าและการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศในเขตพื้นที่จังหวัดลำพูน จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและประชาชนละเว้นการประกอบกิจกรรมอันมีลักษณะเป็นการจุดไฟเผาป่าทั้งเพื่อการเกษตร หรือการล่าสัตว์ การเผาเศษวัสดุขยะมูลฝอย กิ่งไม้ใบไม้ในบ้านเรือนและสถานที่ราชการ สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องจุดไฟ ควรเพิ่มความระมัดระวังและควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดการลุกลามและขอความร่วมมืองดการเผาป่า เผาหญ้าริมทางหลวงทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันพิษร่วมกัน
ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยสถานีพัฒนาที่ดินแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวให้แก่เกษตรกร แก้ไขปัญหาโลกร้อน และลดหมอกควัน ถือเป็นโครงการนำร่องในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและฟื้นฟูสภาพดินเสื่อมโทรม ให้มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุให้กับดิน โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ร่วม เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการใช้ปุ๋ยพืชสด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของชาติและของจังหวัด ในการป้องกันปัญหาหมอกควัน ภาวะโลกร้อน ที่ผ่านมามักมีการเผาตอซังข้าวจนเกิดควันลอยเคว้งคว้างบนอากาศซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีลักษณะที่เป็นแอ่งกะทะด้วย อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือกับประชาชนงดการเผาทุกชนิดด้วย
ด้านนายสุวิทย์ ขัตติยะวงศ์ ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม ภาค 2 ลำปาง เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ถึงข้อมูลจากการสำรวจคุณภาพอากาศทั่วพื้นที่จังหวัดลำปางทั้ง 13 อำเภอ ว่า วันนี้คุณภาพอากาศโดยทั่วไปของ จ.ลำปาง น่าเป็นห่วง มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงเช้าวัดค่าได้มากถึง 155 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงที่สุดในภาคเหนือ ถือได้ว่าอยู่ในขั้นเลวร้าย สาเหตุหลักเกิดจากมลภาวะเป็นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองถ่านหินลิกไนต์ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวมถึงไฟป่าจากธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์จุดไฟแผ้วถางป่า เผาตอซังข้าว ได้บันทึกถึงจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว เพื่อเร่งกำหนดมาตรการป้องกันโดยด่วน
ที่มา เชียงใหม่นิวส์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 2549 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย ตนข่าว เชียงใหม่
IP: Hide ip
, วันที่ 09 มี.ค. 51
เวลา 14:11:30
|