กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
'พจมาน'ส่อหลุดคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดาฯ แต่'ทักษิณ-พานทองแท้'ไม่รอด ถูกตั้งข้อกล่าวหาพร้อมคนอื่นรวม 37 ราย คณะอนุ กก.ไต่สวนเตรียมสรุปชง คตส.ชุดใหญ่เคาะ ระบุทำให้แบงก์เสียหายกว่า 4.5 พันล้าน เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายกระทง
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 เมษายน ว่า ในสัปดาห์นี้คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทในเครือกฤษดามหานคร ที่มีนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการ คตส. จะนัดประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อสรุปผลการไต่สวนคดีนี้อย่างเป็นทางการ ก่อนเสนอที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า หัวใจสำคัญของคดีนี้อยู่ที่การอนุมัติปล่อยเงินกู้โดยมิชอบ ฝ่าฝืนข้อกฎหมาย และมีผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจะหลุดข้อกล่าวหาในชั้นการไต่สวน เพราะไม่มีหลักฐานที่จะสาวถึง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังคงมีชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ เนื่องจากคณะอนุกรรมการไต่สวนมีหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยเงินกู้ครั้งนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ตรวจสอบพบหลักฐานว่ามีเงินกู้จำนวนเงินหนึ่งถูกโอนเข้าไปในบัญชี รวมถึงนางเกศินี มารดาของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน และนายมานพ ทิวารี บิดา นต.ศิธา ทิวารี ที่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนหนึ่ง ที่มาจากการปล่อยกู้ครั้งนี้ คงจะถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องการฟอกเงินด้วย
ด้านนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการ คตส.กล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่นัดประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ ภายในสัปดาห์นี้ หากไม่ติดขัดปัญหาอะไรก็จะสรุปการไต่สวนคดีเสนอที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป ส่วนจำนวนผู้ถูกกล่าวหา จะลดลงจากในชั้นตรวจสอบหรือไม่ บอกไม่ได้ เพราะต้องขึ้นกับที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ด้วยว่าจะเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการหรือไม่ แต่ยอมรับว่าในส่วนกลุ่มการเมืองอาจจะมีจำนวนลดลง เนื่องจากไต่สวนข้อมูลแล้วพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
รายงานข่าวจาก คตส.แจ้งว่า สำหรับคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในชั้นการตรวจสอบ 6 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มพนักงานธนาคารกรุงไทย ที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุมัติปล่อยสินเชื่อ 7 คน 2.คณะกรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทยที่มีส่วนร่วมพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ 8 คน 3.คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย 4 คน ยกเว้นผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวการหลัก และให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี 4.นิติบุคคลต่างๆ 5 บริษัท 5.ผู้บริหารนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้อง 6 คน และ 6.กลุ่มนักการเมืองที่สั่งการให้มีการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงคนใกล้ชิดที่สนับสนุน 7 คน รวมทั้งหมด 37 คน
ข่าวแจ้งว่า พฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวส่งผลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารกรุงไทยประมาณ 4,500 ล้านบาท ที่ส่อว่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 8 และ 11 2.พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 นว และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152, 157, 352, 353, 354 ประกอบมาตรา 83, 86 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308, 311, 313 และ 315 และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 85 และ 91
ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ คตส. และกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของกรรมการ คตส. และ ป.ป.ช. ในวันที่ 28 เมษายนนี้ ว่า เป็นการหารือร่วมกันว่าหลังจากที่ คตส.หมดอายุงานลงในเดือนมิถุนายน ทั้งสองหน่วยงานจะประสานงานกันอย่างไร ทั้งในส่วนคดีที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องคดีในชั้นศาล คดีที่ส่งอัยการไปแล้ว รวมถึงการรับมอบคดีที่ยังเหลืออยู่หาก คตส.ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมถึงการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และสำนวนการสอบสวนคดีต่างๆ อาจจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เหล่านี้
นายกล้านรงค์กล่าวว่า ที่ประชุม คตส. และ ป.ป.ช. คงไม่มีหารือประเด็นที่พรรคพลังประชาชน (พปช.) กำลังผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะระบุในบทเฉพาะกาลให้ลดอายุการทำงานของ ป.ป.ช. เหลือ 180 วัน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะลดอายุงาน ป.ป.ช. ให้เหลือเพียง 180 วัน คงไม่มีผลกระทบอะไรต่อการทำงานของ ป.ป.ช. เพราะไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ป.ป.ช.ก็จะทำงานตามหน้าที่ บนจุดยืนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
แหล่งข่าวระดับสูงจาก คตส.กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการ ป.ป.ช. และ คตส. อาจจะหยิบยกประเด็นเรื่องความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาหารือด้วย โดยเฉพาะการลดอายุการทำงานของ ป.ป.ช.เพียงแค่ 180 วัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อการตรวจสอบคดีของ คตส.ในอนาคต หากการทำงานของ ป.ป.ช.ถูกแทรกแซงการดำเนินงานได้ ในส่วนของ คตส.คงจะพยายามรีบเร่งสรุปคดีที่รับผิดชอบอยู่ให้แล้วเสร็จก่อนหมดอายุงานในเดือนมิถุนายน แต่ถ้าหากคดีไหนไม่สามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องต่ออัยการได้ ก็จะจัดทำสำนวนให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด เพราะหลังจาก คตส.ส่งมอบคดีไปแล้ว ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องไปกลับสอบใหม่ สามารถเข้ามารับงานต่อได้ทันที
ที่มาจากหนังสือพิมพ์มติชน
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|