ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ด่วน! นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (2 กันยายน) สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รายงานว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลดำเนินการให้เกิดความวุ่นวาย กระทบความสงบเรียบร้อยต่อประชาชนและความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตย จึงต้องแก้ไขปัญหาให้สิ้นสุดโดยเร็ว
พร้อมมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตาม พรก. จนกว่าสถานการณ์จะสงบ โดยการประกาศใช้ พรก. ดังกล่าวทำให้ . . .
- ห้ามมีการชุมนุมตั้งแต่ 5 คนเป็นต้นไป หรือกระทำอันยุยงขัดต่อความสงบ
- ห้ามเผยแพร่ข้อความให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว จนกระทบความมั่นคงของรัฐ และความสงบทั่วราชอาญาจักร
- ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ยานพาหนะ ตามที่กำหนด
- ห้ามใช้อาคารและให้อพยพประชาชนออกจากอาคาร หรือให้ไปอยู่อาคารตามที่กำหนด
ทั้งนี้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่เป็นมีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจัดการสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 , 33 , 34 , 36 , 38 , 41 , 43 , 45 , และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
นายกรัฐมนตรีจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ บัดนี้ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2551
ลงชื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
คำสั่งแต่งตั้งพนักงานจนท.รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 195/2551
เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้วนั้น
อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรค 3 และมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานเฉพาะในเขตที่พื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชกำหนดดังกล่าว และกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ เท่าที่มีความจำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ยุติลง
2. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่การใช้อำนาจสอบสวนต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 2 กันยายน 2551
นายสมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรี
ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พรก.ฉุกเฉิน
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้วนั้น
เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติโดยเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายมากขึ้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1. ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร หรือกระทำการใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
2. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือการทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือพิมพ์สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
3. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไข ในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด
4. ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด
5. ให้อพยพออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด
ในการนี้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตามที่เห็นสมควร เพื่อไม่ให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกินสมควรแก่เหตุก็ได้
ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2551
นายสมัคร สุนทรเวช
นายกรัฐมนตรี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|