เอแบคโพลล์ ระบุ 56.1% ไม่ต้องการรัฐบาลปัจจุบัน 43.9% อยากให้ทำงานต่อ จำแนกภาคอีสาน 53.5% อยากให้บริหารต่อ ส่วนภาคอื่นๆ ค้าน 62.9% ไม่ให้ทหารปฏิวัติ แต่ 37.1% อยากให้ปฏิวัติ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "สาธารณชนคิดอย่างไรต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และรัฐบาลแห่งชาติในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน" กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ
ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช ยโสธร บุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 3,928 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการวันที่ 5 - 9 กันยายน 2551 ผลสำรวจพบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 ระบุเครียดต่อสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ขณะที่ร้อยละ 37.4 ไม่เครียด และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.7 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองต่อการดำเนินชีวิต เช่นการทำมาหากิน การทำธุรกิจ การเดินทาง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 36.3 ไม่ได้รับผลกระทบ
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.1 ต้องการให้มีการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ร้อยละ 38.9 ไม่ต้องการให้ยกเลิก
เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.1 ไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานต่อไป แต่ร้อยละ 43.9 ยังต้องการให้ทำงานต่อไป แต่เมื่อจำแนกออกตามภูมิภาค พบกลุ่มตัวอย่างประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถูกศึกษาเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.5 ยังต้องการให้รัฐบาลทำงานต่อไป ในขณะที่ประชาชนในภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดปัจจุบันทำงานต่อ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.9 ไม่ต้องการให้ทหารออกมายึดอำนาจในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ ในขณะที่ร้อยละ 37.1 ต้องการ
ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจครั้งนี้ พบ ประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.5 กำลังให้ความสนใจแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 43.5 ยังไม่สนใจ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.4 ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 42.6 ไม่ต้องการ และเมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนในทุกภูมิภาคส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ยกเว้น ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่ต้องการ โดยพบว่า ร้อยละ 63.8 ในภาคเหนือ ร้อยละ 64.5 ในภาคกลาง ร้อยละ 85.0 ในภาคใต้ และร้อยละ 55.6 ในกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนทั้งกลุ่มพลังเงียบและกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 และร้อยละ 82.4 ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 ไม่ต้องการ
ดร.นพดล กล่าวว่า หลังจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยคดีของนายสมัคร สุนทรเวช ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว น่าจะพอมองเห็นทางออกของประเทศไทยอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาผลสำรวจที่ค้นพบครั้งล่าสุดนี้จะเห็นได้ว่า สาธารณชนกำลังให้ความสนใจต่อแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และกลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่ก็ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาอาจนำข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ไปพิจารณา เช่น อาจจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตราและสมาชิกรัฐสภาเห็นพ้องต้องกันในการสรรหาคนกลางเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐบาลแห่งชาติ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งใหม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมมากขึ้น
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก