ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และ มติชนออนไลน์
วันนี้ (15 ธันวาคม) รู้ผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของไทยแล้ว โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอชื่อสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินนั้น ล่าสุดผลคะแนนออกมาแล้ว ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้คะแนน 235 ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา มีคะแนน 198 คะแนน ผลดังกล่าวทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย
สำหรับผลการโหวตที่น่าสนใจ คือ พล.ต.อ.ประชา ลงมติสนับสนุนตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจชาติพัฒนา ลงมติสวนมติพรรคสนับสนุน พล.ต.อ.ประชา ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ งดออกเสียง ซึ่งภายหลังการลงมติ พล.ต.อ.ประชา เดินเข้ามาจับมือ นายอภิสิทธิ์ แสดงความยินดีด้วย
สำหรับ ส.ส.ในสังกัดกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
- นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.เขต 2 บุรีรัมย์
- นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก
- นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ส.ส.เขต 3 บุรีรัมย์
- นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.เขต 3 บุรีรัมย์
- นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.เขต 4 บุรีรัมย์
- นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.เขต 3 ขอนแก่น
- นายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.เขต 5 นครราชสีมา
- นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.เขต 6 นครราชสีมา
- นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.เขต 1 นครพนม
- นายวีระ รักความสุข ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 3
- นายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 3
- นายเพิ่มพูน ทองศรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 4
- นางพัฒนา สังขทรัพย์ ส.ส.เขต 1 เลย
- นายเชิดชัย วิเชียรวรรณ ส.ส.เขต 1 อุดรธานี
- นายสุชาติ โชคชัยวัฒนาการ ส.ส.เขต 2 มหาสารคาม
- นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ ส.ส.เขต 1 ขอนแก่น
- นายวิเชียร อุดมศักดิ์ ส.ส.เขต1 อำนาจเจริญ
- ขณะที่ นายชัย ชิดชอบ งดออกเสียง โดยระบุว่า เพื่อความเป็นกลาง
พลิกปูม "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 มหาบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ1 จากอ๊อกฟอร์ด
ครอบครัว
เกิด วันที่ 3 สิงหาคม 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ
เป็นลูกชายคนเดียวและคนสุดท้องในจำนวน 3 คน ของ ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ และ ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ
สมรส ดร. พิมพ์เพ็ญ (ศกุนตาภัย) เวชชาชีวะ อาจารย์ประจำ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บุตร - ธิดา 2 คน คือ ด.ญ.ปราง เวชชาชีวะ ด.ช.ปัณณสิทธิ์ เวชชาชีวะ
การศึกษา
ปริญญาตรีด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประวัติการทำงาน
อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพมหานคร มีนาคม 2535 , กันยายน 2535 , 2538 และ 2539 ,2544,2550
ปี 2535-2537 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2537 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์)
ปี 2538-2539 ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร
ปี 2538-2540 โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
ปี 2540-2544 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ปี 2542 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ปี 2548 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ประวัติย่อของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เมื่อมีอายุไม่ถึงหนึ่งปี ครอบครัวเวชชาชีวะก็เดินทางกลับเมืองไทย เด็กชายอภิสิทธิ์เข้าเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธร และต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
หลังจากนั้นก็เดินทางไป เรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และที่โรงเรียนอีตัน นับเป็นช่วงที่อภิสิทธิ์ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนประจำเป็นเวลาหลายปี
นอกจากหลักสูตรการเรียนที่ท้าทาย กฎระเบียบด้านวินัยที่เข้มงวดแล้ว โรงเรียนที่อังกฤษยังกำหนดให้ นักเรียนทุกคนต้องออกกำลังกายอีกด้วย จึงทำให้อภิสิทธิ์ได้หัดเล่นกีฬาหลายประเภท และที่ถนัดมากที่สุดคือ ฟุตบอล ซึ่งได้กลายเป็นกีฬาที่โปรดปราน ของอภิสิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้
อภิสิทธิ์เป็นผู้ที่ติดตามการแข่งขันฟุตบอล ของสโมสรต่างๆ ในอังกฤษ (เป็นแฟนที่เหนียวแน่น ของสโมสรนิวคาสเซิล) และการแข่งขันระดับโลกสำคัญๆ มาตลอด (เป็นผู้ที่สามารถวิจารณ์ผู้เล่น ครูฝึกสอน และผู้จัดการของทีมฟุตบอลต่างๆ ได้คมชัดอย่างที่ไม่มีใครนึกถึง)
ในช่วงเวลาที่ว่างจากการเรียน และการเล่นกีฬา อภิสิทธิ์ก็ผ่อนคลายด้วยการฟังดนตรีแนวร็อค ตั้งแต่ป๊อปร็อคไปจนถึงเฮฟวี่เมทัล โดยมีวงดนตรีที่โปรดปรานหลายวง เช่น อาร์อีเอ็ม อีเกิ้ลล์ และโอเอซิส
เมื่อจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี อภิสิทธิ์ได้เลือกเรียนในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
ในช่วงที่อยู่ที่อ๊อกซฟอร์ด การใช้ชีวิตของอภิสิทธิ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนอีกครั้ง จากเดิมที่ต้องอยู่ภายในกฎ ระเบียบของโรงเรียนประจำ ได้รับอิสระ เสรีภาพมาก สามารถใช้เวลาว่าง ได้ตามใจมากขึ้น ซึ่งอภิสิทธิ์ก็ได้ใช้เวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย
ในสภานักศึกษา อภิสิทธิ์ใช้เวลาเรียนที่อ็อกซฟอร์ด 3 ปีจนจบ และได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นับเป็นคนไทยคนที่สอง ในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับนี้ และในระหว่างนี้ได้ศึกษาต่อ ในคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย
หลังจากจบปริญญาตรี อภิสิทธิ์ก็เดินทางกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการทหารโดยสอนหนังสือ ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก ก่อนที่จะกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่อ๊อกซฟอร์ด ในสาขาเศรษฐศาสตร์
ในช่วงก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อปริญญาโท อภิสิทธิ์ได้แต่งงานกับ น.ส.พิมพ์เพ็ญ ศกุนตาภัย ปัจจุบันทั้งคู่มีลูกสาวหนึ่งคน และลูกชายหนึ่งคน (ปราง และ ปัณณสิทธิ์)
เมื่อจบปริญญาโท อภิสิทธิ์ได้กลับมาสอนหนังสืออีกครั้ง ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้ามา "ทำงาน" การเมืองตั้งแต่เด็ก การตัดสินใจของอภิสิทธิ์จึงมีแนวทางที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสาขาที่จะเรียน การทำกิจกรรม หรือการพยายามติดตามข่าวสารบ้านเมืองแม้ว่าจะอยู่ต่างประเทศก็ตาม
เส้นทางทางการเมือง ของ อภิสิทธิ์
เส้นทางการเมืองของ อภิสิทธิ์ เริ่มต้นจากการเป็น อาสาสมัครช่วยหาเสียงให้กับ นายพิชัย รัตตกุล ในเขตคลองเตย ช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมาเมืองไทย ต่อมาได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ให้กับ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี นับเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุด
ปัจจุบัน อภิสิทธิ์ ไม่ใช่นักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่ที่อ่อนต่อโลกอีกต่อไป ชั่วโมงบินที่ผ่านมาของเขา ฝึกความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งให้เป็นพลังเสริม จนเขาสามารถขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกิติศัพท์เป็นนักการเมืองมือสะอาด และยังไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยเรื่องคอรัปชั่นในเมืองไทย ซึ่งถือว่าเต็มไปด้วยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามขยายฐานเสียงเดิมจากกรุงเทพและภาคใต้ไปยังภาคอีสาน แต่ไม่สามารถสู้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ ทำให้นั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วแก่พรรคพลังประชาชน
อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นฝ่ายปราชัยขั้วอำนาจเก่า อย่างระบอบ "ทักษิณ" มาตลอด แต่ล่าสุดชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ก็สามารถคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทยได้สำเร็จ
อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่หนุ่มสุดในประวัติศาสตร์ไทยจริงหรือ?
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่า ยังไงเสีย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เวลานี้ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุอานามน้อยที่สุดแล้วสิ เฉลย...ทุกท่านคิดผิดแล้วล่ะ
ย้อนประวัติศาสตร์ไปสมัย "จอมพลแปลก พิบูลสงคราม" หรือที่รู้จักกันในนาม "จอมพล ป." นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย ซึ่งเป็นผู้รั้งเก้าอี้นายกฯ ยาวนานที่สุด ถึง 8 สมัย เลยก็ว่าได้ เพราะรวมกันมากถึง 14 ปี 11 เดือน 18 วัน
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเป็นนายทหารรุ่นน้อง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก มีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะมีอายุแค่เพียง 41 ปี เมื่อ 16 ธันวาคม พ.ศ.2481 ก่อนที่จะสิ้นสุดยุคของจอมพล ป. ด้วยการถูกทำรัฐประหาร ในสมัยที่ 8 ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
แต่ใช่ว่า มาถึงเวลานี้ จอมพล ป. จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไม่ เพราะจากการสืบค้นข้อมูล ก็พบว่า ยังมีอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ เริ่มดำรงตำแหน่งด้วยอายุที่น้อยที่สุด คือ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทยที่ครองตำแหน่งมาได้ถึง 4 สมัย เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2448 และเป็นพี่ชายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้น้อง ที่มีความสามารถในหลายสาขา โดยสื่อมวลชนนิยมเรียก ท่านทั้งคู่ว่า "หม่อมพี่ หม่อมน้อง" ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เส้นทางก่อนเข้าสู่วงการเมือง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก นายควง อภัยวงศ์ เพื่อเจรจากับประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร ภายหลังการประกาศสันติภาพ โดยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ให้การประกาศสงคราม กับฝ่ายสัมพันธมิตร ของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ โดยเดินทางกลับมารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และขณะนั้นเขามีอายุ แค่ 40 ปี เท่านั้น
จากบันทึกประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบว่า นายกรัฐมนตรี ผู้มีอายุน้อยที่สุด คือ "ม.ร.ว.เสนีย์" หาใช่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ไม่ แต่สิ่งที่ทั้ง 2 คนเหมือนกัน คงมาจากเส้นเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเก่าแก่ยาวนานคู่ระบบพรรคการเมืองไทยมากกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|