กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
วง การหนังไทยปี 2551 ดูจะซบเซาพอสมควร ถึงแม้จะมีจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายมากถึง 50 เรื่อง แต่ว่าที่ทำเงินถึงจุดคุ้มทุนจริง ๆ มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น แถมหนังบางเรื่องก็มีอายุในการเข้าฉายสั้นมากซะจนผู้ชมตามดูไม่ทัน หรือบางเรื่องกระแสก็ไม่แรง เนื้อหาไม่โดนใจ กลายเป็นหนังไทยที่ถูกลืมก็มี แต่ก็มีหนังไทยที่คงความโดดเด่นเป็นที่สุดแห่งปีอยู่หลายเรื่องเช่นกัน “บันเทิงเดลินิวส์” นำมารวบรวมเอาไว้สรุปส่งท้ายปีหนูทองกัน
ที่สุดของที่สุดแห่งปี
ต้องยกให้ “องค์บาก 2” ที่มีพระเอก นักบู๊ จา-พนม ยีรัมย์ ยึดหัวหาดเป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับในเวลาเดียว แถมยังพ่วงด้วยตำแหน่งโปรดิวเซอร์อีกด้วย ตำแหน่งแรกของความเป็นที่สุดที่ต้องยกให้คือ “ทุนสร้างสูงที่สุด” เพราะใช้ไปกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งทุนวางไว้ตอนแรกไม่ใช่เท่านี้ แต่เพราะทางสหมงคลฟิล์ม โดย เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ต้องการผลักดันให้หนังมีคุณภาพเทียบเคียงหนังต่างประเทศ หวังบุกตลาดโลก เลยใจปาทุ่มทุนให้ลูกรัก จา-พนม เพิ่มเข้าไปอีก ก็เลยรั้งตำแหน่ง “บานปลายที่สุด” ไปอีกตำแหน่งหนึ่ง และด้วยความที่เป็น “หนังบู๊ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทุกคนรอคอย” ตามที่ยิงโฆษณาออกมา ก็เลยหนีไม่พ้นตำแหน่ง “รอนานที่สุด” เพราะหนังดันเกิดปัญหาระหว่างการถ่ายทำ เพราะผู้กำกับดันเกิดอารมณ์อยากปลีกวิเวก หลบไปนั่งสมาธินานไปหน่อย จนชะงักการถ่ายทำไปหลายเดือน แถมก่อนนี้ยังเป็นบุคคลลึกลับที่ “ติดต่อยากที่สุด” แม้แต่ต้นสังกัดก็ยังติดต่อไม่ได้ ทำอะไรต้องมีทนายความเป็นคนกลางในการติดต่อและเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ มากมาย เลยได้ครองตำแหน่ง “ปัญหาเยอะที่สุด” ไปอีกตำแหน่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ ใช่ว่า “องค์บาก 2” จะมีแต่เรื่อง แย่ ๆ เรื่องดี ๆ น่าพูดถึงก็ยังคงความเป็นที่สุดด้วย กับตำแหน่ง “รายได้สูงที่สุดแห่งปี” ปิดที่รายได้ 117,440,397.80 บาท แซงหน้าหนังไทยทุกเรื่องที่ออกฉายในปีนี้ และยังทำสถิติรายได้เปิดตัวสูงที่สุดของหนังไทย ชนะแชมป์เก่าอย่าง “ต้ม ยำกุ้ง” อย่างขาดลอย สุดท้ายที่ต้องยกให้คือ “บู๊มันส์ที่สุด” เพราะเป็นการรวบรวมศิลปะการต่อสู้ทุกแขนง เอาไว้ที่ตัวคนคน เดียว นั่นคือ จา- พนม เรียกว่ากว่า จะออกมาเป็นหนังเรื่องนี้ก็สมกับฉายา “องค์ลำบาก” เพราะ “ลำบากที่สุด” จริง ๆ
เล็กพริกขี้หนูที่สุด
หนีไม่พ้น หนังแอ็คชั่นต้นปีอย่าง “ช็อคโกแลต” ของผู้กำกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว หนังเรื่องนี้แจ้งเกิดให้ ดารานักบู๊หญิง จีจ้า-ญาณิน วิสมิตะนันทน์ ได้อย่างเต็มตัว และมีความเป็นที่สุดอยู่หลายเรื่อง จีจ้าเป็นนักบู๊หญิงคนแรกที่ใช้เวลาฝึก คิวบู๊นานถึง 4 ปี บ่มเพาะจนได้ที่จนออกมาสร้างความฮือฮาให้วงการหนังไทย จนหลาย ๆ คนต้องยกนิ้วให้ เพราะถึงเธอจะตัวเล็ก แต่ใจไม่เล็กจริง ๆ
ดองนานที่สุด
ตำแหน่งนี้เป็นของใครไปไม่ได้ นอกจาก “รักสยามเท่าฟ้า” ของผู้กำกับ ธนิตย์ จิตนุกูล ที่เริ่มแรกเดิมทีใช้ชื่อหนังว่า “แรกบิน” เปิดกล้อง แถลงข่าวสู่สื่อมวลชนกันมาตั้งแต่ปี 2547 พอเสร็จหนังก็ถูกเลื่อนไปเลื่อนมาหลายครั้ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งตอนเปิดกล้องนางเอกของเรื่อง วิมุตติพร ทองมาก ขณะนั้นเธออยู่แค่ปี 1 คิดดูกว่าหนังจะได้ฉาย นางเอกของเราก็กลายเป็นบัณฑิตไปเรียบร้อยแล้ว
โดนใจวัยรุ่นที่สุด
ยกให้ไปเลยกับหนังรัก 4 เรื่อง หลากคู่หลายวัยอย่าง “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” ของผู้กำกับ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ รวบรวมเอาเด็กสร้างของค่าย “จีทีเอช” มาร่วมแสดง ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของคน 4 วัย จนครองใจวัยรุ่นได้ทั้งเมือง และสร้างปรากฏการณ์เปิดตัววันแรกด้วยรายได้ 10 ล้านบาท ทำลายสถิติหนังจีทีเอช ทุกเรื่อง พร้อมทั้งไปประกาศศักดาคว้ารางวัล “The Juries Special Prize” (รางวัลพิเศษขวัญใจ กรรมการ) ในงานเทศกาล “Asian Marine Film Festival in Makuhari” (AMFFM) จากประเทศญี่ปุ่นมาครองด้วย และที่สำคัญหนังได้สร้าง “ความฮือฮาที่สุด” เพราะมีดารารับเชิญในหนังเป็น โซระ อาโออิ ดาราหนังเอวีชื่อดังของญี่ปุ่น แต่ทางผู้กำกับและผู้สร้างก็ยืนยันว่า ไม่สนใจประวัติของดาราญี่ปุ่นผู้นี้แม้จะมีเสียงวิจารณ์มากมาย เพราะถือเป็นการทำงานและอยากให้โอกาส
เศร้าที่สุด
เรื่องแรกต้องยกให้ “รัก/สาม/เศร้า” ของผู้กำกับ ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่นำเสนอเรื่องราวของเพื่อนรักสามคน ภายใต้คอนเซปต์ “เมื่อคนที่เรารักกลายเป็นคนรักของเพื่อนที่เรารักที่สุด” ได้ เรื่องนี้ ลุคเซอร์ของนางเอกเจ่อมหาเสน่ห์ พีค-ภัทรศยา เครือสุวรรณศิริ ต้องใจใครหลาย ๆ คน พร้อมกับการมาประชันบทบาทกันครั้งแรกของคู่รักนอกจอ เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ และ ก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ ด้วยกระแสปากต่อปากทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้วิ่งไปถึง 60 ล้านบาท และส่งผลให้ 3 ดารานำ เป้-ก้อย-พีค กลายเป็นดาราที่งานชุก โดยเฉพาะอีเวนต์หลายงานเลือกที่จะจ้าง เป้-ก้อย ออกงานคู่กันเป็นว่าเล่น
อีกเรื่องที่เศร้าไม่แพ้ กัน จนต้องมอบตำแหน่ง “เศร้า ที่สุด” ให้มาตีเสมอกัน ก็คือเรื่อง “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” หนังรักลำดับที่สอง ของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เป็นหนังรักที่หลายคนรอคอย เพราะกว่าจะหาพระนางได้ลงตัวนั้นใช้เวลาอยู่นานพอควร แต่สุดท้ายส้มก็มาหล่นที่นักแสดงคู่บุญอย่าง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และ แอม-ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ ซึ่งสาวแอมยอมลงทุนโกนหัวเข้าฉากจริงแบบไม่ห่วงสวย และความลงตัวของวิวสวย ๆ บทดี ๆ และการแสดงที่ล้ำเลิศ ก็สามารถเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี แถมยังสร้างสถิติหนังรักของพงษ์พัฒน์ด้วยการเปิดตัวแรง 4 วัน 30 ล้านบาท เรียกว่าเป็นหนังรักที่ลงตัวของปีนี้อีกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้
สยองที่สุด
สยองจนจะเป็นลมที่สุด คงไม่มีใครเกิน “ลองของ 2” โดยกลุ่มโรนินทีม เป็นหนังภาคต่อที่ยังคงความสยองได้อย่างไม่มีใครเกิน แถมนักแสดงนำของเรื่องอย่าง มะหมี่-นภคปภา นาคประสิทธิ์ ยังแสดงได้ดีสมกับตำแหน่ง “เจ้าแม่หนังสยอง” ทำรายได้ไปไม่น้อย แถมยังไปบุกตลาดโลกเป็นหนังไทยที่ขายดีอีกเรื่อง จนขณะนี้ยังเดินสายขายอยู่ตามเทศกาลต่าง ๆ ไม่หยุดหย่อน เรียกว่าทำกำไรให้กับ “ไฟว์สตาร์” ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
กลัวที่สุด
ปีนี้หนังผีไทยมีหลายเรื่อง ต่างระดับความกลัวกันไป แต่หนังที่รวบรวมความกลัวเอาไว้ได้มากที่สุดก็เห็นจะเป็น “สี่แพร่ง” หนังผี 4 เรื่อง 4 รส ของ 4 ผู้กำกับ ยงยุทธ ทองกองทุน, ปวีณ ภูริจิตปัญญา, ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ บรรจง ปิสัญธนะกุล ซึ่งการนำเสนอของหนังเรื่องนี้เพิ่มระดับความกลัวให้กับคนดูขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เรื่องแรกไปจนถึงเรื่องสุดท้าย โดยเฉพาะกับตอน “Last Fright หรือ เที่ยวบิน 224” นั้นทำเอาหลายคนผวากันไม่น้อย แถมนางเอก พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ก็เล่นกลัวจนสติแตกได้สมจริงเอามาก ๆ และจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ส่งผลให้ ปี 2552 นี้ “จีทีเอช” ผุดโปรเจคท์ “ห้าแพร่ง” ขึ้นมาอีกด้วย
น่ารักใสสะอาดที่สุด
หลายคนโหวตให้กับ “ดรีมทีม” หนังเด็กอนุบาลที่ฝีมือไม่อนุบาลของผู้กำกับ เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล ความโกลาหลอาจจะเกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำมากมาย เพราะมีนักแสดงหลักเป็นเด็กอนุบาล 3 ถึง 10 คน นี่ยังไม่นับนักแสดงประกอบอีกนับพันในฉากการแข่งขัน “ชักเย่อ” ซึ่งถือเป็นฉากไฮไลต์สำคัญของเรื่อง หนังเรื่องนี้สามารถเป็นหนังที่ดูได้ทั้งครอบครัว ความใสซื่อของเหล่า นักแสดงเด็ก ๆ นั้นสร้างความน่าเอ็นดูให้กับผู้พบเห็น บทไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมาย หนังก็กลมกล่อมด้วยความเป็นธรรมชาติของพวกเขาเอง และที่บอกว่าเป็นหนังสะอาดก็เพราะเป็นหนังที่ปลอดคำหยาบ ดูแล้ว “สบายตา สบายใจ” แถม “ดรีมทีม” ยังได้รับเลือกจาก “การบินไทย” ให้เป็นภาพยนตร์ที่ถูกฉายบนเครื่องบินด้วย
ธรรมะธัมโมที่สุด
ถ้าให้เลือกเอาธรรมะที่ดูดีมีสาระไม่เน้นฮา ก็คงต้องยกให้ “อรหันต์ซัมเมอร์” ที่บอกเล่าเรื่องราวการบวชเรียนภาคฤดูร้อนของเหล่าสามเณรตัวจิ๋ว ได้ธรรมะมาสอนใจอยู่หลายข้อ หลายคนยังคงติดใจติดตากับคาแรกเตอร์ที่สุขุมของ “หลวงพี่ใบบุญ” ได้ไม่ลืม
แย่งกันที่สุด
ที่ต้องเรียกว่า “แย่งกันที่สุด” ก็เพราะ มีการแย่งตัว เท่ง เถิดเทิง ให้กลับมาร่วมแสดง ใน “หลวงพี่เท่ง ภาค 2 รุ่นฮาร่ำรวย” เกิดเป็นปมในใจระหว่าง โน้ต เชิญยิ้ม กับ เสี่ยตา-ปัญญา นิรันดร์กุล ต้นสังกัดของเท่ง ที่ไม่ยอมปล่อยคิวมาให้ร่วมแสดง ถึงแม้จะไม่ขัดแย้งกันออกหน้า แต่ ก็เรียกว่า “หลวงพี่เท่ง” เป็นหนังแห่งศักดิ์ศรีที่ โน้ต เชิญยิ้ม ต้องทำให้ได้ จนสรุปสุดท้าย “แย่ง” ได้ไม่สำเร็จ แต่หนังต้องเดินหน้า โน้ต จึงตัดสินใจเรียกใช้บริการ โจอี้ บอย ให้มาสวมบทเป็น “หลวงพี่โจอี้” ผู้ศรัทธาใน “หลวงพี่เท่ง” จนทำรายได้สวนกระแสในยามที่หนังไทยซบเซา
สร้างมิตรภาพที่สุด
เห็นจะเป็นหนังเชื่อมรักสองฝั่งโขงอย่าง “สะบายดี หลวงพะบาง” หนังร่วมทุนสร้าง ไทย-ลาว โดยมีพระเอกลูกครึ่งลาว-ออสเตรเลีย แต่ “หัวใจไทย” อย่าง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ประกบคู่กับ นางเอกสัญชาติลาว อย่าง คำลี่ พิลาวง หนังเรื่องนี้เป็นหนังในรอบ 40 ปีของการสร้างภาพยนตร์ในลาวเลย เป็นการผนึกกำลังกันระหว่างสองผู้กำกับ คือ ศักดิ์ชาย ดีนาน จากฝั่งไทย และ อนุสอน สิริสักดา จากฝั่งลาว จนได้ออกมาเป็นหนังรักที่กลมกล่อมอย่างที่เห็น
ประทับใจที่สุด
“หนึ่งใจ...เดียวกัน” ภาพยนตร์ในทูลกระ หม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สร้างจากบทพระนิพนธ์ “เรื่องสั้นที่ฉันคิด” นอกจากเนื้อหาและบทภาพยนตร์จัดเป็นหนังน้ำดีแล้ว ภาพและภาษาในหนังนั้นสวยงามไม่น้อย แถมยังให้ข้อคิดที่ดีอีกด้วย และประชาชนชาวไทยยังได้เห็นพระปรีชาสามารถในการแสดงของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่พระองค์ทรงทุ่มเทและฝึกซ้อมการแสดงอย่างหนัก
ยาวที่สุด
ไม่ใช่ความยาวในภาพยนตร์ที่ยาวที่สุด แต่อย่างใด แต่เป็นภาพยนตร์ภาคต่อ ที่มีการสร้างกันออกมาได้ยาวและต่อเนื่องที่สุด สำหรับ “บุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู” ฝีมือ กำกับของผู้กำกับรุ่นเก๋า บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ซึ่งภาคนี้ทำออกมาเป็นภาคที่ 9 แล้ว และมีแผนจะทำต่อเนื่องไปภาคที่ 10 อีก โดยภาคแรกของบุญชูนั้นออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2531 และทำต่อเนื่องมาจนถึงภาค 8 เมื่อปี 2538 จบด้วยการแต่งงานของ บุญชู กับ โมลี พอให้หลังไป 13 ปี “บุญชูและผองเพื่อน” ก็กลับมาอีกครั้งใน “บุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู” ที่คราวนี้เป็นเรื่องราวของรุ่นลูกคือ “บุญโชค” ซะส่วนใหญ่
อลังการที่สุด
ต้องหนัง “ปืนใหญ่จอมสลัด” ของ ผู้กำกับ นนทรีย์ นิมิบุตร ที่ใช้ทุนไปกว่า 200 ล้าน กับระยะเวลาการสร้างเกือบ 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการใช้นักแสดงดัง ๆ ระดับแถวหน้าของเมืองไทยมารวมกันเยอะที่สุด ฉาก เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฉากบู๊ ฉากรบ ล้วนแล้วแต่อลังการทั้งสิ้น แถมหนังยังได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างชาติ ให้เข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์สำคัญทั่วโลก ถือเป็นผลงานที่สุดแห่งงานกำกับใน 1 ทศวรรษ ของนนทรีย์ แต่น่าเสียดายที่รายได้ในไทยนั้นกลับไม่เข้าเป้าตามที่คาดการณ์ไว้ ผู้สร้างหนังเลยต้องหวังพึ่งพาตลาดต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
ถึง แม้หนังไทยปีนี้จะเงียบเหงา ไม่ฟู่ฟ่า เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ บวกกับสถานการณ์แผ่นผีที่ระบาดหนัก แต่ผู้สร้างก็ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์หนังคุณภาพกันต่อไป ด้วยหัวใจ “คนรักหนังไทย” ปีหน้าฟ้าใหม่คงต้องมาลุ้นกันอีกที ว่าหนังเรื่องใดจะเด่นจะโดน ต้องตาต้องใจผู้ชมกันบ้าง ที่แน่ ๆ หนังไทยยังคงเดินไกลในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน.
รายชื่อภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2551
เรียงตามวันฉาย/ชื่อหนัง/วันฉาย/ค่ายหนัง/รายได้ (หากไม่มีเลข คือนับรายได้ ไม่ได้)
1. หม่ำเดียว หัวเหลี่ยมหัวแหลม 10 ม.ค. เวิร์คพอยท์-สหมงคลฟิล์ม 33.7 ล้าน
2. สวย สิงห์ กระทิง แซ่บ 24 ม.ค. พระนครฟิลม์ 5.5 ล้าน
3. รักสยามเท่าฟ้า 31 ม.ค. อาวอง 5 ล้าน
4. สียามา 31 ม.ค. โมโน ฟิล์ม 4.6 ล้าน
5. ช็อคโกแลต 6 ก.พ. สหมงคลฟิล์ม 78.5 ล้าน
6. คริตกะจ๋า บ้าสุดสุด 14 ก.พ. เอ็นจีอาร์ 20 ล้าน
7. สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ 14 ก.พ. หนังสนุก 24 ล้าน
8. กอด 21 ก.พ. จีทีเอช 10 ล้าน
9. ผีตาหวานกับอาจารย์ตาโบ๋ 28 ก.พ. พระนครฟิลม์ 17 ล้าน
10. ถอดรหัส...วิญญาณ 28 ก.พ. อลังการสตูดิโอ 11 ล้าน
11. แปดวันแปลกคน 28 ก.พ. เอเอ็นเอ ฟิล์ม 3.5 แสน
12. สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา 6 มี.ค. สหมงคลฟิล์ม 3.4 ล้าน
13. ปิดเทอมใหญ่ ...หัวใจว้าวุ่น 20 มี.ค. จีทีเอช 80 ล้าน
14. บ้านผีเปิบ 27 มี.ค. สหมงคลฟิล์ม 14 ล้าน
15. ลองของ 2 3 เม.ย. ไฟว์สตาร์ 70 ล้าน
16. ดรีมทีม 3 เม.ย. อาวอง 35 ล้าน
17. นาค 3 เม.ย. สหมงคลฟิล์ม 10 ล้าน
18 คู่ก๊วนป่วนเมษา 10 เม.ย. พระนครฟิลม์ 6 ล้าน
19 เพื่อนกันเฉพาะวันพระ 10 เม.ย. โมโนฟิล์ม 2.1 ล้าน
20. อรหันต์ซัมเมอร์ 10 เม.ย. เอจี 37 ล้าน
21. แสงศตวรรษ 10 เม.ย. อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
22. สี่แพร่ง 24 เม.ย. จีทีเอช 70 ล้าน
23. เทวดาท่าจะเท่ง 1 พ.ค. สหมงคลฟิล์ม 32.5 ล้าน
24. Wonderful Town 15 พ.ค. เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น
25. เมมโมรี่...รักหลอน 15 พ.ค. เอจี 30 ล้าน
26. ส้มตำ 5 มิ.ย. สหมงคลฟิล์ม 8.9 ล้าน
27. สะบายดี หลวงพะบาง 5 มิ.ย. สปาต้า/ลาวอาร์ต 11 ล้าน
28. รัก/สาม/เศร้า 19 มิ.ย. จีทีเอช 60 ล้าน
29. ฮะเก๋า 19 มิ.ย. ฟิล์ม เอเชีย 13 ล้าน
30. เฟรนด์ชิพ เธอกับฉัน 3 ก.ค. ไรท์ บิยอนด์ 15.6 ล้าน
31. ว้อ...หมาบ้ามหาสนุก 17 ก.ค. สหมงคลฟิล์ม 27 ล้าน
32. หนึ่งใจ...เดียวกัน 7 ส.ค. โอเรียนทัล อายส์ 50 ล้าน
33. หนุมานคลุกฝุ่น 12 ส.ค. พระนครฟิลม์ 10 ล้าน
34. อาข่าผู้น่ารัก 21 ส.ค. สหมงคลฟิล์ม 5.4 แสน
35. โลงต่อตาย 21 ส.ค. เอ็นจีอาร์ 31 ล้าน
36. บุญชู ไอ - เลิฟ - สระ - อู 28 ส.ค. ไฟว์สตาร์ 50 ล้าน
37. เทวดาตกมันส์ 4 ก.ย. อาวอง 22 ล้าน
38. คนไฟลุก 11 ก.ย. สหมงคลฟิล์ม 4.4 ล้าน
39. บ้านผีปอบ 2008 18 ก.ย. โกลเด้น เอ 10 ล้าน
40. หลวงพี่เท่ง 2 รุ่นฮาร่ำรวย 2 ต.ค. พระนครฟิลม์ 85 ล้าน
41. อีติ๋มตายแน่ 9 ต.ค. สหมงคลฟิล์ม 29 ล้าน
42. ปืนใหญ่จอมสลัด 23 ต.ค. สหมงคลฟิล์ม 74.8 ล้าน
43. โปรแกรมหน้า...วิญญาณอาฆาต 30 ต.ค. จีทีเอช 50 ล้าน
44. ห้าแถว 20 พ.ย. 5-4-3-2-1 แอ็คชั่น 6 ล้าน
45. หัวหลุดแฟมิลี่ 20 พ.ย. พระนครฟิลม์ 5.4 ล้าน
46. องค์บาก 2 5 ธ.ค. สหมงคลฟิล์ม 117 ล้าน
47. แฮปปี้เบิร์ธเดย์* 18 ธ.ค. โมโน ฟิล์ม 30 ล้าน
48. ฝัน-หวาน-อาย-จูบ* 25 ธ.ค. สหมงคลฟิล์ม
49. Super แหบ-แสบ-สะบัด* 25 ธ.ค. อาวอง
50. ปาฏิหาริย์รักต่างพันธุ์* 31 ธ.ค. พระนครฟิลม์
*หมายเหตุ ยังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์/รายได้ทั้งหมดเป็นรายได้โดยประมาณ
มยุรี อำนวยพร รายงาน
ที่มาจากหนังสือพิมพ์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|