สำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ รายงานเมื่อ 12 ก.พ. ถึงเหตุการณ์ดาวเทียมสื่อสารของรัสเซีย ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 1 ตัน และถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ปี 2536 หลุดออกนอกวงโคจร ไปปะทะกับดาวเทียมสื่อสาร “อิริเดียม” น้ำหนักกว่า 560 กก. ของบริษัทอิริเดียม โฮลดิงส์ แอลแอลซี. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของสหรัฐฯกลางห้วงอวกาศ บริเวณเหนือเขตแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย ประมาณ 804 กม. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. โดยสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่าได้ข้อมูลเหตุการณ์มาจากองค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา และเหตุการณ์ดาวเทียมชนกันครั้งนี้ เป็นอุบัติเหตุทางจราจรอวกาศที่รุนแรงครั้งแรกของโลก อาจต้องใช้เวลาในการประเมินค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ แต่คาดว่าไม่เป็นอันตรายต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส)
ภายหลังเกิดเหตุโฆษกของบริษัทอิริเดียมยืนยันว่า อุบัติเหตุดังกล่าวมิได้เกิดจากความผิดพลาดของดาวเทียมอิริเดียม แต่อาจทำให้การส่งสัญญาณไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบผ่านดาวเทียมกว่า 3 แสนคน ในสหรัฐฯล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และดาวเทียมสื่อสารทั้งหมด ที่ยังปฏิบัติการอยู่ในอวกาศขณะนี้มีจำนวนถึง 65 ดวง พร้อมยืนยันว่าจะแก้ไขปัญหาขัดข้องให้เสร็จสิ้นภายใน 13 ก.พ. และมีกำหนดปล่อยดาวเทียมสื่อสารสำรอง ขึ้นสู่อวกาศภายในเวลา 30 วัน นับจากวันเกิดเหตุ
นายนิโคลัส จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศ ของมหาวิทยาลัยฮุสตันในสหรัฐฯ ระบุชิ้นส่วนของดาวเทียมทั้ง 2 ดวง อาจกระจายทั่วอวกาศมากกว่าร้อยชิ้น และอาจมีผลให้การทำงานของกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิลของสหรัฐฯมีปัญหาชั่วคราว เพราะไม่อาจส่งสัญญาณภาพไปยังศูนย์ปฏิบัติการภาคพื้นดินได้ แต่คาดว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อการทำงานของดาวเทียมอื่นๆ รวมถึงกระสวยอวกาศ “ดิสคัฟเวอรี่” ซึ่งมีกำหนดปล่อยออกสู่อวกาศในวันที่ 22 ก.พ.
ขณะเดียวกัน รายงานการสำรวจอวกาศครั้งล่าสุดช่วงต้นปี 2552 ขององค์การนาซาระบุว่า ขยะอวกาศ ล่องลอยอยู่เหนือโลกมีจำนวนมากกว่า 17,000 ชิ้น มีขนาดประมาณ 10 ซม.โดยเฉลี่ย ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนที่หลุดจากดาวเทียม กระสวยอวกาศ รวมถึงสะเก็ดวัตถุที่เกิดจากการยิงจรวดขีปนาวุธ และมีแนวโน้มว่าขยะดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ด้านการจราจรทางอวกาศในอนาคต ทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อโลกเมื่อขยะอวกาศตกสู่ภาคพื้นดิน
ก่อนหน้านี้เคยมีอุบัติเหตุชิ้นส่วนดาวเทียมและกระสวยอวกาศปะทะกัน 4 ครั้ง แต่ไม่รุนแรง ขณะที่ดาวเทียมอิริเดียมและดาวเทียมสื่อสารของรัสเซียปะทะกันขณะที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ทั้งคู่ จึงมีการประสานงาน ไปยังเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอวกาศนานาชาติให้ช่วยตรวจสอบสาเหตุในกรณีดังกล่าวด้วย
|