กรุงเทพโพล เผยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่เชื่ออาเซียนบรรลุเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แต่ยังเทียบกับสหภาพยุโรปไม่ได้
เมื่อ วันที่ 26 ต.ค.ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จาก 17 องค์กรชั้นนำของไทย เรื่อง “โอกาสและความพร้อมของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 75.0 เชื่อว่ากองทุนริเริ่มเชียงใหม่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 69.7 เชื่อว่าอาเซียนจะบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้ อันจะส่งผลให้สินค้าของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น พร้อมแนะให้รัฐบาลเตรียมใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายสินค้าและ การเคลื่อนย้ายการลงทุนที่จะเกิดขึ้นให้คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ยังติงการเปิดเสรีสินค้าของไทยในปีหน้า (เฉพาะอาเซียน-6) ที่ไทยยังมีความพร้อมไม่เต็มที่โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการขนส่งของไทยที่อยู่ ในระดับสูงและยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีที่จะ เกิดขึ้นกับภาคส่วนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าอาเซียนจะบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียนได้แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะก้าวไปสู่จุดที่เหมือนกับสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และที่สำคัญคือ การขาดความจริงใจต่อกันในอันที่จะพัฒนาอาเซียนเพื่อนำความกินดีอยู่ดีมาสู่ ประชาชนอาเซียน
สำหรับความเห็นต่อประเด็นการ บรรลุเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พิจารณาในแง่ “การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม” โดย ร้อยละ 16.1 เห็นว่าจะบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ภายในปี 2558 ร้อยละ 69.7 เห็นว่า บรรลุ แต่ล่าช้ากว่าปี 2558
ส่วนความเห็นต่อประเด็น การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขันของสินค้าไทย (ในภาพรวม) ร้อยละ 66.1 เห็นว่า จะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.2 เห็นว่า จะไม่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลง ร้อยละ 7.1 เห็นว่า จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลงกว่าเดิม
ส่วนความ เห็นต่อประเด็น ประชาคมอาเซียนจะสามารถก้าวไปถึงจุดที่เหมือนกับสหภาพยุโรป หรือ EU ได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 14.3 เชื่อว่า ได้ ร้อยละ 69.6 เชื่อว่า ไม่ได้ เนื่องจาก ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก และความคิดเห็นต่อประเด็น ความพร้อมของประเทศไทยในการเปิดเสรีสินค้าของไทยในปี 2553 (เฉพาะอาเซียน-6) ร้อยละ 17.9เห็นว่า มีความพร้อมมาก ร้อยละ 46.4 เห็นว่า มีความพร้อมปานกลาง โดยต้องปรับปรุงเรื่อง ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ยังคงบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
ส่วนข้อ เสนอ ต่อรัฐบาลในประเด็นเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 3 อันดับแรก ได้แก่อันดับที่ 1 เสนอให้ รัฐบาลควรมีการศึกษาความได้เปรียบและความเสียเปรียบให้รอบคอบครบถ้วน ศึกษาความพร้อมของภาคธุรกิจ รวมทั้งหามาตรการรองรับเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้อง อันดับที่ 2 เสนอให้ รัฐบาลมีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเปิดเสรีการค้าใน ภูมิภาคอาเซียนได้รับทราบและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อการเตรียมความพร้อมและรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อันดับที่ 3 เสนอให้ อาเซียนมีความสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้นเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมที่เข้ม แข็ง และประเทศในภูมิภาคอาเซียนควรหันมาค้าขายระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งการค้าขายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา ไทยรัฐ