สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้(23ส.ค.)ว่า รัฐบาลกัมพูชาได้เปิดเผยว่า พ.ต.ท.
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกัมพูชาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะปัญหาการติดขัดส่วนตัว ที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
แถลงการณ์บอกด้วยว่ากัมพูชายอมรับในความต้องการของพ.ต.ท.ทักษิณ และขอขอบคุณต่อสิ่งที่เขาทำให้กับเศรษฐกิจของกัมพูชา
ด้านนายเขียว กัณหฤทธิ์ โฆษกรัฐบาลกัมพูชา เปิดเผยว่า การลาออกครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับกรณีพิพาทตามแนวพรมแดน และที่พ.ต.ท.ทักษิณลาออกเพราะมีธุระยุ่งกับงานอื่น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการรอมชอม
กัมพูชาประกาศแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และของนายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ท่ามกลางปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจากกรณีพิพาทตามแนวพรมแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร จนมีการเรียกทูตของแต่ละฝ่ายกลับประเทศจากการแต่งตั้งทักษิณครั้งนี้
"อภิสิทธิ์"เล็งฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตกลับคืนมา
เมื่อเวลา 17.10 น. ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีคนไทยถูกจับกุมอยู่ที่กัมพูชาว่า “ผมเรียนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ เรื่องมีการข้ามไปข้ามมาแล้วก็มีการจับกุมบ้างมีการยิงผมก็เรียนตรงๆ ซึ่งในทุกกรณียังอยู่ในวิสัยที่ทางพื้นที่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ แต่ยังได้เป็นปัญหาขึ้นมาถึงระดับที่เป็นปัญหากระทบกระเทือนในระดับชาติ ซึ่งตนคิดว่าในพื้นที่ดูแลได้ ถ้าเขาดูแลไม่ได้เขาก็จะรายงานขึ้นมา นั่นก็เป็นเรื่งที่เราจะไปดำเนินการอีกที
“แต่เข้าใจว่าวันนี้จะมีสัญญาณในทางที่ดีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา”นายกฯ กล่าวขึ้นมาเองโดยไม่ที่มีผู้สื่อข่าวถาม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสัญญาณนั้นคืออะไร นายอภิสิทธิ์ ยิ้มแล้วหันไปถามนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า “ตกลงเขาประกาศหรือยัง” ซึ่งนายปณิธาน กล่าวว่ายัง และนายกฯกล่าวต่อว่า “กำลังรอการยืนยันอยู่ครับ”
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับการส่งทูตกลับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ครับ ก็คงจะเป็นทั้งสองฝ่ายครับ แต่ว่าจะเริ่มจากการที่กัมพูชาเขาประกาศเรื่องภายในของเขาก่อน” เมื่อถามว่าหมายถึงการประกาศยกเลิกให้พ.ต.ท.
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จฯฮุน เซนใช่หรือไม่ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า “ทำนองนั้นครับ กำลังรอยืนยันอยู่ เข้าใจว่าเขาประกาศอยู่ เรากำลังตรวจสอบ และถ้าเขายกเลิกเราก็ยินดีครับที่จะมีการแลกเปลี่ยนทูตกลับเหมือนเดิม”
เมื่อถามว่าถ้าเป็นจริงจะเดินยังไงต่อไปนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เอาทีละขั้นสิครับ เอาเรื่องของการที่เรามีทูตกลับไปก่อน” จากนั้นผู้สื่อข่าวต่างแย่งกันยิงคำถามต่างๆนานาจนนายอภิสิทธิ์ตัดบทว่า ให้ใจเย็นๆ
“ผมคิดว่าถ้าความสัมพันธ์กลับไปในระดับที่มีทูตอยู่ทั้งสองประเทศ การแก้ปัญหาต่างๆก็จะง่ายขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าวและและเดินจากวงแถลงข่าวทันที
"กษิต"เตรียมส่งทูตไทยกลับกัมพูชา24ส.ค.
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้สั่งการให้นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาเดินทางกลับไปปฏิบัติหน้าที่ที่ประเทศกัมพูชาในวันที่ 24 สิงหาคม หลังจากที่ในวันนี้(23ส.ค.) ทางกัมพูชาได้มีถ้อยแถลงออกมาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาไปแล้ว ทำให้เงื่อนไขของการเรียกเอกอัครราชทูตไทยกลับประเทศหมดไปโดยปริยาย ขณะที่กัมพูชาก็จะส่งเอกอัครราชทูตกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในไทยเช่นกัน
"ผมรู้สึกยินดีและขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาที่จะร่วมมือกันสร้างความสัมพันธ์ให้คืบหน้าต่อไป"นายกษิตกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกัมพูชาได้มีหนังสือแจ้งไปยังสถานทูตไทยที่กรุงเพนมเปญโดยเจ้าหน้าที่ไทยจึงได้โทรศัพท์มานายกฯ เพื่อแจ้งว่า มีการถอดพ.ต.ท.ทักษิณออกจากตำแหน่งแล้ว
เขมรอัดไทยอีกเตะถ่วงเจรจาประจำ
หนังสือพิมพ์ พนมเปญ โพสต์ รายงานเมื่อวันจันทร์(23 สค) อ้างนายกอย เกือง โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ที่กล่าวย้ำอีกครั้งว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ร้องขอเจรจากับนายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชาเพื่อหาทางคลี่คลายกรณีพิพาทดินแดน ระหว่างที่ทั้งสองเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป(อาเซม) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 4-5 ตุลาคมนี้ การเจรจาก็จะเดินหน้า แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่าการเจรจาจะมีขึ้น
นายกอย เกือง กล่าวด้วยว่า กัมพูชายังคงสงสัยว่าเหตุใดไทยจึงกลัวการเจรจาประเด็นนี้ในระดับพหุภาคี และทั้งที่ไทยยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าต้องการการเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชาเท่านั้น แต่สุดท้าย ไทยมักหาทางถ่วงการเจรจาออกไปเสมอ
ตอนหนึ่งในรายงานพิเศษเกี่ยวกับปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาของนิตยสารอิระวดี ได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายกอย เกือง ว่ากัมพูชาจะยังคงหารือเรื่องปัญหาชายแดนกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่จะมาเยือนกัมพูชาในเดือนตุลาคมนี้ต่อไป กัมพูชาได้อดทนอดกลั้นมาพอสมควร และไม่ได้เลิกล้มผลการเจรจาทวิภาคี แต่ไทยมักถ่วงเวลาด้วยการผลักดันให้มีการเจรจารอบต่อๆไป กัมพูชาไม่สามารถรอนานไปกว่านี้ และไทยก็ไม่ควรหวาดกลัวการใช้กลไกพหุภาคี หากคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก
รายงานยังได้อ้างความเห็นของแหล่งข่าวทางการทูตใกล้ชิดกับคณะกรรมการมรดกโลกที่บราซิลว่า การเลื่อนลงมติแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบประสาทเขาพระวิหารออกไปเป็นปีหน้า อาจหมายความว่าประเด็นนี้จะยืดเยื้อคาราคาซังอีกนานหลายปี เช่นเดียวกับกรณีของเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์กรณีพิพาทดินแดนในระดับนานาชาติ และกัมพูชาอาจจะต้องทำแผนบริหารจัดการใหม่สำหรับการประชุมครั้งหน้าที่ประเทศบาห์เรน
ปัญหาชายแดนไม่กระทบการค้าสองฝ่าย
อีกด้านหนึ่ง สถิติจากสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ชี้ว่าการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 76 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และถือว่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่เกือบจะแซงมูลค่าการค้าของทั้งปี 2552 ที่อยู่ในระดับ 1.66 พันล้านดอลลาร์แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าความตึงเครียดชายแดน มิได้เป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจ
นายจัน นรา ปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า ผลผลิตทางการเกษตร โดยมากคือผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยกัมพูชาส่งออกข้าวโพดมาไทยเป็นจำนวนมากในปีนี้ ส่วนกัมพูชา ก็นำเข้าปุ๋ยจากไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สินค้าแปรรูป สินค้าบริโภค วัสดุก่อสร้าง ผลไม้ ผักและเครื่องสำอางค์ ส่วนกัมพูชา ส่งออกสินค้าเกษตร เสื้อผ้ามือสอง โลหะที่สามารถรีไซเคิลได้ และปลา
ข่าวจาก คมชัดลึก