• อ้างลิขสิทธิเพลงรีดเงินร้านค้า**เชียงใหม่ |
โพสต์โดย กรรมกรข่าว , วันที่ 19 ส.ค. 54 เวลา 21:27:28 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ลิขสิทธิ์พ่นพิษ ร้านเหล้าก๊งยังไม่เว้น ซื้อเอ็มพี 3 จากเซเว่นส์ฯ มาเปิดในร้านคลายเหงา โดนรีดร่วม 3 หมื่น ต่อรองเหลือหมื่นสอง พร้อมบันทึกยินยอม จัดเสร็จหน้าโรงพักปัดไม่ต้องพบร้อยเวรให้เป็นคดี ด้านผู้รับมอบตัวจริงโผล่แจง บริษัทไม่มีนโยบายจับกุม ใช้เจราจาธุรกิจดำเนินการให้ถูกต้องเป็นหลัก พร้อมแสดงหลักฐานการแต่งตั้งจากบริษัท ดูแลปราบปรามการละเมิดตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ชี้พวกอ้างไปเป็นแก๊ง 6-7 คน เดินสายขายสติ๊กเกอร์ อวดว่าเคลียร์ได้หมดทุกค่าย ล้วนไม่เป็นความจริง เชื่อยังมีอีกมากที่จะโดน
นางศรีฟอง ขัดทอง อายุ 51 ปี เปิดร้านจำหน่ายเครื่องดื่มเล็กๆ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ร้านเหล้าก๊ง อยู่เลขที่ 104 หมู่ 2 ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชี้แจงกรณีการถูกจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ ว่า เหตุเกิดในวันที่ 14 ส.ค. 2554 ที่ผ่านมา มีผู้ชายมานั่งดื่มในร้าน 2 คน ซึ่งมาก่อนหน้านั้นวันสองวันแล้ว แต่ในวันที่เกิดเหตุ ชายคนดังกล่าวได้แสดงตนว่าเป็นผู้แทนของบริษัท อาร์ เอ็ม เอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดการดูแลลิขสิทธิ์เพลง พร้อมกับแจ้งว่าที่ร้านนำซีดีเพลงมาเปิดในร้านเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมกับสอบถามว่าซื้อมาจากที่ไหน ตนก็ตอบว่าซื้อมาจากร้านเซเว่น์ฯ ซึ่งเป็นแผ่นซีดีเพลง MP3 แกรมมี โกลล์ บิ๊กฮิต และแกรมมี่ โกลล์ MP3 โจ๊ะสนั่น มันส์สะแด่ว
“คนหนึ่งแจ้งว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท อาร์ เอ็ม เอส จำกัด ชื่อนายเอกชัย ปัญญามูลวงศา ซึ่งได้แนะนำคนที่มาด้วยว่าเป็นตำรวจสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็นำไปที่โรงพักกองเมืองเชียงใหม่ โดยพาไปรอที่นั่งพักหน้าโรงพักข้างๆ ทางขึ้น นายเอกชัยได้เรียกค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเงิน 30,000 บาท ได้มีการต่อรองกันนาน ที่สุดตกลงกันที่ 12,000 บาท นายเอกชัย อ้างต่างๆ นานา ว่าหากเป็นคดีขึ้นโรงขั้นศาลจะเจอหนักกว่านี้ พอตกลงกันได้ก็มีการทำบันทึกยอมความ/เจรจาชดใช้ค่าเสียหายกัน ที่หน้าโรงพัก โดยไม่ได้มีการไปพบร้อยเวรแต่อย่างใด ซึ่งอ้างว่าหากไปพบร้อยเวรก็ต้องเป็นคดี ที่สุดตนก็ยอมจ่ายเงินให้นายเอกชัยไป 12,000 บาท หลังมีการบันทึกแล้ว” นางศรีฟอง กล่าว
ทั้งนี้บันทึกยอมความ/เจรจาชดใช้ค่าเสียหาย บันทึกที่สถานีตำรวจ สภ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 14 ส.ค. 2554 ซึ่งเนื้อความระบุว่า ตามที่นายเอกชัย ปัญญามูลวงศา ผู้รับมอบอำนาจช่วงฯ ได้ทำการตรวจสอบที่ภายในบริเวณ ร้านไม่มีชื่อ ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่ภายในร้านดังกล่าวได้มีการกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของบริษัท อาร์ เอ็ม เอส จำกัด โดยพบนางศรีฝอง ขัดทอง เป็นผู้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ รับว่าได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ ของทางบริษัทฯ ดังกล่าวจริง จึงได้ขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย เพื่อบรรเทาความเสียหายกับตัวแทนบริษัทฯ และสามารถตกลงกันได้ความดังนี้
นางศรีฟอง ขัดทอง ผู้ถูกกล่าวหารับว่า ได้กระทะการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ ของทางบริษัทฯ จริงและได้ขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหายให้กับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของทางบริษัทผู้เสียหายเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นความผิดคดีอาญาที่สามารถยอมความได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 66 จนเป็นที่พอใจแล้ว ในการตกลงดังกล่าวเป็นความประสงค์ของทั้งสองฝ่ายมิได้มีผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือให้สัญญาด้วยประการใดๆ และจะไม่นำความใดๆ ไปฟ้องร้องซึ่งกันและกันทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป
บันทึกระบุอีกว่า นายเอกชัย ปัญญามูลวงศา ผู้รับมอบอำนาจ ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว และไม่ขอดำเนินคดีกับ นางศรีฟอง ขัดทอง อีกต่อไปและได้คืนของกลางที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยมิได้ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย สูญหาย เสื่อมค่าแต่อย่างใด ผู้ละเมิดฯ ได้ตรวจรับของกลางดังกล่าวคืนรับว่าถูกต้อง เพื่อรับรองข้อความดังกล่าวข้างต้นจึงได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้วลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน ลงชื่อ ศรีฟอง ขัดทอง ผู้ละเมิด/ชดใช้ และลงชื่อ เอกชัย ปัญญามูลวงศา ผู้รับมอบอำนาจ/รับเงิน และไม่มีการลงชื่อในช่องลงชื่อพยานทั้ง 2 ช่องแต่อย่างใด
“เชียงใหม่นิวส์” ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวไปยังบริษัท อาร์เอ็มเอส พับลิชชิ่ง จำกัด ทราบว่า บริษัทดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งให้ นายธนวัฒน์ โมมา เป็นหัวหน้าตัวแทนประสานงานการขายและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทประจำภาค 5 (ภาคเหนือ) ทั้งนี้นายธนวัฒน์ โมมา ได้แสดงหนังสือแต่งตั้งหัวหน้าตัวแทนภาค ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2554 โดยมอบอำนาจให้เป็นผู้มีอำนาจเต็มในการประสานงานด้านการขายกับตัวแทนและผู้ประกอบการในเขตพื้นที่จังหวัดภาค 5 (ภาคเหนือ) ในการดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเผยแพร่เพลงในงานดนตรีกรรมท และหรืองานสิ่งบันทึกเสียง และหรืองานโสตทัศนวัสดุ อันมีลิขสิทธิ์ที่ บริษัท อาร์เอ็มเอส พับลิชชิ่ง จำกัด
หนังสือแต่งตั้งระบุอีกว่า นายธนวัฒน์ โมมา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลและจัดเก็บค่าตอบแทนต่อสาธารณชน รวมทั้งค่าตอบแทนจากการทำซ้ำงานดนตรีกรรม งานสิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ ที่บันทึกลงในมีดี้ฝายและหรือคอมพิวเตอร์อาร์ดดิสก์เพื่อการค้า และให้มีอำนาจในการตรวจาอบและปราบปรามจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2554 เป็นต้นไป ลงชื่อ นายศิวะ ดิษาภิรมย์ ผู้จัดการทั่วไป พร้อมกับประทับตราบริษัทฯ
ทั้งนี้งานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ที่บริษัท อาร์เอ็มเอส พับลิชชิ่ง จำกัด เป็นผู้ดูแลผลงานประกอบด้วย ผลงานของ บริษัท อาร์เอ็มเอส สตูดิโอ แอนด์ มัลติมีเดีย จำกัด บริษัท ซี.ที.พี. พับลิชชิ่ง จำกัด บริษัท เฮีย จำกัด บริษัท นิธิทัศน์ เอโอเอ จำกัด บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สไปร์ซี่ ดิสก์ จำกัด บริษัท ฅนเมืองเร๊คคอร์ด จำกัด (นายสุพจน์ ขัติยศ) บริษัท พี.อาร์.เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท เรด บีท มิวสิค ดิสทริบิวชั่น จำกัด ชัย มิวสิค (คัทลียา มารศรี) และงานดนตรีกรรมคำร้อง และทำนองเพลงของครูเพลงอีกกว่า 400 ท่าน อาทิเช่น จรัล มโนเพ็ชร
นายธนวัฒน์ โมมา อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 145 หมู่ 2 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ตนเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก อาร์เอ็มเอส ให้ดูแลภาคเหนือแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการที่นายเอกชัย มาอ้างนั้นไม่เป็นความจริง ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถดำเนินคดีกับนายเอกชัยได้เลย อีกประการขณะนี้ได้มีพวกเที่ยวขายสติ๊กเกอร์ตามร้านคาราโอเกะ โดยมักจะอ้างว่าหากซื้อสติ๊กเกอร์จากคนกลุ่มนี้แล้วสามารถดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพลงได้ทุกค่าย ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ขอร้านคาราโอเกะอย่าได้หลงเชื่อ คนกลุ่มนี้มีด้วยกัน 6-7 คน มีผู้หญิงในกลุ่มด้วย 2 คน มีคนหนึ่งชื่อ สุ และมีผู้ชายในกลุ่มนี้ชื่อ แอ๊ด และที่ผ่านมาหลายร้านหลงเชื่อและเสียเงินฟรีๆ ไปแล้วหลายร้าน และอยากฝากด้วยว่า ทางบริษัท อาร์เอ็มเอสฯ ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับสติ๊กเกอร์เหล่านั้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาค 5 (ภาคเหนือ) ที่ตนรับผิดชอบอยู่
“ส่วนกรณีของนางศรีฟอง ขัดทอง นั้น ซึ่งมีการไปตกลงกันถึงโรงพักกองเมือง แล้วได้บันทึกมาเพียงแผ่นเดียว พร้อมกับบอกว่าบันทึกดังกล่าวสามารถใช้อ้างอิงได้ 1 ปี หลังจากนั้นคนที่อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากบริษัทจะมาอีก ทางนางศรีฟอง สามารถดำเนินการตามกฎหมายจากคนที่อ้างได้เลย ทั้งนี้ในส่วนตนได้ขอสำเนาเอกสารบันทึกดังกล่าว ส่งให้ทางบริษัทรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไปอีกทางด้วย” นายธนวัฒน์ โมมา กล่าว
นายธนวัฒน์ โมมา กล่าวอีกว่า จากการที่มาเห็นสภาพร้าน ทางผม ทางบริษัทก็คงไม่กล้าที่จะดำเนินการดังที่เจ้าของร้านประสบอยู่ ร้านเล็กๆ แทบจะไม่มีผลกระทบอย่างใดกับบริษัทเลย ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ในการดำเนินการเราจะเข้าไปพูดคุยเพื่อให้ร้านเหล่านั้นดำเนินการให้ถูกต้อง มีการซื้อขายลิขสิทธิ์กันให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะไม่มีการเดินสายจับกุมเป็นหลัก อยู่ในลักษณะการเจราจาเชิงธุรกิจมากกว่าการดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย เพราะลักษณะความผิดเหล่านี้เป็นการกระทำผิดในเชิงพาณิชย์แม้จะเป็นความอาญาก็ตาม
เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องการจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ มีการตกลงกันถึงโรงพัก ใช้โรงพักเป็นสถานที่ลงนามบันทึกยินยอม ซึ่งผู้ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าคนที่อ้างว่ารับมอบอำนาจมาจากบริษัทผู้ดูแลปราบปรามลิขสิทธิ์เพลงค่ายต่างๆ พร้อมกับอ้างว่ามากับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจากหน่วยต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความยุติธรรมโปร่งใสชัดเจน ให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อประชาชนแต่อย่างใด ราวกับเป็นการเปิดช่องให้มีการเดินสายหากินกับการเหล่านี้ รวมถึงความเชื่อของประชาชนผู้เสียหายที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องเหล่านี้ด้วย
http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=39416
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 3049 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย กรรมกรข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 19 ส.ค. 54
เวลา 21:27:28
|