กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
มาแบบใหม่จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง เดินสายขายค่าจัดเก็บค่าตอบแทนลิขสิทธิ์เพลง อ้างสุดหรู เปิดเพลงได้ทุกค่ายเพลง จ่ายสุดคุ้มปีละ 19,000 บาท พร้อมมีโปรโมชั่นให้ทดลองก่อน 3 เดือนได้ เหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินให้ ได้แค่ใบเสร็จรับเงินที่เป็นแค่ใบแทน เอกสารทุกชิ้นเป็นแค่สำเนา เจ๋งสุดสติ๊กเกอร์ที่ได้รับเป็นแค่สำเนาถ่ายเอกสาร ระบุชื่อสถานประกอบการก็ไม่ตรงกับร้านที่ควักกระเป๋าจ่ายเงินให้ ลงท้ายในสำเนาให้ติดต่อ โต้ง สอดคล้องกับข้อมูลจากตัวแทนตัวจริงบริษัทจัดเก็บ ชี้ขณะนี้มีส่วยสติ๊กเกอร์ระบาดทั่วเมืองเชียงใหม่ ตัวจริงเจรจาธุรกิจกับร้านต่างๆ ยากมาก ส่วนใหญ่หลงเชื่อส่วยสติ๊กเกอร์จ่ายไปแล้วเพียบตามที่หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์นำเสนอข่าวการเดินสายเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอ้างเป็นผู้แทนบริษัทที่ดูแล และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของค่ายต่างๆ ไปแล้วนั้น อีกด้านหนึ่งปรากฏว่า ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เพลงเดินสายหากินกับร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารที่มีการเปิดให้บริการร้องเพลงคาราโอเกะ ซึ่งในวงการการจัดการลิขสิทธิ์เพลงเรียกว่า “สติ๊กเกอร์ส่วย” ทั้งนี้ นายธนวัฒน์ โมมา อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 145 หมู่ 2 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดเก็บค่าตอบแทนลิขสิทธิ์เพลงในเขตภาคเหนือตอนบนของบริษัทจัดเก็บค่าตอบแทนลิขสิทธิ์บริษัทหนึ่ง เปิดเผยว่า การดำเนินการของคนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีคนชื่อ โต้ง เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งพฤติกรรมของกลุ่มนายโต้งนั้นจะไปติดต่อร้านอาหารต่างๆ พร้อมกับเสนอแบบการจัดเก็บค่าตอบแทนลิขสิทธิ์เพลงโดยเสนอค่าจัดเก็บปีละ 19,000 บาท โดยจะแจ้งกับทางร้านว่าสามารถเปิดเพลงภายใต้การจ่ายค่าตอบแทนครั้งนี้ได้ทุกค่ายเพลง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทที่ดำเนินการจัดเก็บค่าตอบแทนลิขสิทธิ์แต่ละแห่งนั้นจะมีลิขสิทธิ์เพลงอยู่ในความดูแลไม่ครอบคลุมทุกค่ายเพลงที่มีอยู่ทั้งประเทศไทย “อย่างบริษัทที่ผมเป็นตัวแทนรับผิดชอบในเขตภาคเหนือตอนบน คือ บริษัท อาร์ เอ็ม เอส ฯ จำกัด มีลิขสิทธิ์เพลงที่ดูแลจัดเก็บ ราวสิบกว่าค่ายเท่านั้น ซึ่งการเสนอค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์ในส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายเป็นรายปียังไม่ถึงครึ่งของพวกส่วยสติ๊กเกอร์ หากร้านใดตกลงจ่ายค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์กับเรา เราก็จะมีสติ๊กเกอร์ซึ่งเป็นของบริษัทซึ่งจะเป็นตัวจริงให้ร้านนั้นๆ ไป ส่วนการดำเนินการของคนกลุ่มนี้ร้านที่หลงเชื่อและจ่ายเงินให้มักจะได้สติ๊กเกอร์ที่ถ่ายสำเนาไว้ให้ และส่วนใหญ่จะเป็นสำเนาจากสติ๊กเกอร์รหัสเดียวกันทุกแห่งที่หลงซื้อจากคนกลุ่มนี้ไป” นายธนวัฒน์ โมมา กล่าว นายธนวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของค่ายเพลงที่บริษัทฯ ดูแลเป็นผลงานเพลงของ บริษัท อาร์เอ็มเอส สตูดิโอ แอนด์ มัลติมีเดีย จำกัด บริษัท ซี.ที.พี. พับลิชชิ่ง จำกัด บริษัท เฮีย จำกัด บริษัท นิธิทัศน์ เอโอเอ จำกัด บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สไปร์ซี่ ดิสก์ จำกัด บริษัท ฅนเมืองเร๊คคอร์ด จำกัด (นายสุพจน์ ขัติยศ) บริษัท พี.อาร์.เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท เรด บีท มิวสิค ดิสทริบิวชั่น จำกัด ชัย มิวสิค (คัทลียา มารศรี) และงานดนตรีกรรมคำร้อง และทำนองเพลงของครูเพลงอีกกว่า 400 ท่าน อาทิเช่น จรัล มโนเพ็ชร “ร้านใดที่นำเพลงของค่ายเพลงหรือบริษัทเพลงเหล่านี้ไปเปิดบริการลูกค้า การจ่ายค่าตอบแทนลิขสิทธิ์เพลงก็ต้องจ่ายมายังบริษัท อาร์ เอ็ม เอสฯ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำแลการจัดเก็บอยู่ ซึ่งการที่นายโต้งอ้างว่าจ่ายให้เขาแล้วสามารถเปิดได้ทุกค่ายเพลงจึงไม่เป็นความจริง อย่างน้อยเพลงเหล่านี้ค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ก็ต้องจ่ายมาให้กับ อาร์ เอ็ม เอส ฯ ซึ่งมีผมเป็นผู้ดูแลจัดเก็บแทนบริษัทในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ก็อยากจะฝากไปยังร้านต่างๆ อย่าหลงเชื่อ ไม่มีใครที่ไหนไม่มีบริษัทใดหรอกที่สามารถดำเนินการเรื่องค่าตอบแทนลิขสิทธิ์เพลงได้ทุกค่ายเพลง แกรมมี่ก็มีผู้ดูแลในส่วนของเขา อาร์เอสก็มีผู้ดำแลด้วยเช่นกัน ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงนั้นร้านต่างๆ ที่ต้องใช้ ควรติดต่อกับตัวแทนที่แท้จริงของบริษัทที่ดูแลลิขสิทธิ์เพลงเหล่านั้นจริงๆ จึงจะถูกต้อง ซึ่งสังเกตได้ไม่ยาก เพราะคนที่เป็นตัวแทนจัดเก็บตัวจริง เอกสารที่ใช้ติดต่อกับร้านนั้นจะเป็นต้นฉบับทั้งสิ้น ไม่ใช่ใช้เอกสารที่เป็นสำเนา” นายธนวัฒน์ โมมา กล่าว ทั้งนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้ตรวจสอบเรื่อง ส่วยสติ๊กเกอร์ พบว่ามีร้านอาหารแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ในเขตพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ ได้จ่ายเงินเป็นจำนวน 5,400 บาท ให้แก่นายโต้ง โดยได้รับเอกสารจากนายโต้งทั้งสิ้น 4 ชุด ประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบสมัครของอนุญาตใช้งานลิขสิทธิ์เพลง/ใบรับการชำระค่าตอบแทนในการใช้งานลิขสิทธิ์เพลง สัญญาเช่าพื้นที่ในร้านอาหาร และสำเนาสติ๊กเกอร์ตัวอย่าง ใบเสร็จรับเงินดังกล่าว มีลักษณะเป็นใบเสร็จรับเงินที่วางขายตามร้านทั่วไป ประทับตราร้าน…ศักดิ์ ลิขสิทธิ์เพลงไทย พร้อมด้วยหมายเลขโทรศัพท์บริเวณส่วนบนของใบเสร็จ และเขียนข้างๆ ว่า ใบแทน ทั้งนี้ไม่มีเล่มที่ และเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ไม่มีการระบุวันที่ ส่วนรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินนั้นเขียนว่า ได้รับเงินจาก ร้าน……ที่อยู่……อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อชำระค่า จดลิขสิทธิ์ ทุกค่ายเพลง เป็นจำนวนเงิน 5,400 บาท เริ่มตั้งแต่ …กุมภาพันธ์ 2554 ถึง….พฤษภาคม 2554 ส่วนเอกสารสำเนาสติ๊กเกอร์ ตัวอย่างนั้น ซึ่งโดยการปฏิบัติปกติทั่วไปนั้น หากร้านใดที่จ่ายค่าตอบแทนลิขสิทธิ์เพลงให้แก่บริษัทจัดเก็บ หรือบริษัทใดแล้ว จะได้สติ๊กเกอร์ตัวจริงเฉพาะของร้านนั้นๆ ให้ไปติดแสดงในร้าน ไม่ใช่สำเนาสติ๊กเกอร์ ซึ่งสำเนาสติ๊กเกอร์ที่ “เชียงใหม่นิวส์” ตามพบ เป็นสำเนาสติ๊กเกอร์ของบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ จำกัด รหัสสติ๊กเกอร์ SPCp5400438 ระบุข้อความว่า ข้อกำหนดการใช้ว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (5) เครื่องหมายการได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าในงานลิขสิทธิ์เพลงตามประกาศบริษัทฯ ต้องนำเครื่องหมายแสดงนี้ติดฯ ให้เห็นเด่นชัด ทั้งนี้มีข้อความระบุว่า เครื่องหมายแสดงฯ นี้ใช้ได้เฉพาะ ร้านเถาวัลย์หวาน (ชื่อประกอบการ) พร้อมกับระบุว่าใช้ได้ถึงวันที่ กุมภาพันธ์ 2554 จากการสอบถามเจ้าของร้านที่จ่ายเงินตามรายการดังกล่าวข้างต้น จำนวน 5,400 บาท ได้เอกสารดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้เท่านั้น สติ๊กเกอร์ตัวจริงซึ่งเคยได้รับจากบริษัทอื่นที่ต้องจ่ายค่าจัดเก็บให้ก็ไม่ได้มาติดในร้าน พยายามสอบถามคนชื่อโต้ง ก็ได้รับการชี้แจงว่าเอกสารเท่าที่มีก็ใช้ได้ หากมีปัญหาก็ติดต่อเขาโดยตรง ซึ่งความจริงนั้นเขาเสนอให้จ่ายเป็นรายปี แต่เมื่อพิจารณาแล้วการดำเนินการต่างจากบริษัทอื่นจึงทดลองใช้บริการในระยะ 3 เดือนก่อน ขณะนี้ก็ไม่ได้ใช้บริการแล้ว
ข่าวจาก เชียงใหม่นิวส์
http://www.chiangmainews.co.th/page/?p=39767
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|