กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ยุค “ทักษิณ” ครองเมือง เงิน 2 แสนล้านบาทหล่นทับเครือญาติ-ก๊วนการเมือง !? |
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ | 24 พฤศจิกายน 2548 14:16 น. |
• ปุจฉา! “รวย” แล้วเข้าสู่สนามการเมือง ดีกว่าพวก “จน” มาเล่นการเมือง • คนรวย! ไม่โกง ไม่คอร์รัปชัน แต่คนจน! ตั้งหน้าตั้งตากอบโกย ...จริงหรือ ? • กลวิธีทำให้เงินหล่นทับจากนโยบายบริหารบ้านเมืองยุคคนรวย....... เขาทำกันอย่างไร • 2 แสนล้านบาท....ตามนโยบายของรัฐไปตกอยู่ในกระเป๋า.....ใครเอ่ย!?.......... ************* ก่อนหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้ามาเป็นผู้นำบริหารบ้านเมืองนั้น ได้ประกาศและเน้นย้ำมาโดยตลอดในเรื่องของความพร้อม ทั้งในด้านกำลังสมองและฐานะเศรษฐกิจที่มั่นคงของตนเอง เพื่อเป็นจุดขายสร้างความแตกต่างให้ประชาชนเห็นว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างเขา นั้น “ดีกว่า” และ “เหนือกว่า” บรรดานักการเมืองเก่า ที่ไม่ต่างจาก “นักเลือกตั้ง” อย่างชัดเจน เพราะการเข้ามาของนักเลือกตั้ง มีเป้าหมายเพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์ เพื่อชดเชยในสิ่งที่ขาด แต่สำหรับนักธุรกิจที่มั่งคั่ง และเต็มไปด้วยความพร้อมที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่จำเป็นต้องกอบโกยหรือหาประโยชน์ใส่ตัวแน่นอน...! “การเมืองคือการผลัดกันเข้ามาทำให้ประเทศ ไม่ใช่มาโกงประเทศ” (20 ต.ค.2548) “รวยแล้ว ไม่โกง”...!? ประโยคเหล่านี้คือคำพูดของนายกฯทักษิณ ที่มักถูกถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนสู่สาธารณชนหลายต่อหลายครั้ง โดยที่แต่ละครั้งเจ้าของประโยคทองคาดหมายว่าจะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ต่อเมื่อคนในสังคมเริ่มตระหนักว่าประเทศไทยกำลังจะถูก “เทกโอเวอร์” จากกลุ่มทุน นักธุรกิจ จึงเกิดคำถามตามมา “รวยแล้วไม่โกง จริงหรือ?” บรรดา “ขาประจำ” และฝ่ายค้าน โดยเฉพาะสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น สามารถนำประโยคทองของนายกฯทักษิณ ไปใช้ขยายผลทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และถูกจังหวะเวลาหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากไม่เพียงแต่ประชาธิปัตย์ทำป้ายติดทั่วจังหวัดภูเก็ต เพื่อเรียกร้องให้ประชาชน ช่วยกันตรวจสอบรัฐบาล เมื่อคราวที่นายกฯทักษิณ ยก ครม.ลงไปสัญจรเมื่อต้นปี 2546 ต่อมาประชาธิปัตย์ได้ออกพ็อกเกตบุ๊กเล่มร้อนที่ชื่อ “ใครว่า คนรวย ไม่โกง(เรื่องจริง)” โดย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค เพื่อตอกย้ำว่าคำพูดของนายกฯทักษิณ สวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับหนังสือ “รู้ทันทักษิณ” ของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม.ทยอยเปิดตัวต่อมาอีกหลายซีรี่ ที่ขายดีหมดแผง เพราะหลายคนอยากรู้จักนายกฯทักษิณ ในแง่มุมที่ซับซ้อนมากขึ้นนั่นเอง... ปรากฏการณ์ “คอร์รัปชัน” สายพันธุ์ใหม่ ! มีการตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่นายกฯทักษิณ บอกว่า “รวยแล้วไม่โกง” อาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง เพราะการเข้ามาบริหารประเทศในคราวแรกตั้งแต่ปี 2544 และมีประกาศต่อไปว่าจะอยู่อีก 20 ปี มีเพียงเหตุผลประการเดียวคือเพื่อเข้ามาดูแลปกป้องธุรกิจโทรคมนาคม ของกลุ่ม “ชินคอร์ป” มูลค่านับแสนล้านบาท ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่าน nominy ที่ถูกวางเครือข่ายไว้ในทุกส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน การเข้ามาบริหารประเทศของนายกฯทักษิณ ในฐานะผู้นำคนที่ 23 ตั้งแต่ปี2544 เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่จะเป็นการพลิกโฉมหน้า รูปแบบการเมืองไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันบรรดานักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองยังพบว่ารูปแบบการ "บริหารประโยชน์"ในระดับบนได้พัฒนาวิธีการจนยากที่จะติดตามได้ทัน "ผลประโยชน์ทับซ้อน" , "แกรนด์ ดินเนอร์ คาบิเนต" หรือ "สัมปทานประเทศ" ได้กลายเป็นคำอธิบายถึง "ภาพลักษณ์"รัฐบาลไทยรักไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมาในสายตาของคนชั้นกลาง ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจน เสียงเรียกร้องให้ผู้นำแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นให้เด็ดขาด แต่ในเวลาเดียวกันสังคมกลับพบว่าคนที่มีชื่อพัวพันกับการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่มูลค่ามหาศาล ล้วนแล้วแต่อยู่รายล้อมตัวนายกฯทักษิณทั้งสิ้น ว่ากันว่าเม็ดเงินที่ตกไปสู่มือคนใกล้ชิดนายกฯทักษิณ นั้นมีมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาทกระจายไปยัง ทายาทสายตรง บรรดาเครือญาติ และกลุ่มพันธมิตร 5 ปีทักษิณ "ชินคอร์ป" ได้กว่าแสนล้าน ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมมีมูลค่านับพันล้านอยู่ในมืออยู่แล้ว ยิ่งเมื่อสถานการณ์การเมืองแบบรัฐบาลพรรคเดียวที่มีคะแนนสูงถึง 374เสียง จนฝ่ายค้าน นักวิชาการ และกลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่มีโอกาสที่จะคานอำนาจ หรือยับยั้งในการตัดสินใจของนายกฯทักษิณ ได้เลย แม้นายกฯ จะบอกมาตลอดว่า ได้วางมือจากธุรกิจครอบครัว เพื่อมุ่งให้กับงานการเมือง ต้องการพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และจะทำให้คนจนหายจน ซึ่งล้วนแต่เป็นภารกิจที่หนัก เมื่อมองย้อนไปที่ธุรกิจในครอบครัวก็ยิ่งเห็นการเติบโต แม้จะไม่มีคนชื่อทักษิณ ชินวัตร นั่งบริหารชินคอร์ปตามระยะเวลาที่อยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีเกือบ 6 ปีก็ตาม มองไปทางไหนก็เห็นแต่ธุรกิจเครือข่ายเต็มไปหมด แค่มูลค่าหุ้นของบริษัทในครอบครัวในตลาดหุ้นทั้ง 5 บริษัท 4 แสนล้านบาท ก็กินกว่า 10%ของมาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยเข้าไปแล้ว ยังไม่นับรวมบริษัทด้านการเงินและสายการบินนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ขณะนี้กำลังแผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วไทย กลุ่มชินจึงเหมือนต้นไม้โตเร็วเพราะได้ปุ๋ยชั้นดี จากนโยบายรัฐบาลต่างๆ โดยที่นายกฯทักษิณ อาจจะไม่ตั้งใจหรือรู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนหรือไม่? ไอพีสตาร์ใช้เอฟทีเอเพิ่มรายได้ หมื่นล้าน เริ่มมาตั้งแต่บริษัทชินแซทเทิลไลท์ที่มีดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นตัวทำรายได้ให้กับบริษัทนั้นได้รับอานิสงฆ์จากการทำเอฟทีเอหลายครั้งที่ไทยไปร่วมทำสัญญากับเหล่าประเทศต่างๆทั้ง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน และอินเดีย จากการประมาณการของเหล่านักวิเคราะห์จากตลาดหลักทรัพย์ฯคาดว่า รายได้ของชินแซทจะก้าวกระโดดขึ้นมาทันที่ที่จีนและอินเดียเข้ามารับสัญญาณในปี 2549 คาดกันว่าอินเดียจะทำให้ชินแซทมีรายได้ เพิ่ม 5พันล้านบาท จีน 10,000 ล้านบาท โดยก่อนที่จะมาเป็นไอพีสตาร์ที่เห็นได้ในทุกวันนี้ นายกฯ ทักษิณ ได้เข้าไปพบกับ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา George W Bush.ในปี พ.ศ 2544 จากนั้นไม่นานกลางปี 2545 บุญคลี ปลั่งศิริ ซีอีโอกลุ่มชินก็ประกาศว่าทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของอเมริกา หรือ US EXIM bank ให้เงินกู้ ชินคอร์ปมาเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการใช้จ่ายขยายธุรกิจ ซึ่ง IP Star ก็เป็นผลิตภัณฑ์หลักในการขยายธุรกิจของ SATTEL จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท และตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่านักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายค้าน จากการที่ไทยเข้าไปเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาในปลายปี 2545 ซึ่งดูเหมือนว่าไทยจะเสียเปรียบสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ การเปิดเสรีสิทธิบัตรยา เปิดเสรีประกันภัยและการเงินของคนไทยทั้งประเทศ จากนั้นไอพีสตาร์ก็เริ่มดำเนินการแผนธุรกิจตามเส้นทาง เอฟทีเออย่างไม่มีผิดเพี้ยน นอกจากข้อสัญญาเอฟทีเอจะเอื้อประโยชน์ต่อดาวเทียมดวงนี้แล้ว EXIM bank ของไทยก็เชียร์ดาวเทียมดวงนี้อย่างออกหน้าให้กู้ (Soft loan) ให้กับพม่า 4,000 ล้านบาทโดยส่วนหนึ่งได้แบ่งให้กระทรวงการสื่อสารและไปรษณีย์ของประเทศพม่าขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อไปลงทุนพัฒนาการสื่อสารและโทรคมนาคมของพม่าจากรัฐบาลไทย 3 โครงการคือ 1.โครงการพัฒนาการสื่อสารผ่านดาวเทียมระบบบรอดแบรนด์ 2.โครงการถ่ายทอดสัญญาณผ่านเคเบิลใยแก้วระยะทาง 1,500 กิโลเมตร 3.โครงการพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร ตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (ECS) เป็นมูลค่า 1,216 ล้านบาท แล้วเงินจำนวนดังกล่าวย้อนกลับมาว่าจ้าง ชิน แซทเทิลไลท์ ซึ่งชนะการประมูล นั้นทาง EXIM Bank บ้านเราก็เซ็นอนุมัติผ่านด้วยเหตุผลว่าพม่ามีศักยภาพในการใช้หนี้ได้ รวมไปถึง BOI ก็สนับสนุนระบบโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ โดยการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลเฉพาะราย จากต่างประเทศเป็นเวลา 3 ปี จากการส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ดวงที่ 4 จนทำทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากเงินภาษีที่ชิน แซทเทิลไลท์ ได้รับการยกเว้น 8 ปี เป็นเงินกว่า 16,459 ล้านบาท ในแผนลงทุนดาวเทียมไทยคมดวงที่ 5 มีการเตรียมขอ ขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้ไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ให้ไม่ต้องจ่ายถึง 10% จากปัจจุบันบริษัทต้องจ่ายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที 15% ของรายได้ นี่จึงเป็นเหตุผลให้นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นต่างเชียร์ให้ซื้อ แซทเทล เพราะเห็นกำไรและการลดต้นทุนในอนาคตอยู่ตรงหน้า เอไอเอสรับอานิสงส์ 9 พันล้าน นอกจากโครงการดาวเทียมหมื่นล้านแล้ว บมจ.แอดวานซ์ ที่ให้บริการสัญญาณเอไอเอสของนายกฯทักษิณ กำลังเฟื่องฟู มีรายได้เหมือนกับกบก้าวกระโดด แม้จะมีคนเข้ามาแบ่งเค้กไปบ้างแต่เอไอเอสก็ยังครองแชมป์ผู้ให้บริการเครื่อข่ายมาทุกสมัย นอกจากรายได้จะโตแล้วภาครัฐก็ยังลดค่าใช้จ่ายเป็นโบนัสให้อีกด้วย โดยทาง บมจ.แอดวานซ์ได้แก้สัญญาร่วมงานกับ บมจ.ทศท ในส่วนการจ่ายเงินชดเชยของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบพรีเพด (วันทูคอล) จาก 25% เหลือ 20% ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 1,600 ล้านบาท ขณะที่ยังได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้าโทรศํพท์มือถือจาก 10% เหลือ 0% โดยอ้างตามกฎ WTO คาดว่าจากการลดภาษีในครั้งนี้ทำให้เอไอเอสมีกำไรปี 2546 เพิ่มขึ้น 307% จาก 2,384 ล้านบาทปี 2543 เป็น 9,723 ล้านบาทปี 2546 เท่ากับเพิ่มขึ้น 7,339 ล้านบาท ไม่ใช่แค่กฎระเบียบของระบบกิจการโทรคมนาคมในประเทศจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอไอเอสแล้ว ยังมีการแก้ไขระเบียบราชการให้ข้าราชการซี 8-11 เบิกค่าโทรศัพท์ได้มากขึ้น จากเดิม 1 พันบาทเป็น 4 พันบาทตามขั้นบันได คาดว่าเอกชนจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 672 ล้านบาทต่อปีซึ่งคิดจากประมาณการค่าราชการซี 8-11 จำนวน 40,000 คน ไอทีวี ฟันห้าหมื่นล้าน ส่วน บมจ.ไอทีวี หลังจากที่กลุ่มบริษัทชิน เข้าไปดูแล มีการเปลี่ยนแปลงภายใน เริ่มตั้งแต่ไอทีวีได้ลดค่าสัมปทานเหลือ 150 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 20 ปี ทำให้รัฐเสีย รายได้ไป 17,430 บาท อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนรายการข่าวสาร สารคดีและสาระประโยชน์เป็น 50% และมีการยกเลิกการออกอากาศรายการข่าวสารคดีและสาระประโยชน์ช่วงระยะเวลา 19.00-21.00 น. ทำให้ไอทีวีมีรายได้โฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นขั้นต่ำ 40,000 ล้านบาท อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนเวลา Prime time การที่ไอทีวีได้รับรายได้เพิ่มขึ้นนั้น ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ไอทีวีฟ้องร้องรัฐต่อคณะอนุญาโตตุลาการขอค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาร่วมงานอันเนื่องมาจากรัฐปล่อยให้มีโฆษณาในUBC ในปี 2547 เป็นเหตุให้รัฐต้องชำระเงินคืนแก่บริษัท 20 ล้านบาท พร้อมจ่ายรายได้ขั้นต่ำต่อรัฐ 230 ล้านบาท อีกทั้ง สปน.คืนเงินค่าผลประโยชน์ที่ได้ชำระเมื่อ 3 ก.ค. 2546 เป็นจำนวน 570 ล้านบาท และสุดท้ายที่ทำให้รายได้ไอทีวีโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดก็คือ การให้ไอทีวีสามารถออกอากาศช่วง Prime time (19.00-21.30 น.) โดยถูกจำกัดประเภทรายการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเรียกได้ว่ากระบวนการของรัฐเลือกที่จะให้ไอทีวีเป็นผู้ได้ประโยชน์ แม้จะมีทั้งนักวิชาการออกมาทักท้วงถึงเจตนารมณ์การจัดตั้งไอทีวี ต้องการเป็นทีวีที่มีคุณภาพและมีเนื้อหาสาระ ซึ่งถือว่าการอนุญาตให้ไม่จำกัดเวลาออกอากาศนั้นทำให้รายได้ของไอทีวีโตอย่างก้าวกระโดดจากค่าโฆษณา โดยปี 2548 บทวิเคราะห์จาก บล.กิมเอ็งคาดการณ์ว่า ไอทีวีจะมีรายได้จากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น 48% หรือ 608 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 นอกจากธุรกิจคมนาคมและการสื่อสารแล้ว กลุ่มชินกำลังกระจายธุรกิจไปยังธุรกิจด้านอื่น ทั้งธุรกิจการเงิน ธุรกิจการบิน โดยเฉพาะธุรกิจการบินโลว์คอสต์ ก็เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่เปิดตัวในครั้งแรก ด้วยการทำโปรโมชั่นราคาด้วยสโลแกน “ใครๆ ก็บินได้” แอร์เอเชียเบียด "การบินไทย" หลังจากที่รัฐบาลสนับสนุนการเปิดน่านฟ้าเสรี และทำให้สายการบิน แอร์เอเชีย เกิดขึ้น ปรากฏว่า ขณะนี้แอร์เอเชียมีการขยายตัวและเตรียมเปิดเส้นทางสายการบินใหม่อย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปี 2548 แอร์เอเชียจะมีรายได้ 2,600 ล้านบาท ล่าสุดเปิดเส้นทางบินที่ เวียดนาม กัมพูชา และคาดว่าจะเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ พม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้บริการดาวเทียมไอพีสตาร์ การเติบโตของแอร์เอเชียนั้นดูจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดจากการผลักดันของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพราะแอร์เอเชียมีเส้นทางบินไปเชียงใหม่ 120 เที่ยวบิน/เดือน ซึ่งไปทับซ้อนกับเส้นทางสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับสายการบินไทยทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่า การอนุมัติงบประมาณ 2547 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสู่จังหวัดเชียงใหม่ และขยายพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ปรับปรุงลู่วิ่ง สนามบิน ซึ่งต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 1,800 ล้านบาทนั้นย่อมไม่อาจปฏิเสธผลประโยชน์ที่แอร์เอเชียได้รับจากมาตรการรัฐบาลครั้งนี้หรือไม่? สวนทางกับการบินไทย ที่ต้องเจอกับภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการลดจำนวนเที่ยวบินในประเทศบางเส้นทาง หรือแม้กระทั่งเลิกเส้นทางการบินไปต่างประเทศในบางสาย ยกเลิกเส้นทางบินไปกลับกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-สิงคโปร์ จำนวน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และลดเส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-ภูเก็ต จำนวน 14 เที่ยวบิน และลดเส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-กระบี่ 7 เที่ยวบิน นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มราคาค่าโดยสารขึ้นอีกเที่ยวบินละ 400 บาท อีกด้วย จากนโยบายลดเส้นทางการบินของการบินไทยและเพิ่มราคานั้น ส่งเสริมให้รายได้ของแอร์เอเชียเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติ เพราะประชาชนมีทางเลือกน้อยลง ซึ่งตอนนี้นอกจากสายการบินไทยแล้ว แอร์เอเชียถือว่าเที่ยวบินครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ แอร์เอเชียยังมีบริการเสริมด้านการเงินซึ่งเริ่มทำการตลาดเปิดตัวไปไม่นานนี้ อย่างบัตรเครดิตแอร์เอเชีย ได้ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตแอร์เอเชีย สะสมคะแนนการใช้บัตรแลกตั๋วเครื่องบินได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งกิจการนอนแบงก์ในเครือชิน อย่างแคปปิตอลโอเค ก็มีดีบีเอส สิงคโปร์เข้ามาเป็นผู้ช่วยด้วย และดูเหมือนธุรกิจนอนแบงก์กำลังจะไปได้ดี ในปี 2548 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ทั้งในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ และบัตรเครดิต โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25% ของมูลค่าตลาดรวมสินเชื่อทั้งระบบ กินรวบสถาบันการเงิน ใช่ว่านโยบายรัฐบาลชุดนี้จะสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคมอย่างเดียว แต่ยังเผื่อแผ่ไปยังระบบการเงินของประเทศด้วย จะพบว่ารัฐบาลชุดนี้จ้องจัดการกับสินเชื่อนอกระบบอย่างเด็ดขาด มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน โดยให้มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นหันมาใช้เงินกู้ในระบบแทนที่เงินด่วนนอกระบบ คิดเป็นเม็ดเงินที่จะไหลเข้ากับเหล่าสินเชื่อในระบบทั้งหลาย คิดเป็น 692,991 ล้านบาท ในปลายปี 2546 บริษัท แคปปิตอลโอเค ได้เกิดขึ้นมาในระบบสินเชื่อส่วนบุคคลกำลังเฟื่องฟู แม้จะเป็นน้องใหม่แต่เพราะความเชื่อมั่นในฐานลูกค้าเอไอเอสที่มีอยู่เดิม ทั้งมีผู้สนับสนุนทางการเงินคือธนาคารดีบีเอสสิงคโปร์ ตั้งเป้าทำรายได้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท รวมไปถึงระบบธนาคาร กลุ่มชินก็เข้าไปมีบทบาทอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะหุ้นที่พานทองแท้ ชินวัตรเคยเข้าไปถือหุ้น 150 ล้านหุ้น ของธนาคารทหารไทยนั้น หลังจากที่ขายหุ้นไปแล้ว พานทองแท้ได้กำไรหุ้นครึ่งหนึ่ง เพราะเข้าไปช้อนซื้อในช่วงราคา 2.60 บาท แต่หลังจากที่มีการควบรวมธนาคารทหารไทยกับ IFCT และธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ โดยกระทรวงการคลังนำหุ้นของปตท.และการบินไทยไปวางค้ำประกันเพื่อกู้เงินธนาคารออมสินมาเพิ่มทุน10,000 ล้านบาท ทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น ประมาณ 300 ล้านบาท รวมไปถึงธุรกิจส่วนตัวของพานทองแท้ ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณา แม้จะเป็นบริษัทน้องใหม่สดๆ แต่ก็สามารถได้งานสัมปทานโปรเจกยักษ์พื้นที่โฆษณาบริเวณอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินมูลค่า 90 ล้านบาทได้ รวยเพิ่มด้วยอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่เศรษฐีทุกประเทศต้องเข้ามาลงทุนคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะที่ดินซื้อมาเก็บไว้ยิ่งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น และยิ่งมีสายสัมพันธ์กับนโยบายรัฐย่อมง่ายราวพลิกฝ่ามือ แม้จะซื้อที่ตาบอดไว้ ไม่นานก็จะมีถนนตัดถนนเข้ามาในโครงการหมู่บ้านอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับโครงการ บางกอก บูเลอวาร์ด หนึ่งในโครงการหมู่บ้านจัดสรรของ บริษัทเอสซี แอสเซท จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทในเครือชิน ซึ่งโครงการอยู่บนถนนถนนรามอินทรา-วงแหวน-นวมินทร์ อยู่ดีๆ ที่ประชุม คจร. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2546 มีมติตัดถนนผ่านที่ดินโครงการ รัชดาภิเษก-รามอินทรา 4.5 กิโลเมตร โดยก่อสร้างเฉพาะช่วงกลาง (ยาว 3.2 ก.ม.) ที่ตัดผ่านโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 2,450 ล้านบาท ทำให้เพิ่มมูลค่าโครงการ บางกอกบูเลอร์วาด พุ่งขึ้นมาทันทีอย่างต่ำ 10% หรือประมาณ 240 ล้านบาท นอกจากนี้ชื่อเสียงของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังโดดเด่นในฐานะเจ้าแม่ที่ดินของไทย เพราะแม้กระทั่งที่ดินทำเลทองในตัวเมืองย่านรัชดา ตรงข้ามสถานฑูตเกาหลี เยื้องศูนย์วัฒนธรรม จำนวน 33 ไร่ ที่กองทุนฟื้นฟูจัดประมูลขึ้นมานั้น คุณหญิงก็ซื้อได้ถูกกว่าราคาตลาดกว่า 50% แม้จะมีผู้เข้าประมูลอย่างอนันต์ อัศวโภคินเจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยตัวจริง เสียงจริง เข้าเป็นคู่เทียบในการประมูลก็ตาม แต่เมื่อย้อนไปดูความสัมพันธ์ของบริษัทคู่เทียบกับคุณหญิงพจมาน จึงไม่น่าแปลกใจ หากคุณหญิงจะชนะประมูลและสามารถทำให้รัฐขาดรายได้ไปถึง 715 ล้าน จากต้นทุนที่ดินที่ต่ำลงจากการประมูลรอบแรก 700 ล้านบาท และจากค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินอีก 15 ล้านบาท เพราะมีการโอนที่ดินก่อนขึ้นราคาประเมินฯแบบเส้นยาแดงผ่าแปด อนันต์ เจ้าของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีความสนิทสนมกับบุญคลี ปลั่งศิริ ตั้งแต่เรียนวิศวะ จุฬาฯ ด้วยกัน และยังเป็นนายทุนคนสำคัญในการจัดงานชุมนุมศิษย์เก่ามงฟอร์ตเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Requlater) เพื่อการแปรรูป กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ดี ยังมีที่ดินที่ได้รับความสนใจอีกแปลงคือแปลงสนามกอล์ฟอัลไพน์ มูลค่ากว่า 747 ล้านบาท ซึ่งนายกฯ ทักษิณซื้อมาด้วยราคาไม่แพงในสมัยเศรษฐกิจตกสะเก็ดปี 2540 กระทั้งถูกโจมตีข้อกล่าวหาเรื่องนำที่ดินวัดธรรมามิการามมาสร้างเป็นสนามกอล์ฟ ดังนั้น การที่นายกฯทักษิณ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยย้ำตลอดเวลาไม่เกี่ยวข้องจากธุรกิจครอบครัว แต่ธุรกิจครอบครัวกับโตวันโตคืนนั้น เขามีเทคนิคอย่างไรและบรรดานักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย น่าจะหยิบยกหรือจัดทำเป็น "ตำรา" สอนคนรุ่นใหม่ให้รู้ว่า......คนรวย! บริหารประเทศ .....แล้วใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน! ***************
| 2 พี่น้องชินวัตรรวยอื้อ "มหากิจศิริ-รุ่งเรืองกิจ" รับเนื้อๆ 5 ปี รัฐบาลไทยรักไทย ชื่อของ 3 พี่น้องตระกูลชินวัตร "เยาวภา-พายัพ" กลายเป็น 3 เซียนที่เป็นที่ทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ตลอดว่าได้สะสมอำนาจและบารมีแผ่ขยายครอบคลุมทั้งด้านการเมืองและในแวดวงธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจครอบครัวโตวันโตคืน โดยเฉพาะการมุ่งประมูลงานภาครัฐ และเล่นหุ้น ขณะที่เพื่อนสนิทตั้งแต่รุ่นพ่อยันรุ่นลูก อย่างตระกูล "มหากิจศิริ" กระเป๋าใหญ่ไทยรักไทย ก็ได้อานิสงส์อื้อ... ************** "เจ๊แดง" สยายปีกคุมการเมือง-ธุรกิจ "เจ๊แดง" หรือ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นน้องสาวใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ที่นับว่ามีบทบาทมากที่สุดในบรรดา 3 พี่น้องตระกูลชินวัตรที่อยู่ในสนามการเมือง "เจ๊แดง" คือหัวหน้ากลุ่มวังบัวบาน ที่มีส.ส.กลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรคไทยรักไทย ที่รวมเอากลุ่ม "วังน้ำยม" ที่มีแกนนำอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2 ขุมพลสำคัญที่มีบทบาทสำคัญในการหาเงินเข้าพรรคเอาไว้ในมือด้วย บารมีของเจ๊แดงแม้จะเป็น ส.ส.ไม่นานนัก แต่ก็สามารถเทียบชั้น และคานอำนาจ "เสนาะ เทียนทอง" แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็นตั้งแต่เริ่มต้นเป็นรัฐบาล จนกลุ่มวังน้ำเย็นถูกทอนอำนาจขณะนี้ แวดวงธุรกิจ "เจ๊แดง" ก็โดดเด่นไม่แพ้การเมืองสร้าง MLINK และยังเข้าซื้อหุ้นบริษัทอื่นๆ ครอบครัววงศ์สวัสดิ์ มักจะจับมือกลุ่มวิไลลักษณ์เข้าซื้อหุ้นในบริษัทสำคัญๆ หลายบริษัท และส่งลูกทั้ง 3 คนคือ ชินณิชา ยศชนัน และ ชยาภา เป็นผู้ถือหุ้น ทำให้ธุรกิจของครอบครัววงศ์สวัสดิ์ ได้ขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจอื่นนอกเหนือไปจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญธุรกิจที่ครอบครัววงศ์สวัสดิ์เข้าไปถือหุ้นใหญ่นั้น ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อประมูลงานจากโครงสร้างรัฐแทบทั้งสิ้น... MLINK หรือบริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นธุรกิจหลักของครอบครัวปัจจุบัน ยศชนัน ถือหุ้น MLINK 84 ล้านหุ้น ในสัดส่วน 15.66% ส่วน ชินณิชา ปัจจุบันถือ 70 ล้านหุ้น สัดส่วน 12.97% โดย MLINK นี้ทำรายได้ให้ครอบครัววงศ์สวัสดิ์ปีละหลายพันล้านบาท โดย บริษัท เอ็มลิ้งค์ฯ นั้นได้ก่อตั้งบริษัทลูกขึ้นมาอีกหลายบริษัท ได้แก่ บริษัท เทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เอ็ม ช็อป โมบาย จำกัด นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปอีก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจ Digital Trunked Radio ที่เอ็ม ลิ้งค์ฯ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท โมโตโลร่า อิงค์ จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งระบบ Digital Trunked Radio ให้แก่ภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ในปี 2547 เอ็มลิ้งค์ฯ ได้ชนะการประกวดราคาโครงการ Digital Trunked Radio System ของบริษัท วิทยุการบิน จำกัด มูลค่า 226 ล้านบาท ธุรกิจ Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอ็มลิ้งค์ ฯ เข้าถือหุ้นร้อยละ 99.97 ในบริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนา Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ พอร์ทัลเน็ท-แอสคอนมุ่งประมูลงานรัฐ ธุรกิจ System Integrator ในปี 2546 เอ็ม ลิ้งค์ได้ลงทุนในบริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัด ดำเนินธุรกิจในรูปแบบการเข้าร่วมงานประกวดราคาโครงการโทรคมนาคมทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญบริษัท พอร์ทัลเน็ท ได้ชนะประมูลในโครงการซื้อเครื่องโทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญและใช้บัตรในเครื่องเดียวกัน มูลค่า 289.2 ล้านบาทจาก บริษัท ทศท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก มูลค่า 3,192 ล้านบาท จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ครอบครัววงศ์สวัสดิ์ ได้เข้าถือหุ้น บมจ.วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค (เดิมชื่อบริษัท เคพโทรนิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยตระกูลวงศ์สวัสดิ์ และกลุ่มสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ และวิสาล นีรนาทโกมล ได้ซื้อกิจการต่อจากผู้ถือหุ้นเดิม) ทั้ง ชินณิชา ชยาภา และยศชนัน ถือหุ้น WIN รวมกันในสัดส่วน 62.41% ซึ่งถือเป็นหุ้นใหญ่สุดในบริษัทวินโคสท์ เป็นธุรกิจบริหารคลังสินค้าที่ถือเป็นธุรกิจครอบครัวโดยตรง และชินณิชา ดำรงตำแหน่ง Chieft Strategy Officer ของบริษัท มี ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา มืออาชีพคนเก่าแก่ ที่เคยบริหารงานเอ็มลิงค์ มานั่งเป็นซีอีโอ จากนั้น ครอบครัววงศ์สวัสดิ์ ยังได้รุกคืบเข้าไปดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยได้จับมือกลุ่มวิไลลักษณ์ได้เข้าซื้อหุ้น 50% ของบริษัท แอสคอน คอนสตักชั่น จำกัด(มหาชน) ที่ประกาศแผนดำเนินงานอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งประมูลโครงการของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ โดยแผนงานสนใจคือโครงการรถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มูลค่าโครงการ 24,000 ล้านบาทของกรมธนารักษ์ และสนใจเข้ารับช่วงงานโครงการรถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) มูลค่า 12,000 ล้านบาท ต่อจากบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)ด้วย ซื้อหุ้น "SSM-TSC" ราคาถูก นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ชินณิชา ยังได้รับจัดสรรหุ้นของบริษัท สยามสตริปมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSM ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ของ สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นจำนวน 210 ล้านหุ้น มูลค่า 336 ล้านบาท พร้อมกับ พายัพ ชินวัตร ที่ได้รับจัดสรร 100 ล้านหุ้น มูลค่า 160 ล้านบาท บริษัท สยามสตริปมิลล์ฯ ได้รับการลดหนี้จาก บสท.จากภาระหนี้ทั้งสิ้น 63,857.76 ล้านบาท เหลือหนี้เพียง 7,307.72 ล้านบาท ได้ลดหนี้ไปทั้งสิ้น 56,550 ล้านบาท ภายหลังมีการการแจกหุ้นเพิ่มทุนราคาถูกให้ชินนิชา และพายัพ ดังกล่าว รวมทั้งยังได้ขายหุ้นแบบเจาะจงให้กับญาตินักการเมืองคนอื่นๆ ด้วย ราคาหุ้นละ 1.60 บาท ประมาณกันว่าเมื่อนำหุ้นเข้าตลาดราคาหุ้นจะขึ้นไปอยู่ที่ราคา 5 บาท ซึ่งผู้ซื้อจะได้กำไรทันทีหุ้นละ 3.40 บาท โดยมีชื่อญาตินักการเมืองประกอบด้วย อภิชาต จุฬางกูร 37.5 ล้านหุ้น,วรวิทย์ ด่านชัยวิจิตร ญาติส.ส.ไทยรักไทย จ.พระนครศรีอยุธยา 40 ล้านหุ้น,รัตนา มาลีนนท์ 37.5 ล้านหุ้น,นิภา มาลีนนท์ 37.5 ล้านหุ้น, อิทธิ เดชอมรสิน 40 ล้านหุ้น, ปราณี เกิดมงคล 40 ล้านหุ้น และฉันทิดา กรินพงษ์ 40 ล้านหุ้น โดย อิทธิ ปราณี และฉันทิดา ระบุที่อยู่เกียวกับ พายัพ ชินวัตร ที่อาคารชินวัตรไทย ถ.พระราม 4 นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2548 ครอบครัววงศ์สวัสดิ์ ยังได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอ TSC บริษัท ไทนสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน) ในชื่อของ ชินณิชา เป็นผู้ที่ได้รับจัดสรรหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ คือได้รับจัดสรรหุ้นจำนวน 1 ล้านหุ้น เป็นเงิน 9.2 ล้านบาท ในสัดส่วน 1.72% ด้วย ช่อง11ให้ TRAFออกอากาศเคเบิลฟรี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ตระกูลวงศสวัสดิ์ ได้ถือหุ้นใน บมจ. ทราฟฟิก คอร์นเนอร์โฮลดิ้งส์ สูงถึง 38%โดยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าจะเข้ามาคุมธุรกิจสื่อสารมวลชน และใช้ความได้เปรียบเพื่อรับงานสัมปทานจากรัฐ ท้ายที่สุดได้ขายหุ้นส่วนหนึ่งไปให้ ธวัชชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำหรับ ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ฯ นั้น ในขณะที่ชินณิชา และชยาภา ได้ถือหุ้น 38% นั้น บริษัทได้รับสัมปทานจาก ทอท.การให้บริการสื่อโฆษณาบนรถเข็นในสนามบิน 4 แห่ง ระยะเวลา 3 ปี ค่าสัมปทานปีละ 15 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าขายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปี รวม 3 ปี ธุรกิจนี้จะได้สัมปทานประมาณ 90 ล้านบาท นอกจากนี้ ทราฟฟิกฯ ยังเข้าไปรับสัมปทานเป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้กับ สถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 และล่าสุดยังได้สัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์ผลิตรายการให้กับช่องเอ็นบีที (National Broadcasting Television) ซึ่งเป็นช่องที่ให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีนำไปออกอากาศฝ่ายทางเคเบิลทีวีทั่วประเทศ โดยได้เปิดดำเนินการในช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้กรมประชาสัมพันธ์ถือว่าเป็นการเปิดทดลองออกอากาศจึงไม่เก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมใดๆ เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน โดยทราฟฟิกฯ ได้รับสัมปทานทั้งหมด 3 ช่อง จากทั้งหมด 9 ช่องด้วย "พายัพ" ขาใหญ่ตลาดหุ้น ด้าน พายัพ ชินวัตร ชื่อของเขาโลดแล่นอยู่ในตลาดหุ้น แบบที่เรียกว่าโลดโผนสุดๆ และได้ชื่อว่าเป็น "ขาใหญ่" หรือนักปั่นหุ้นตัวยง ที่ถูกคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ตรวจสอบการเคลื่อนไหวหุ้นที่เขามักจะถืออยู่ในมือมาตลอด โดยเฉพาะ 3 หุ้นใหญ่ของตระกูล "ลาภวิสุทธิสิน" อย่าง EWC หรือบริษัท อีสเทิรน์ไวร์ ,หุ้น EMC ของบริษัทอีเอ็มซี,และ PICNI ของบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เขาเคยถือหุ้นไว้ก่อนจะขายไปภายหลังที่ ก.ล.ต.ประกาศว่า หุ้นทั้ง 3 ตัวนี้มีราคาที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งสำหรับหุ้น EWC นั้นมีราคาที่สูงขึ้นทันที 12.79% หลังจากพายัพเข้ามาถือหุ้นตัวนี้ จับตา PP เข้าตลาดหุ้น หุ้นที่สังคมจับตามากที่สุดเวลานี้ ที่มีคิวจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา อย่างหุ้น PP หรือบริษัทเพาวเวอร์-พี ที่มีเพื่อนร่วมรุ่น วปรอ. ชื่อ ราชศักดิ์ สุเสวี เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยพายัพถูกมองว่าเป็นจักรสำคัญในการเดินหมากเพื่อผลักดันหุ้นบริษัทพาวเวอร์ พี (PP) เขาซื้อขายในตลาดฯ กระทั่งเป็นเหตุให้ ก.ล.ต.ต้องสั่งตรวจสอบและรอวันอนุมัติให้ทำการซื้อขายได้ รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ที่มีหุ้น PP ประกอบด้วย ตระกูลจารุสมบัติ โดยศิริรัตน์ จารุสมบัติ ถือหุ้น 2.38% ตระกูลเทพสุทิน โดย ณัฐธิดา เทพสุทิน ลูกสาวของสมศักดิ์ เทพสุทิน ถือหุ้น 0.95% และตระกูลทิวารี โดย มานพ ทิวารี ถือหุ้น 0.95% นอกจากนี้ก็ยังมีชื่อของ พิริยะ ถาวร ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ EMC ถือหุ้น PP 1.35 ล้านหุ้นด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน พายัพ ถือหุ้นอันดับ 3 ของ BNT หรือบริษัท บีเอ็นที เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 4.38% จำนวน 81,460,500 หุ้น ถือหุ้น ASL หรือ บริษัทหลักทรัพย์แอ็คคินซัน จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 4.6% 777,4400 หุ้น ถือหุ้นSTRD บริษัทชิโน-ไทย รีซอร์เซส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 4.6% 919,100 หุ้น และถือหุ้น KTECH บริษัทเค-เทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 1.70% จำนวน 4,000,000 "มหากิจศิริ" รับโชคลดภาษี-หนี้TCI "มหากิจศิริ" ถือเป็นพันธมิตรคนสำคัญและถือเป็นนายทุนกระเป๋าใหญ่พรรคไทยรักไทยด้วย ปัจจุบัน ประยุทธ มหากิจศิริ ถือหุ้นใหญ่ใน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท สหมิตรเครื่องกล หรือ SMIT 1.28% บริษัทไทย โอ.พี.พี หรือ TOPP 2.51% บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส หรือ TNX 24.20% และไทยฟิล์มอินดัสตรี่ หรือ TFI 38.69% ขณะที่ สุวิมล มหากิจศิริ ภรรยา ถือหุ้นใน 3 บริษัทคือ ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ 14.64% ไทย โอ.พี.พี. 12.07% และเอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น 0.78% ส่วนลูกทั้ง 3 คือ อุษณา เฉลิมชัย และอุษณีย์ ถือหุ้นใหญ่ในไทยฟิล์มอนดัสตรี่ จำนวน 5.13% 5.01% และ 5.01% ตามลำดับ ตระกูลมหากิจศิรินั้น หนีไม่พ้นคำครหาจากสังคมเช่นกัน ในกรณีที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการปรับขึ้นราคาเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิมจาก 88 บาทต่อกก.เป็น 105.94 บาทต่อกก. ทำให้สินทรัพย์ของบริษัทพลิกจากการขาดทุน 1,233 ล้านบาทในปี 2544 มาได้กำไรสูงถึง 1,395 ล้านบาทในปี 2546 นอกจากนี้ ผลประโยชน์อีกมหาศาลได้เข้าสู่บริษัทไทยน๊อคซ์เช่นกัน เมื่อรัฐบาลประกาศปรับภาษีสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิมจาก 5% เป็น 15% ถือเป็นการกำจัดคู่แข่งจากต่างประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทไทยน๊อคซ์ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวในเมืองไทยที่ขายแผ่นเหล็กรีดเย็นไร้สนิมด้วย สำหรับบริษัทไทย ฟิล์มอินดัสตรี่ ปัจจุบันได้เข้าถือหุ้นของบริษัทไทยคอปเปอร์ อินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TCI ซึ่งบริษัทไทยคอปเปอร์ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. จากโครงสร้างหนี้มูลค่า 11,833 ล้านบาท เหลือเพียง 2,456 ล้านบาท คือได้รับการแฮร์คัตไปสูงถึง 9,377 ล้านบาท สุริยะร่ำรวย หุ้น-ชิ้นส่วนรถยนต์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำของพรรคไทยรักไทย คนหนึ่งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ โดยเฉพาะในธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตอะไหล่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศไทยเปิดเจรจาเอฟทีเอ รวมทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อรวมกับธุรกิจของตระกูล "จุฬางกูร" ซึ่งเครือญาติกัน กลุ่มนี้มีบริษัทในเครือนับร้อยบริษัทธุรกิจหลักคือกลุ่มไทยซัมมิต ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขายให้กับค่ายรถโตโยต้า และยอดส่งออกรถยนต์ทั้งหมดก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไตรมาส3 ปี 2548 นี้ ยอกส่งออกรถยนต์ไทยอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท และคาดว่ากลุ่มซัมมิทจะได้รับอานิสงฆ์ไปเต็มๆ อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของยอดจำหน่ายทั้งหมด อีกทั้ง ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ยังได้รับประโยชน์จากการที่ไทยเปิดเจรจาเอฟทีเอ โดยเฉพาะกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่ง 2ประเทศ ได้ลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ โดยที่ไทยลดภาษีเนื้อและผลิตภัณฑ์นมให้กับทั้งสองประเทศดังกล่าว รวมไปถึงตลาดทุนของไทยเองพบว่า มีผู้ถือหุ้นตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปพัวพันกับหุ้นที่มีพฤติกรรมการซื้อขายร้อนแรงในตลาดหุ้นไม่ว่าจะเป็น EWC, BNT,PICNI และ PP นอกจากนั้นหลานชายของสุริยะ ยังถูกมองว่าเป็น nominee ให้กับเขาในการตามเก็บหุ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PTT, หรือหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง NOBLE, HEMRAJ, ROJANA ITD โดยเฉพาะ ITD จะทรงอิทธิพลในการรับงานประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ปีหน้า |
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|