หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางานเชียงใหม่ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าโฆษณา
| ผ้าพันคอ | ของชำร่วย


cmprice.com ผ้าพันคอราคาถูก ราคาส่ง เชียงใหม่ ลำพูน

บทความ,เกร็ดความรู้ > คอมพิวเตอร์ > บทความ > 8 เหตุดี-ร้ายของโลกออนไลน์ 2006
บทความ,เกร็ดความรู้ > คอมพิวเตอร์ > บทความ > 8 เหตุดี-ร้ายของโลกออนไลน์ 2006
8 เหตุดี-ร้ายของโลกออนไลน์ 2006
บทความ
 
8 เหตุดี-ร้ายของโลกออนไลน์ 2006

       เลข 8 เป็นเลขที่มีความหมายดีในบางวัฒนธรรม และก็เป็นเลขที่แฝงความหมายทางร้ายในบางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน ปีนี้อาจถือได้ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่วงการอินเทอร์เน็ตมีความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งในแง่ของความรวดเร็วในการเชื่อมต่อ ความแพร่หลายของพื้นที่ให้บริการ และคอนเทนต์ใหม่ ๆ ในทางตรงกันข้าม อินเทอร์เน็ตก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเผยแพร่ความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ เท่าที่มนุษย์เราจะพึงกระทำได้ เช่น อบรมการก่อการร้าย เผยแพร่คลิปอนาจาร ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลพวงเหล่านี้ได้ทำให้มนุษย์จำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะหลงยึดติดกับโลกเสมือนจริงมากจนเกินเหตุ
       
       เมื่อประมวลผลเหตุการณ์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาแล้ว เราขอสรุปภาพเหตุการณ์หลัก ๆ ของวงการอินเทอร์เน็ตประจำปี 2006 ดังต่อไปนี้
       
       แนวโน้มดี ๆ 4 ประการ
       
       1. ยักษ์ใหญ่ช่วยต่อเน็ตให้คนยากจน
       
       เริ่มต้นกันด้วยแนวโน้มในเชิงบวกที่เราเห็นว่าสร้างประโยชน์ให้ชาวโลกได้มาก นั่นคือ การได้เห็นยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ อินเทล กูเกิล เอเอ็มดี ฯลฯ เจียดงบประมาณส่วนหนึ่งเอามาพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศยากจน เพื่อให้ประชากรในประเทศเหล่านั้นสามารถใช้อินเทอร์เน็ตศึกษาหาความรู้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะลงทุนสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้แล้ว หลายครั้ง ยังส่งทีมงานลงไปช่วยอบรมเทคนิคในการใช้งาน และร่วมด้วยช่วยพัฒนาคอมพิวเตอร์ราคาถูกไปพร้อม ๆ กัน กับแนวคิดริเริ่มดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดก็ต้องขอปรบมือให้อย่างจริงใจ เพราะไม่ว่าอย่างไร ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็ได้ช่วยเปิดมุมมองการเรียนรู้ให้กับคนในประเทศด้อยพัฒนาได้อีกมาก นอกเหนือจากงบประมาณที่ภาครัฐของแต่ละประเทศจะได้จัดสรรมา
       
       2. คอนเทนต์ 2006 ที่ประชาชนฝันถึง
       

       ทิศทางด้านบวกของวงการอินเทอร์เน็ตอันดับที่สองเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อแรก โดยเป็นเรื่องของข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่อัดแน่นอยู่เต็มพื้นที่โลกออนไลน์ใบน้อย ๆ ยิ่งมาในปีนี้ เว็บไซต์ต่าง ๆ พากันเปิดตัวบริการใหม่ ๆ เช่น บริการหนังสือออนไลน์ของไมโครซอฟท์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว บริการเยี่ยมชมดาวอังคารแบบเสมือน - บริการแผนที่ออนไลน์จากกูเกิล พจนานุกรมออนไลน์ สารานุกรมออนไลน์ บริการฉายภาพยนตร์ในอดีตผ่านอินเทอร์เน็ต บริการข้อมูลจราจรออนไลน์ ตลอดจนสื่อสำนักต่าง ๆ ที่ร่วมขบวนเปิดสำนักข่าวบนอินเทอร์เน็ตกันมากมาย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความรู้ที่นักท่องเน็ตสามารถค้นหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

       3. เมื่อไอทีดึง VoIP มาทำเงินได้
       
       ปี 2006 ใครที่บอกว่ายังไม่รู้จัก VoIP (Voice over Internet Protocol) คงต้องบอกว่าเชยมาก แต่ก็ยังไม่สายถ้าจะทำความรู้จักกับเทคโนโลยีดังกล่าว VoIP เป็นเทคโนโลยีในการส่ง"เสียง"ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีการใช้งานมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่จัดเป็นข่าวดีสำหรับคนไอทีปีจอก็เพราะว่า ในปีนี้ VoIP ได้ถูกแปรรูปให้ใช้งานสะดวกขึ้นมาก และแพร่หลายขึ้น โดยมีหัวหอกเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น สไคป์, ยาฮู เป็นต้น ด้วยอัตราค่าโทรที่ถูกมาก เพียง 2-3 เซนต์ต่อนาที (ประมาณ 70 สตางค์ต่อนาที) ก็สามารถโทรข้ามโลกกันได้แล้ว
       
       โดยการสำรวจของบริษัทวิจัยจูปิเตอร์พบว่า ชาวอเมริกันประมาณ 20.4 ล้านครอบครัวต่างเตรียมต้อนรับบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตกันแล้ว โดยคาดว่าจะสมัครใช้บริการภายในปี 2010 ใครที่ให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตแถมยังคิดในราคาแพงกว่าคู่แข่งต่างประเทศอาจต้องรีบทบทวนนโยบายก่อนจะสาย
       
       4. บริการเสิร์ชหลากหลายตรงใจทุกคน
       

       ปีนี้ยักษ์ใหญ่ที่มีเงินถุงเงินถังพร้อมลงทุน ต่างเร่งหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีมาเปิดบริการค้นหาข้อมูลกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ที่นำเอาเทคโนโลยีของ Blinkx.tv มาสืบค้นวิดีโอออนไลน์บนเว็บพอร์ทัล MSN หรือเสิร์ชเอนจินน้องใหม่อย่าง "ChaCha" (ชาช่า) ของสองนักธุรกิจอเมริกัน ที่เลือกใช้การจ้างนักศึกษาประมาณ 3,000 คนมาช่วยคัดกรองผลการค้นหาข้อมูลให้ตรงใจกับผู้ใช้มากที่สุด เช่นเดียวกับบริการค้นหาข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทางโอเปราได้ติดตั้งซอฟต์แวร์เสิร์ชกูเกิลลงบนเว็บเบราเซอร์ของทางค่าย เช่นเดียวกันโนเกียที่เลือกซอฟต์แวร์ของยาฮูติดตั้งลงในมือถือเอ็นซีรีย์ส และ S60 ด้วย โดยจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ พร้อมภาพและข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม

       ผ่านไปแล้วกับเรื่องดี ๆ ของวงการอินเทอร์เน็ต 2006 แต่เหรียญมีสองด้าน ดาบมีสองคม ฉันใดก็ฉันนั้น วงการอินเทอร์เน็ต 2006 ก็มี 4 มารร้ายออนไลน์แผลงฤทธิ์อยู่เช่นกัน โดยในปีนี้ต้องบอกว่าร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม และเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้เสียด้วย เริ่มต้นกันที่
       
       1. อาชญากรออนไลน์ ภัยมืดที่คืบคลาน
       

       ปีนี้กระแสข่าวไวรัสตัวร้ายเงียบลงไปมากเลยทีเดียว มีเพียงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ MyWife และ Kamasutra แพร่ระบาดหนัก ๆ หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าโลกออนไลน์จะตกอยู่ภายใต้เงามืดตัวใหม่ที่มีชื่อว่า ฟิชชิ่ง หรือก็คือการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตที่อาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการหลอกลวงเหยื่อให้เผลอส่งข้อมูลทางการเงินให้กับอาชญากร สำหรับภาพรวมของภัยฟิชชิ่งในปี 2006 พบว่า สถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้รับอีเมลฟิชชิ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 2004 ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฟิชชิ่งนั้น คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
       
       แม้ว่าผู้บริโภคยุคนี้จะเริ่มรู้เท่าทัน แต่กลุ่มอาชญากรออนไลน์ก็ไม่ลดละความพยายาม ยังคงหาหนทางใหม่ ๆ มาหลอกผู้บริโภคต่อไปอีกเรื่อย ๆ ซึ่งหนทางแก้ไขปัญหานี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่นอนตายตัว มีเพียงบริษัทด้านไอทีที่เร่งพัฒนาเครื่องมือในการสะกัดกั้นออกมาเท่านั้น

       2. เมื่อลูกหลานตกเป็นเหยื่อคลิปลามก
       
       เรื่องราวฉาวโฉ่ของวงการอินเทอร์เน็ตอันดับต่อไปหนีไม่พ้น ความนิยมในการถ่ายคลิปวิดีโอที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2006 โดยใช้กล้องดิจิตอลจากโทรศัพท์มือถือหรือเว็บแคมเป็นอุปกรณ์บันทึกภาพและโหลดภาพขึ้นบนอินเทอร์เน็ต เหยื่อจากภัยร้ายดังกล่าวมีทั้งผู้ถูกลอบถ่าย และกลุ่มผู้ชมที่เสพติดสื่อชนิดนี้จนผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น คลิปวิดีโอของบริทนีย์ สเปียร์สกำลังเรอมีผู้โหลดไปชมสูงสุดถึง 3 ล้านครั้ง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเกินความคาดหมาย หรือกระแสแคมฟร็อกที่กำลังทำให้ผู้ใหญ่หลายรายวิตกอยู่ในขณะนี้
       
       ไม่เพียงแต่ภาพประหลาด ๆ ของคนดัง แต่คลิปอนาจารเด็กก็เป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่แพร่หลายอยู่บนด้านมืดของอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน ตัวเลขของกลุ่มเฝ้าระวังทางอินเทอร์เน็ต พบว่า ประเทศไทยมีการเผยแพร่ภาพการล่วงละเมิด"เด็ก" บนอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลกด้วย โดยเป็นรองเพียง สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ญี่ปุ่น และสเปน และมีความเป็นไปได้ว่า อันตรายจากคลิปวิดีโอจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2007 ที่จะมาถึงนี้
       
       3. โลกที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร
       
       สำหรับมารร้ายในข้อนี้ จัดว่าเป็นมารที่มีอำนาจสูงสุดในแต่ละประเทศ นั่นก็คืออำนาจรัฐ จะเห็นได้ว่าหลายประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง หลายครั้งควบคุมการนำเสนอข่าว บทความ หรือกระทู้แสดงความคิดเห็นข้อความทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเจ้าพ่อวงการไอทีอย่างบิล เกตส์ได้เคยกล่าวถึงกรณีนี้เอาไว้ว่า "รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไปในยุคอินเทอร์เน็ต"
       
       เช่นเดียวกับซีอีโอของกูเกิลอย่างอิริค ชมิดต์ ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า "ภัยที่ร้ายแรงที่สุดของโลกออนไลน์ก็คือรัฐบาล เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งจากภาครัฐได้เลย"

       4. ยึดอินเทอร์เน็ตเป็นสามัญของชีวิต
       
       อินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือของโลกแห่งเทคโนโลยี บนเวทีแห่งนี้เมื่อมีคนเข้ามาชุมนุมกันมากเข้า ๆ มันก็กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย หลายคนเข้ามาและยึดติดกับภาพลวงตาบนโลกออนไลน์จนทำให้เข้าใจว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่จะกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้คือการหนีห่างจากสังคม เพื่อไปหมกตัวอยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยม
       
       ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้มีการเปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดอินเทอร์เน็ตออกมาบ่อยครั้ง ทำให้พบว่าผู้ที่ยึดติดกับอินเทอร์เน็ตมีทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยกิจกรรมที่นักท่องเน็ตส่วนมากมิอาจพลาดนั่นคือการแชต (Chat) แต่กิจกรรมดังกล่าวก็นำมาซึ่งปัญหาการล่อลวงด้วยอีกทางหนึ่ง
       
       พฤติกรรมการเล่นอินเทอร์เน็ตของประชาชนในปัจจุบัน กำลังเป็นที่เฝ้าจับตาของกลุ่มจิตแพทย์ผู้ต้องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภัยของอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อว่าในปี 2007 จะมีรายงานผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์อีกหลายฉบับเลยทีเดียว
       
       ผ่านไปแล้วกับการสรุปภาพรวมอินเทอร์เน็ตปี 2006 แน่นอนว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์เราสร้างไว้เพื่ออำนวยสะดวกให้กับตนเอง ดังนั้น ชาวไอทีปี 2006 ที่กำลังจะก้าวไปสู่ปี 2007 จะต้องรู้เท่าทันภัยอันตรายต่าง ๆ เหล่านี้เอาไว้ พร้อมกันนั้นก็ต้องสามารถหยิบเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยเช่นกัน
       
       ทีมงานผู้จัดการออนไลน์


บทความจาก : ผู้จัดการออนไลน์

 

ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี