งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอทีแฟร์ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้วสำหรับธุรกิจไอทีของไทย ที่เป็นกลุ่มคอนซูมเมอร์ไอที หรือผู้ใช้งานทั่วไปจะได้เข้ามาเดินชมงาน เพื่อดูสินค้าไอทีใหม่ๆ และเลือกซื้อสินค้าไอทีในราคาโปรโมชั่นที่ถูกกว่า หรือได้ของแถมมากกว่าร้านขายปลีกทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นงานที่รู้จักกันดีเช่น คอมมาร์ท และคอมเวิล์ด ที่จัดโดยภาคเอกชน และไอซีที เอ็กซ์โป ที่ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดขึ้น โดยแต่ละงานก็พยายามสร้างจุดเด่นให้กับเป็นที่ดึงดูดผู้เข้าชมงาน ทั้งการทำโปรโมชันราคาสินค้า การจัดนิทรรศการด้านไอที ที่เอาเทคโนโลยีล่าสุดมาโชว์ และงานประกวดผลงานด้านไอที เป็นต้น สินค้าไอทีเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ จากความผันผวนทางเศรษฐกิจหรือการเมือง เพราะเป็นของที่คนทั่วไปมองแล้วว่า เอามาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานและการเรียน ปัจจัยที่ทำให้คนใช้ไอทีเพิ่มส่วนหนึ่งมาจาก อินเทอร์เน็ตมีการพัฒนา อีกทั้งข้อมูลข่าวสาร และการติดต่อสื่อสารส่วนมากอยู่บนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าเข้าถึงโลกไซเบอร์แห่งนี้ รวมไปถึงการที่รูปแบบการใช้ชีวิต ขณะนี้ เปลี่ยนไปเป็นแบบดิจิตอล การฟังเพลงต้องมาจากเครื่องเล่นเพลง MP3 ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอล ถ่ายวีดิโอคลิปด้วยแคมโค้ดเดอร์ และเอาไปแบ่งปันกันบนเว็บไซต์ ที่เป็นชุมชนออนไลน์ นายวิโรจน์ อัศวรังสี ผู้จัดการทั่วไป และบรรณาธิการอาวุโส บริษัท ดิแอสไพเรอร์กรุ๊ป จำกัด ให้ความเห็นในฐานะผู้จัดงานคอมเวิล์ดว่า จากการจัดงานคอมเวิล์ด 2007 เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคยังตรงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนเริ่มงาน ได้แก่ คนหันมาซื้อโน้ตบุ๊คที่มีซีพียูแบบดูอัลคอร์มากขึ้น มีหน่วยความจำสูง ฮาร์ดดิสก์ความจุมากๆ และ มีกราฟฟิคการ์ด หรือ การ์ดจอ เพื่อรองรับการใช้งานระบบปฏิบัติการตัวใหม่นั่น คือ วินโดวส์ วิสต้า ผู้จัดการทั่วไป บ.ดิแอสไพเรอร์กรุ๊ปฯ อธิบายว่า เมื่อลงวินโดวส์ วิสต้าจริงๆ แล้วกลับเป็นว่า วิสต้ากินทรัพยากรเครื่องสูงมากกว่าที่คาด หากผู้ใช้ต้องการรูปแบบการทำงานแสดงผลแบบแอโรว์ 3 มิติ จึงทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนมาก ยังลังเลที่จะเลือกใช้โดยการอัพเกรดเครื่องเดิมที่มีอยู่ โดยจากผลการสำรวจของนิตยสารพีซีเวิล์ดในสหรัฐอเมริกา พบว่า มีผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่คิดจะอัพเกรดเครื่องพีซี และซอฟต์แวร์ให้รองรับวินโดวส์ วิสต้าเพียงแค่ 8% เท่านั้น เท่ากับว่าคนจะมองหาพีซีที่มีสเปคสูงขึ้น เพราะราคาของสินค้าไอทีช่วงนี้ลดลงเร็วมาก “ที่น่าจับตามาก คือ การซื้อจอมอร์นิเตอร์ ที่คนใช้งานโน้ตบุ๊คพีซีจะหันมาทำงานแบบ 2 จอ ทำงานและดูข่าวไปด้วยพร้อมกัน ส่วนทางกับก่อนหน้านี้ตลาดโน้ตบุ๊คขายจอไม่ได้ และราคาของจอก็ถูกลงมากผู้ผลิตหลายรายต่างหันมาทำโปรโมชันแลกซื้อจอกับคนที่ซื้อโน้ตบุ๊ค โดยการทำงานแบบ 2 จอภาพสามารถใช้งานได้จากเครื่องพีซีที่มีกราฟฟิคการ์ดสมรรถนะสูง หรือ มีหน่วยความจำไม่ต่ำกว่า 256 MB VRAM อีกทั้งในส่วนของจอภาพที่เป็น LCD TV ก็มีราคาถูกลงมากขนาดจอ 32 นิ้ว ราคาอยู่ที่ 29,900 บาทจากที่เคยขายกันที่หลักแสนบาท เมื่อ 2-3 ปีก่อน” นายวิโรจน์ กล่าว ผู้จัดการทั่วไป บ.ดิแอสไพเรอร์กรุ๊ป ให้ความเห็นต่อว่า ที่น่าแปลกใช้เห็นจะเป็นการที่มีคนมาซื้อเดสก์ท็อปพีซีระดับราคา 30,000 บาท เพื่อนำไปใช้ดูหนัง ฟังเพลงมากขึ้น โดยผู้บริโภคคงมองว่าน่าจะคุ้มกับการลงทุนเมื่อตอบความต้องการได้ดีกว่า นี่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดโต เช่นเดียวกับตลาดอุปกรณืเสริมไอทีที่ ขณะนี้ราคาลดลงมาก อาทิ แฟลชไดร์ฟขนาดความจุ 2 GB ราคาอยู่ประมาณ 600 บาท เครื่องเล่นเพลงที่กำลังก้าวสู่ยุคของเครื่องเล่น MP4 ที่สามารถเล่นไฟล์วีดิโอได้ นายวิโรจน์ ให้ความเห็นเสริมว่า งานไอทีส่วนมากจะเน้นการขายของมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซที) ก็เคยได้กล่าวไว้เมื่อวันเปิดงานว่า “อยากเห็นผลงานด้านเทคโนโลยีไอทีที่มาจากฝีมือคนไทยบ้าง” ก็ได้น้อมรับเอาคำชี้แนะมาใช้ บริษัทฯ อยากจัดงานที่ทำให้คนนำไอทีที่มีอยู่มาสร้างรายได้ ติดอยู่ที่งานวิจัยส่วนมากอยู่กับหน่วยงานรัฐ และอ่อนแอในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนสนใจดูน้อย ก็อาจจะมีการร่วมมือเพื่อนำงานวิจัยที่น่าสนใจมาแสดงมากขึ้น เชื่อว่าภายในปี 2550 คงจะได้เห็นแน่นอน ด้าน นายปฐม อินทโรดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ.อาร์.อินฟอเมชั่น แอนด์ พับลิเคชั่น จำกัด ให้ความเห็นในฐานะคนจัดงานคอมมาร์ตว่า เห็นชัดว่าปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ไม่กระทบกับกำลังซื้อสินค้าไอทีของผู้บริโภค เพราะคนรู้แล้วว่าเทคโนโลยีไอทีสามารถยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้งในตลาดผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้ไอทีอีกมาก ทำให้ตรงนี้เป็นการผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าไอที ทำโปรโมชันราคากระตุ้นตลาด อีกทั้งการผลิตสินค้าจำนวนมากยังช่วยให้ต้นทุนลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกกว่าเมื่อก่อนมาก เช่น ภายในงานคอมมาร์ท ไทยแลนด์ 2007 ครั้งนี้จะมีโน้ตบุ๊คราคาไม่เกิน 10,000 บาทจำหน่ายในงาน ฃ ผจก.ทั่วไป บริษัท เอ.อาร์ฯ ให้ความเห็นอีกว่า เทรนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้ จะไม่พูดถึงโน้ตบุ๊คเพราะติดลมบนไปแล้ว แต่จะมองไปที่ พีดีเอโฟน ที่จะเข้ามาสร้างสีสัน อาทิ การใช้งานระบบแผนที่จีพีเอส เพื่อระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม การก้าวสู่ยุค High Definition ได้แก่ การใช้กล้องดิจิตอลที่มีความละเอียดสูงกว่า 10 ล้านพิกเซล ทำให้ตลาดกล้องกลับมาคึกคัก หลังใช้กล้อง 5-6 ล้านพิกเซลมา 2-3 ปีแล้ว ถือเป็นการกระตุ้นตลาดกล้องทดแทน การที่ผู้ใช้หันมาเลือกจอภาพที่มีขนาดใหญ่ และเป็นจอไวด์สกรีน ถือเป็นรอยต่อของสินค้าใหม่แบบนี้ รวมถึงสินค้าที่เป็นอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายตามบ้าน ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น นายปฐม กล่าวถึงการจัดแสดงผลงานไอทีฝีมือคนไทยว่า ที่ผ่านมางานคอมมาร์ตมีการนำเอาผลงานของนักศึกษามาจัดแสดงเช่นกัน แต่ว่าไม่ได้ทำต่อเนื่องเพราะต้องดูว่า งานที่จะเอามาแสดงเป็นที่น่าสนใจแก่สังคมหรือไม่ เช่น ในงานครั้งนี้จะมีการนำเอาผลงาน โปรแกรมป้องกันแคมฟรอก ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตมาร่วมแสดง โดยไม่อยากให้คนไอทีหลงกระแสไปทำอะไรที่ไกลตัวแล้วสุดท้ายไม่ใช่ไอที ยอมรับว่าการที่เอกชนจัดงานย่อมมีข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายและพื้นที่จัดงาน จึงไม่สามารถจัดแสดงผลงานคนไทยได้ “ที่สำคัญงานวิจัยและพัฒนาด้านไอทีของไทยยังขาดแรงเสริม ในการผลักดันและต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่การผลิต ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการให้การสนับสนุน หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ รัฐบาลของสหรัฐฯ จะให้เงินทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วนำงานวิจัยมาแข่งกัน คนชนะจะได้นำงานไปพัฒนาเพื่อขายโดยรายได้ทั้งหมดจะถูกแบ่งกลับมาที่สถาบันการศึกษาด้วย รูปแบบการทำงานลักษณะนี้จะช่วยให้ประเทศก้าวสู่การเป็นนักพัฒนามากขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นเป็นผู้ใช้อยู่ฝ่ายเดียว” ผจก.ทั่วไป บริษัท เอ.อาร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย จากมุมมองของคนจัดงานไอทีแฟร์ยอดนิยมของเมืองไทย เกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มของเทคโนโลยีไอที ทิศทางของตลาด ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทย ที่ยังนิยมของถูกและดี แต่ที่สำคัญ คือ การให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีที่มาจากฝีมือคนไทย ที่ภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดงานแสดงผลงานอย่างเดียว ขณะที่ภาครัฐก็มีจุดอ่อนในเรื่องประชาสัมพันธ์ กับการจัดงานที่ดึงดูดใจคนเข้าชม น่าสนใจว่า หากทั้ง 2 ส่วนนี้เอาจุดเด่นมารวมกัน คนไทยอาจมีงานนิทรรศการไอทีดีๆ แบบเมืองนอก เกิดขึ้นมาอีกครั้งเหมือนกับงานไอซีที เอ็กซ์โป ครั้งแรกก็เป็นได้ ... จุลดิส รัตนคำแปง itdigest@thairath.co.th
บทความจาก : ไทยรัฐ |