แม้ว่าการเล่นเกมในสายตาผู้ปกครองถูกมองเป็นเรื่องไร้สาระ เนื้อหาเกมมีความรุนแรง ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เกมจำนวนไม่น้อยที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ สร้างความบันเทิงควบคู่กับสาระ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้กับผู้เล่นด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองควรมองให้ลึกถึงต้นตอปัญหาแท้จริง เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านลบของเยาวชน โดยไม่ผลักภาระรับผิดชอบให้ฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อเกมออนไลน์ถูกตัดสินให้เป็นจำเลยสังคม ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่หล่อหลอมพฤติกรรมด้านลบกับเยาวชน เมื่อเร็วๆ นี้ เนคเทคจึงจัดการสัมมนา อินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์สร้างสรรค์หรือมอมเมา ขึ้น โดยเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมถ่ายทอดมุมมองต่อปัญหา และมาตรการควบคุมการเล่นเกมออนไลน์ นายเลิศชัย กันภัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อ ประมาณ 7 ปีที่แล้ว ก่อนเปิดบริการเกมออนไลน์ เอเชียซอฟท์เริ่มต้นจำหน่ายเกมเกี่ยวกับการศึกษา คัดเกมไม่มีความรุนแรง ยุคแรกจำหน่ายเกมกล่อง ลักษณะการเล่นเกมเล่นได้ทีละคน แม้ว่าจะเป็นเกมต่อสู้ปนอยู่บางส่วนแต่ปัญหากลับไม่เกิด ต่อมาอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท บริษัทตัดสินใจนำเข้าเกมแร็คนาล็อค ถือเป็นเกมออนไลน์นำเข้าเกมแรกในประเทศไทย ได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นจุดเริ่มต้นเกมออนไลน์ในทุกวันนี้ กก.ผจก.บริษัทเอเชียซอฟท์ฯ กล่าวต่อว่า “ขณะนี้มีเกมออนไลน์เปิดตัวแล้วไม่ต่ำกว่า 50 เกม แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกเกม แม้ว่าค่ายเกมจะให้บริการฟรีสำหรับผู้เล่น เพราะตลาดเกมออนไลน์เปลี่ยนไปมากจากยุคแรก ที่ผู้เล่นตื่นเต้นกับความใหม่รับบริโภคทุกเกมที่นำเข้าในตลาด หันมาใส่ใจเนื้อหาเกมมากกว่าแต่ก่อน และเริ่มแบ่งกลุ่มเล่นเกมอย่างชัดเจน สร้างสังคมส่วนตัวเฉพาะกลุ่ม โดยความต้องการอันหลากหลาย ทำให้ค่ายเกมต้องสรรหาคอนเทนท์แปลกใหม่ ไม่ใช้ความรุนแรงและสร้างสรรค์ เกมออนไลน์เป็นของเล่นใหม่ มีรูปแบบความบันเทิงที่เข้าใจในตัวผู้เล่น เพราะสังคมในเกมออนไลน์ใกล้เคียงชีวิตจริงมากที่สุด ผู้เล่นเกมสามารถพูดคุย นัดพบ ทำกิจกรรมต่างๆได้ตามใจปรารถนา หรือกระทำสิ่งที่ในชีวิตจริงไม่สามารถทำได้ เช่น อาชีพพ่อค้า นักวิทยาศาตร์ นักร้อง นักแสดงชื่อเสียงโด่งดังในโลกเสมือน ที่บันดาลชีวิตให้พวกเขาเปรียบเหมือนฮีโร่ ทำให้การกระทำบางอย่างอาจแหวกแนวไป แต่ทางค่ายเกมต่างคุมเข้มพฤติกรรม และคำพูดที่แสดงออกภายในเกมอย่างเคร่งครัด โดยไม่ละเลยให้เป็นปัญหาบานปลาย” นายเลิศชัย กล่าวด้วยว่า เมเปิ้ล สตอรี่ คือตัวอย่างเกมออนไลน์สาระบันเทิงฝีมือคนไทย ที่กำลังโด่งดังในประเทศสิงคโปร์ โดยผู้เล่นเกมส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนในครอบครัวคือ พ่อ แม่ และลูก เพราะพวกเขาให้ความสำคัญในการแบ่งเวลาเล่นเกมให้เป็นเวลาสำหรับครอบครัว จึงไม่มีปัญหาเกมมอมเมาเยาวชน อยากให้หน่วยงานและผู้ปกครองในสังคมไทย ค้นหาและทำความเข้าใจปัญหาพฤติกรรมลูกหลานอย่างแท้จริง ไม่โทษผู้ผลิตเกมแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้าน นายสมา โกมลสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายสารคดี บริษัท มีเดีย สตูดิโอ กล่าวว่า “เกมออนไลน์กำลังได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน การสร้างสรรค์หรือมอมเมาส่วนหนึ่งอยู่ที่เนื้อหาเกม อีกส่วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับตัวเยาวชนเอง รวมทั้งสื่อมวลชนผู้สร้างปมปัญหาขึ้น เกมออนไลน์ประสบปัญหาเรื่องคอนเทนท์สำหรับผู้เล่นเด็กและเยาวชน ปัญหาเกมออนไลน์แบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องสำคัญคือ ความรุนแรง และเพศ จึงต้องมีการจัดเรตติ้งเกม แต่พบอุปสรรค์ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่ลงทะเบียนเล่นเกมได้ เพราะผู้เล่นเกมบางรายใช้เอกสารปลอมสมัครลงทะเบียน เมื่อค่ายเกมเองก็ตรวจสอบไม่ได้ การเล่นเกมในโลกเสมือนของเยาวชน ก็จะพบคนแปลกหน้า ต่างนิสัย ถ้าพบคนดีเสมอตัวไม่เสียหาย หากโชคร้ายเจอคนประเภทหลอกลวง อาจชักนำไปทางมิชอบจนถึงขนาดเสียทรัพย์และถูกทำร้ายร่างกายได้” “ตัวอย่างเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหารุนแรงเช่น เกม Manhaunt กล่าวถึงฆาตกรโรคจิตอาละวาดหาทางออกจากคุก ที่ให้ผู้เล่นตัดสินใจเลือกอาวุธและวิธีการฆ่าด้วยตนเอง เป็นเกมที่ส่อเจตนาสอนการฆ่าคนอย่างเลือดเย็น โดยประเทศอังกฤษตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องติดเรตติ้งเกม สั่งห้ามจำหน่ายเกมนี้เด็ดขาดไม่ผ่านการพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในประเทศไทยกลับมีวางจำหน่าย และผู้เล่นสามารถซื้อได้ง่ายไม่มีการกลั่นกรองอายุจากผู้ขาย เกมขายเซ็กส์ประเภทออฟไลน์ ในประเทศญี่ปุ่นมีวางขายมากกว่า 1,000 เกมในท้องตลาด ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเล่นอยู่คนเดียว รูปแบบเกมซ้ำซากเบื่อง่าย แต่เมื่อเกมลามกอยู่ในแบบออนไลน์จะน่าสนใจ เพราะมีเพื่อนเข้ามาทักทาย ชวนเล่นกิจกรรมต่างๆ ในเกม เช่น พูดคุย เดินเล่น ตีสัตว์ประหลาด จนสนิทสนมในระดับหนึ่ง เกมจะมีคำสั่งเริ่มต้นด้วย กอด ลูบ คลำ จูบ จนถึงขั้นร่วมเพศ ความรุนแรงไม่หยุดเท่านี้ผู้เล่นสามารถต่ออุปกรณ์พ่วงกับสรีระ โดยฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมการเล่นที่ส่งผลในชีวิตจริงด้วย”ผอ.ฝ่ายสารคดีกล่าว ด้าน นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ก่อนพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ออกยังไม่มีมาตรการดูแลเว็บไซต์อย่างเป็นรูปธรรม แต่มีมาตรการควบคุมการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและการเล่นเกมในเรื่อง การกำหนดอายุผู้เล่น เวลาทำการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จัดโครงการอินเทอร์เน็ตสีขาว รณรงค์ให้ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตใช้ในสิ่งที่เหมาะสม และการจัดเรตติ้งเกม โดยศึกษาและดูงานจากต่างประเทศเพื่อยึดเป็นแนวทางกำหนดนโยบายต่อไป ผอ.สำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากมาตรการข้างต้น ไอซีทีร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมในการพัฒนาสื่อ โดยติดต่อกับโรงเรียนจัดกิจกรรมเตือนภัยเกมออนไลน์ ทำการผลิตเกมตัวอย่างผลักดันสังคม ให้เข้าสู่ระบบการผลิตเกมอย่างสร้างสรรค์ และการสร้างศูนย์บ่มเพาะ เชิญชวนเด็กและเยาวชนเข้ามาเรียนเทคนิคผลิตเกมหรือนวัตกรรมใหม่ให้กับโลกออนไลน์ เกมออนไลน์เชื่อมโยงจินตนาการของผู้เล่นเข้าสู่โลกเพ้อฝัน หากผู้เล่นคนใดสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะเปลี่ยนผู้แพ้ในชีวิตจริงเป็นคนเก่งของโลกเสมือน ความสุขนี้ทำให้เยาวชนหลงใหลผูกพันถอนตัวไม่ได้เพราะความเป็นเด็กที่ใช้อารมณ์มากกว่าความคิด การที่ผู้ปกครองแบ่งปันเวลางานเล็กน้อย ถามไถ่ทุกข์สุข และร่วมกิจกรรมยามว่างกับลูกบ้าง น่าจะเป็นทางออกดีที่สุดสำหรับปัญหานี้... ศศิธร นรินทรางกูร itdigest@thairath.co.th |