หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางานเชียงใหม่ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าโฆษณา
| ผ้าพันคอ | ของชำร่วย


cmprice.com เครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!

บทความ,เกร็ดความรู้ > คอมพิวเตอร์ > บทความ > สะท้อนภาพ “โทรคมนาคมไทย” ผ่าน สายตานักวิชาการอิสระ
บทความ,เกร็ดความรู้ > คอมพิวเตอร์ > บทความ > สะท้อนภาพ “โทรคมนาคมไทย” ผ่าน สายตานักวิชาการอิสระ
สะท้อนภาพ “โทรคมนาคมไทย” ผ่าน สายตานักวิชาการอิสระ
บทความ
 

ในแวดวงโทรคมนาคมของประเทศไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ ดร.อนุภาพ ถิรลาภนักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม หรือ ที่หลายคนเรียกกันติดปากว่าอาจารย์อนุภาพผู้ได้ชื่อว่าเป็นอีก 1 ในบุคคลแถวหน้าในกลุ่มนักวิชาการด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย

 

 

โดยในเกือบทุกเวทีของการระดมสมอง กลั่นกรองความคิดเพื่อพัฒนาโทรคมนาคมไทย หากไม่มีชื่ออาจารย์อนุภาพแล้ว เวทีนั้น ย่อมเป็นเวทีที่ขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากขาดความรู้ความคิดที่ครบเครื่องและตรงไปตรงมาของเขา

 

 

อาจารย์อนุภาพเป็นคนโทรคมนาคมที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทั้งในเชิงเทคนิค การปฏิบัติและในเชิงนโยบาย หรือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโทรคมนาคมของประเทศ รวมทั้งมีความสามารถการถ่ายทอดความรู้และความคิดออกมาอย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย

 

 

วันนี้ IT Exclusive จึงไม่ลังเลที่จะต้อนรับอาจารย์อนุภาพมาเป็นแขกรับเชิญของเราในสัปดาห์นี้ ผู้สนใจเชิญติดตามได้ ณ บัดนี้...

 

IT Exclusive: อยากทราบถึงประวัติการทำงานก่อนจะมาถึงทุกวันนี้?

 

 

อนุภาพ: จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้วรู้สึกว่า ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเท่าไร เพราะว่า รัฐศาสตร์จะออกไปทางด้านการเมืองค่อนข้างมาก เลยคิดอยากจะมาเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียนจบไปทำงานที่ยูเอ็นสักพัก และคิดว่า อยากจะเรียนหนังสือต่อ โดยหนทางเดียวที่ มองเห็นในขณะนั้น การเรียนหนังสือโดยไม่ต้องเสียเงิน คือ ขอทุน และโอกาสที่จะได้ทุน คือ รับราชการ เพราะทุนเยอะ

 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานที่มีอยู่บ้างเมื่อเทียบกับข้าราชการทั่วไป เลยคิดว่า โอเค ออกจากยูเอ็น ที่ในขณะนั้น ได้เงินเดือนประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท เพราะเมื่อมารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เงินเดือน 2,675 บาท แต่ไม่เป็นไร เพราะอยากไปเมืองนอก ต่อมาสอบชิงทุนและได้ไปเรียนต่อเมืองนอกตามที่ตั้งใจไว้

 

 

พอไปเรียนจริงๆ ตอนแรกถูกส่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์แรงงาน แต่พอเรียนเศรษฐศาตร์แรงงานแล้วรู้สึกว่า โอเค ตอบโจทย์ได้ส่วนหนึ่ง เพราะมีอะไรต่างๆ มากขึ้น แต่ว่า คิดว่า คนเรียนด้านแรงงานมีเยอะแล้ว เลยเริ่มให้ความสนใจทางเทคโนโลยี ดังนั้น ทีซิสจึงทำเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีต่อการจ้างงาน ที่แม้จะสนใจเทคโนโลยีแต่ต้องเรียนตามที่ถูกส่งไปเรียน หลังจากนั้น เมื่อจบปริญญาโทต่อปริญญาเอกเลยเปลี่ยนไปเรียนด้านเทคโนโลยี โดยโฟกัสด้านเศรษฐศาตร์และเทคโนโลยีต่างๆ

 

 

คราวนี้ พอเรียนจบมาแล้วกลับมาทำงานที่ทีดีอาร์ไอประมาณ 2-3 ปี โดยอยู่ฝ่ายวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์ ที่ในขณะนั้น ยังไม่มีฝ่ายสารสนเทศ ทำให้ขณะนั้น วิทยาศาสตร์ครอบคลุมพวกนี้ ทั้งหมด หลังจากนั้น จึงไปทำอยู่เนคเทคในตำแหน่งผู้อำนวยการทางด้านเทคนิคอุตสาหกรรม ดูแลด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ของเนคเทค

 

 

ต่อมาจึงไปทำงานที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเป็นอาจารย์สอนที่ลาดกระบังฯ และทำวิจัยในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากพอสมควร แต่เมื่อทำไปประมาณ 10 ปี เริ่มเบื่อ เลยหันไปทำงานด้านโทรคมนาคม เพราะอิเล็กทรอนิกส์จะไปเกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมอยู่ซีกหนึ่ง โดยเฉพาะโปรเจกต์ที่ทำให้เริ่มหันไปให้ความสนใจด้านโทรคมนาคม คือ โทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ที่ขณะนั้น ทรู หรือ เทเลคอมเอเชีย ให้เนคเทคเป็นคนศึกษาทางด้านผลกระทบจึงได้เข้าไปร่วมทำ            

 

 

หลังจากนั้น จึงเริ่มเปิดคอร์สด้านการบริหารการจัดการโทรคมนาคมที่ลาดกระบัง โดยเป็นระดับมินิเอ็มบีเอ อย่างไรก็ตาม ในตอนหลังมหาวิทยาลัยมหิดลอยากเปิดหลักสูตรดังกล่าว ระดับปริญญาโท จึงออกจากลาดกระบังไปอยู่มหิดลและทำคอร์สนี้ อยู่ประมาณ 19 รุ่น 9 ปี จึงไปเริ่มทำงานคอนเซ้าท์มากขึ้น ส่วนงานวิจัยนั้น หลัง 10 ปี ก็เลิกไป และมาทำงานด้านโทรคมนาคมโดยตลอด

 

 

จนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและบริการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่เทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมและการกระจายเสียงเริ่มหลวมรวมเข้าหากัน ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเรียนรู้และสนใจไม่ใช่ดูเฉพาะโครงข่าย แต่จะต้องรวมไปถึงเนื้อหาที่ผ่านโครงข่าย และกฎระเบียบก็เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ที่ในช่วงนั้น ได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่เละเทะมาก แต่ก็ทำไม่ได้ทั้งหมดตามที่ใจอยากทำ โดยทำได้เพียงระดับหนึ่ง

 

 

แนวคิดและคิดว่า สมควรจะทำ คือ บ้านเราจะต้องเปลี่ยนทิศทางการกำกับ ที่แนวคิดยังจำกัดอยู่ในแนวดิ่ง คือ เป็นโทรคมนาคมสาขาหนึ่งและบรอดแคสติ้งสาขาหนึ่ง ดังนั้น การที่กำกับดูแลแบบนี้ ทำให้เสียไป 3 สิ่ง ที่ในต่างประเทศเปลี่ยนไปเป็นการรวมกันแล้วกำกับ อย่างไรก็ตาม 3 สิ่งที่ประเทศไทยเสียไปจากการกำกับดูแลแบบเดิม คือ ไม่สามารถบริหารทรัพยากรการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

ตรงนี้ เมื่อใดที่แบ่งเป็นโทรคมนาคมและบรอดแคสติ้งสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดเรื่องแรก คือ ความถี่วิทยุ ที่จะต้องแบ่งเป็น 2 ซีก แบ่งไปฝั่งละเท่าไรก็ใช้ แต่ในความเป็นจริงเทคโนโลยี 2 ตัว ใช้ร่วมกันแล้ว โดยในความถี่เดียวกันสามารถใช้ร่วมกันได้เลยโดยไม่ต้องแยกออกจากกัน แต่พอแยกออกจากกันและเมื่อความถี่ถูกแบ่งสิ่งที่สามารถประหยัดได้ด้วยการใช้ร่วมกันก็ไม่เกิดขึ้น ต่อมา คือ ความถี่ซีกหนึ่งใช้หมด แต่อีกซีกหนึ่งใช้ไม่พอ จึงเกิดความถี่ฟันหลอ นอกจากนั้น ยังมีเลขหมายโทรคมนาคม ที่เป็นทรัพยากรอีกตัวหนึ่งที่สำคัญ แต่ไม่สามารถใช้ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ

 

 

 

เรื่องที่ 2 เป็นการกำกับทางด้านเนื้อหาให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดก็ไม่มี เพราะเมื่อแบ่งแยกกันซีกด้านโทรคมนาคมก็จะบอกว่า เรื่องเนื้อหาไม่เกี่ยว ดูแลเฉพาะโครงข่าย ส่วนด้านบรอดแคสติ้งก็บอกว่า ดูเหมือนกันนะ แต่ดูเฉพาะเนื้อหาวิทยุ-โทรทัศน์ ดังนั้น จึงมีคำถามว่า แล้วข้อความบนอินเทอร์เน็ตใครดูแล ไม่มี เอสเอ็มเอสใครดู วีดีโอคลิปผ่านโทรศัพท์มือถือใครดู ไม่มี และเดี๋ยวจะลามไปถึงทีวีโมบายและเรดิโอโมบายต่างๆ

 

 

อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ ถ้ามีการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ในการกำกับดูแลจากแนวดิ่ง 2 แนว ไปเป็นแนวราบ ที่แนวหนึ่ง คือ โครงข่ายการสื่อสารและอีกแนวหนึ่ง คือ เนื้อหาผ่านโครงข่ายการสื่อสาร แค่นี้ จบแล้ว โดยไม่ต้องถกเถียงกันว่า จะเป็นเอสเอ็มเอส หรือ เป็นอะไร เพราะตราบใดที่เป็นเนื้อหาที่ผ่านโครงข่ายการสื่อสารก็จะมีคนดูแล และตราบใดที่จะเป็นโครงข่ายประเภทไหน เช่น วีโอไอพี ก็จะยังมีคนดูแล ช่องโหว่ด้านการกำกับก็จะหมดไป

 

 

ตรงนี้ แม้มีการจัดทำ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมก็ยังดูเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม เคยพูดเอาไว้ว่า เรากำลังออกกฎหมายที่เลิกใช้แล้ว ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากว่า ทำไมคิดแบบนี้และทำแบบนี้

 

 

และเรื่องที่ 3 คือ ถ้ายังแยกการกำกับดูแลแบบนี้ นอกจากจะทำให้ไม่สามารถบริหารทรัพยากรการสื่อสารให้เกิดประสิทธิ ภาพสูงสุด และไม่สามารถกำกับดูแลเนื้อหาผ่านโครงข่ายการสื่อสารแล้ว อีกเรื่องที่ยังทำไม่ได้ คือ ทำให้เกิดความประหยัดสูงสุดจากโครงข่ายที่มีอยู่แล้ว เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องของการสื่อสารทุกวันนี้ โครงข่ายทั้งหมดที่มีอยู่สามารถวิ่งได้ทุกอย่าง เช่น วิทยุชุมชน หรือ ทีวีชุมนุม ได้โดยไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่ม เพียงมีอุปกรณ์บางอย่างเท่านั้น

 

 

ยกตัวอย่างใช้โครงข่ายที่ไม่ค่อยมีใครอยากใช้งาน เช่น โครงข่ายเอ็มไอที 450 มาทำ หรือ โครงข่ายซีดีเอ็มเอ 800 มาทำ ได้อย่างสบายๆ ในชุมนุม และสามารถกำกับเรื่องของสัญญาณรบกวนได้ด้วย แต่ไม่ไม่ใช่ทำให้โครงข่ายด้านบรอดแคสติ้งจะต้องลงทุนใหม่ ส่วนโครงข่ายโทรคมนาคมก็ว่างเปล่า ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่พยายามกระตุ้นและพูดอยู่ทุกวัน คือ จะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ในการกำกับดูแลจากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบ ที่คงจะต้องอธิบายให้เข้าใจกันต่อไป

 

 

ทุกคนมุ่งที่วิธีการไม่ได้สนใจที่ผล โดยในส่วนของซีกโทรคมนาคมที่คุมโครงข่ายเป็นหลักสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะต้องการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น แต่ในซีกวิทยุ-โทรทัศน์กลับเห็นว่า ถ้าเป็นแบบนี้ โครงข่ายจะถูกซีกโทรคมนาคมกลืนหมดและตัวเองอาจจะไม่มีโอกาสแพร่เนื้อหา ที่ตรงนี้ คิดว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะสามารถเขียนเป็นข้อกำหนดได้ว่า คนที่มีโครงข่ายจะต้องทำอะไรบ้างและแบ่งสรรอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ทำแบบนี้ สิ่งที่อยากได้ คือ ประหยัดและประสิทธิภาพ หรือ ประสิทธิผล จะไม่เกิดขึ้น

 

 

คราวนี้ ย้อนกลับมาที่กระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระเพื่อควบคุมดูแลกิจการด้านนี้ ที่ในแนวคิดยังน่าจะเป็นการสรรหา โดยไม่ได้พูดเฉพาะครั้งนี้ แต่พูดมาตั้งแต่ครั้งแรก เพราะจริงๆ แล้วควรจะเป็นการสรรหาจากองค์กรภาคประชาชน ทำไมจึงคิดว่า ควรเป็นการสรรหาจากองค์กรภาคประชาชน โดยต้องย้อนกลับไปที่ครั้งแรกที่จะมีคณะกรรมการสรรหา และมาจากอาจารย์ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้ รัฐบาลและกลุ่มต่างๆ รวมเป็นคน 5 กลุ่ม แต่ไปเลือกใครไปเลือกคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม สังคม กฎหมาย เศรษฐศาตร์และอะไรต่างๆ

 

 

ในส่วนของกฎหมายและเศรษฐศาตร์พอทน แต่จริงๆ แล้วจะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาและศิลปะวัฒนธรรมเข้าไปทำไม หรือ แม้กระทั่งด้านกฎหมายและเศรษฐศาตร์ เพราะสมมุติเก่งมากด้านศาสนา ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค แต่เมื่อเข้าไปเป็น กทช. แล้ว ทำอะไรได้ จะไปจัดตารางความถี่ยังไง จะไปตกลงเรื่องอัตราค่าเชื่อมต่ออย่างไร หรือ แม้กระทั่งคนทางด้านกฎหมายที่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

 

 

ในส่วนของกฎหมายถามว่า เกี่ยวไหม ตอบเกี่ยว แต่ถ้าเป็นนักกฎหมายที่ไม่มีความรู้ในกิจการโทรคมนาคมก็สูญเปล่า ไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนคราวนี้ ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถามว่า ทำไมต้องให้องค์กรภาคประชาชนเป็นคนคัดเลือก เพราะจริงๆ แล้วองค์กรภาคประชาชน คือ คนที่ทำงานใกล้กับประชาชนมากที่สุด ใกล้ชิดมากกว่า ส.. อีก และสามารถสะท้อนผลประโยชน์ได้ดีมากที่สุด

 

 

ต่อมาคัดเลือกใคร คัดเลือกคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีอะไรบ้าง คือ กฎหมาย เศรษฐศาตร์ ธุรกิจการเงินและเทคโนโลยี แต่โดยพวกนี้ ใน 4 สาขาดังกล่าว ไม่ใช่รู้กฎหมาย หรือ เศรษฐศาสตร์เพียวๆ คือ พื้นฐานมีความรู้แบบนี้ แต่ไม่ใช่หรือนะ ต้องและมีความรู้ในกิจการการสื่อสารด้วย โดยไม่อยากใช้คำว่า โทรคมนาคม หรือ วิทยุ-โทรทัศน์ เพราะในปัจจุบันเมิร์ซเข้าหากัน ที่อาจจะต้องมีความรู้ทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไปด้วย

 

 

เพราะจะได้รู้ว่า เวลาออกกฎหมายเป็นกฎหมายเฉพาะด้านจะต้องออกอย่างไร และจะออกกฎเกณฑ์ที่ดีอย่างไร ย้อนกลับไป ตรงนี้ พอองค์กรภาคประชาชนเป็นผู้คัดเลือกคณะกรรมการ ต่อไปถึงขั้นตอนการแต่งตั้ง คิดว่า การแต่งตั้งเมื่อเป็นองค์กรอิสระจะมีองค์กรอยู่องค์กรหนึ่งที่สามารถสะท้อนประชาชนในทางอ้อมได้อีก คือ วุฒิสภา ที่ถือว่า ห่างจากกลุ่มการเมืองมากที่สุดในกลุ่มการเมือง ที่แม้จะไม่ได้ปลอดการเมือง แต่อย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับประชาชนมากกว่าคัดมา โดยให้วุฒิสภาเป็นคนแต่งตั้ง

 

 

สำหรับในส่วนของการตรวจสอบก็เช่นเดียวกัน โดยให้องค์กรภาคประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะอะไร เพราะองค์กรภาคประชาชนเป็นนักตรวจสอบชั้นเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ถอดถอนไม่ได้ ถอดถอนก็ให้วุฒิถอดถอน ดังนั้น เป็นการคานกัน โดยเมื่อองค์กรภาคประชาชนคัดมาแล้ววุฒิสภาก็ไปเลือกคนที่ดีไป แต่ถ้าไม่เอาก็จะต้องอธิบายและไปคัดมาใหม่ ส่วนกรณีถอดถอนถ้าองค์กรภาคประชาชนยื่นถอดถอน แต่วุฒิสภาไม่ถอดถอนก็ต้องอธิบาย โดยเป็นการคานอำนาจกัน

 

 

มาถึงตรงนี้ ย่อมมีคนถามว่า ถ้าเอาองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและให้บทบาทเยอะแบบนี้ ธุรกิจไม่เจ๊งหรือ จะบอกว่า ให้ไปคิดดูก่อน เพราะว่า ถ้าหากว่า องค์กรภาคประชาชนไปเลือกคนมาเป็นกรรมการ หรือ เป็นผู้ดูแลกิจการการสื่อสารทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ถ้าผู้คัดเลือกเป็นองค์กรภาคประชาชนก็ย่อมสะท้อนจิตวิญญาณของประชาชน แต่ถ้าพวกนี้ ไปทำให้ธุรกิจเจ๊งถามว่า ประชาชนได้ประโยชน์ไหม ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อยู่ดี

 

 

หรือ แม้แต่กระทั่งธุรกิจล้มละลายหายไปเหลือแค่ 1 ราย ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อยู่ดี ดังนั้น คนที่มีจิตวิญญาณภาคประชาชนไม่ใช่ว่า จะทำทุกอย่างให้ประชาชนได้หมดจนพวกธุรกิจเจ๊ง เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเจ๊งสุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้ใช้บริการอยู่ดี โดยทุกอย่างจะอยู่ในตัวเอง เพราะถามว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อไร คือ 1) ธุรกิจอยู่ได้ 2) ประเทศชาติอยู่ได้และ 3) ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

 

 

IT Exclusive: มาถึงทุกวันนี้ อยากให้ประเมินการทำงานของ กทช.?

 

 

อนุภาพ: ก่อนที่จะตอบขอถามข้อเดียว คือ 3 ปีกว่าจะครบ 4 ปี เชื่อว่า ผู้อ่านใช้โทรศัพท์แน่ โดยถ้าไม่ใช้โทรศัพท์มือถือก็โทรศัพท์บ้าน และใช้อินเทอร์เน็ตด้วย ให้นึกข้อเดียวมีอะไรที่ตัวผู้อ่านเองได้ประโยชน์จากการเกิด กทช. ขึ้น ก็พยายามสอบถามหลายคน พบว่า ไม่มี ดังนั้น ถามว่า ทำไมไม่มี ตรงนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้พูดเฉพาะในที่นี้ แต่พูดต่อหน้า กทช. เลยและพูดมาแล้ว โดยสิ่งที่มอง กทช. คือ 1) ไม่มีจิตวิญญาณการคุ้มครองผู้บริโภค 2) ไม่มีจิตสำนึกที่จะก่อให้เกิดการแข่งขัน 3) ไม่มีความรับผิดชอบในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและข้อสุดท้าย คือ ขาดความรู้ความสามารถในการทำงาน ที่ทั้งหมดนี้ ได้พูดเปิดเผยอยู่แล้ว

 

 

คราวนี้ ย้อนกลับไปที่ข้อแรก ข้อนี้ คาดหวังไว้มากและเป็นมาตราที่แตกต่างจากทุกมากตราใน พ...การประกอบกิจการโทรคมนาคม คือ มาตรา 17 ที่ว่าด้วยการให้บริการอย่างทั่วถึง โดยแตกต่างจากทุกมาตราที่จะระบุว่า ให้ กทช. ไปออกกฎเกณฑ์ในรายละเอียด แต่ในมาตรา 17 ไม่ใช่ โดยระบุว่า กทช. มีหน้าที่จัดให้มีการให้บริการอย่างทั่วถึง จึงถามว่า ทุกวันนี้ ประชาชนในพื้นที่ชนบท ประชาชนในพื้นที่ยากจนได้อะไร ตอบ ไม่มี และไม่ได้อะไรเลย

 

 

สิ่งที่ กทช. บอกว่า มีการไปจัดโครงการสอนผ่านอินเทอร์เน็ตที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตรงนี้ กระทรวงไอซีที ก็ทำได้       อย่างไรก็ตาม กทช. มีเงินเท่าไร และกฎหมายกำหนดให้ทำด้วย แต่ไม่ได้ทำ หรือ จะบอกว่า แบ่งเขตเรียบร้อยแล้ว 4,000 หมู่บ้าน และมีใครรับผิดชอบบ้าง แต่ผลคืออะไร ไม่มีเลย ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนเลย

 

 

อีกตัวที่สำคัญและน่าห่วงมากๆ เพราะเป็นคนไปร่างระเบียบให้ด้วยซ้ำไป คือ ในเรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ปี 2549 จะครบ 2 ปี แล้ว แต่ไม่มีการบังคับใช้ โดยในนั้น เรื่องใหญ่ๆ คือ พรีเพดที่ผู้บริโภคเสียเปรียบมากจึงระบุว่า ต่อไปห้ามมีวันหมดอายุ และเงินที่เหลือจากการเติมเงินจะต้องคืนผู้บริโภคทั้งหมด ฯลฯ แต่สุดท้ายจะ 2 ปี แล้วและมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ กทช. ก็ยังไม่บังคับใช้

 

 

ตรงนี้ กทช. อ้างว่า กำลังตรวจสัญญาอยู่ ถามว่า จะ 2 ปี แล้วสัญญายังตรวจไม่เสร็จหรือ และสัญญาสลับซับซ้อนขนาดไหน อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าห่วงมากกว่านั้นอีก คือ ตอนนี้ กทช. กำลังมีแนวคิดจะแก้ไขประกาศฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้เลย โดยจะแก้ไขใหม่ให้อ่อนลง โดยบอกว่า วันหมดอายุที่ห้ามไว้ไม่ให้มี ให้มีได้ หรือ ถ้าไม่มีให้เก็บเงินได้ ดังนั้น ในสิ่งที่ประชาชนควรได้แบบนี้ จะเรียกว่า มีจิตวิญญาณคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างไร

 

 

เรื่องที่ 2 คือ ขาดจิตสำนึกที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน โดยถามว่า ใน 3 ปีกว่าเกือบจะ 4 ปีของ กทช. ให้นึกชื่อผู้ประกอบการรายใหม่ในกิจการโทรคมนาคมมา 1 ชื่อ โดยเท่าที่นึกออก เช่น ทริปเปิลทรี ถามว่า ทริปเปิลทรีคือใคร ส่วนถามว่า ใครได้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ดังนั้น ขอเพียงผู้ประกอบการรายใหม่จริงๆ รายเดียว ไม่มี ไม่มีเลย ทั้งๆ ที่ กทช. อ้างว่า ให้ใบอนุญาตไปร้อยใบ แสดงว่า ผู้ขอไปอนุญาตไป ไม่ได้ดำเนินการใช่หรือไม่

 

 

ส่วนถ้าไม่ใช่แสดงว่า ต้องมีปัญหา หรือ มีอะไรอยู่ในเรื่องนี้ ดังนั้น มีคำถามตามมาว่า ที่บอกว่า มีการออกใบอนุญาตเป็นร้อยมีใครเคยเห็นเงื่อนไขในใบอนุญาตบ้าง คนทั่วไป ไปขอดูก็ไม่ได้ แสดงว่า ต้องมีเงื่อนไขอะไร หรือ ที่บอกว่า ขณะนี้ มีการประกาศใช้อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จแล้ว ถามว่า ทุกวันนี้ ใครได้อินเตอร์คอนเน็กกันแล้ว ไม่มี โดยเฉพาะในรายเล็กๆ และรายใหม่ เพราะตรงนี้ เราพูดถึงการแข่งขัน

 

 

ดังนั้น จึงเป็นคำตอบว่า ด้วยเรื่องเหล่านี้ ทำให้รายใหม่และรายเล็กๆ ไม่ได้เกิด เพราะถ้ารายใหม่และรายเล็กไม่มีทางสร้างโครงข่ายเองและไปใช้ หรือ เชื่อมกับรายเดิมไม่ได้ก็จบ และผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะเกิดได้อย่างไร เช่นเดียวกับการจะให้ย่านความถี่ 3 จี กล้าพูดได้เลยว่า ทุกประเทศ ที่ถ้ามีก็น้อยมากๆ เพราะส่วนใหญ่จะต้องมีเงื่อนไขว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ แต่ในเมืองไทยไม่ได้พูดถึง นอกจากนั้น พยายามให้รายเก่าทำบนย่านความถี่เดิม

 

 

เรื่องที่ 3 ไม่มีความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประเทศ โดย 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่ทำให้เห็นว่า กทช. ไม่มีความรับผิดชอบตรงนี้ คือ ดาวเทียม โดย กทช. ปฏิเสธการกำกับดูแลเรื่องดาวเทียม ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดปัญหา โดยบอกว่า เรื่องดาวเทียมไม่เกี่ยว ดังนั้น จึงมีคำถามว่า ในกฎหมายมีมาตราไหน หรือ ข้อไหน ที่ยกเว้นว่า กทช. ไม่ต้องกำกับดูแลดาวเทียม และในคำนิยามตรงไหนที่บอกว่า ดาวเทียมไม่ใช่โทรคมนาคม

 

 

ตรงนี้ กทช. โยนให้เป็นหน้าที่ของไอซีที แบบนี้ ต้องไปถามว่า ไอซีทีกำกับชินแซทฯ ได้ไหม เพราะไอซีทีเป็นเพียงคู่สัญญาทำอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงทำตามสัญญญาตราบใดที่ชินแซทฯ จ่ายค่าสัมปทานครบถ้วนและไม่ทำผิดสัญญาก็ทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมมีอีกไม่ได้ เสียแล้วเสียเลย แต่กลับให้ตำแหน่งวงโคจรแก่ต่างชาติไปอะไรจะเกิดขึ้น หรือ เกิดถูกขายผ่านมืออะไรจะเกิดขึ้น อันนี้ ถามว่า มีความรับผิดชอบต่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือไม่

 

 

ต่อมาในตอนที่เกิดการซื้อขายชินคอร์ป ทำไม กทช. ไม่ดูมาตรา 58 เพราะในตอนนั้น ทุกคนกำลังทวงหาสัญญาเนื่องจากอยากจะรู้ว่า สัญญาเป็นอย่างไร แต่ กทช. กลับบอกว่า ตรวจไม่ได้ ทั้งๆ ที่มาตรา 58 ให้อำนาจ กทช. ว่า ถ้าหากว่า ผู้ประกอบการไทยจะไปทำธุรกรรม หรือ นิติกรรม สัญญาใดๆ กับต่างประเทศ หรือ รัฐบาลต่างประเทศ จะต้องเอาสัญญานั้น ให้ กทช. เห็นชอบก่อน ไม่เช่นนั้น อาจจะเพิกภอนใบอนุญาตได้ เขียนไว้ชัดเลย แต่บอกไม่เกี่ยว

 

 

และสุดท้ายกลับไปในเรื่องการขาดความรู้ความสามารถ โดยจะยกตัวอย่าง 2 เรื่อง ที่เรื่องแรกเอาเรื่องอินเตอร์คอนเน็กชั่นก่อน ที่ตอนไหนก็ไม่มีวันเกิด แม้จะโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ กฎเกณฑ์ค่อนข้างเหมือนกันทั่วโลก แต่ด้วยประกาศในบ้านเราที่ กทช. ร่างออกมาในลักษณะนี้ ไม่มีทางใช้ได้ เพราะในกฎเกณฑ์กำหนดวิธีการคิดต้นทุนไว้ 4 วิธี ให้เลือกใช้วิธีไหนก็ได้ ที่ถามว่า 4 วิธีในโลกนี้ มีใช้ไหม มีใช้ทั้ง 4 วิธี แต่เลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ส่วนบ้านเราเอา 4 วิธีเลยวิธีไหนก็ได้

 


สมมติว่า บ้านเรามีโอเปอร์เรเตอร์
4 ราย และบังเอิญก็มี 4 ราย โดยแต่ละรายคิดคนละวิธี แต่เมื่อต้นทุนไม่เท่ากันจึงตกลงกันไม่ได้ถามว่า จุดจบอยู่ที่ตรงไหน ที่เมื่อโอเปอร์เรเตอร์ตกลงกันไม่ได้ก็ต้องขึ้นสู่ กทช. หรือ คณะกรรมการไกล่เกลี่ย แต่จะไกล่เกลี่ยได้อย่างไรในเมื่อทุกโอเปอร์เรเตอร์จะบอกว่า ต่างทำตามกฎเกณฑ์ของ กทช. และ กทช. จะตัดสินอย่างไรในเมื่อทุกคนต่างทำตามกฎเกณฑ์ของ กทช. ดังนั้น ไม่มีทางเลยที่จะยุติในเรื่องของอัตราได้

 

 

ทั้งนี้ ในเรื่องของอัตราอาจจะไม่ใช่เรื่องเดียว แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเชื่อมต่อว่า จะสำเร็จ หรือ ไม่สำเร็จ ดังนั้น ในเมื่ออัตราตกลงกันไม่ได้อัตราค่าเชื่อมต่อจะเป็นอย่างไร และวิธีการจะเป็นแบบไหน แม้ กทช. จะบอกว่า ให้โอเปอร์เรเตอร์ตกลงกันเองถามว่า มีคนทำแบบนี้ ไหมในโลก มี แต่ทำในเงื่อไขแบบนี้ไหม ไม่ใช่ ยกตัวอย่างในอเมริการให้โอเปอร์เรเตอร์ตกลงกันเอง แต่ให้เจรจากันเองเมื่อไร ความจริง คือ เมื่อประเทศใช้กฎเกณฑ์พวกนี้ มาประมาณ 20-30 ปี

 

 

ตรงนี้ คือ มีบรรทัดฐานและมีการเปิดเผยด้วยว่า ต้นทุนคำนวณออกมาอย่างไร รวมทั้งตีพิมพ์ในเว็บไซต์และเปิดเผยด้วยว่า สัญญาการเชื่อมต่อนาย ก ทำกับนาย ข ทำอย่างไร นาย ค มาทำจะได้รู้ว่า ตัวเองจะได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบอย่างไรเมื่อทำสัญญากับนาย ก ใหม่ แต่บ้านเราพวกนี้ ไม่มีทั้งสิ้น แต่ กทช. บอกให้เจรจากันเอง โดยรายใหญ่ก็คิดแพงและไม่อยากให้เชื่อมต่อ ส่วนรายเล็กก็อยากคิดถูกๆ และอยากเชื่อมต่อ แบบนี้ เมื่อไรจะจบ

 

 

ดังนั้น ในต่างประเทศที่ทำเวลาเริ่มต้น คือ ต้องประกาศขึ้นมา 1 ตัว โดย กทช. เป็นคนประกาศเอง โดยขอข้อมูลจากทุกรายและคำนวณออกมาเป็นตัวกลางประกาศใช้ไปก่อน แน่นอนประกาศครั้งแรกโอกาสถูกยากมาก เพราะทุกรายยังอาจไม่ยอมให้ข้อมูล แต่ถือว่า กทช. มีอำนาจต้องประกาศใช้ไป แต่พอใช้ไป ต้องศึกษาเพื่อทบทวนอัตราใหม่ ที่คราวนี้ ทุกรายมีแรงจูงใจแล้วและเห็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะมีการบังคับใช้ แต่ตอนนี้ ยังไม่มี

 

 

หลังจากนั้น ก็ประกาศใช้อัตราตัวที่ 2 อัตราตัวที่ 3 จะทำกับแบบนี้ อยู่ประมาณ 3 ปี จนได้ตัวเลขที่ใกล้เคียง ส่วนจากนี้ จะผ่อนปรนก็ค่อยว่าไป แต่ไม่ใช่เริ่มต้นโดยยังไม่มีอะไรเลยแล้วให้ไปเจรจากันเอง  อย่างไรก็ตาม ฮัทช์เพิ่งทะเลาะกับเอไอเอสและไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเห็นดีแทคทะเลาะกันมาแล้ว ทรูมูฟทะเลาะกันมาแล้วเดี๋ยวก็ไม่จบ ที่ด้วยกฎเกณฑ์แบบนี้ แนวคิดและวิธีการแบบนี้ ไม่มีทางเกิด และถ้าไม่เกิดก็ย้อนกลับไปเรื่องการแข่งขันอย่างที่กล่าวมา

 

 

ต่อไปเป็นเรื่อง 3 จี ที่สะท้อนถึงเรื่องความรู้ความสามารถอีก ที่หลายคนบอกว่า ถ้ามองในแง่ดี คือ ไม่รู้ หรือ ไม่เก่ง แต่ถ้ามองในแง่ไม่ดี คือ เจตนาแอบแฝง เพราะตราบใดที่ไม่มีการแข่งขันถามว่า ใครได้ประโยชน์ ที่แน่นอนอยู่แล้วว่า ใครได้ประโยชน์ ก็แล้วแต่มุมมองว่า ใครจะมองอย่างไร

 

 

คราวนี้ กลับมาในเรื่องของ 3 จี โดยขอตั้งต้นในตัวหนึ่งก่อนให้ไปตรวจเช็คกันว่า มาตรา 80 ที่ระบุว่า ให้รัฐวิสาหกิจ หรือ ผู้รับสัมปทานต่างๆ ให้ดำเนินบริการ หรือ สัมปทานที่มีอยู่ก่อนกฎหมายออก คือ กฎหมายออกเมื่อปี 2543 แต่ถ้าทำอะไรก่อนหน้านั้น สามารถทำต่อไปได้ แต่หลังจากนั้น ห้ามให้ใบอนุญาตใหม่ ห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลงและห้ามให้ความถี่วิทยุ ที่เป็นข้อห้าม 3 ข้อ อย่างไรก็ตาม จะย้อนไปถึงเรื่องการทำ 3 จี บนย่านความถี่เดิมก่อน โดยถามว่า เอาใบอนุญาตจากไหน

 

 

ความจริงไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ไม่มีใบอนุญาต 3 จี สักราย และถ้าว่า ถ้าไปใช้ใบอนุญาตของทีโอทีและ กสท ก็ถามต่อว่า เอาใบอนุญาตอะไรทำบนย่านความถี่ 800 หรือ ในย่าน 900 และที่สำคัญที่สุด ย้อนกลับไปดูเรื่องใบอนุญาตความถี่วิทยุบนย่าน 800 และ 900 ถามว่า ให้ใช้ทำอะไร เพราะระบบใบอนุญาตบ้านเราเก่ามาก หรือ เป็นยุคที่ 1 คือ ใบอนุญาตจะไปผูกติดกับบริการและเทคโนโลยี

 

 

อธิบายความเพิ่มเติมตรงนี้ คือ ใบอนุญาตผูกติดกับบริการหมายถึงใช้ได้กับเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ส่วนผูกติดกับเทคโนโลยี คือ ใช้ได้กับจีเอสเอ็ม หรือ กรณีในย่าน 1800 คือ ใช้ได้กับพีซีเอ็นนอกจากนั้น ไม่ได้ ทั้งหมดนี้ คือ ระบบใบอนุญาตยุคเก่า ที่ผิด ไม่ถูก แต่ยังดำรงอยู่ กทช. ไปแก้ไขตรงนี้ ไม่ได้ เพราะมาตรา 80 ห้ามไว้ ดังนั้น ในเมื่อเป็นแบบนี้ จะเอาย่าน 800 และ 900 มาใช้กับ 3 จี ได้อย่างไร และมาใช้กับเอชเอสพีเอได้อย่างไร เพราะข้ออ้างทุกวันนี้ คือ การอัพเกรด

 

 

เราพอรู้ว่า โทรศัพท์มือถือแบ่งออกเป็น 1 จี 2 จี และ 3 จี และก็รู้ว่า หัวใจสำคัญของโทรศัพท์ คือ สัญญาณไร้สาย ที่ทำให้โทรศัพท์มือถือพูดคุยได้ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า โครงข่ายวิทยุ หรือ เรดิโอเน็ตเวิร์ค และการที่แบ่งเป็น 1 จี 2 จี หรือ 3 จี ไม่ได้แบ่งเทคโนโลยีของชุมสาย แต่แบ่งจากเทคโนโลยีของเรดิโอเน็ตเวิร์ค ที่ 1 จี เป็นอะนาล็อกใช้ได้เฉพาะเสียง 2 จี เริ่มเป็นดิจิตอลใช้ได้ทั้งเสียงและข้อมูล ส่วน 3 จี เป็นดิจิตอลใช้ได้ทั้งเสียง ข้อมูลและรูปภาพ

 

 

อย่างไรก็ตาม ถามว่า เอชเอสพีเอจะบอกว่า เป็นการอัพเกรดเหมือนๆ จีพีอาร์เอส หรือ เอดจ์ ที่ถ้าเข้มงวดริงๆ ก็ทำไม่ได้ แต่ไม่เป็นไรถ้าอ้างว่า ยังอยู่ในเทคโนโลยีจีเอสเอ็ม หรือ พีซีเอ็น ตามเงื่อนไขใบอนุญาตให้ไว้ เพราะว่า ไม่ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีของเรดิโอเน็ตเวิร์คแค่ใส่การ์ดเข้าไปไม่ได้เปลี่ยนเรดิเน็ตเวิร์ค แต่การทำเอชเอสพีเอต้องเปลี่ยนเรดิโอเน็ตเวิร์ค โดยเสากระโดงยังอยู่ แต่อุปกรณ์เปลี่ยนหมด ด้านชุมสายก็ยังอยู่ แต่อุปกรณ์เปลี่ยนหมด ที่ตรงนี้ คือ หัวใจของเรดิโอเน็ตเวิร์ค

 

 

มาถึงขั้นนี้ ไม่เหมือนกับจีพีอาร์เอส หรือ เอดจ์ เพราะเป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยี ที่ผิดกับใบอนุญาตที่ได้จากกรมไปรษณีย์โทรเลข และไปยืนยันกับคำตอบของ กทช. ที่บอกว่า คลื่นความถี่ของกิจการร่วมค้าไทยโมบายโอนให้กันไม่ได้ ดังนั้น จะคอยดูว่า ใบอนุญาตที่ออกโดยกรมไปรษณีย์ฯ ทั้ง 2 ใบ จะให้เฉพาะกับโทรศัพท์มือถือที่เป็นจีเอสเอ็ม หรือ พีซีเอ็น โดยจะคอยดูว่า จะดิ้นออกมาอย่างไร

 

 

สรุปแล้วใบอนุญาตเดิมทำไม่ได้ คราวนี้ ถามใหม่ว่า จะไปขอใบอนุญาตใหม่ กทช. ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า กทช. เอาอำนาจอะไรมาให้ใบอนุญาต เพราะในกฎหมายมาตรา 80 เขียนไว้ว่า บริการได้เท่าเดิม ย่านความถี่จัดสรรใหม่ไม่ได้ กทช. จะให้ใบอนุญาตใหม่บนย่ายความถี่ 800 และ 900 เอาอำนาจอะไรมาให้ใบอนุญาต เพราะถ้าทำแบบนี้ เท่ากับว่า 2 อัน คือ 1) เท่ากับให้ใบอนุญาตใหม่ และ 2) กำลังแบ่งสรรความถี่ใหม่

 

 

อยากจะดูว่า ผู้หาญกล้าจะเป็นใครและเรื่องความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ตรงนี้ ในย่านความถี่เดิมทำอะไรไม่ได้เลย โดยอยากจะให้คนที่อยากทำลงทุนไปเยอะๆ ให้ กทช. ให้ใบอนุญาตไปด้วยและเดี๋ยวคนมาฟ้องทีเดียวตายทั้งยวงเลย แต่คิดว่า แบบนี้ ไม่ดี เพราะส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประชาชนจะเสียหายจากการลงทุนเป็นหมื่นๆ ล้าน ดังนั้น ถ้าขอคุ้มครองเป็นการชั่วคราวก็แย่เลย และถ้าอ้างต่อไปว่า ย่านความถี่ดังกล่าว ใช้กับวิทยุ-โทรทัศน์ได้ด้วยยิ่งแย่หนัก

 

 

ถ้าไปถึงตรงนั้น ถ้าได้รับการคุ้มครองชั่วคราว ที่ลงทุนกันไปเป็นหมื่นๆ ล้านบาท แย่เลย จะทำอย่างไร และถ้ามีการฟ้องว่า กทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยจะทำอย่างไร ดังนั้น จึงอยากจะดูว่า จะกล้าทำหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไปที่เรื่องย่านความถี่ใหม่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ทำนองเดียวกัน กทช. กำลังจะให้ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ และมีแนวโน้มจะใช้การประมูลด้วย โดย กทช. ให้เหตุผลว่า กฤษฎีกาตีความว่า ได้ ไม่เป็นไร กฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของภาครัฐ จะเชื่อก็ทำไป แต่ไม่มีหลักประกันอะไรว่า สิ่งที่กฤษฎีกาตีความจะชอบด้วยกฎหมาย

 

 

กฤษฎีกาตีความแพ้ก็หลายเรื่อง โดยศาลอาจจะตัดสินไปอีกแบบหนึ่ง ดังนั้น ถามว่า ถ้าให้ใบอนุญาตไปแล้วประมูล มีคนเสียเงินเป็นหมื่นๆ ล้านแล้วใช้ไม่ได้ ทำอย่างไร ส่วนข้อหาเดิมยังอยู่ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ยังอยู่และการขอความคุ้มครองยังได้ แบบนี้ จะทำอย่างไร ที่สิ่งเหล่านี้ คือ การอธิบายเรื่องความรู้ความสามารถของ กทช. อย่างไรก็ตาม จะ 4 ปีแล้วและไม่ได้พูดถึงชื่อบุคคลแม้แต่ 1 คน

 

 

IT Exclusive: การเกิดของ กทช. เกี่ยวโยงถึงวงการโทรคมนาคมไทยในช่วงที่ผ่านมา หรือไม่ อย่างไร?

 

 

อนุภาพ: ให้มองดูว่า มีอะไรเปลี่ยน บริการ ผู้ประกอบการ หรือ ราคา มีอะไรเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของราคามีขึ้นๆ ลงๆ โดยในช่วงที่มีการสู้กันก็จะถูก ส่วนช่วงที่เลิกสู้กันก็กลับไปแพง จะเป็นแบบนี้ และไม่ใช่ครั้งแรก

 

 

IT Exclusive: ถ้าเป็นเช่นที่กล่าวมา ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรบ้างไหม?

 

 

อนุภาพ: มหาศาล ยกตัวอย่าง ถ้าจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ จะต้องเปลี่ยนระบบใบอนุญาต โดยจากเดิมที่ใช้ระบบใบอนุญาตยุคที่ 1 ที่ล้าหลังและโบราณมาก เพราะผูกติดกับเทคโนโลยีและบริการ เปลี่ยนเป็นระบบใบอนุญาตร่วม หมายถึงว่า ใบ อนุญาตที่ใช้กำกับจะกำกับเฉพาะส่วนที่ใช้ทรัพยากรการสื่อสาร โดยอะไรที่ไม่ได้ใช้ทรัพยากรการสื่อสารให้ใบอนุญาตโดยไม่จำกัด โดยมีเงื่อนไขข้อเดียว คือ จะต้อง ไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค จะต้องไม่เป็นการกีดกันการแข่งขันและจะต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย

 

 

สรุปแล้วถ้า 3 เงื่อไขดังกล่าว ผ่าน จะให้ใบอนุญาตไม่จำกัด เพราะไม่ได้ใช้ทรัพยากรการสื่อสารเลย ดังนั้น จะไปจำกัดทำไม ส่วนพวกที่ใช้ทรัพยากรการสื่อสารจะกำกับเงื่อนไขว่า ต้องใช้ทรัพยากรการสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ห้ามใช้ทรัพยากรการสื่อสารกีดกันการแข่งขัน ไม่ใช่ทรัพยากรการสื่อสารทำให้ผลประโยชน์ของประเทศเสียหายและไม่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยจะดูตรงนี้ ตราบใดที่ทำตามเงื่อนไขได้ครบถ้วนจะไปทำอะไรก็แล้วแต่

 

 

IT Exclusive: แบบนี้ หมายถึงใบอนุญาตจะควบคุมแค่หลักการ ส่วนจะนำไปใช้ทำอะไรแล้วแต่ ที่ด้านเทคโนโลยีและบริการจะไม่มีปัญหา?

 

 

อนุภาพ: เทคโนโลยีและบริการจะไม่มีปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทำเฉพาะโทรศัพท์ แต่สามารถจะนำไปใช้ทำโทรทัศน์ก็ได้ เพราะจะไปควบคุมเทคโนโลยีทำไม จะไปควบคุมบริการทำไม ตราบใดที่บริการและเทคโนโลยีไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ได้กีดกันการแข่งขันและไม่ได้ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย จะไปควบคุมทำไม เพราะถ้าสามารถทำธุรกิจได้ กทช. ก็ได้เงิน หรือ ถ้าไม่เอาเงินก็สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ลดราคาค่าบริการให้ประชาชนได้

 

 

ดังนั้น จะเห็นว่า เราสามารถที่จะเปลี่ยนระบบของใบอนุญาตได้ อย่างไรก็ตาม คำถามจึงตามมาอีกว่า ทำได้แล้วทำไมไม่ทำ ที่กฎหมายให้อำนาจด้วย หรือ กฎหมายข้อไหนห้าม ไม่มี เพราะกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่เหมือนกับเขียนเช็คเปล่า ว่า แล้วแต่ กทช. จะออกกฎเกณฑ์อย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องอัตราค่าบริการในกฎหมายให้กำหนดอัตราขั้นสูง ที่ถามว่า ทุกวันนี้ กทช. เคยกำหนดอัตราค่าบริการออกมาหรือไม่ ว่า อัตราค่าบริการที่เป็นธรรม  คือ เท่าไร ไม่มี

 

 

นอกจากนั้น แม้แต่คุณภาพขั้นต่ำก็ยังไม่มีเลย ดังนั้น อย่าไปถามถึงอัตราค่าบริการ และสิ่งที่แย่กว่านั้น คือ กทช. ใช้คำว่า อัตราขั้นสูงและบอกว่า ทุกคนไม่ละเมิด ตรงนี้ ใช้อัตราค่าบริการอย่างไรรู้หรือไม่ โดยโทรศัพท์มือถือใช้อัตราค่าบริการเริ่มต้น คือ นาที่ละ 3 บาท ที่ตราบใดที่ไม่มีใครคิดเกินนาทีละ 3 บาท ถือว่า ไม่มีใครคิดเกิน แบบนี้ ตอนไหนก็ไม่มีใครคิดเกิน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า โทรคมนาคมเป็นสินค้าตัวเดียวในโลกที่ไม่ว่าน้ำมันจะขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไรมีแต่ลดราคา    

 

 

ส่วนอัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานใช้อะไร คือ ใช้อัตรา 8, 12 และ 18 บาท โดยตราบใดที่ไม่มีใครคิดราคาเกินนี้ ถือว่า ไม่ได้คิดเกิน ดังนั้น ชาติไหนจะมีคนคิดเกิน ทั้งๆ ที่ในกฎหมายเขียนไว้ว่า อัตราที่เรียกเก็บจริง แต่ก็ไม่สนใจ โดยตีความว่า อัตราที่เรียกเก็บจริง คือ นาทีละ 3 บาท หรือ ตามระยะทาง 8, 12 และ 18 บาท หรือ ครั้งละ 3 บาท คือ อัตราที่เรียกเก็บจริง แต่โปรโมชั่นไม่ใช่อัตราที่เรียกเก็บจริง   

 

 

IT Exclusive: ที่กล่าวมาทั้งหมด การมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่จะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาหรือไม่?

 

 

อนุภาพ: ได้และไม่ได้ โดยได้และไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไร คือ 1) ถ้าเอาตามร่างฉบับปัจจุบันนี้ การกำกับดูแลยังไม่ได้เปลี่ยนแนวคิด โดยยังเป็น 2 ขา คือ โทรคมนาคมและวิทยุ-โทรทัศน์อยู่ ที่ 3 ข้อที่คุยกันมาไม่มีทางทำได้ ประกอบด้วย การใช้ทรัพยากรการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การกำกับเนื้อหาให้มีประสิทธิผลสูงสุดและการใช้โครงข่ายให้เกิดความประหยัดสูงสุด   

 

 

2) ถ้า ครม. เป็นคนแต่งตั้งไม่มีทาง เพราะที่ผ่านมา ขนาด ครม. ยังไม่มีสิทธิ์แต่งตั้ง ทั้งหมด คือ การแทรกแซง แต่ถ้ากลืนโดย ครม. จะเป็นอย่างไร เพราะอย่าลืมว่า กิจการโทรคมนาคมมูลค่าหลายแสนล้านบาท ยิ่งถ้ารวมกิจการวิทยุ-โทรทัศน์เข้าไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท และกิจการ 5 แสนล้านบาท เลือกตั้งได้กี่หน ดังนั้น เอาแค่ 10% เท่ากับ 5 หมื่นล้านบาท ก็ชนะการเลือกตั้งแล้ว

 

 

ดังนั้น อย่าหวังเลยว่า คนที่มีผลประโยชน์จะไม่ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยมองในแง่ดีที่สุดและเป็นธุรกิจที่ซื่อสัตย์ก็ต้องรักษาผลประโยชน์ให้ธุรกิจมีกำไรต่อไป และแม้ไม่ได้ตั้งใจจะไปทำผิกกฎหมายก็ต้องรักษาผลประโยชน์ จึงเป็นไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาได้

 

 

IT Exclusive: มีความคิดเห็นอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่?

 

 

อนุภาพ: 3 จุดหลักๆ ที่ไม่ถูก ไม่ควรและรับไม่ได้ โดยจุดแรก คือ ตรงนี้ ไม่ใช่การแทรกแซงองค์กรอิสระ แต่เป็นการกลืนองค์กรอิสระ ที่ตรงนี้ รับไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เริ่มต้นของกฎหมายนี้ และในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็เขียนว่า ให้มีองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง แต่ไม่ใช่ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่จะทำ อย่างไรก็ตาม ที่กลัว คือ ถ้าทำแบบนี้ ต่อไป สังคมจะกลายเป็นสังคมของการทีเอ็งข้าไม่ว่า ที่ข้าเอ็งอย่าโวย หรือ สังคมแห่งการแก้แค้น แบบนี้ สังคมจะอยู่อย่างไร

 

 

แบบนี้ ไม่ใช่สังคมแห่งการแตกแยก แต่เป็นสังคมของการล้างแค้น อย่างไรก็ตาม หากต่อไป กกต. จะต้องเลือกโดยพรรคการเมืองและให้ ครม.อนุมัติ อะไรจะเกิดขึ้น ที่ตรงนี้ รูปแบบเดียวกัน หรือ แม้กระทั่ง ป.ป.ช. หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถ้าให้ข้าราชการเป็นคนคัดเลือกแล้วให้ ครม. อนุมัติ อะไรจะเกิดขึ้น ที่เป็นเรื่องเดียวกันกับ กสช.

 

 

หรือ เกิดจะใช้หลักการเสียงข้างมาก เช่น ถ้า ส.ส. ทำผิดให้รอลงอาญาอย่างเดียวห้ามจำคุกเลย เพราะถือว่า ส.ส. เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติแล้วสังคมจะอยู่อย่างไร อยู่ไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นสังคมไร้บรรทัดฐาน ไร้ความชอบธรรม ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า มีเสียงข้างมากแล้วจะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้โดยไม่ได้คำนึงถึงความชอบธรรม แบบนี้ เกิดความเสียหาย เพราะตรงนี้ คือ ประเด็นสำคัญ

 

 

ประเด็นที่ 2 กลับไปในเรื่องที่บอกว่า เรากำลังออกกฎหมายที่เลิกใช้แล้ว ที่จะเป็นประโยชน์อะไร ดังนั้น ถ้าจะออกกฎหมายใหม่ทั้งที แต่ไปเอาสิ่งที่ทำเสร็จแล้วจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้น คือ จะทำไปทำไม ทำไมไม่ทำในสิ่งที่ก้าวหน้าไปข้างหน้า แต่ไปทำในสิ่งที่เลิกใช้และเลิกทำ จึงไม่มีประโยชน์อะไรและไม่ได้ช่วยอะไรเลย หรือ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยแม้แต่ 1 คน ในสังคม ยกเว้นกลุ่มผลประโยชน์เดิม

 

 

และประเด็นที่ 3 คือ เรื่องปล่อยผีวาระซ่อนเร้น ที่ตรงนี้ มาตรา 80 มหาศาล ยกตัวอย่างง่ายที่สุดเลย ถ้าเกิดกฎหมายตัวนี้ ผ่าน เราไม่ต้องมาคุยกันถึงเรื่อง 3 จี สบายเลย ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น กทช. สามารถจัดการได้หมด ส่วนใครจะไปต่อสัญญากับใครไม่มีปัญหา โดยสะดวกโยธินเลยจึงบอกว่า เงินแค่นี้ เล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้ จึงเรียกว่า การปล่อยผีครั้งใหญ่ รวมทั้งในวิทยุ-โทรทัศน์

 

 

และสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น โดยยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ คือ วิธีการจัดตั้ง กสช. โดยในส่วนของตัวกรรมการตั้งโดย ครม. ส่วนสำนักงานเยี่ยมยุทธ์เลยและไม่มีใครพูดถึง คือ ตัวสำนักงานงาน กสช. ใหม่ ให้สำนักงาน กทช. ทุกวันนี้ เป็นคนจัดการ และที่หนักไปกว่านั้น ในร่างเดิมเวลายุบซีกวิทยุ-โทรทัศน์แล้วจะเอากรมประชาสัมพันธ์ไปทั้งกรม และมี 2 ขา แต่ในร่างใหม่ ไม่ใช่ มีสำนักงานเดียวและเอาสำนักงาน กกช. จากกรมประชาสัมพันธ์ไปแค่ 30 คน โดยให้สำนักงาน กทช. เป็นคนคัดเลือก

 

 

ตรงนี้ ยิ่งกว่า เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจวิทยุและโทรทัศน์กลัวเกิดขึ้นจริงๆ เลย เพราะในแนวคิดเก่า คือ มีสำนักงาน กทช. กับสำนักงาน กสช. คือ กรมไปรษณีย์ฯ กับกรมประชาสัมพันธ์ แต่แนวคิดใหม่ไม่ใช่ โดยมีแค่สำนักงาน กกช. 30 คน ไม่ใช่คนของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งหมด ที่มาสัดส่วนพอๆ กับกรมไปรษณีย์ฯ ในขณะนั้น คือ ประมาณ 200-300 คน แต่ตอนนี้ จะเอาไปแค่ 30 คน และอยู่ใต้  กทช. ดังนั้น จะไปถ่วงดุล หรือ คัดค้านอะไรได้

 

 

นอกจากนั้น ยิ่งตัว พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ฯ ที่ออกไปก่อนหน้าแล้วให้อำนาจ กทช. ที่ตรงนี้ ยังมีปัญหา เพราะคนที่ตีความไปในแง่เข้าข้าง กทช. คือ ให้อำนาจ กทช. ออกกฎระเบียบกับวิทยุ-โทรทัศน์ทุกอย่าง ส่วนที่ตีความไม่เข้าข้างจะบอกว่า ให้ออกกฎระเบียบเพียง 2 เรื่อง คือ วิทยุชุมนุมกับกิจการที่ไม่ได้ใช้คลื่น 2 เรื่อง ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ จบเลย สิ่งที่วิทยุ-โทรทัศน์กลัว และสิ่งที่สงสัยมากๆ คือ ทำไมคนที่ทำวิทยุ-โทรทัศน์ไปเขียนแบบนี้

 

 

ไปเขียนให้ กทช. มีอำนาจมากและยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ ที่ถ้าไปอ่าน พ.ร.บ.วิทยุ-โทรทัศน์จะมีการเขียนว่า ให้มีคณะอนุกรรมการ ที่จะมีคำถามว่า อนุกรรมการของใคร เพราะเป็นคณะอนุกรรมการลอยๆ เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายตัวนี้ เขียนล้อไปกับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคคลื่นความถี่ฯ ฉบับ สนช. ที่คาดว่า จะมีผลการบังคับใช้พร้อมกัน แต่พอไปแบบนี้ ก็เลยออกมามีอนุกรรมการ 2 ชุด ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

 

 

แต่พอไม่เกิดขึ้นถ้ามองในแง่ดี คือ รู้เท่าไม่ถึงการ ส่วนมองในแง่ร้าย คือ ตกหลุมพราง โดยสิ่งที่วิทยุ-โทรทัศน์กลัวว่า จะถูกครอบงำเกิดจริงๆ และเต็มๆ เลย โดยประเด็นนี้ ยังไม่มีใครพูด แต่เราพูดกันเฉพาะตัว กสช. ใหม่ ไม่ได้พูดถึงสำนักงาน กสช. ใหม่ ที่ไม่ใช้กรมไปรษณีย์ฯ กับกรมประชาสัมพันธ์ แต่เป็นกรมไปรษณีย์ฯ กับสำนักงาน กกช. หมดเลย วิทยุ-โทรทัสน์คราวนี้ หมดเลย และยิ่งเปิดให้ใช้มาตรา 80 จบเลย เพราะย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ ที่ทุกวันนี้ ในอเมริการใช้ร่วมกันระหว่างวิทยุ-โทรทัศน์กับโทรคมนาคม

 

 

IT Exclusive: มีอะไรฝากถึงผู้อ่านบ้าง?

 

 

อนุภาพ: เสียใจนะ เพราะทำงานในวงการนี้ มา 10 ปี โดยเสียใจ อยู่ 2 เรื่อง คือ นึกไม่ถึงว่าคนที่เคยคิดว่า ทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนจะมีจุดยืนและแนวคิดเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนี้ ที่เสียใจมากๆ และเสียดายบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่าแท้จริงในทุกวันนี้ และเรื่องที่ 2 คือ สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดแล้วถ้าเกิดจะเสียใจมากกว่าข้อแรกอีก คือ สังคมจะแตกแยกไปมากกว่านี้ โดยสังคมจะกลายเป็นสังคมแห่งการล้างแค้น สืบเนื่องมาจากการกอบโกยของผู้มีอำนาจที่ไม่รู้จักพอ



บทความจาก : ไทยรัฐ

 

ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี