ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ข่าวคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ
คตส. มีมติ “อายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรีและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา”
โดยเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้งสองคน ทุกธนาคาร ทุกสถาบันการเงิน รวม 21 บัญชี
มูลเหตุในการ “อายัดทรัพย์” มี 2 กรณีคือ กรณีแรก พฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบ และกรณีที่ 2 มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
มติดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ที่ให้อำนาจ คตส. ไว้
คำถามสำคัญ จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากนี้
บอกเลยว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้น
โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มพีทีวี กลุ่มคนรักทักษิณ และกลุ่มต่อต้าน คมช.
ซึ่งรวมตัวชุมนุมกันอยู่ที่ท้องสนามหลวง
จริงอยู่ การชี้แจงของ คตส. โดยหยิบยกข้อกฎหมาย
และผลการสอบสวนการทุจริตในหลาย ๆ โครงการ มาประกอบเพื่ออธิบายสังคมว่า
เรื่องดังกล่าวไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ไม่ใช่เหตุผลทางการเมือง
แต่เป็นการทำตามหน้าที่
สำคัญคือ “การอายัดทรัพย์” ไม่ใช่ “การยึดทรัพย์” หาก พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน มีหลักฐานว่า เงินที่ได้บริสุทธิ์ ก็สามารถต่อสู้ได้ โดยการยึดทรัพย์หรือไม่นั้น ศาลเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน
ในการแถลงของ คตส. มีประโยคหนึ่งระบุว่า
“เนื่องจากได้พบว่าเงินบางส่วนได้ถูกยักย้ายถ่ายโอนแล้ว
เช่นเงินค่าขายหุ้นชินคอร์ปก็คงเหลือ อยู่ในบัญชีประมาณ 52,884 ล้านบาท”
จำได้คร่าว ๆ ว่า ตอนขายหุ้นทั้งหมดในเครือชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็ก ขายไปวงเงินประมาณ 73,000 ล้านบาท
การทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของ คตส. ครั้งนี้จะทำให้
ชาวบ้านเข้าใจได้หรือไม่ว่า มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเมือง
เกี่ยวกับการชุมนุมของ กลุ่มพีทีวี
ดูไม่ยาก หากการชุมนุมมีท่าที อ่อนแอหรือเข้มแข็ง ก็แสดงว่า
การชุมนุมที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา
แท้จริงแล้วเป็นการชุมนุมโดยมีเป้าหมายคือ คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ปฏิบัติการครั้งนี้ จึงเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มผู้ชุมนุมโดยแท้
ส่วนว่าเมื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงแล้ว สถานการณ์จะสงบหรือรุนแรงขึ้นนั้น ยังไม่มีใครประเมินได้
ปฏิบัติการ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง”
ครั้งนี้ ดูเผิน ๆ เหมือนการทำให้ การชุมนุมอ่อนแอ แต่หากดูในอีกมุมหนึ่ง
เป็นการยั่วยุให้ กลุ่มคนที่ยังนิยมชมชอบในตัว พ.ต.ท. ทักษิณ
แสดงพลังหรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดปัญหาขึ้นหรือไม่
เพราะหลังมติ “อายัดทรัพย์” จบลงไปหมาด ๆ
พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สะท้อนท่าที ผ่าน นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายทันทีว่า
“ท่านรู้สึกว่าเป็นความพยายามกลั่นแกล้งทางการเมือง
เพราะตอนแรกเอาผิด พ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่ได้
จึงมาใช้ช่องทางนี้ อย่างไรก็ดีเราได้ตั้งทีมทนายโดยจะขอฟ้อง กลับ คตส.
ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจนถึงที่สุด
ส่วนตัวเลขจำนวนเงินที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ยังคำนวณไม่ได้ต้องขอตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินก่อนว่า
มีจำนวนเท่าไรเพราะถือว่าเป็นการเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจระหว่างที่มีการอายัดทรัพย์สิน
เรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการกรรโชก ประทุษ ร้ายหลักนิติธรรม
อีกทั้งการดำเนินการเช่นนี้ยังเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย” หรือช่วงหนึ่งที่ว่า
“ท่านยืนยันว่าเงินที่ได้มาด้วยความสุจริต
สามารถตรวจสอบแหล่ง ที่มาของเงินได้หมด และไม่คิดว่า จาก 5
ปีที่เคยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี
เคยทุ่มเทให้กับประเทศชาติกลับได้รับการปฏิบัติเช่นนี้
แต่ท่านไม่ได้ท้อแท้ หรือมีอารมณ์เกรี้ยวกราดระหว่างที่ผมรายงานท่าน”
ขณะที่ นายจักรภพ เพ็ญแข ระบุว่า
“การอายัดทรัพย์สินถือเป็นการปิดฉากการสร้างความสมานฉันท์
ตามที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เคยประกาศเอาไว้
จากนี้ไปประเทศจะไม่มีวันเดินไปสู่ความสมานฉันท์ได้ เห็นได้ชัดเจนว่า คตส.
รับลูกมาจากการเปิดทางของ
พล.อ.สุรยุทธ์ที่กล่าวปราศรัยผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างนายกฯ คมช.
และ คตส. ที่ต้องการฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ”
ท่าทีเช่นนี้ จึงน่าจะสะท้อนได้เป็นอย่างดี ว่า ในเร็ว ๆ นี้กำลังจะเกิดอะไรขึ้น
ไม่ราบรื่น แต่น่าที่จะรุนแรงขึ้นแน่
มุมที่น่าสนใจ คือถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น สิ่งที่ต้องติดตามมาคือ
ความรุนแรงที่ตามมานั้น จะชอบธรรมให้กับผู้กระทำหรือ ผู้ปราบปรามกันแน่
เพราะขณะนี้ คมช. ผู้ถืออำนาจกองทัพทั้งหมด
มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของชาติโดยตรง
ยืนเตรียมตัวรอรับมือความรุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
คิด ๆ ดู ปฏิบัติการครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่การทำให้สถานการณ์สงบ แต่น่าจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น แล้วใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาซะ.
บทความจากคอลัมน์รายงานสถานการณ์ร้อน
ที่มา เดลินิวส์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|