ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ หนึ่งในคณะทำงานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "มติชน" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า หลังจากนายสมคิด ในฐานะแกนนำกลุ่ม ติดล็อคถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เพราะเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แต่นายสมคิดไม่ได้ถอดใจ มีการพูดคุยกันในคณะทำงานว่า ต้องเดินหน้าทำการเมืองกันต่อไป ด้วยการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พรรครวมใจไทย" ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม เนื่องจากประเมินแล้วว่าปลายปี 2550 จะมีการเลือกตั้งทั่วไป นายสุวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 26 มิถุนายนคณะทำงานจะหารือกันถึงแผนการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาประเทศไทยใน 4 ประเด็นหลัก คือ
1. เวลานี้สังคมถดถอย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าหากไทยช้ากว่านี้ก็จะล้าหลังประเทศเวียดนาม จะทำอย่างไรให้สังคมมีศักย ภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้
2. สังคมเหลื่อมล้ำ จะทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการศึกษา
3. ความขัดแย้ง จะต้องทำให้เกิดแนวทางสมานฉันท์ที่แท้จริง
4. ความสับสน จะต้องสร้างให้เป็นสังคมแห่งโอกาส "นี่คือ 4 กับดักที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ที่คณะทำงานเห็นว่าจะต้องเร่งแก้ไข และหลังการเลือกตั้งเรื่องใหญ่ที่จะต้องดำเนินการทันทีก็คือ การศึกษา เศรษฐกิจ และปัญหาภาคใต้" นายสุวิทย์กล่าว นายสุวิทย์กล่าวถึงโมเดลของพรรคการเมืองใหม่ว่า แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. ระดับนโยบายมีหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ มีชื่อเรียกว่า "สภายุทธ ศาสตร์" ประกอบด้วยบุคคลระดับนำของประเทศในด้านต่างๆ จำนวน 9 คน เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหาร ซึ่งจะอยู่บนสุด 2. ระดับบริหาร มีหัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค และรองหัวหน้าพรรค เป็นแกนนำหลักในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 3. ระดับพื้นที่ แยกเป็นคณะกรรมการ ภาค คณะกรรมการจังหวัด มีหน้าที่รับยุทธศาสตร์จากสภายุทธศาสตร์ ลงไปทำงานหรือปฏิบัติในพื้นที่ 4. กลุ่มสาขาวิชาชีพ และกลุ่มกิจกรรมพิเศษ มีหน้าที่รับยุทธศาสตร์จากสภายุทธศาสตร์ ลงไปทำงานหรือปฏิบัติในพื้นที่เช่นกัน โดยมีสถาบันวิชาการทางการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย ทำหน้าที่นำข้อมูลต่างๆ มาศึกษาวิจัย หรือต่อยอดผลการศึกษาต่างๆ เพื่อเสนอเป็นข้อมูลให้สภายุทธศาสตร์ นำไปกำหนดนโยบายต่อไป สำหรับสถาบันวิชาการทางการเมืองฯ จะมีรูปแบบคล้ายๆ กับสถาบันพระปกเกล้า นอกจากจะมีหน้าที่อบรมทางการเมืองให้กับสมาชิกและยุวชนของพรรคแล้ว ยังจะมีหน้าที่ทำวิจัยเกี่ยวกับแนวนโยบายเสนอต่อสภายุทธศาสตร์ด้วย สำหรับตำแหน่งของนายสมคิดนั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัด กำลังดำเนินการสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า จะนั่งในตำแหน่งใดได้บ้าง เป็น 1 ใน 9 สภายุทธศาสตร์ได้หรือไม่ เพราะพรรครวมใจไทย มีแนวคิดว่าทั้ง 9 คน อาจจะไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค หรือเกี่ยวข้องกับการบริหารพรรคเลยก็ได้
โดยจะเชิญมาจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ อาชีพ นายสมคิดอาจจะใช้ช่องทางดังกล่าว แต่หากติดปัญหาข้อกฎหมาย ก็อาจจะให้นั่งในตำแหน่งที่ปรึกษา หรือรอจนกว่านายสมคิดจะพ้นการถูกเพิกถอนสิทธิ 5 ปี แล้วค่อยกลับเข้ามามีตำแหน่ง เพราะพรรครวมใจไทย ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แต่จะทำการเมืองระยะยาว เมื่อถามว่า แต่เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง จุดขายของพรรคคือการชูหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ นายสุวิทย์กล่าวว่า ในโมเดลใหม่ หัวหน้าพรรคแทบจะไม่มีความสำคัญเลย เพราะการตัดสินใจจะต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสภายุทธศาสตร์ทั้ง 9 คน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เหมือนแต่ก่อน และหัวหน้าพรรคสามารถเป็นคนใดก็ได้ใน 9 คนที่อยู่ในสภายุทธศาสตร์ เพื่อสามารถเชื่อมต่อแนวคิด และนำไปปฏิบัติในฐานะผู้บริหารได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมที่นำเสนอทั้งนโยบายและผู้นำในลักษณะกลุ่มผู้นำ ที่มีหลากหลายมิติ "ที่สำคัญเราจะไม่ยึดติดว่านายกฯจะเป็นแค่ 9 คนในสภายุทธศาสตร์เท่านั้น อาจจะเป็นคนอื่นในพรรคก็ได้" นายสุวิทย์กล่าว นายสุวิทย์กล่าวถึงบุคคลที่อยู่ในสภายุทธศาสตร์ว่า มีหลายคน อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน, นายพิจิตต รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคถิ่นไทย, นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ, นายชัยอนันต์ สมุทวณิช, นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ และอีกหลายคนที่ยังไม่อยากเปิดเผยเพราะอยู่ระหว่างการทาบทาม เมื่อถามว่า หากกลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ จะเข้ามาร่วมงานด้วย นายสุวิทย์กล่าวว่า "ยินดีต้อนรับนักการเมืองที่เข้ากับโมเดลที่กำหนดไว้ได้" ข้อมูลจาก ข่าวจาก กระปุกดอทคอม
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|