กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำเหล่าศิลปินดารานักร้อง อาทิ “น้าหว่อง” มงคล อุทก, เสก-ศักดิ์สิทธิ์, พีสะเดิด และ “น้องเพชร” สรภพ ลีละเมฆินทร์ ลูกชายราชินีลูกทุ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ เปิดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมประชาธิปไตย” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค. ที่ศูนย์การ ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวออกมาแสดงพลังออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ส.ส. โดยนายธีรภัทร์กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ประชาชนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิลงประชามติให้มากที่สุด ในฐานะเจ้าของประเทศได้มาตัดสินใจอนาคตประเทศชาติร่วมกัน แต่จะตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของแต่ละคน ส่วนกรณีที่ขั้วอำนาจเก่ารณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ห่วงเลย ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก แต่อย่าไปทำอะไรละเมิดกฎหมายประชามติ นายกฯ ชี้จ้างช่วงพิมพ์ร่าง-ไร้เจตนา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงปัญหาการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน ที่พบว่าโรงพิมพ์ของรัฐ 9 แห่งไปว่าจ้างเอกชนให้รับช่วงพิมพ์ ทำให้เกิดปัญหาไม่ตรงสเปกที่กำหนด และมีกระแสข่าวว่าการไปว่าจ้างโรงพิมพ์เอกชนเพื่อเอากำไรจากส่วนต่างของงบประมาณ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการออกมาลงประชามติว่า คิดว่าประชาชนคงเข้าใจว่าความผิดพลาดโดยไม่มีเจตนา กับมีเจตนาที่จะทำให้ผิดพลาด มันเป็นคนละเรื่อง และมีหลายเรื่องที่มีผู้เจตนาทำ เราก็คงจะต้องดูด้วย ทั้งนี้ จากการซักถามพบว่าไม่มีเจตนาทำให้เกิดความผิดพลาด ส่วนที่มีการว่าจ้างเอกชนพิมพ์นั้น เป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปดูรายละเอียด แต่เท่าที่ฟังนายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงยอมรับว่ามีข้อผิดพลาด แต่ไม่ได้เป็นความผิดพลาดที่มีเจตนาที่จะทำ เนื่องจากห้วงเวลาสั้น ต้องเร่งทำ ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดกันได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 26 ก.ค.นี้ กลุ่มไทยรักไทยจะออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า อยู่ที่พี่น้องประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่ทำความเข้าใจในส่วนหนึ่งว่าที่มาที่ไปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร มีส่วนที่ปรับแก้จากรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างไร ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน เราคิดว่าจะมุ่งไปสู่การเลือกตั้งตามที่ประกาศไปว่าอยากให้มีการเลือกตั้ง ภายในปลายปีนี้ให้ได้ “เสรี” โบ้ยโรงพิมพ์รัฐทำผิดสัญญา นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (วิป ส.ส.ร.) กล่าวว่า ได้สั่งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับงานจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่สำนักพิมพ์ของรัฐหลายแห่งนำงานไปให้โรงพิมพ์เอกชนรับช่วงจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมรวบรวมหลักฐานส่งให้คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีนายศิวะ แสงมณี เป็นประธาน ก่อนจะเสนอกลับมาสู่วิป ส.ส.ร.หาข้อเท็จจริงต่อไป ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี และต้องทำตามสัญญา เพราะในทีโออาร์กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้ ผู้รับจ้างดำเนินการผลิตนำไปแจกจ่ายให้โรงพิมพ์อื่นรับช่วงต่อ แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตัดข้อกำหนดนี้ทิ้ง โดยไม่ได้รับอนุมัติจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าหน่วยงานของรัฐที่มารับจ้างพิมพ์เป็นผู้ผิดสัญญา ต้องไปดูรายละเอียดว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะเวลาออกไปพูดข้างนอกเหมือน ส.ส.ร.ไปรู้เห็นกระทำผิดด้วย เชื่อร่างถึงมือประชาชนตามกำหนด ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่โรงพิมพ์จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญถึงบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ล่าช้า อาจทำให้ส่งถึงมือประชาชนทั่วประเทศไม่ทันภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ นายเสรีตอบว่า คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะมีสัญญากำหนดชัดเจน หากดำเนินการไม่ทันต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดด้วย แต่เชื่อว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่สัปดาห์เศษจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงในเรื่องการทำประชาสัมพันธ์ จึงเป็นภาระที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรณรงค์ให้มากกว่าเดิม ไปรษณีย์ทยอยแจกร่างทุกครัวเรือน วันเดียวกัน ที่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มีรถบรรทุกของสำนักพิมพ์ต่างๆ หลายสิบคัน ได้ลำเลียงหนังสือร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาส่งให้บริษัทไปรษณีย์ ไทยเป็นวันสุดท้าย โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจำนวนหนังสืออย่างละเอียด เพื่อเตรียมขนส่งไปตามหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ โดยนางจิตต์พิสุทธิ์ ยอดวิเศษ ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าธุรกิจ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการรับและจัดส่งหนังสือดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักพิมพ์ต่างๆ ต้องส่งหนังสือร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ เพื่อให้บริษัทไปรษณีย์ไทยจัดหนังสือร่างรัฐธรรมนูญ 19.6 ล้านเล่ม ส่งไปยังสำนักงานย่อยทั่วประเทศ และแจกจ่ายตามบ้านเรือนประชาชน ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์นี้จะระดมเจ้าหน้าที่ช่วยแจกจ่าย คาดว่าจะแจกจ่ายเสร็จทันกำหนดในวันที่ 30 ก.ค.นี้อย่างแน่นอน “พิเชฐ” แจงเลิกชี้นำรับรัฐธรรมนูญ ด้านนายพิเชฐ พัฒนโชติ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ในคณะกรรมการอำนวยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสติกเกอร์ชี้นำให้รับร่างรัฐธรรมนูญว่า คณะกรรมการอำนวยการมีส่วนร่วมฯ และอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯได้ดำเนินกิจกรรมในโครงการต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม สมาคม มูลนิธิและองค์กรสาธารณ-ประโยชน์ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน ในวงเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการในเดือน ก.ย. ซึ่งการจัดทำสติกเกอร์เป็นการดำเนินการโดยเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน (อสช.) อันเป็น 1 ใน 45 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับการว่าจ้างพิมพ์สติกเกอร์ 5 หมื่นแผ่น ในราคา 3.5 แสนบาท ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ ครม.จะมีมติ กำหนดแนวปฏิบัติการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการฯได้รับทราบ แนวปฏิบัติดังกล่าวก็ได้กำชับทุกองค์กรเครือข่ายไม่ใช้ข้อความที่ขัดต่อแนวปฏิบัติ เอกสารประชาสัมพันธ์ ต่างๆจะไม่มีคำว่า “รับร่างรัฐธรรมนูญ” อีก เผยคนใช้สิทธินอกเขตมี 2 แสนคน นางสดศรี สัตยธรรม กกต. แถลงยอดผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 10-19 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า มีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 2 แสนคน โดยใน กทม.มีผู้มาลงทะเบียนมากที่สุด รองลงมาคือ จ.สมุทรปราการ ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีผู้ลงทะเบียนน้อย เพราะการออกเสียงประชามติไม่ใช่ หน้าที่ เป็นสิทธิของประชาชน นายยศศักดิ์ คงมาก ผู้อำนวยการกองปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ยอดผู้มายื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตในส่วนของ กทม.มีทั้งสิ้น 84,967 คน เฉพาะวันที่ 19 ก.ค. ที่เป็นวันลงทะเบียนวันสุดท้าย มีผู้ขอใช้สิทธิกว่า 70,000 คน ยอดรวมครั้งนี้น้อยกว่ายอดการใช้สิทธิ เลือกตั้งนอกเขตในการเลือกตั้ง ส.ว.คราวที่แล้ว ซึ่งมีถึง 2 แสนกว่าคน เด็ก มธ.เปิดฉากชำแหละร่าง รธน. บ่ายวันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสภาหน้าโดม ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา จัดเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรผ่านประชามติหรือไม่” โดยกลุ่มสภาหน้าโดมได้สรุปหัวข้อที่ร่างรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ไว้ 9 ประเด็นหลัก คือ 1. ที่มาของ ส.ว. ที่ส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยการสรรหา และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งเพียงจังหวัดละหนึ่งคน 2. มาตรา 309 เรื่องการนิรโทษกรรม คมช. สนช.และ คตส. 3. ไม่ได้บรรจุคำว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง 4. มีการรวม กสช.เข้ากับ กทช. เหลือองค์กรอิสระดูแลคลื่นความถี่เพียงองค์กรเดียว 5. ส.ส.ยังต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน 6. ยกอัยการขึ้นเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ทำให้มีอิสระจากรัฐบาล จะเป็นผลดีหรือผลเสีย 7. องค์กรอิสระต่างๆยังมีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ ขาดการตรวจสอบติดตามจากรัฐบาลและประชาชน กลายเป็นอำนาจที่ 4 ที่ใหญ่ เกินไปหรือไม่ 8. มาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังทำได้ยาก เพราะต้องใช้ประชาชนมากถึง 5 หมื่นคน 9. บทเฉพาะกาลหมกเม็ดไว้หลายเรื่องหลายประการ “ลิขิต” จับผิดบทนิรโทษกรรม ด้านนายลิขิต ธีรเวคิน อดีตหัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท กล่าวว่า ก่อนการลงประชามติควรให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทั้งด้านบวกและด้านลบของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่มีสิทธิชี้นำ ใครก็ตามที่คิดจะจูงใจถือว่าผิด ตนมองว่าเนื้อหาของร่างฉบับนี้ โดยทั่วไปถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง เพียงแต่อาจจะผิดพลาดบ้างเพราะความไม่รู้ มีธงล่วงหน้าหรือเกิดจากอคติของผู้ร่างเอง แต่ที่น่าสนใจคือเหตุใดยังต้องหมกเม็ดนิรโทษกรรม คมช.ไว้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็นิรโทษกรรมให้ไปแล้ว หากยังระบุไว้อีกในอนาคตถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเกิดอะไรขึ้น จะเท่ากับประชาชนไม่ยอมให้นิรโทษกรรม คมช.และ คตส.ใช่หรือไม่ อัยการพร้อมช่วย คตส.สู้คดี นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. และกรรมการ คตส.รวม 11 คน ในความผิดฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่าการออกสั่งอายัดทรัพย์สินไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอคติและเจตนากลั่นแกล้งว่า ถ้า คตส.มีความประสงค์และทำหนังสือมาให้อัยการแก้ต่างคดีให้สำนักงานอัยการสูงสุดก็พร้อมที่จัดหาอัยการไปดูแลการแก้ต่างคดีให้ทุกคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย หรือหากกรรมการ คตส.ร้องขอให้อัยการคนใดเข้าไปช่วยเหลือเป็นพิเศษ ก็พร้อมจะจัดการให้ ที่ผ่านมาอัยการได้เข้าไปดูแลทางคดีให้ คตส.ซึ่งถูกฟ้องในคดีอาญามาแล้ว “สนธิ” บอกคนทั้งชาติให้กำลังใจ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณยื่นฟ้อง คตส.เรียกค่าเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาทว่า เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า คตส. ไม่กลัว และคนทั้งประเทศก็ให้กำลังใจ คตส.อยู่แล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า คำสั่งอายัดทรัพย์เกิดจากคตส.มีอคติทางการเมือง พล.อ.สนธิกล่าวว่า ทางคดีเห็นอยู่แล้วว่าใครมีอะไร ทำอะไร พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด และสมาชิก คมช. กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะเรื่องกฎหมายสามารถฟ้องร้องกันได้ ถ้า คตส.เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ใจและความยุติธรรม จะฟ้องกี่หมื่นกี่แสนล้านบาทก็ไม่ต้องกลัว ซึ่งจากระยะเวลา 8 เดือนที่ คตส.พิจารณาคดีนั้น ทำด้วยความรอบคอบและยุติธรรม ข่าวจาก ไทยรัฐ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|