ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึง โรคถุงลมปอดโป่งพองหรือโรคซีโอพีดี (COPD : Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ว่า เกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษในรูปของก๊าซหรือฝุ่น เช่น ควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้เข้าไป สารพิษจากควันดังกล่าวจะไปทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสื่อมสภาพ เกิดอาการอักเสบ เป็นโรคที่มีความทุกข์ทรมานและรุนแรงมากที่สุด มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคแล้วจะรักษาไม่หายขาด มีอาการคือหายใจยากลำบาก หอบง่าย ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยทั่วโลกเป็นโรคนี้กว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมอง คาดว่าในอีก 7 ปีหรือในปี 2563 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มอีกร้อยละ 30
“ที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่าวัยรุ่นไทยหันมาสูบบารากู่กันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่มีอันตรายหรือมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแร็ต เนื่องจากเป็นการเผาไหม้กากผลไม้ ควันมีกลิ่นหอม และควันผ่านกระเปาะน้ำก่อนสูดเข้าสู่ร่างกาย แต่จริงๆ แล้วข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ควันที่ผ่านน้ำลงไป ยังคงมีสารพิษในระดับสูงทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนัก และสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การสูบบารากู่แต่ละครั้งมักจะใช้เวลาสูบนาน ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน” นพ.โสภณกล่าว และว่า ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ และเพิ่มการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ โดยผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อความตามข้อคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ในปี 2557
องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก ได้กำหนดให้วันพุธในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี เป็นวันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) ในปีนี้ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขตระหนักว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศอันมีสาเหตุเนื่องมาจากการสูบบุหรี่
ที่มา : มติชนออนไลน์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|