ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
บิ๊กตู่" สั่งคมนาคมสานฝันไฮสปีดเทรน"กรุงเทพฯ-เชียงใหม่" ให้เป็นจริง "ประจิน" ลุยเปิดประมูลมินิไฮสปีดสายใต้ "กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์" วงในเผย 3 เจ้าสัว "ไทยเบฟ-ซีพี-บีทีเอส" แบ่งเค้กลงทุนครบ 3 เส้นทาง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้คมนาคมเร่งผลักดันรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ให้สำเร็จและเกิดขึ้นได้จริง ส่วนรถไฟไทย-จีน เนื่องจากมีความก้าวหน้าไปมากจึงไม่มีข้อกังวลอะไร เพียงแต่บอกว่าการทำงานต้องเตรียมแผนประกันความเสี่ยงไว้ ถ้ามีความเสี่ยงด้านใดด้านหนึ่ง ต้องหาวิธีการแก้ไข
ทั้งนี้ โครงการรถไฟไทย-จีนที่ลงนาม MOU (บันทึกความเข้าใจ) กับรัฐบาลจีน เรียกว่ารถไฟทางคู่มาตรฐาน ความเร็ว 180 กม./ชม. หรือมินิไฮสปีดเทรน ขณะที่โครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ชื่อโครงการจะแตกต่างออกไป โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเรียกว่าการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย เสนอร่วมพัฒนา 2 เส้นทางคือ
1.สายพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ในอนาคตถ้าเชื่อมทวายจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคนี้ เพราะเชื่อมไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนามได้ คาดว่าเป็นมินิไฮสปีดเทรนราง 1.435 เมตรเหมือนกับจีน
2.สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง วิ่ง 200-300 กม./ชม. คาดว่าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเซ็น MOU เดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้นเดือนมิถุนายนจะตั้งไซต์งานสำรวจและออกแบบใช้เวลาประมาณ 1 ปี เป็นเส้นทางเน้นขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นไฮไลต์อีกเส้นหนึ่งของรัฐบาล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนเร่งผลักดันรถไฟกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์หลังญี่ปุ่นได้เลือกเส้นทางใดเรียบร้อยแล้วโดยจะเริ่มเดินหน้าเส้นทางตอนใต้ทันทีเพื่อเชื่อมรถไฟไทย-จีนที่สร้างจากหนองคาย-กรุงเทพฯ
"คาดว่าจะเปิดประมูลทั่วไปเนื่องจากยังไม่มีประเทศที่3 มาเสนอตัว มีแต่บริษัทเอกชนแสดงความสนใจ มีแนวโน้มเป็นรถไฟทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ความเร็วปานกลาง 180 กม./ชม." พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่า
อีก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-พัทยาและกรุงเทพฯ-หัวหิน เหมาะสมจะสร้างเป็นรถไฟความเร็วปานกลางถึงความเร็วสูงได้ คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะเสนอแผนงานให้ ครม.พิจารณา
ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนไทย 3 กลุ่มแสดงความสนใจลงทุน คือ กลุ่มซีพี ไทยเบฟเวอเรจ และกลุ่มบีทีเอส ล่าสุดได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารูปแบบการลงทุน คาดว่าเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชนรูปแบบ PPP เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบเดือนพฤษภาคมนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงหลังจากนายกรัฐมนตรีมีนโยบายลงมา มีกระแสข่าวออกมาว่ากลุ่มไทยเบฟฯ สนใจเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน, กลุ่มซีพีสนใจเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา ส่วนบีทีเอสสนใจรถไฟไทย-จีนในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|