ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
บทความโดย เฟสบุ๊ค สืบสานตำนานล้านนา
"กู่ผียักษ์ หรือ กู่สิงห์ตอง นี้น่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสกุลช่างเชียงแสน ในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20 ก่อนที่บทบาทของศิลปะเชียงใหม่สมัยพญาติโลกราชจะรุ่งเรืองขึ้นมาแทน และยังอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีพระสงฆ์จากเชียงแสนเข้ามาศึกษาในสำนักวัดสวนดอก เพราะนับตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของศิลปกรรมสกุลช่างเชียงใหม่ก็ไม่ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบสกุลช่างเชียงแสนในเขตอาณาบริเวณเชียงใหม่ ลำพูนอีกเลย"
กู่ผียักษ์ เป็นโบราณสถานที่สำคัญมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีของเมืองลำพูน กู่แห่งนี้มีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "กู่สิงห์ตอง" ตามประวัติศาสตร์ไม่มีรายละเอียดความเป็นมาของกู่แห่งนี้ แต่จากรายงานการสำรวจโบราณสถานของกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ.2540 ทำให้ทราบว่า กู่ผียักษ์หรือกู่สิงห์ตองแห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่าการเข้ามาตั้งหลักแหล่งของชาวยองเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 24 อย่างแน่นอน โดยในรายงานดังกล่าวได้มีกล่าวถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่ากู่แห่งนี้มีลักษณะเป็นมณฑปทรงสี่เหลี่ยสจัตุรัส กว้างประมาณ 3 เมตร มีฐานปัทม์ลูกแก้วรองรับเรือนธาตุ ทั้งฐานปัทม์และส่วนเรือนธาตุมีลักษณะยื่นเก็จออกมาหนึ่งชั้น ในส่วนยื่นเก็จของเรือนธาตุยังมีซุ้มประกอบด้านละหนึ่งซุ้ม ก่อซุ้มแบบสันเหลื่อมเฉพาะซุ้มด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มจระนำเข้าไปภายในกู่ได้ ซึ่งปรากฏร่องรอยว่าเดิมคงมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน ทว่าปัจจุบันมีการลักลอบขุดค้นลึกลงไป
จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและลวดลายปูนปั้นที่ยังพอปรากฏให้เห็นอยู่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 มาจนถึงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 นอกจากนั้นกู่ผียักษ์ยังมีโครงสร้างของซุ้มที่สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมสกุลช่างเชียงแสนเป็นอันมาก เห็นได้ชัดจากเสารับซุ้มซึ่งมีแต่บัวหัวเสา ไม่มีบัวโคนเสามีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสนและเจดีย์วัดอุ้มโอทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
ความสำคัญของกู่ผียักษ์ บ้านแม่สารบ้านตอง อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นโบราณสถานที่มีมาก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองเมื่อราวปี พ.ศ.2348 จากการศึกษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมและงานปูนปั้น ซึ่งพัฒนาการสืบต่อมาจากเจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงรายนั้น อาจสรุปได้ว่า
กู่ผียักษ์ หรือ กู่สิงห์ตอง นี้น่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสกุลช่างเชียงแสน ในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20 ก่อนที่บทบาทของศิลปะเชียงใหม่สมัยพญาติโลกราชจะรุ่งเรืองขึ้นมาแทน นอกจากนั้นในแง่ประวัติศาสตร์สังคมทั้งเจดีย์วัดป่าสัก วัดอุ้มโอและกู่ผียักษ์ยังอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีพระสงฆ์จากเชียงแสนเข้ามาศึกษาในสำนักวัดสวนดอก จากการอุปถัมภ์ของพญากือนา และได้สร้างวัดตามลักษณะสกุลช่างเชียงแสนขึ้นในระยะนั้น เพราะนับตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของศิลปกรรมสกุลช่างเชียงใหม่คือสมัยพญาติโลกราชสืบต่อลงมาถึงคราวเสียเมืองให้แก่พม่าในปี พ.ศ.2101 ก็ไม่ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบสกุลช่างเชียงแสนในเขตอาณาบริเวณเชียงใหม่ ลำพูนอีกเลย
อย่างไรก็ตาม กู่ผียักษ์ยังอาจบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายของอาณาจักรล้านนาในอดีตได้
เอกสารประกอบ
รายงานการสำรวจกู่ผียักษ์ กรมศิลปากร พ.ศ.2540
แผนที่ จาก google Map
กู่ผียักษ์...กู่โบราณเมืองลำพูน....."กู่ผียักษ์ หรือ กู่สิงห์ตอง นี้น่าจะเป็นกลุ่มโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสกุลช...
Posted by สืบสานตำนานล้านนา on 22 กรกฎาคม 2015
แสดงโฆษณา
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|