ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ครูบาเจ้าศรีวิชัย ถูกจับครั้งที่3 ขณะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ โดยไม่ใช้เงินของรัฐแม้แต่บาทเดียว
การสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ แน่นอนทีเดียว การมีถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น ย่อมมีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผู้คนที่ศรัทธาจะได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุอันสำคัญนี้ ได้ทั่วถึงกัน ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งลานนาไทยนี่เองคือผู้สร้างถนนขึ้งสู่ดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2477 ซึ่งนับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุด ในชีวิตของท่านอีกงานหนึ่ง
ไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะสามารถสร้างถนนผ่านป่าเขาอันทุรกันดาร และสูงชันจนไปถึงที่เชิงบันไดนาคของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพได้ แต่ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้ด้วยมือเปล่าๆ เพียงสองข้างอีกเช่นเคย แถมใช้เวลาเพียง 5 เดือน 22 วันเท่านั้น
ระยะเวลาแค่นี้กับการสร้างถนนขึ้นเขา ระยะทางยาว 11 กม. ในสมัยนั้นที่ยังไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุ่นแรงทันสมัย เหมือนทุกวันนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาหลาย ครั้งหลายหน แต่ต้องประสบความผิดหวังทุกคราว เพราะไม่สามารถจะสร้างได้ ทั้งปัญหาจากงบประมาณ และความทุรกันดารของป่าเขาที่จะต้องตัดถนนผ่าน
ครูบาศรีวิชัยได้พิสูจน์คำเล่าลือของชาวบ้านและสานุศิษย์ที่นับถือท่าน ว่าเป็น "ต๋นบุญ" หรือ "ผู้วิเศษ" อย่างแท้จริง เพราะการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนี้เอง อันนับว่าเป็นช่วงที่ชีวประวัติของนักบุญแห่งลานนาไทยมีอภินิหารมหัศจรรย์น่าทึ่ง น่าติดตามกันต่อไปอย่างยิ่ง
ครูบาศรีวิชัย ขอ 6 เดือน
ครูบาศรีวิชัยได้รับปากว่าจะเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาเพียง 6 เดือน นั่นทำให้หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่หนักใจยิ่งขึ้น เนื่องจากบริเวณเชิงเขาขึ้นดอยสุเทพ จนถึงบันไดนาควัดพระธาตุนั้น เป็นป่าใหญ่และหุบเหวลึกหลายต่อหลายแห่ง การที่จะสร้างถนนได้นั้นต้องสำรวจทางแผนที่ จัดทำรายละเอียด เส้นทางที่จะสร้างและอื่นๆ อีกมาก หลวงศรีประกาศได้รับเป็นธุระเรื่องนี้ การสำรวจเส้นทางถนนสายนี้ใช้เวลาเป็นเดือนเลยทีเดียว ในที่สุดก็สำเร็จ หลวงศรีประกาศได้นำเอาแผนที่เสนอให้พระครูบาศรีวิชัย ดูแนวการสร้างถนน ซึ่งครูบาก็เห็นด้วย รวมระยะทางจากเชิงดอยสุเทพถึงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพทั้งหมด 11 กิโลเมตร 530 เมตร
จอบแรก
ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2477 และพิธีทางประวัติศาสตร์อันจารึกไว้คู่นครเชียงใหม่ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูนเป็นจำนวนมาก
เวลา 01.00 น. ของวันที่ 9 พระครูบาเถิ้มประกอบพิธีชุมนุมเทวดา บวงสรวงอันเชิญเทวดาทั้ง 4 ทิศ
เวลา 10.00น. จึงเริ่มลงจอบแรก เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงเป็นผู้ขุดจอบแรกเป็นปฐมฤกษ์ เริ่มต้นงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงสวดชยันโตชัยมงคลคาถา จากภิกษุสานุศิษย์ของท่านพระครูบาศรีวิชัย
หลังจากวันนั้นก็ได้มีประชาชน จากทั่วสารทิศมาช่วยกันสร้างถนน ร่วมเป็นอานิสงส์ พร้อมกับนมัสการท่านพระครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก จนถึงกับต้องแบ่งพื้นที่การสร้างเป็นระยะๆ ในตอนเช้าก็ได้มีประชาชนนำเอาข้าวสาร อาหาร พืชผัก และอาหารคาวหวาน มาทำบุญกันอย่างล้นหลาม ยิ่งนานวันคนยิ่งทวีมากขึ้น ผลงานรุดหน้าในแต่ละวัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่างก็อยากทำบุญกุศลและชมบุญญาธิการบารมีของพระครูบาศรีวิชัย ในที่สุดถนนที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นก็สำเร็จลง ภายในระยะเวลา 5 เดือน 22 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วมาก โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว นี่คือบารมีของครูบาศรีวิชัยโดยแท้ (รถยนต์คันแรกขึ้นได้เมื่อ ๓๐ เมษายน 2478)
ที่มา hwww.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-srivichai/kb-srivichai-hist-01.htm
การจับกุมในช่วงที่สาม พ.ศ. 2478-2479
เกิดขึ้นในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปถึง 90 วัด พระสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุที่จะบานปลาย ขณะเดียวกันนั้น กลุ่มพระสงฆ์วัดที่ขอแยกตัว ถูกสั่งให้มอบตัวและพระที่ถูกบวชโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยก็โดยคำสั่งให้สึก เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงถูกโยงเข้าไปสู่ปัญหาการเมืองในขณะนั้นไปด้วย
ในการจับกุมช่วงที่สามนั้น ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงพุทธศักราช 2479 เมื่อหลวงศรีประกาศได้พูดคุยกับครูบาเจ้าศรีวิชัยในวันที่ 21 เมษายน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ และได้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน
สืบเนื่องจากรากฐานแห่งความศรัทธาจากฆราวาสและคฤหัสถ์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์การจับกุม ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีภาพลักษณ์เป็นตนบุญ นักบุญ แห่งล้านนา ย่อมเป็นธรรมดาที่ศรัทธาฆราวาสหรือคฤหัสถ์จะยอมรับไม่ได้ ที่ใครหรือกลุ่มคนใดจะมาลบหลู่บุคคลอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ การจับกุมท่านหรือส่งตัวท่านไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างจากการกระทำที่ย่ำยีความศรัทธาและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และอาจนำไปสู่ความโกรธแค้น ก่อให้เกิดความวุ่นวาย การใช้กำลังในการยุติปัญหา จากที่กล่าวมาโดยสังเขป พอจะวิเคราะห์ให้เห็นได้ว่า
ในขณะนั้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ได้แปรสภาพจากปัญหาเล็ก ๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง เมื่อขอบเขตของปัญหาเปลี่ยนจากเล็กเป็นใหญ่ อาจเป็นไปได้ว่า ท่านมองว่าประเด็นปัญหาส่วนตัวของท่านที่มีกับระเบียบของคณะสงฆ์ส่วนกลาง กลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว กอปรกับความที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นสงฆ์สายอรัญวาสี เคร่งครัดสูงในเรื่องธรรมวินัย เพราะฉะนั้นการจะยอมตาม จึงเป็นเรื่องไม่เหนือวิสัยสำหรับสงฆ์ในสายอรัญวาสี และความที่ท่านเป็นที่นับถือของพระสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง การจะเปลี่ยนมาถือตามระเบียบสงฆ์ของทางส่วนกลาง ท่านย่อมสามารถอธิบายและโน้มน้าวให้เห็นตามได้ไม่ยาก
จากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ยังคงปฏิบัติตามจารีตของล้านนาโดยไม่โอนอ่อนผ่อนตามนโยบายของส่วนกลาง เป็นเหมือนการปลุกจิตสำนึกของชาวล้านนา สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าท่านจะยอมรับระเบียบธรรมเนียมสงฆ์ของส่วนกลางในตอนท้ายที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าจิตวิญญาณของล้านนานั้นได้ถูกทำลายไปด้วย กลับทว่าจิตวิญญาณของล้านนาได้แสดงให้เห็นปรากฏชัดต่อชาวล้านนาและคนทั่วไป จากที่มีอยู่แล้วยิ่งชัดเจนเพิ่มมากขึ้น จากความขัดแย้งของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย กับรัฐ ในขณะนั้นการตั้งอยู่บนพื้นฐานความพยายามที่จะสลายจิตวิญญาณล้านนา เพื่อที่จะรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่นเป็นเอกภาพกับส่วนกลาง เพื่อที่จะต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม แต่ในปัจจุบัน รัฐให้การสนับสนุนทุกวิถีทางที่จะปลุกกระแสความเป็นล้านนา เพื่อใช้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยปลุกกระแสการสืบสานจิตวิญญาณล้านนา ไม่อาจนำมาเทียบได้เลย อีกทั้งจิตวิญญาณของพระสังฆราช ทรงร่างพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ไทยทางมณฑลพายัพ มีพระบัญชา ให้พระธรรมโรดม พระศรีสมโพธิ เป็นที่ปรึกษา รับพระกระแสขึ้นมาเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2450 เข้าทำการปรึกษากับเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงมณฑลพายัพ จัดการคัดหาตัวพระมหาเถระ ผู้แตกฉานธรรมวินัย เพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะรอง เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะแขวง มีหน้าที่บังคับบัญชาคณะสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์
การเข้ามามีบทบาทของส่วนกลาง ส่งผลกระทบต่อวงการสงฆ์ล้านนาอย่างมาก ล้านนามีจารีตการปกครองสงฆ์ค่อนข้างเป็นอิสระในทาง ปฏิบัติ แม้ว่าในแต่ละเมือง จะมีตำแหน่งสังฆราชา และมีครูบาอีก 7 รูป คอยปกครองดูแล แต่ระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนา ให้ความสำคัญแก่ “ระบบหมวดอุโบสถ” หรือ “ระบบหัวหมวดวัด” มากกว่า และการปกครองก็เป็นในระบบพระอุปัชฌาย์ อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกถึง 18 นิกาย และในแต่ละนิกาย ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์ในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีอำนาจปกครองในล้านนายังคงอยู่ และมีการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยคนล้านนาเอง เพราะล้านนามีจิตวิญญาณดั้งเดิมอันแท้จริงที่สืบสานต่อกันมา ไม่มีทางที่คนกลุ่มใดจะสร้างขึ้นมาหรือทำให้แปรเปลี่ยนเป็นอื่นได้ เว้นแต่ชาวล้านนาเองจะพร้อมใจที่จะปรับเปลี่ยนจิตวิญญาณล้านนาเพื่อให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม (ที่มา th.wikipedia.org/wiki)
แสดงโฆษณา
![](./m/loading3.gif)
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|