หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางาน l คอมพิวเตอร์ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าลงโฆษณา
www.cmprice.com เว็บไซต์ของฅนเชียงใหม่ ผ้าพันคอราคาถูก ราคาส่ง เชียงใหม่ ลำพูน

หน้าแรก » เว็บบอร์ด
ห้องแก๋งโฮ๊ะ
เว็บบอร์ด » ห้องแก๋งโฮ๊ะ
รายละเอียดของห้อง : พูดคุยกันเรื่องทั่วๆ ไป, สัพเพเหระ, อยากถาม อยากตอบ
กระทู้ที่ตอบกลับล่าสุด | สร้างกระทู้ใหม่ | ดูกระทู้ทั้งหมด | ค้นหากระทู้ :
ต่วยตูน ตีพิมพ์ ขอโทษชาวลำพูน หลังวิจารณ์ เจ้าแม่จามเทวี เป็นนางร้าย

แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV
ต่วยตูน ตีพิมพ์ ขอโทษชาวลำพูน หลังวิจารณ์ เจ้าแม่จามเทวี เป็นนางร้าย
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 18 ธ.ค. 58 เวลา 22:08:44 IP: Hide ip    


กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ
จาก cmprice.com
VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน


 

© เนื้อหาข่าว/กระทู้

 

หลังจาก เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อหนังสือต่วยตูน ตีพิมพ์ ในหัวข้อ "พระนางจามเทวี ทรงเป็นวีรสตรีหรือนางร้ายกันแน่" ซึ่งเขียนโดย นามปากกา "ลูกช้าง" ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อพี่น้องชาวลำพูนเป็นจำนวนมาก  ทางต่วยตูน จึงจัดพิมพ์ หนังสือเปิดผนึกของ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ และขอโทษพี่น้องชาวลำพูน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในหนังสือ ต่วยตูน ฉบับประจำเดือนธันวาคม 58 โดยมีข้อความตามด้านล่างนี้


หนังสือเปิดผนึดของ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

เรียน บรรณาธิการนิตยสาร “ต่วยตูน”

เรื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงทางวิชาการและขอความเป็นธรรมกรณีการพาดหัวด้วยถ้อยคำลบหลู่ต่อพระนางจามเทวีในบทความของคุณ “ลูกช้าง”
ด้วยดิฉัน ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กรมศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2553 ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คอลัมนิสต์คอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดี” นิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” และเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่ ฯลฯ
ตามที่บทความคอลัมน์ “ถอดรหัส” ในนิตยสาร “ต่วยตูน” ฉบับที่ 488 ประจำเดือนตุลาคม 2558 ของผู้ใช้นามแฝงว่า “ลูกช้าง” ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “พระนางจามเทวี ทรงเป็นวีรสตรีหรือเป็นนางร้ายกันแน่” นั้น หลังจากที่บทความดังกล่าวได้เผยแพร่ไป ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในด้านลบและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท่ามกลางหมู่นักอ่านอย่างรุนแรง ด้วยเหตุที่ผู้เขียนขาดการสังเคราะห์ วิเคราะห์ ข้อมูลเชิงวิชาการอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งขาดการพิจารณาไตร่ตรองในด้านการเลือกสรรถ้อยคำภาษามาใช้ในการตั้งชื่อบทความให้รอบด้านเสียก่อน อันส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่เคารพเลื่อมใสพระนางจามเทวีเป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ดิฉันในฐานะนักวิชาการด้านโบราณคดีที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำพูนมานานกว่า 10 ปี ขออนุญาตเป็นตัวแทนชี้แจงข้อเท็จจริงถึงที่มาของปัญหาในเนื้อหาเชิงวิชาการ รวมไปถึงการพาดหัวที่ค่อนข้างลบหลู่ปฐมกษัตรีย์ในชื่อบทความดังกล่าว โดยแยกคำชี้แจงออกเป็น 3 ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก การวิเคราะห์ตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีโดยปราศจากอคติ
ประเด็นที่สอง กรณีการใช้ไสยศาสตร์ คาถาอาคมในยุคหริภุญไชย และข้อเท็จจริงเกี่ยวการสิ้นชีพของขุนหลวงวิลังคะ
ประเด็นที่สาม จรรยาบรรณของนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ในการพาดหัวบทความ
ประเด็นแรก การที่คุณลูกช้างได้พยายามวิเคราะห์ตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี 2 สำนวน ได้แก่ สำนวนของตำนานจามเทวีวงศ์ ประพันธ์โดยพระโพธิรังสี เมื่อราว 500 ปีก่อน กับอีกสำนวนคือ กาพย์เจี้ยจามเทวี ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยระบุว่า สำนวนแรกมองพระนางจามเทวีเป็นดั่งเทพเจ้า ผู้ปราศจากมลทิน ส่วนสำนวนที่สอง กลับมองว่า พระนางจามเทวีเป็น “นางร้าย” ที่ทำไสยศาสตร์ให้แก่ขุนหลวงวิลังคะนั้น
กรณีนี้ ดิฉันเห็นว่าคุณลูกช้าง คงยังมิได้ศึกษาเอกสารตำนานทั้งสองฝ่ายอย่างลึกซึ้งและรอบด้านมากพอ จึงยังไม่ทราบว่านักวิชาการด้านหริภุญไชยศึกษาได้ทำการแบ่งเอกสารที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในยุคนั้นออกเป็นสองฝ่าย โดยใช้คำนิยามง่ายๆ ว่า “ตำนานฝ่ายวัด” กับ “ตำนานฝ่ายบ้าน” ในมุมมองของนักวิชาการหลายคนที่จับประเด็นเรื่องพระนางจามเทวี ได้สรุปข้อวินิจฉัยเบื้องต้นว่า เอกสารตำนานฝ่ายวัดนั้นเขียนขึ้นเพื่อรองรับอำนาจแห่งศาสนจักร จึงเชิดชูบทบาทของพระนางจามเทวีเพียงแค่เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาจากลุ่มเจ้าพระยาขึ้นมาสู่ลุ่มแม่ระมิงค์ พระนางจามเทวีเป็นเสมือนนักบุญผู้มาโปรดชนพื้นเมืองที่ยังป่าเถื่อนไร้ศาสนา ให้รู้จักพระพุทธศาสนา ดังนั้นตำนานกลุ่มนี้ย่อมไม่เน้นเรื่องราวรายละเอียดอื่นๆ ในส่วนของชีวิตส่วนตัว ความรัก ความยิ่งใหญ่ของพระนางจามเทวี เพราะเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการมุ่งเน้นบทบาทด้านผู้นำทางศาสนาเท่านั้น
ในขณะที่ตำนานฝ่ายบ้าน ซึ่งประกอบด้วย มุขปาฐะ เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน มีทั้งฉบับฤๅษีแก้วจากวัดดอยติ (อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน) และฉบับภาษามอญจากวัดหนองดู่ (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ซึ่งสองฉบับนี้ถือเป็นต้นแบบของตำนานทั้งหมดที่แต่งขึ้นภายหลังในฝ่ายบ้าน รวมทั้งการที่ ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ นำไปขยายความในรูปแบบคำประพันธ์กาพย์เจี้ยนั้นด้วย ตำนานฝ่ายบ้านนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เหมือนตำนานฝ่ายวัด จึงกล้านำเสนออัตชีวประวัติของพระนางจามเทวีอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม ด้วยการพรรณนาพระสิริโฉม สติปัญญาไหวพริบ ความเก่งกล้าสามารถ รวมทั้งเรื่องการศึกสงคราม โดยที่ตำนานฝ่ายบ้านนี้มองพระนางจามเทวีในฐานะที่เป็น “มนุษย์ปุถุชน” มีทุกข์-สุข ผิดหวัง-สมหวัง รัก โลภ โกรธ หลง ด้วยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะเชิดชูบารมีของพระนางในฐานะผู้นำทางศาสนาเพียงด้านเดียว
ย้อนกลับมามองความคิดเห็นของคุณลูกช้างที่มีต่อตำนานฝ่ายบ้านนั้น คุณลูกช้างได้ตั้งข้อสงสัยว่า ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมตำนานฝ่ายนี้จึงเขียนขึ้นบนพื้นฐานที่เต็มไปด้วยอคติต่อพระนางจามเทวี ทำไมตำนานฝ่ายนี้จึงมองพระนางจามเทวีเป็น “นางร้าย” และคุณลูกช้างก็ให้ข้อสรุปเองว่า ต้องมีเงื่อนงำอะไรสักอย่างที่อยู่เบื้องหลังมุมมองดังกล่าวของตำนานฝ่ายบ้าน
มุมมองดังกล่าวทำท่าจะไปได้สวย และเปิดมิติใหม่ต่อแวดวงโบราณคดีล้านนาเลยทีเดียว หากคุณลูกช้างสามารถหาหลักฐานมาประกอบคำอธิบายขยายรายละเอียดต่อข้อสมมติฐานที่คุณตั้งขึ้นนั้น ให้แตกหน่อออกกอทางความคิดพัฒนาไปให้ถึงสุดสายปลายทาง เช่นสามารถจำแนกได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วตำนานฝ่ายบ้านนั้น ก็ยังสามารถแยกย่อยได้อีกเป็น 2 ฝ่าย 2.1 กับ 2.2 ฝ่ายแรกคือฝั่งตะวันออกของแม่ระมิงค์ (เขตลำพูน) น่าจะเป็นฝ่าย “โปร” พระนางจามเทวี กับฝ่ายหลังตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่ระมิงค์ (เขตเชียงใหม่) เพราะเป็นเขตของขุนหลวงวิลังคะ อาจจะเป็นฝ่าย “แอนตี้” พระนางจามเทวี
จะเป็นนิมิตหมายที่ดีแห่งวงวิชาการมาก หากคุณลูกช้างสามารถสืบค้นเรื่องเล่าทุกฉบับจากเอกสารทั้งสองฝ่าย มาวิเคราะห์สังเคราะห์ชนิดจับให้มั่นคั้นให้ตาย ว่าจะเป็นจริงตามข้อสมมติฐานนั้นไหม โดยที่ไม่ควรวางน้ำหนักข้อควรสงสัยไว้ระหว่าง “ตำนานจามเทวีวงศ์” (ตำนานฝ่ายวัด) กับ “กาพย์เจี้ยจามเทวี” (ตำนานฝ่ายบ้านฝั่งตะวันตกของแม่ระมิงค์) เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า “ตำนานฝ่ายวัด” นั้นไม่ยุ่งเกี่ยวกับพระนางจามเทวีในแง่ชีวิตส่วนตัว ไม่มี “โปร” ไม่มี “แอนตี้” ถือว่าเป็นการวาง “คู่ชก” ที่ผิดชั้นเชิง “คู่ชก” ที่คุณลูกช้างควรค้นหาหลักฐานเพื่อมาวางน้ำหนักหักล้างกัน จะต้องเป็นตำนานฝ่ายบ้านสองฟากแม่ระมิงค์นั้นต่างหาก
และสมมติว่าเมื่อคุณลูกช้างได้ตรวจสอบข้อมูลจากตำนานสองฟากแม่ระมิงค์อย่างรอบด้านเรียบร้อยแล้ว เกิดได้ผลสรุปออกมาในทำนองว่า มีฝ่าย “โปร” กับฝ่าย “แอนตี้” พระนางจามเทวีจริง เมื่อนั้นคุณลูกช้างก็สามารถนำผลการศึกษามาอธิบายได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า อะไรที่เป็นปัจจัยอยู่เบื้องหลังมุมมองอันแตกต่างระหว่างตำนานพื้นบ้านสองฝั่งแม่ระมิงค์นั้น แต่หากข้อสมมติฐานไม่ได้เป็นตามที่คุณลูกช้างตั้งไว้ กล่าวคือ เอาเข้าจริงแล้ว ข้อมูลของทั้งสองฝั่งพูดเรื่องเดียวกัน ไม่มี “โปร” ไม่มี “แอนตี้” ตำนานฝ่ายบ้านของสองฝั่งแม่ระมิงค์ ก็สมควรจะยุบรวมเป็นหนึ่งคือเหลือหลักฐานเพียงชุดเดียว
กรณีนี้จึงมีคำถามตามมาว่า คุณลูกช้างได้ศึกษาตำนานฉบับภาษามอญวัดหนองดู่ กับฉบับฤๅษีแก้ว ที่ต่อมาคุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ได้นำไปขยายความต่ออย่างละเอียดแล้วหรือยัง ซึ่งตำนานทั้งหมดนี้ถือเป็น “ต้นเค้า” หรือ “แรงบันดาลใจ” หลักให้แก่ ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ นำไปรจนา “กาพย์เจี้ยจามเทวี” ด้วยซ้ำ และอีกส่วนหนึ่งท่านไกรศรี อาจไปได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่าย “แอนตี้” พระนางจามเทวี ที่เป็นคำบอกเล่า สะท้อนความเจ็บช้ำน้ำใจของสายลูกหลานขุนหลวงวิลังคะอีกสายหนึ่ง
ปัญหาของคุณลูกช้างคือ หลังจากที่กล้าเปิดประเด็นต่อผู้อ่านแล้ว แต่กลับรีบจบบทความลงดื้อๆ ห้วนๆ ไปวางน้ำหนักแค่การเน้นถ้อยคำว่า “นางร้าย” โดยไม่ยอมขยายปมขัดแย้ง ความขุ่นข้องหมองใจระหว่างลูกหลานขุนหลวงวิลังคะและลูกหลานพระนางจามเทวีโดยละเอียดให้ถึงที่สุด ทำให้เป็นบทความที่คาราคาซัง สร้างความหงุดหงิดสับสนค้างคาใจให้แก่ผู้อ่านอย่างมาก ทั้งๆ ที่ปมขัดแย้งระหว่างขุนหลวงวิลังคะกับพระนางจามเทวี สามารถนำมาขยายการวิพากษ์ทางประวัติศาสตร์วต่อไปได้อีกอย่างน่าสนใจและมีสีสัน และเชื่อว่าหากเรานำหลักฐานข้อเท็จจริงมาพูดก็คงมิได้ทำให้ลูกหลานทั้งสองฝ่ายรู้สึกขุ่นข้องหมองข้องใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะเราต่างก็เคารพความจริง
การเร่งรวบรัดตัดความ รีบร้อนปิดประเด็นจบลงดื้อๆ แบบนี้ นอกจากจะไม่ได้ช่วยจุดประกายทางความคิดให้แก่ผู้อ่านแล้ว ยังเป็นการสรุปความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองในลักษณะฟันธงว่า “ตำนานฝ่ายบ้าน” มองพระนางจามเทวีเป็น “นางร้าย” ทั้งๆ ที่คุณลุูกช้างนำข้อมูลของตำนานฝ่ายบ้านมาใช้เพียงแค่ชุดเดียวคือ ฝั่งตะวันตกของแม่ระมิงค์ อีกทั้งผู้อ่านเองก็ยังไม่ได้อ่านอรรถรสต้นฉบับของกาพย์เจี้ยชิ้นนั้นด้วยซ้ำไป ว่าท่อนไหน บทใดหรือ ที่สื่อหรือบ่งบอกว่า ศาสตราจารย์ไกรศรีพยายามชี้ว่าพระนางจามเทวีเป็น “นางร้าย” หรือแท้จริงแล้วท่านไกรศรีแค่นำเสนอเนื้อเรื่องไปตามเนื้อผ้า ถึงบททำคุณไสยก็นำเสนอไป ถึงบทใช้เล่ห์เพทุบายก็ว่ากันไป
จุดนี้เองที่สร้างข้อสงสัยให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งว่า คำว่า “นางร้าย” เป็นมุมมองที่เกิดขึ้นจากศาสตราจารย์ไกรศรี หรือว่าเป็นความคิดของคุณลูกช้างกันแน่ ตรงนี้คุณลูกช้างยังทำหน้าที่ของคอลัมนิสต์ไม่ละเอียดพอ อยู่ๆ ก็สรุปโน้มนำผู้อ่านด้วยการยัดเยียดวลี “นางร้าย” ว่าคือมุมมองของศาสตราจารย์ไกรศรี ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อท่านผู้รจนากาพย์เจี้ยท่านนี้เลย
ประเด็นที่สอง กรณีการใช้ไสยศาสตร์สู้รบกันระหว่างพระนางจามเทวีและขุนหลวงวิลังคะ ประเด็นที่ 2 นี้มีความเชื่อมโยงกับทั้งประเด็นแรก และประเด็นที่ 3 ซึ่งจะได้กล่าวถัดไป เพราะประเด็นไสยศาสตร์นี้ คุณลูกช้างหยิบเอามาเป็นเหตุผลหลักในการมองพระนางจามเทวีในแง่ลบ ผ่านหลักฐานการอ้างอิงไปถึงกาพย์เจี้ยของศาสตราจารย์ไกรศรี โดยตั้งประเด็นคำถามว่า ทำไมเรื่องราวไสยศาสตร์จึงไม่ปรากฏในตำนานฝ่ายวัด แต่กลับปรากฏเฉพาะในตำนานฝ่ายบ้าน และการใช้ไสยศาสตร์สู้รบกันนี่เอง ที่ทำให้คุณลูกช้างมองว่าอีกด้านหนึ่งของพระนางจามเทวีก็คือ “นางร้าย” ดีๆ นี่เอง เพียงแต่คุณลูกช้างใช้วิธีเลี่ยงบาลี ไม่บอกตรงๆ ว่านั่นคือมุมมองของผู้เขียน แต่กลับ “ยืมมือ” กาพย์เจี้ยมาให้สมัญญาต่อพระนางจามเทวีว่าเป็น “นางร้าย”
ขออธิบายต่อผู้อ่านบางท่านที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงสภาพสังคมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เท่าใดนัก ในยุคนั้นทางประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า “ยุคทวารวดี” มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงละโว้ (ลวปุระ) ส่วนหริภุญไชยเป็นรัฐเครือข่ายของทวารวดีทางภาคเหนือ ศาสนาพุทธที่นับถือกันในช่วงนั้น มีทั้งนิกายมหายาน (พุทธปนพราหมณ์) และนิกายหินยาน ในลัทธิย่อยชื่อว่า นิกายสรวาสติวาท และนิกายสุขาวดี คืออย่างไรเสียก็มิใช่นิกายเถรวาทบริสุทธิ์แบบลังกาวงศ์ ที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในสยามยุคสุโขทัยเมื่อ 700 ปีก่อน
ดังนั้นเหตุการณ์ยุคพระนางจามเทวีจึงอยู่ในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนานิกายมหายานค่อนข้างแพร่หลายมีบทบาทต่อสังคมอุษาคเนย์อย่างสูง นิกายมหายานมีลักษณะเป็นพุทธปนผี พุทธปนพราหมณ์ หรือพุทธปนไสย มีการใช้คาถาอาคมข่มกัน ฝ่ายขุนหลวงวิลังคะใช้คาถาอาคมในการย่นระยะทางและกำหนดจุดเป้าหมายในการพุ่งสะเหน้า (หอกโบราณ หรือบ้างก็เขียนว่าเสน้า) เข้าใส่นครหริภุญไชยของพระนางจามเทวีเกือบตรงกับจุดเป้าหมายคือใจกลางเมืองลำพูน ตามที่ได้วางเดิมพันท้ากัน และหากมีการพุ่งสะเหน้าอีกเป็นครั้งที่สอง นครหริภุญไชยต้องสูญเสียอิสรภาพให้แก่ขุนหลวงวิลังคะอย่างแน่นอน นั่นคือที่มาของการงัดกลยุทธ์ “เหลี่ยมเล่ห์เพทุบาย ไสยศาสตร์ เสน่ห์มนตรา” หรือจะสรรหาคำใดมาเรียกขานก็แล้วแต่ ในชุดของอาวุธทางปัญญาเท่าที่พระนางจามเทวีจะสรรหามาใช้การได้ ในเมื่อเทียบจำนวนไพร่พลนายทหารที่นครหริภุญไชยมีนั้น ตัวเลขเพียง 4,000 นาย ส่วนฝ่ายขุนหลวงวิลังคะมีมากถึง 80,000 นาย แตกต่างกันถึง 20 เท่าตัว หมายถึงหากเปิดฉากรบกันจริง จะต้องสู้กันแบบ 1 ต่อ 20 ซึ่งพระนางจามเทวีไม่อาจปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้ จึงนำไปสู่ความแยบยลทางปัญญาด้วยการใช้ไสยศาสตร์ อาทิ การใช้เลือดประจำเดือนนำมาป้ายใบพลูแทนหมากก็ดี การเด็ดชายผ้าซิ่นนำมาเย็บเป็นมาลาให้ขุนหลวงวิลังคะสวมก็ดี การใช้ไสยศาสตร์ครั้งนั้น เป็นการสกัดกั้นมิให้การพุ่งสะเหน้าครั้งที่ 2 สำเร็จเท่านั้นเอง
ขุนหลวงวิลังคะหาได้เสียชีวิตด้วยฤทธิ์ของการเคี้ยวหมากที่เปื้อนเลือดประจำเดือนหรือการสวมมาลาทันทีไม่ เพียงแค่กระอกคลั่งแค้น หลังจากนั้นขุนหลวงวิลังคะได้ยกทัพมาตะลุมบอนในลักษณะที่ฝ่ายหริภุญไชยต้องตั้งรับ 1 ต่อ 20 อยู่ดี แต่ให้เผอิญว่าทางฝ่ายของพระนางจามเทวีมี “พญาช้างปู้ก่ำงาเขียว” ที่ทรงมหิทธานุภาพอย่างสูง กล่าวคือมี “งาช้างดำ” คู่สำคัญที่หากชูขึ้นในยามเที่ยงวันแล้วส่งผลให้ข้าศึกศัตรูตาพร่าลายหลงทางวางอาวุธ พ่ายแพ้แก่ฤทธานุภาพนั้น
ทำไมเนื้อหาตรงนี้คุณลูกช้างจึงมิได้นำมาพูดถึง ว่าฉากสุดท้ายของการเสียชีวิตของขุนหลวงวิลังคะนั้นมาจากการยกทัพจำนวนมากกว่าฝ่ายหริภุญไชย 20 เท่ามาตะลุมบอนกัน คุณลูกช้างพูดราวกับว่าบทอวสานของขุนหลวงวิลังคะมาจากการเคี้ยวหมากหรือการใส่หมวกที่ผ่านพิธีทางไสยศาสตร์อย่างฉับพลันทันด่วนของนางร้าย ซึ่งถือว่าเป็นบทความที่บิดเบือนข้อเท็จจริงทางตำนาน ทำให้คนอ่านเห็นภาพความรุนแรงของไสยศาสตร์ที่พระนางจามเทวีกระทำต่อขุนหลวงวิลังคะ ว่าโอ้โห! แม่เจ้า! พระนางจามเทวีช่างใจร้ายใจดำเสียเหลือเกิน เล่นคุณไสยใส่ขุนหลวงวิลังคะเสียจนงอมพระรามตายคาที่เลยเชียวหรือ
บทความของคุณลูกช้างจึงเป็นการเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเพียงบางด้าน จงใจที่จะละเว้นการเสนอบางด้าน เป็นการหยิบยกข้อความมาวางคู่กันแบบรวบรัดตัดตอน เน้นที่จะโฟกัสคำว่าไสยศาสตร์นั้นนำมาซึ่งจุดจบหรือความพ่ายแพ้ของขุนหลวงวิลังคะ เพื่อที่จะเอามารองรับน้ำหนักตอกย้ำภาพลักษณ์คำว่า “นางร้าย” ของพระนางจามเทวีให้ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็น “ตรรกะวิบัติ” ที่สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้อ่านโดยเจตนา
ประเด็นสุดท้าย คือจรรยาบรรณในการตั้งชื่อบทความ แน่นอนว่าการจั่วหัวบทความหากใช้คำเรียบๆ จืดชืด ย่อมไม่น่าสนใจ ไม่ดึงดูด กระชากต่อมความกระหายใคร่อ่านของนักอ่าน คุณลูกช้างจึงได้กล้าใช้คำถามว่า “วีรสตรีหรือนางร้ายกันแน่” เป็นวลีที่อ่านแล้วสะดุ้ง เพราะคำว่า นางร้าย หมายถึง ตัวแสบจอมริษยา จอมมารยา ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะตามแรงปรารถนาด้านลบของตัวเอง
และหากชีวประวัติของพระนางจามเทวีได้กระทำการดังกล่าวจริง ชาวลำพูนหรือผู้เลื่อมใสศรัทธาพระนางก็คงต้องก้มหน้าม้านรับกรรม หมดภูมิที่จะลุกขึ้นมาโต้แย้ง แต่ในความเป็นจริงพระจริยวัตรของพระนางตลอดพระชนม์ชีพทรงเป็นตามที่คุณกล่าวอ้างเช่นจริงล่ะหรือ ลองนึกย้อนไปถึงศึกโกสัมพีก็ดี หลังการศึกครั้งนั้นพระนางสลดพระทัยยิ่งแทบจะนุ่งขาวห่มขาวตลอดพระชนม์ชีพที่เห็นผู้คนต้องล้มตายเพราะการสงคราม สะท้อนถึงการเป็นผู้มีหิริโอตตัปะอย่างสูงหรือไม่ แล้วคนที่เป็นนางร้ายได้สามารถมีธรรมะข้อนี้ไหม หรือการตัดสินพระทัยเสียสละความสุขส่วนพระองค์ทั้งๆ ที่กำลังใช้ชีวิตในราชสำนักละโว้อันแสนสบายหาได้มีใครบังคับให้ต้องมาลำพูน แต่พระนางก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของบุคคลอื่นมากกว่าส่วนตน ต้องยอมตกระกำลำบาก นำพาพสกนิกรชายหญิงรวมสมณชีพราหมณ์มากกว่า 7,500 ชีวิต แรมรอนมาทางชลมารคผ่านภยันตรายกลางป่าเขาตลอดเส้นทาง เพียงเพื่อมาช่วยบุกเบิกสร้างเมืองหริภุญไชยให้แก่ชนลุ่มแม่ระมิงค์ ทั้งๆ ที่ทรงพระครรภ์
ต้องขอประทานโทษด้วย ที่ต้องเรียนถามว่า บทบาทใด ซีนไหน อย่างไรหรือที่พอจะสมเหตุสมผลให้สามารถเรียกพระนางว่านางร้ายได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แม้แต่ตอนขุนหลวงวิลังคะเสียชีวิต การที่คุณลูกช้างบอกว่าพระนางจามเทีได้กรวดน้ำให้ ก็ยิ่งสะท้อนว่าพระนางมิได้คิดจองเวรจองกรรมอันใดเลยต่อผู้คิดรุกรานอาณาจักร แต่ฉากกรวดน้ำของพระนางจามเทวี คุณลูกช้างกลับตีความว่า พระนางแสร้งเอาพิธีกรรมทางพุทธศาสนามากลบเกลื่อนการกระทำผิดของตนเองที่สังหารขุนหลวงวิลังคะด้วยไสยศาสตร์อย่างเลือดเย็น ในทำนองทำเป็นทองไม่รู้ร้อน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตรรกะวิบัติ
แถมคุณยังไม่ยอมบอกต่อผู้อ่านต่อไปว่า ภายหลังการเสียชีวิตของขุนหลวงวิลังคะแล้ว พระนามจามเทวีมิได้ดูดายทอดทิ้งลูกหลานฝ่ายขุนหลวงวิลังคะเลย ตรงข้ามกลับมีความปรารถนาที่จะให้เกิดสันติภาพและความปรองดองแก่แผ่นดินทั้งสองฝ่าย จึงได้จัดการวิวาห์ให้แก่พระราชโอรสฝาแฝดกับธิดาทั้งสองของขุนหลวงวิลังคะ
คนลำพูนมิใช่คนใจคอคับแคบ มิใช่ว่าเจ้าแม่ของข้าใครอย่าแตะ มิได้มีการปิดกั้นเสรีภาพในการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการจากนักวิชาการรุ่นใหม่ แต่เราต้องการความโปร่งใส ต้องการข้อมูลที่รอบด้าน ตรวจสอบได้จริิง ไม่ใช่ข้อมูลที่เลือกข้าง ด้วยการตั้งธงชี้นำไว้ก่อนแล้ว หัวข้อบทความของคุณหากมีข้อสงสัยต่อพฤติกรรมของพระนางเทวีในมิติคุณไสยจริง คุณก็สามารถตั้งชื่ออื่นๆ ที่ไม่พุ่งเป้าว่าร้ายใครได้อีกมากมาย อาทิ ไฉนวีรสตรีผู้ทรงศีลจึงกล้าใช้คุณไสย? หรือ พุทธศาสนากับไสยศาสตร์มีเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน? หรือเขียนให้ลึกไปกว่านั้นว่า มุมมองที่แตกต่างของตำนานพื้นบ้านสองฟากแม่ระมิงค์ที่มีต่อพระนางจามเทวี เป็นต้น เพียงเท่านี้ผู้อ่านก็เกิดความกระหายใคร่รู้มากพอแล้ว
แต่คุณกลับจงใจ พอใจที่จะเลือกใช้คำว่า “นางร้าย” มาเป็นวลีเด็ด วางหมากไว้เป็นคู่ตรงข้ามกับคำ “วีรสตรี” คล้ายกับต้องการสะกิดสะเกาผู้อ่านให้ถอดใจ ถ่ายน้ำหนักที่เคยมีต่อภาพลักษณ์เดิมๆ ของพระนางจามเทวีที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นวีรสตรี ให้หันเหมาฉุกคิดตามคุณตั้งข้อสังเกต ว่า โธ่! นึกว่าจะเป็นนักบุญ ที่แท้ก็คือคนบาป เป็นนางร้ายดีๆ นี่เอง
ดิฉันคิดว่าการไม่ระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำภาษาโปรยหัวบทความของคุณอันเกิดจากเจตนาด้านลบที่มีอคติต่อพระนางจามเทวีเช่นนี้ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของชาวลำพูน และผู้ที่ให้ความเคารพเทิดทูนพระนางจามเทวีอย่างรุนแรง
นอกจากบทความของคุณจะมิได้ช่วยทำหน้าที่ชี้ช่องแสงแห่งปัญญาให้เกิดการถกเถียงทางประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์แล้ว รังแต่จะโยนเชื้อเพลิงปลุกความบาดหมางขุ่นข้องหมองใจ จุดประกายความแค้นชิงชังระหว่างลูกหลานฝ่ายขุนหลวงวิลังคะ ผู้พ่ายรัก พ่ายรบ กับลูกหลายฝ่ายพระนางจามเทวี ที่คุณมองว่าชนะมาด้วยความเจ้าเล่ห์แสนกลไม่ขาวสะอาดนัก จากเดิมที่ทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ด้วยกันอย่างสันติให้ความเคารพซึ่งกันและกัน พยายามลืมรอยรักรอยแค้นของบรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายมานานเนิ่น มิควรเลยที่คุณจะไปยุแหย่ให้คนสองฝ่ายผิดใจกันอีกครั้ง เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ถกเถียงหาเหตุผลความชอบธรรมให้แก่บรรพบุรุษของแต่ละฝ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เหนือสิ่งอื่นใดบทความชิ้นนั้นยังสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจต่อผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระนางจามเทวี ที่รู้สึกว่าเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ให้เกียรติ กระทำการลบหลู่เหยียดหยามต่อปฐมกษัตรีย์พระองค์นี้อย่างไร้จรรยาบรรณ ปราศจากความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอความเป็นธรรมคืนสู่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลำพูน และแก่พระนางจามเทวีผู้เป็นที่เคารพรักและเทิดทูนยิ่งของชาวลำพูน
ขอแสดงความนับถือ (ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ) ข้าราชการบำนาญ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ อาจารย์พิเศษ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนพ่อแม่พี่น้องชาวลำพูน โทร. 085 037 1120 อีเมล์ penpakata@hotmail.com

แสดงโฆษณา

 


Copy Link : ท่านสามารถ copy ลิงค์ของข่าวนี้เพื่อเผยแพร่ต่อได้
แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV


ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน

 

 

 

 

 



แจ้งลบกระทู้นี้

อ่าน 3888

แสดงความคิดเห็น โดย โน้ต cmprice IP: Hide ip , วันที่ 18 ธ.ค. 58 เวลา 22:08:44
 

 

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 

 
กรุณาอ่าน
ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถ ระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใด ที่ขัดต่อกฎหมายและ ศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ 08-0500-1180 เพื่อให้ผู้ควบคุม ระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป
 
 
 


ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี