ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.58 แอดมินหมอเพจ “เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล” ค้าน “ร่วมจ่ายบัตรทอง” ชี้ คนจนควักค่ารักษาแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็เดือดร้อนหนักแล้ว ชี้ปัจจุบันประชาชนก็ร่วมจ่ายโครงการนี้กันอยู่แล้วในรูปแบบของภาษี และตบท้ายบทความว่า ยินดีให้เก็บภาษีเพิ่ม หากนำไปเพิ่มงบในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ โดยโพสต์ข้อความดังนี้
"#บัตรเดียวทำประเทศถังแตก
ยาวมากขอบคุณล่วงหน้าที่อ่านจบ
วันสองวันนี้มีข่าวจาก รมต. สาธารณสุข
กล่าวเกี่ยวกับโครงการบัตรทอง
โดยในเนื้อข่าวมีความว่า
"งบฯมาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
ซึ่งแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 16-17% คิดเป็น 4.6% ของGDP"
และ
"ประชารัฐจะต้องร่วมสร้างความมั่นคง
และยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ว่าจะดำเนินการแบบไหน อย่างไร
จะให้รัฐบาลรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ไหว
ใครจะช่วยจ่ายระบบอย่างไรต้องมาหารือร่วมกัน"
.
เป็นอีกครั้งที่ต้องขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ใครไม่เห็นด้วยตรงไหน ร่วมแสดงความเห็นกันได้
(หลังอ่านจนจบนะครับ...)
=======================================
#ขอคุยกันแบบผู้บริหาร
ในระดับภาพรวมของประเทศ
สิ่งที่ผมคิดว่า คงไม่มีใครเถียงก็คือว่า
งบประมาณโครงการนี้มันต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
คนไข้อายุยืนยาวขึ้น
คนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ยารักษามากขึ้น (อาจจะลดได้ในบางอย่าง
แต่ภาพรวมก็น่าจะเพิ่มขึ้น)
ค่าหยูกค่ายา เงินเดือนคนทำงานมากขึ้น
งบมันก็ต้องเพิ่มขึ้น แน่นอน
.
คำถามสำคัญคงอยู่ที่ว่า
โครงการนี้ คุ้มที่จะทำต่อไหม ?
.
คำตอบก็คือ น่าจะคุ้มที่จะทำต่อ
แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า
ต้องปรับเปลี่ยน แต่(ยัง) ไม่มีใครบอกว่า ยกเลิก
ดังนั้นปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญเลยก็คือ
เงินไม่พอ ...
จากปัญหานี้
ผมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า
ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาด้วยการ ร่วมจ่าย
ณ ที่จุดบริการ ไม่ว่าจะเป็น 10, 20, หรือ 30%
(คนไข้ผม จ่ายยา สามเดือน สามพันบาท
จ่ายร่วม 10% = 300
จ่ายร่วม 20% = 600
จ่ายร่วม 30% = 900
แต่ ป้าจะมา รพ.ที ยังต้องรอ รถเมล์ฟรี
มารพ. หนึ่งวันรายได้หายไป 300
ยังคิดแล้วคิดอีก
คนไข้ผม ขับวิน มอเตอร์ไซค์
เกิดกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน
ค่ารักษา 300,000 (อ่านว่า สามแสน) บาท
จ่ายร่วม 10% = 30,000 ..
ไม่อยากคิดต่อเลย )
.
ในขณะเดียวกัน ผมเห็นด้วยกับการร่วมจ่าย
ในวิธีปฏิบัติที่ทำกันอยู่ ณ ปัจจุบัน
นั่นก็คือใช้ภาษีที่ทุกคนร่วมกันจ่ายอยู่แล้ว
ย้ำว่า ทุกคน ร่วมจ่ายอยู่แล้ว
.
ทุกคนในประเทศไทย ร่วมกันจ่ายภาษี
ทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ได้มีใครได้รับการยกเว้น
ยากจนแค่ไหนก็ยังต้องจ่าย ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าต่าง ๆ
เงินจำนวนนี้แหละ ที่ผมถือว่าเป็นการ ร่วมจ่าย แล้ว
ใครที่เข้าใจว่า มีแต่มนุษย์เงินเดือน
หรือ ข้าราชการเท่านั้นที่จ่ายภาษี
นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องครับ
และหากงบประมาณไม่พอ สำหรับโครงการนี้
ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของ รัฐบาล ว่า
จะหางบประมาณเพิ่มจากไหน
หากผมเป็น รมต. สาธารณสุข
ผมไม่ร้องเรียกให้ ประชาชนร่วมจ่าย
แต่จะลุกขึ้นร้องต่อ รัฐบาลว่า
หน้าที่ที่จะใช้เงินอย่างคุ้มค่า
หน้าที่ที่จะรักษาชีวิตประชาชน
หน้าที่ที่จะดูแลคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
เป็นหน้าที่ของผม
.
ส่วนหน้าที่ของคุณ ผู้เป็นรัฐบาลก็คือ
หางบประมาณมาให้ผมใช้
ตราบใดที่ผมยังใช้มันได้อย่างสมเหตุสมผล
.
งบไหน เรื่องใด สำคัญกว่ากัน
คุ้มค่า คุ้มราคา ได้ประโยชน์มากกว่ากัน
คุณต้องทำหน้าที่ชั่งตวงวัด
หาก กล้าหาญ และกลัารับผิดชอบ
ก็บอกออกมาเลยว่า เรื่องไหนมันสำคัญกว่ากัน
งบประมาณไหน ที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญกว่าเรื่องนี้
ก็บอกออกมา
========================================
#ขอคุยกันแบบประชาชนคนธรรมดาด้วยกัน
ในฐานะผู้ให้บริการ
โครงการนี้ มักจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า
1. คนเราได้ของฟรี
เจ็บป่วยนิดหน่อย ก็มาขอยา
มาขอยาฟรี ๆ มาทีขนยาเป็นกระสอบ
ได้ไปยังเอาไปทิ้งไปขว้างไม่กินอีก
- ความจริงก็คือ เจอเหมือนกันนะครับ
คนไข้ประเภทนี้ มาทีขอยานวดเพิ่ม หน่อย
ขอยาหยอดตาหน่อยนะหมอ
.
แต่ส่วนตัวผมเจอน้อยมาก ๆ
สัปดาห์หนึ่งเจอคนไข้ประมาณ 3-400 คน
คนไข้แบบนี้น่าจะมีไม่ถึง 10 คน
นับเพิ่มคนที่ป่วยอย่างอื่นแล้วขอยาแถมบ้าง
ก็อีกสัก 10 คนก็แล้วกัน
.
ส่วนที่เหลือนั้นเจ็บจริง
ไม่มีการใช้สลิงแต่อย่างใด
และส่วนใหญ่ที่ผมเจอก็คือ
.
หนึ่ง คนไข้อดทนจนอาการทรุด
แล้วจึงมาหาหมอ เพราะไม่ไหวแล้วจริง ๆ
สอง คนไข้ซื้อยากินเอง
หรือ ไปหาหมอคลินิกมาก่อน
แล้วถ้าไม่หายจริง ๆ จึงมา รพ.
.
เหตุผลจริง ๆ อาจจะเป็นเพราะมันต้องรอนาน
แต่หลายคนก็บอกว่า เพราะเกรงใจหมอ
ถ้าไม่จำเป็น พอดูแลตัวเองได้ พอจ่ายได้ก็ไปคลินิก
แต่ไม่ไหวจริง ๆ เลยมาหาหมอ
สาม คนไข้จะเก็บยาไว้ดีมาก
เรียกว่าเก็บกินทุกเม็ด
โดย ปกติผมจ่ายให้เหลือเกินวันนัดไว้นิดหน่อย
เวลาผ่านไป คนไข้มักจะเป็นคนบอกเองว่า
คราวนี้ ตัวนี้หมอไม่ต้องให้นะ เพราะเหลือเยอะ
คราวนี้ ยาตัวนี้ให้แค่.. ก็พอ
เสียดาย เก็บไว้ให้คนอื่นบ้าง
.
คำถามคือ คนจำนวนหนึ่งซึ่งน้อยมาก
จากประสบการณ์ของผม ทำให้เราถึงขึ้น
ต้องเปลี่ยนแปลงระบบเลยเหรอ ?
...
------
2. พวกไม่ดูแลตัวเอง กินเหล้า สูบบุหรี่
แล้วมาใช้ของฟรีแบบนี้ ถูกต้องที่ไหน ?
ต้องเก็บเงินจากพวกนี้งดการใช้สิทธิ
หรือ โรคใด ๆ ที่เกิดจากรนหาที่เอง
น่าจะระบุไปเลยว่า ห้ามใช้สิทธิ
- อันนี้เป็นแนวทางที่น่าสนใจแต่ทำยากมาก
.
ปัจจุบัน มีบางภาวะ/โรค ที่ เราให้คนไข้
ออกค่าใช้จ่ายเองอยู่เหมือนกัน
นั่นก็คือ คนที่ไปฉีดยาเพิ่มขนาดอวัยวะเพศมา
แล้วต้องการผ่าตัดแก้ไข เพราะเน่า หรือ ติดเชื้อ
หรืออะไรก็ตามทีี ... ต้องจ่ายเงินค่ารักษา
ค่าผ่าตัดเองทั้งหมด
.
แต่ภาวะ อื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน
ที่จะบอกว่า อะไรคือ การรนหาที่เอง
คนกินเหล้าทุกคน ไม่ได้ต้องเป็นตับแข็ง
.
กินเหล้าแล้วตับอักเสบ
.. ต้องจ่ายเงินเองเลยไหม ?
เขาสามารถแก้ตัว
หยุดเหล้าแล้วกลับมาปกติได้นะ
แ่ต่ระหว่างนี้ให้เขามาหาหมอ
แล้วต้องจ่ายค่ายา .. เขาอาจจะเลือกไม่มาดีกว่า
ผลคือ .. เป็นมากขึ้น มากขึ้นหรือเปล่า ?
.
กินเหล้า แล้วตับแข็ง
เขาสามารถดูแลตัวเอง กินยาสม่ำเสมอ
มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นะ
แต่ถ้าเขาต้องมาเจอหมอ แล้วเสียค่ายา
บางคนอาจจะเลือก ทางอื่นเสียดีกว่า
.
หรือต้องแค่ไหน กินกี่ครั้ง รักษากี่ครั้ง
มีสิทธิแก้ตัวได้กี่ครั้ง จึงจะหมดสิทธิ
ในการใช้บัตรทอง
.
หรือ จะพิสูจน์ยังไงดีว่า
คนไข้เลิกกินหรือยังไม่เลิกเหล้า
ถามกี่ครั้ง ก็บอกว่าเลิกแล้ว
แต่ค่าตับไม่เคยดีขึ้นอย่างนี้ ก็ต้องจ่ายค่ายาเอง
หรือยังไง ? หมอสามารถวินิจฉัยได้ทุกครั้ง เหรอ ?
ไม่จริงหรอก แล้วจะเอาอะไรมาตัดสิน
อันนี้คือโรคเดียว ยังมีโรคอื่นอีก
ที่น่าปวดหัวอีกมากมาย
เบาหวาน เรื่องอาหารการกิน
จะกำหนดยังไงเหรอ ? แบบไหนไม่ดูแลตัวเอง
แบบไหนดูแลตัวเองดีแล้ว อนุญาตให้ใช้สิทธิได้
3. บางคนไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่เคยใช้
และ คิดว่าคงไม่มีทางต้องใช้
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม
.
อยากบอกว่า
.
ผมมีคนไข้ไม่น้อย
ที่พอลูกออกจากราชการปุ๊ป
พ่อแม่หมดสิทธิเบิกได้
ก็รับภาระค่ายาไม่ไหว
ต้องย้ายมารับยาด้วยสิทธิบัตรทอง
.
ผมมีคนไข้ รักษามะเร็ง จ่ายเงินเอง
แล้วหมดไปหลายล้าน
จนต้องมาใช้สิทธิบัตรทองในบั้นปลาย
.
กรณีที่เจอบ่อย มาก ก็คือ
พ่อแม่บางคนไม่เคยป่วย ไม่เคยเจ็บ
มาเจ็บที เข้า รพ.เอกชน สามวัน
ค่าใช้จ่ายหมดไปสามแสน
ถ้าลูกพาย้าย รพ. ไม่ทัน
คาดว่า จะถึงขั้นล้มละลาย
.
สิทธินี้เปรียบไปแล้ว
เสมือนเป็น ประกันสุขภาพ อีกชั้น
ที่ รัฐ มอบไว้ให้กับคนไทยทุกคน
คุณไม่รู้หรอกว่า วันไหนที่คุณต้องใช้
แต่คุณต้องรู้ว่า มันสำคัญกับคุณ
คุณจะมีเงินมีทอง ซื้อประกันเอง
นั่นเป็นเรื่องดี นั่นเป็นประกันหนึ่งชั้นให้ตัวคุณเอง
.
แต่นี่คือ ประกันอีกชั้น
ที่ผมในฐานะประชาชน
เห็นว่า ผมก็มีสิทธิพิทักษ์รักษาไว้
ให้กับผมเอง ให้กับคุณ ให้กับทุกคน
สรุป ..
สิ่งที่ผมในฐานะประชาชนจะทำ
เมื่อรู้ว่า งบประมาณสำหรับโครงการนี้มีไม่พอ
ก็คือ จะยืนขึ้นบอกรัฐบาลว่า
.
ผมรู้ว่า ผมมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเอง
ผมก็จะพยายามทำหน้าที่ตัวเองให้ดี
และจะช่วยตัวเองเท่าที่ สภาพตัวเอง
เงื่อนไขชีวิต ของตัวเองจะทำได้
.
แต่หน้าที่ดูแลประชาชนก็ยังเป็นของท่าน
เงินท่านไม่พอเหรอ เก็บภาษีผมเพิ่มขึ้นสิ
ผมยินดีจะจ่ายเงินเพิ่ม
แต่ในข้อแม้ที่ต้องเป็นการจ่ายที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการใช้จ่ายในนโยบายนี้นะ
ไม่ใช่สำหรับ ....
ไม่ใช่สำหรับ ....
ไม่ใช่สำหรับ ....
ด้วยความเคารพครับ"
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|