ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
แม่เจ้าทิพเกสร เป็นธิดาองค์ใหญ่ของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับ ที่ 6 กับแม่เจ้าอุสาห์ มีขนิษฐาร่วมอุทร 1 พระองค์ คือ เจ้าอุบลวรรณา แม่เจ้าทิพเกสรอภิเษกสมรสกับ เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ 7 มีพระธิดา 2 องค์ คือ เจ้าจันทรโสภา และเจ้าดารารัศมี (พระราชชายาเจ้าดารารัศมี)
แม่เจ้าเป็นสตรีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็งเด็ดขาด และมีอำนาจทางการ ปกครองอย่างยิ่ง ดังปรากฏว่า เมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงคราม พระยาปราบมีหนังสือ มาทูลเชิญเจ้าหลวงให้เสด็จไปประทับบนดอยสุเทพ และพระยาปราบจะขอทำร้ายคนไทยใต้ (คนกรุงเทพฯ) และคนจีนเท่านั้น แต่จะไม่ทำร้ายคนเชียงใหม่ แม่เจ้าทิพเกสรไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอใจ แม่เจ้าจึงสั่งให้จับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสีย ทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนีไป
นอกจากนี้ เมื่อมีการลงโทษผู้ใดไม่ว่าโทษหนักโทษเบา แม้ถึงขั้นประหารชีวิตนักโทษ โดยเฉพาะเมื่อแม่เจ้าเป็นผู้สั่งให้ลงโทษด้วยแล้ว แม่เจ้าจะตามไปดูการลงโทษด้วยเสมอ
สำหรับบทบาทในด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น แม่เจ้าเป็นผู้ริเริ่มให้มีการละครฟ้อนรำและเครื่องสายตามแบบอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรกในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์
แม่เจ้าทิพเกสรสิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ.2427 ขณะนั้นพระราชชายาเจ้าดารารัศมีอายุได้ 11 ปี และเป็นเวลาก่อนที่พระราชชายาฯ จะเข้าเฝ้าถวายตัวรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพฯ 2 ปี
เจ้าเทพไกรสร เป็นพระชายาในพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม รอบรู้ในด้านราชการ[12] และมีพระอำนาจเหนือพระสวามี มีหลักฐานของชาวต่างประเทศกล่าวถึงพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณา แต่อ่อนแอ"[13] และ "...เจ้าหลวงถูกครอบงำโดยพระชายาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งทดแทนความอ่อนแอของพระองค์..."[14] ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเรียกพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เจ้าหลวงตาขาว"[15] บทบาทด้านการบริหารบ้านเมืองจึงตกอยู่กับเจ้าอุปราช (บุญทวงศ์) และเจ้าเทพไกรสร พระชายา และมีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2427 ตามลำดับ[1]
ดร. แดเนียล แมคกิลวารี หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสนทนากับเจ้าเทพไกรสร ความว่า "ท่านเป็นพระชายาองค์เดียวของเจ้าหลวงอินทนนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกำเนิดท่านมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงกว่าเจ้าหลวง และท่านก็ทรงคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่งที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนี้ทุกประการ ทั้งยังเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม และตั้งใจมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้พระสวามีของท่านคือ เจ้าหลวงองค์ใหม่ หลีกเลี่ยงความบกพร่องและความผิดพลาดได้เป็นอันมาก… ในการสนทนาระหว่างข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงนั้น เรามักจะวกมาถึงเรื่องศาสนาเกือบตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้า รู้สึกว่าเจ้าหญิงมีความประสงค์จะเอาชนะในการโต้ตอบเรื่องศาสนานี้มากกว่าจะค้นเอาความจริง ท่านมีไหวพริบเหมือนหมอความ คอยจับคำพูดที่หละหลวม และด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่าน ทำให้ท่านเป็นนักโต้คารมที่มีอารมณ์ครื้นเครง"[10] และ "...อิทธิพลของสตรีในทางวิเทโศบายต่าง ๆ จงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากมายมาตั้งแต่ครั้งเจ้าหลวงองค์ก่อน [พระเจ้ากาวิโลรส] ยังทรงครองราชย์อยู่ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระธิดากลายเป็นผู้มีอำนาจและยังได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงงานต่าง ๆ ของรัฐด้วย...โดยกำเนิดแล้ว พระนางมียศสูงกว่าพระสวามี...ฐานะของพระนางจึงจำเป็นต่อการคานอำนาจกับองค์อุปราช [บุญทวงศ์]..."[16]
เจ้าเทพไกรสร เป็นราชนารีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็ง ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงคราม ทรงไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอพระทัย จึงสั่งให้จับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสีย ทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนีไป[10] และอีกกรณีที่เจ้าเทพไกรสรได้บัญชาให้ประหารชีวิตพระญาติสาย "ณ ลำพูน" ที่กระทำการอุกอาจแทงช้างพระที่นั่งพระสวามีของพระองค์ด้วยความคะนอง[17]
นอกจากด้านการปกครองแล้ว เจ้าเทพไกรสรยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการละครฟ้อนรำและเครื่องสายตามแบบอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรกในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A3
นักโทษก่อนการประหารชีวิตในสยาม
"Vorbereitungen für Hinrichtungen in Siam"
Burger, Wilhelm 1869
กรณีประหารชีวิตเจ้านายเมืองลำพูน
"มีอยู่คืนหนึ่งข้าหลวงที่มีอำนาจเป็นลำดับที่สามของสยามได้นั่งช้างผ่านเมืองลำพูน และมีคนมาแทงช้างของข้าหลวงจนเป็นบาดแผลฉกรรจ์
เรื่องก็มีอยู่ว่าก่อนหน้านี้ไม่นานน้องชายของเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้ไปเล่นการพนันที่บ่อนในเมืองแล้วมีเรื่องทะเลาะกับคณะผู้ติดตามของข้าหลวงชาวสยามจึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยโดยปริยาย อีกทั้งเจ้าชายหนุ่มผู้นี้มีนิสัยเกเรแตกต่างจากเจ้านายคนอื่นทั่วไปจึงต้องเป็นคนร้ายอย่างแน่นอน
เรื่องไปถึงพระยาราชเสนาและเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหลวงเชียงใหม่พิโรธมากเพราะช้างเชือกนั้นเป็นช้างของพระองค์ เจ้าชายหนุ่มเมืองลำพูนต้องถูกลงโทษตามกฎหมายด้วยข้อหาดังนี้ ๑.สบประมาทข้าหลวงซึ่งเป็นตัวแทนของสยาม ๒.ทำร้ายช้างของเจ้าหลวง ๓.ประพฤติตัวเป็นคนพาล และ ๔.ต้องหาคนมาลงโทษให้ได้ (แพะรับบาป)
เจ้าหลวงเมืองลำพูนนั้นพยายามแก้ต่างและแจงว่าน้องชายเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ไม่ยอม เจ้าชายหนุ่มต้องถูกประหารชีวิตเท่านั้น เจ้าหลวงเมืองลำพูนคิดว่าน้องชายนั้นนำความอัปยศอดสูมาให้ จึงไม่นำศพกลับเมืองลำพูน แต่จะฝังไว้ในวัดท่าวังตาลที่อยู่ใกล้ลานประหารนอกกำแพงเมือง
เช้าตรู่ของวันที่ ๑๗ มกราคม ผมรู้ข่าวมาว่าจะมีการประหารชีวิตเจ้านายเมืองลำพูน จึงรีบออกไปชมการประหารที่น่าสยดสยองครั้งนี้ ทั่วทั้งเมืองเงียบกริบเพราะผู้คนต่างไปยังลานประหารกันเกือบหมด ถึงแม้ว่าในเมืองเชียงใหม่มีการประหารชีวิตอยู่บ่อยครั้ง แต่การประหารชีวิตเจ้านั้นถือว่าเป็นกรณีพิเศษ ผมเดินข้ามทุ่งนาไปยังลานประหารอย่างเร่งรีบ จากที่พักไปยังลานประหารนั้นใช้เวลาเดินเพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น เมื่อมาถึงครึ่งทางผมก็เห็นขบวนช้าง ๑๕ ถึง ๒๐ เชือก ซึ่งแต่ละเชือกก็มีขนาดใหญ่มาก มีทหารนับ ๑๐๐ คน เดินขนาบข้าง มีทหารม้าอยู่ในขบวนเพียงสองสามคน ปรากฏว่าขบวนช้างเพิ่งกลับมาจากลานประหาร และการประหารชีวิตเจ้าชายหนุ่มนั้นก็เสร็จสิ้นแล้ว แต่ผมก็ไม่หันหลังกลับ
เมื่อเดินไปถึงลานประหารก็เห็นเจ้าหน้าที่ ๒ คนกำลังขุดหลุมตื้นๆ กันอยู่ ใกล้กันเป็นศพที่ถูกตัดหัวแล้ว ร่างของเจ้าชายหนุ่มมีรอยสักที่งดงาม อีกทั้งร่างกายก็ได้สัดส่วน ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่นาที เจ้าชายหนุ่มยังคงเป็นชายหนุ่มรูปงาม ร่างกายแข็งแรง แต่เวลานี้เหลือแต่ร่าง มีผ้าพันศพอย่างง่าย ดูแล้วชวนให้อดสู และอีกไม่ช้าก็คงถูกโยนลงหลุม
ร่างของเจ้าชายหนุ่มถูกฝังอยู่ในป่าช้า ปราศจากเกียรติยศใดๆทั้งสิ้น ผมเข้าไปวิเคราะห์ศพของเจ้าชายหนุ่มอย่างละเอียดก็พบว่าครั้งแรกนั้นเพชฆฌาตฟันพลาด เพราะมีรอยฟันลึกอยู่ที่ไหล่ข้างซ้าย
ศีรษะของเจ้าชายหนุ่มนั้นวางคว่ำอยู่ใกล้กัน เจ้าชายหนุ่มมีใบหน้าที่หล่อเหลาทีเดียว อายุประมาณ ๒๐ ปี ใบหน้านั้นสงบ เยือกเย็น ปราศจากความหวาดกลัวหรือเจ็บปวดจากการฟันที่ผิดพลาดในครั้งแรกเลย
บริเวณลานประหารนั้นมีหลุมศพอยู่มากมาย แต่ไม่เหมือนหลุมศพในประเทศตะวันตกที่เห็นจนชินตา ศพถูกฝังอย่างตื้นๆ เมื่อฝนตกน้ำคงท่วมขัง บรรดานักโทษนอนพักผ่อนเป็นครั้งสุดท้ายโดยมีดินกลบหน้าเพียงสองสามนิ้วเท่านั้น ศพจะสลายกลายเป็นฝุ่นดินถ้าอีแร้งไม่มารุมทึ้งกินซากศพเสียก่อน
เมื่อมองไปรอบๆ ก็เห็นไม้หรือซุงปักทำเป็นรูปกากบาทอย่างง่าย คล้ายไม้กางเขนปักอยู่ เมื่อมองตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นป้ายหลุมศพเหมือนในป่าช้าของคริสเตียน อันที่จริงไม้ดังกล่าวมีรูปทรงเป็น Y มากกว่า T หรือกางเขนเสียอีก ใกล้กับศพของเจ้าชายหนุ่มนั้นเป็นเเอ่งเลือด สุดท้ายผมจึงเข้าใจว่าไม้กากบาทนั้นก็คือหลักประหารนั่นเอง...
ผมไม่รู้ว่าหลุมศพและเลือดของผู้บริสุทธิ์ในป่าช้านั้นมีมากมายเท่าใด และผมขอกล่าวว่าความผิดของเจ้าชายหนุ่มที่ถูกประหารชีวิตในครั้งนี้มีมูลความจริงน้อยมาก ...
สุทธิศักดิ์ถอดความ
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|