วานนี้ (12 ต.ค.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ลุ้นระลึกเศรษฐกิจไทย" ว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2551 ขึ้นอยู่กับการวางกรอบนโยบายกฎระเบียบของรัฐบาลใหม่และการบริหารของรัฐบาลและเอกชน เนื่องจากปีนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้กฎหมายต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ร.บ.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พ.ร.บ.เงินตรา เป็นต้น
ซึ่งการแก้ไขสวนทางกับกระแสโลกที่กำลังเปิดรับเงินทุนจากต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่คงจะไม่รวดเร็วเหมือนเอกชนคาดหวัง ซึ่งมีผลให้เอกชนสูญเสียโอกาสการลงทุนเหมือนที่เกิดขึ้นในปีนี้
นายณรงค์ชัย กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าคงโตไม่ถึงร้อยละ 6 หากขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว ส่วนเสถียรภาพปีหน้าดีขึ้นกว่าปีนี้ ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาท โดยเชื่อว่าปัญหาค่าเงินบาท ปีหน้าจะไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2551 จะเติบโตร้อยละ 4.5-5 ดีขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 4 โดยการลงทุนจะเป็นตัวชี้ภาวะเศรษฐกิจ เพราะจะมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น เมกะโปรเจกต์ อีโคคาร์ และการผลิตรถยนต์ของฟอร์ดและมาสด้า ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า แต่ก็ยังเป็นห่วงการประท้วงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่อาจทำให้โครงการต้องชะลอออกไป
ส่วนรัฐบาลชุดต่อไป เชื่อว่า จะเป็นรัฐบาลผสม ดังนั้นอาจจะไม่มั่นคงในด้านเสถียรภาพมากนัก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า และเกรงว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจจะไม่เต็มที่ เนื่องจากเดิมมีข้าราชการประจำเป็นผู้ทำหน้าที่เดินนโยบาย แต่ขณะนี้ข้าราชการประจำอ่อนแอลง เพราะกลัวการฟ้องร้องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดังนั้น หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่มีเสถียรภาพพอ ก็จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
ขณะที่นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีโอกาสขยายตัวถึงร้อยละ 4.5-5 แต่ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4 โดยเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลใหม่คงจะประคับประคองได้ ซึ่งอยากให้รัฐบาลเร่งโครงการภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและกระตุ้นการบริโภค อย่างไรก็ตาม ยังห่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตลดลงจากร้อยละ 4.5 ในปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2551
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
ข่าวจาก กระปุกดอทคอม