ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ที่มา สนง.ประชาสัมพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่
สสจ.เชียงใหม่แถลงข่าวเตือนเฝ้าระวังไวรัสซิกา
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เร่งแก้ปัญหาไวรัสซิกา ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แนะนำให้ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด และติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไข้เลือดออกและไวรัสซิกา
วันนี้ (22 มิ.ย.59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องม๋วนอ๊กม๊วนใจ๋ ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่แถลงข่าวเตือนเฝ้าระวังไวรัสซิกา
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เรื่องติดเชื้อไวรัสซิกา เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกัน โดยได้รับรายงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 เวลา 10.00 น. ว่า จังหวัดเพชรบูรณ์พบผู้ป่วยมีไข้ออกผื่น 9 ราย เป็นคนเพชรบูรณ์ 7 ราย (ผลตรวจยืนยันมีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้ซิกา 4 ราย) และคนเชียงใหม่ 2 ราย ซึ่งไปร่วมงานศพที่เพชรบูรณ์ เป็นเพศชาย อายุ 11 ปี และเพศหญิง อายุ 9 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนี้หายเป็นปกติอยู่ที่บ้าน ทางเทศบาลตำบลสันทรายหลวงได้อาศัยอำนาจประกาศให้พื้นที่โดยรอบบ้านผู้ป่วยดังกล่าวในรัศมี 100 เมตร และโรงเรียนในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการควบคุมและเฝ้าระวังระยะเวลา 40 วัน จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ไวรัสซิกาจัดเป็นไวรัสเช่นเดียวกับไวรัสเดงกี่ที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบ โดยมียุงเป็นพาหะ มีเพียง 1 ใน 5 ที่อาจแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อนี้ 4-7 วัน อาการแสดงทั่วไป ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งจะหายได้เองภายในหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ในหญิงตั้งครรภ์ต้องดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากจะส่งผลต่อทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด มีศีรษะที่เล็กผิดปกติหรือเสียชีวิตได้ เพราะโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาเฉพาะ หากมีอาการดังกล่าว แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ต้องระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด และติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
นางชลลิสา จริยาเลิศศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการด้านการควบคุมโรค โดยกำหนดรัศมี 100 เมตร ของบ้านผู้ป่วยเป็นพื้นที่เป้าหมายควบคุมโรค ทำการกำจัดยุงในพื้นที่รอบบ้านผู้ป่วย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ด้านการสอบสวนโรคและเฝ้าระวังโรคในหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เป้าหมายในเขตรัศมี 100 เมตร มีหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย และนอกเขต 4 ราย ทำการเจาะเลือดและเก็บปัสสาวะส่งตรวจ พร้อมทั้งแจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งให้เข้มงวดการรายงานผู้ป่วยที่มีอาการเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสซิกา
สำหรับมาตรการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บน้ำและปิดฝาให้มิดชิดและเก็บเศษขยะภาชนะรอบบ้านและในชุมชน พื้นที่ดำเนินงาน 6 ร. ได้แก่ โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงานและโรงธรรม รวมทั้งใช้ยาทากันยุง นอนกางมุ้งเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้
ที่มา >> http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php…
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|